สมควรแล้วละ

อ่าน: 1603

ได้เห็นมรดกโลกมา ๒ ชิ้นแล้ว รู้สึกทึ่งกับความคิดอ่านของผู้นำในราชวงศ์โมกุล แล้วก็สงสัยทำไมในยุคผู้นำมุสลิมก่อนหน้า  อารยธรรมจึงไม่เจริญเท่ายุคโมกุล  แล้วก็ได้รู้ว่าความต่างอยู่ที่ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในยุคนั้นๆ

อิสลามนอกประเทศที่รุกรานเข้ามาในอินเดียคือกองทัพเตอร์กหรือตาตาร์ รุกรานเข้ามาทางอินเดียด้านตะวันตก ทางแคว้นปัญจาบ รุกฮินดูลงไปตามลุ่มน้ำสินธุ จนในยุคหนึ่งสามารถยึดเมืองที่เรียกในสมัยนั้นว่า “เปษวาร์” หรือปัจจุบันคือ “เมืองบุรุษบุรี” ในประเทศปากีสถานไว้เป็นฐานที่มั่นได้

จากนั้นก็รุกขึ้นไปอินเดียเหนือ เมื่อยึดพื้นที่ลุ่มน้ำสินธุ แคว้นปัญจาบจรดลุ่มน้ำยมุนา และแผ่นดินในลุ่มน้ำปัญจมหานทีทั้งหมดได้ ก็ขยายอาณาเขตไปยังเปอร์เซอร์และเมโสโปเตเมีย

กองทัพที่เข้ามามีหลายระลอกแต่ละระลอกเป็นชนชาติที่ประกาศศาสนาด้วยดาบและมีอคติไม่ยอมให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงนับถือศาสนาอื่นนอกจากศาสดาของตน เข้ามาทีไรชาวฮินดูก็ถูกฆ่าฟันตายมาก ใครแพ้ก็บังคับให้เข้ารีตอิสลาม เรื่องนี้เขาว่าเกิดในปี พ.ศ. ๑๓๒๓ แล้วดำเนินอยู่ในแคว้นปัญจาบนานเกือบ ๒๐๐ ปี

อิทธิพลของศาสนาอิสลามได้หลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจนชาวปัญจาบเปลี้ยนไป๋ก็มาจากเหตุเหล่านี้

พอมีกษัตริย์อิสลามราชวงศ์ใหม่ กษัตริย์อิสลามต่างแคว้นก็รบกันเองซะอีก ราชวงศ์ใหม่ยึดแคว้นปัญจาบ ยึดเมืองเดลฮี แล้วรุกรานขยายไปแคว้นพิหาร อ่าวเบงกอล จนอินเดียภาคเหนือทั้งหมดอยู่ในมือ

อคติที่ไม่ยอมให้ผู้อยู่ใกล้เคียงนับถือศาสนาอื่นนอกจากศาสนาของตนทำให้ผู้คนรู้สึกถูกบังคับ ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูมาตั้งแต่ดั้งเดิมผู้ไม่ยอมให้คนอื่นมาเปลี่ยนแปลงจึงต่อต้าน สงครามระหว่างอิสลามและฮินดูทั้งในทางทหารและทางปัญญาจึงเกิดขึ้นและทำให้ชาวฮินดูเสียชีวิตไปมากมาย กษัตริย์มุสลิมเสียชีวิต กษัตริย์ใหม่ยังเป็นมุสลิม  ราชวงศ์ใหม่มีสุลต่านสืบทอดต่อกันมา ๒๖ พระองค์

จนยุคหนึ่งเจงกิสข่านแห่งมองโกลรุกเข้ามาอินเดียเหนือ ชาวเตอร์กกลุ่มอินเดียเหนือจึงขาดการติดต่อกับชาวเตอร์กกลุ่มอัฟกานิสถาน อินเดียเหนือจึงมีโอกาสพลิกฟื้นจนเกิดความอุดมสมบูรณ์ในดินแดนทะเลทรายของอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรก

ระบบชลประทานที่ทดน้ำเข้าไปยังแผ่นดินอินเดียเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคเจงกิสข่านยึดเป็นที่มั่นนี่แหละ

ในปี พ.ศ. ๑๙๔๑ อินเดียเหนือโดนรุกรานอีกโดยสุลต่านมุสลิมมองโกล กษัตริย์แห่งนครที่อยู่บนลุ่มแม่น้ำโอซุสในประเทศอุชเบกีสถานในปัจจุบัน คราวนี้รุกลงมาถึงลุ่มแม่น้ำคงคา ทำลายอินเดียเหนือยับเยิน สังหารพลเมืองอินเดียไปมากมาย คนที่รอดถูกจับตัวไปเป็นทาสจำนวนมาก เมืองถูกทิ้งรกร้าง มีแต่ซากปรักหักพัง

จนเมื่อต้นราชวงศ์โมกุลเข้ามายึดอินเดียเหนือได้  ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๑๒ - ๒๒๕๑  ก็เกิดลัทธิความเชื่อใหม่ขึ้นซึ่งผสมผสานความเชื่อของสามศาสนาของอินเดียเหนือในเวลานั้นคือพุทธ พราหมณ์ฮินดูและอิสลามเข้าด้วยกัน

การเปลี่ยนแปลงลัทธิประเพณีของอินเดียเกิดคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคที่ถูกรุกราน  กองทัพอิสลามถือว่าการทำลายล้างลัทธิบูชารูปเคารพต่างๆของคนนอกลัทธิมะหะหมัดเป็นการบุญกุศลอย่างแรง โบสถ์วัดศาลเทวาลัยและรูปเคารพถูกทำลาย ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและนักบวชฮินดูโดนฆ่าฟันและขับไล่ไม่เลือกหน้า กฎเกณฑ์ข้อบังคับเฉียบขาด ห้ามประชาชนบูชารูปเคารพต่างๆ มีการเก็บภาษีรายตัวกับบุคคลที่ไม่ได้นับถือลัทธิมะหะหมัด

เหล่านี้คือที่มาที่ทำให้ถาวรวัตถุของฮินดูแต่โบราณสาบสูญ  ยังดีที่พวกอิสลามได้รื้อย้ายขนหรือปลูกสร้างซากที่พอเหลืออยู่บ้างเป็นสุเหร่าขึ้นมา

การเมืองที่ดำเนินโดยวิธีเหล่านี้ทำให้ชาวฮินดูไม่มีโอกาสจะปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสถานที่เคารพในลัทธิขึ้นได้จนถึงรัชกาลที่มีกษัตริย์เป็นธรรมิกราชอย่างพระเจ้าอักบาร์ แม้จะทรงนับถืออิสลามก็จริงแต่ไม่ทรงหวงห้ามการที่ประชาชนจะเลือกนับถือลัทธิศาสนาตามความพอใจ ทำให้ฮินดูเริ่มมีเสรีภาพในการปฏิบัติบูชาตามลัทธิได้

ฟังแล้วฉันก็ถึงบางอ้อ ที่แท้ป้อมอัคราเคยพังเพราะสงครามในยุคต่างๆที่เล่าข้างบนนี่เอง มิน่าละจึงต้องปฏิสังขรณ์ใหม่

เรื่องเล่านี้เจงกิสข่านและพระเจ้าอักบาร์สะท้อนบทเรียนวิธีกอบกู้บ้านเมืองไว้ให้เรียนว่า เมื่อผู้นำละอคติในหัวใจ เปลี่ยนตัวเองให้รู้จักผ่อนปรน ให้เสรีภาพตามสมควรแก่ผู้อื่น ให้ใจกับการพัฒนาบ้านเมือง ความขัดแย้งรุนแรงก็จะผ่อนลง  สันติสุขก็จะเกิดขึ้นได้

สมควรแล้วละที่ ๒ กษัตริย์ผู้มีชื่อทั้งสองพระองค์ได้รับการยกย่องจากผู้คนในโลกว่าเป็น “มหาราช”

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : คิดยังไง

Next : อคติเป็นรากเหง้า????? » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "สมควรแล้วละ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.23734498023987 sec
Sidebar: 0.99271106719971 sec