โชคดีหละ
มีโปรแกรมจะไปป้อมอัคราต่อ ได้เวลาเพื่อนๆก็ชวนกันกลับออกมา บ้างเดินมารอกันครึ่งทาง บ้างออกมารวดเดียว วันนี้คุณอั๋น (สุภิทธา บุญเนื้อ) อับโชคเล็กน้อย ระหว่างเดินเท้าเปล่าเกิดไปเหยียบเอาเศษกระเบื้องจมเข้าเนื้อจนเลือดออก โชคดีที่กระเบื้องเป็นเศษเล็กนิดเดียว ก็เลยยังไปต่อด้วยกันได้
ระหว่างทางที่เดินออกมา ตรงประตูทางเข้ามีทหารเดินขวักไขว่มากมาย ปรากฏว่ามีขบวนของแขกผู้ใหญ่ของอินเดียมาชมด้วย ภาพของการดูแลอำนวยความสะดวกที่เห็น ก็เหมือนในบ้านเรา คือ จัดทางด่วนพิเศษให้เข้าได้เลย และมีขบวนพิเศษนำพาชม
ขวาสุด ทหารและนักข่าวที่มารับแขก ๒ ภาพทางขวา คือ คิวของคนรอเข้าชมในช่วงที่แขกมาเยือน ๓ ภาพซ้าย คือ บรรยากาศทางเข้าเมื่อคณะเราไปถึง
ในระหว่างที่รอกันอยู่ คนที่เดินออกมาแล้ว ก็ใช้เวลาของตัวเองสำรวจบริเวณด้านหน้าซึ่งมีของที่ระลึกขาย ส่วนใหญ่ก็เป็นภาพจำลองของทัชมาฮาลในแบบรูปปั้นบ้าง แม่เหล็กติดตู้เย็นบ้าง หนังสือประวัติบ้าง ดูเหมือนไม่มีเสื้อผ้านะ คนที่หิวน้ำก็ได้น้ำอัดลมแทน น้ำเปล่าบรรจุภัณฑ์สะอาดไม่มีขาย
ระหว่างทางที่เดินกันมาขึ้นรถก็จะเห็นการขึ้นรูปปูนปั้นขนาดต่างๆวางอยู่ในเพิงริมทาง ฝุ่นปูนขาวฟุ้งเปื้อนบนพื้นบอกให้รู้ว่าผลิตกันตรงนี้ ขายตรงที่นี่กันเลย และก็มีเด็กหนุ่มๆหลายคนเดินตามมายื่นของให้ชมและชวนซื้อ
ทั้งตอนมาและตอนกลับ ฉันเห็นความเก่งในสายเลือดเรื่องการค้าในมุม “กล้าขาย” ที่ “เด็ก”อินเดียแตกต่างจากคนบ้านเราชัดเลย แล้วเวลาที่พวกเขาถูกปฏิเสธ เขาก็ไม่ใส่อารมณ์กลับมายังคนปฏิเสธเลยนะ แล้วถ้าเราอุดหนุนคนไหน เขาก็ไม่มีอารมณ์ใส่คนนั้นด้วย ทักษะการขายอย่างนี้ก็ต่างจากคนบ้านเราอีกแหละ
หันกลับไปดูหน้าประตูก่อนเดินจาก โอ้โฮ แถวยาวเป็นรถไฟ ๑๐๐ ขบวนเลยแหละ นี่ถ้าตอนมาถึงเจออย่างนี้ ฉันอาจจะขอบายไม่เข้าไปชมข้างในแล้วละ
ทีแรกเข้าใจว่าเพื่อนมาช้าเพราะหลงเข้าไปในแถวยาวๆที่เห็น ปรากฏว่าการกลับไม่ใช่ เพื่อนเขาว่าที่นี่เขามีประตูให้เข้า-ออกหลายประตู เขาไปโผล่ออกที่ประตูอื่น ก็เลยต้องใช้ความสามารถพิเศษค้นหาถนนเดินมายังจุดรอกันให้ทัน
แม้จะมีทหารมายืนยามเต็มไปหมด แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกหวาดผวา นั่งพักผ่อนร้อน ยืนคุยผ่อนเหนื่อย เติมโค๊กให้ชื่นใจ ระหว่างรอกันไปพลางๆ
ครบคนเราก็ขึ้นรถบัสไปยังป้อมอัคราด้วยกัน ป้อมนี้อินเดียเขาเรียกกันว่า อัคราฟอร์ต (Acra Fort) เป็นป้อมขนาดใหญ่ ใช้เวลาสร้างถึง 3 รัชสมัย ช่วงที่ราชวงศ์โมกุลครองอินเดียนี่แหละ ป้อมนี้เป็นหนึ่งในป้อมของอินเดียที่มีกำแพงสีแดง บ้างเรียกเป็นพระราชวัง
ที่ว่าสร้าง ๓ รัชสมัยเพราะเสร็จแล้วก็มีการต่อเติมส่วนใช้สอยต่างๆเพิ่มขึ้นมาภายหลังอีก ช่วงเริ่มสร้างก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวังหลวง แล้วถูกต่อเติมเป็นพระราชวังในยุคต่อมา ที่วังหลวงมาอยู่อัคราได้ก็เพราะอัคราเป็นเมืองหลวงสำคัญของอินเดียในยุคพระเจ้าอัคบาร์เป็นผู้นำอินเดีย
ป้อมนี้ได้เป็นมรดกโลกปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ( ค.ศ. ๑๙๘๓) ปีเดียวกับทัชมาฮาล และได้เป็นก่อนอยุธยาบ้านเรา ๘ ปี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๐๘ ( ค.ศ. ๑๕๖๕ ) เริ่มต้นสร้างในสมัยพระเจ้าอัคบาร์ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒ มหาราชของอินเดีย
๒ ปี หลังบ้านเราเกิดสงครามช้างเผือก ในปีเดียวกับที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสร้างหอพระแก้วสำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญจากเชียงใหม่ไปไว้ในเวียงจันทร์นั่นเองที่กษัตริย์อินเดียสร้างป้อมนี้ขึ้น
ทุกพื้นที่ในอินเดียเป็นห้องเรียนที่สอนคนของเขาให้มีความรู้เรื่อง “การค้า” และ “การขาย” แล้วอย่างนี้คนของเราจะตามเขาทันได้ยังไง
เพราะมันตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำยมุนาตรงหัวโค้งแม่น้ำ เมื่อไปยืนบนแนวกำแพงของป้อมที่ขนานกับแม่น้ำ แล้วมองไปที่แม่น้ำ จึงเห็นวิวงามมาก แล้วได้เห็นทัชมาฮาลที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำเดียวกันเต็มสองตาด้วย
เขาว่าส่วนหนึ่งของป้อมแห่งนี้ยังใช้งานอยู่โดยกองทัพอินเดีย จึงมีพื้นที่ปิดห้ามเข้า เข้าไปแล้วก็ระวังการล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ห้ามของเขาให้เรื่องไม่เป็นเรื่องเป็นเรื่อง ดูแลตัวเองด้วยก็แล้วกัน
ที่นี่อยู่ห่างจากทัชมาฮาลไม่ถึง ๒ กิโลเมตร ในฐานะที่เป็นภาคีในกลุ่ม BIMSTEC ค่าตั๋วเข้าชมแหล่งมรดกโลกอย่างที่นี่ของเราก็จะเป็นราคากันเองที่ ๑๐ รูปีเท่านั้น
๗ สิงหาคม ๒๕๕๓
ความคิดเห็นสำหรับ "โชคดีหละ"