มุมหนึ่งของชนบทโกลกาตา

โดย สาวตา เมื่อ 17 สิงหาคม 2010 เวลา 0:25 ในหมวดหมู่ เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 2177

เวลาของการกินอาหารเช้าด้วยกันเป็นเวลาสนุกและมีอะไรให้ได้สัมผัสเพื่อนๆในรุ่นทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องในอีกแง่มุม อีกทั้งยังให้เวลาได้ดูแลกันและกัน  กินกันไปคุยกันไป อะไรที่ไม่คุ้นแต่อยากลองก็ตักมาแบ่งๆกันชิม วันนี้สาวๆหลายคนในคณะที่เคยมาอินเดียหรือศึกษาอินเดียกันมาพอประมาณแล้วพากันแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสไตล์อินเดีย  บางคนก็สวมผ้าคลุมศีรษะเหมือนสาวอินเดีย

อากาศเช้านี้ ฝนตกพรำๆก่อนเราออกจากโรงแรม คุณต้นไม้ไม่ไว้ใจความสะอาดของเมืองอินเดีย ตั้งใจใส่กางเกงขาสั้นไปดูงานนอกสถานที่ก่อน และเตรียมเสื้อผ้าไปไว้เปลี่ยนเมื่อถึงเวลาดูงานในสถานที่ซึ่งต้องใช้สูท  แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อลุงเอกขอความร่วมมือให้ไว้หน้าลุงเอกหน่อย

กินกันไป แหย่กันไป ฟังเสียงบ่นไป เจริญอาหารกันถ้วนหน้า สำหรับอาหารอินเดียเต็มรูปแบบมื้อแรก

ก่อนออกจากโรงแรม ทุกคนพร้อมใจกันจัดการตัวเองเรื่องการใช้ห้องน้ำ  ตอนนี้แหละที่ฉันเพิ่งรู้ตัวว่าลืมแว่นตา  จึงพาตัวกลับไปที่ห้องพัก แต่แล้วความรีบก็ทำให้หาไม่เจอซะอีก  ตัดสินใจไม่หามัน พาตัวกลับมาสมทบกับทีม ปรากฏว่าเกือบกลายเป็นคนสุดท้ายที่ทำให้คนอื่นต้องรอ

ช่วงจังหวะอย่างนี้ก็ได้น้องเป็นต่อ (อนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์) แสดงน้ำใจให้เห็น น้องเขาคอยดูแลไม่ให้ผู้คนที่มาในคณะตกหล่นหรือคลาดจากทีมแบบจิตอาสาค่ะ

วันนี้ทุกคนต้องขึ้นรถบัสคันเดียวกับที่นั่งมาจากสนามบิน  ฉันถูกจัดให้เป็นสมาชิกของรถบัสคันที่ ๑ ส่วนน้องเป็นต่อเป็นสมาชิกรถบัสคันที่ ๒  ลุงเอกนั่งรถคันเดียวกับฉัน แต่ละคันมีไกด์อยู่คันละคน น้องนุชอยู่ประจำคันที่ฉันนั่ง  อีกคันได้ไกด์ผู้ชายชื่อน้องเบนอยู่ประจำ พี่แดงนั่งร่วมมาในรถบัสคันที่ ๑  ด้วย  เช้านี้ในรถแต่ละคัน มีไกด์ท้องถิ่นมาช่วยแนะนำเมืองด้วย

ภาพ ๒ จากซ้าย ผู้คนกำลังร่อนเศษแก้วผสมทราย  ภาพ ๒ จากขวา ขยะเกลื่อนทั่วไปเป็นอัตลักษณ์ของโกลกัตตาในชนบทและในเมือง

ทิวทัศน์ ๒ ข้างทางที่รถวิ่งผ่านมีความเป็นชุมชนที่น่าสนใจไม่น้อย ภาพที่ถ่ายมาให้ดูเป็นมุมแปลกๆที่ได้มาแบบไม่ได้ตั้งใจถ่าย

ที่บอกว่าไม่ได้ตั้งใจถ่ายก็เพราะฉันได้ที่นั่งแถวรองหลังสุดของรถ เวลารถวิ่งมันโคลงเคลงไปมาเหมือนนั่งบนหลังช้างเลยค่ะ จะโฟกัสกล้องยังไง มือก็นิ่งไม่ได้เลย ก็เลยใช้วิธีกดชัดเตอร์ไปเรื่อยๆ ได้ภาพอะไรมาก็โอเคกับมัน ทำอย่างนี้แหละค่ะก็เลยได้ภาพความเป็นชุมชนอินเดียมาให้ดูกันอย่างที่เห็น

ความเป็นนักธุรกิจของคนอินเดียที่พบเห็นได้ในทุกพื้นที่ ความเป็นผู้อยู่อย่างพอเพียงก็อยู่เคียงข้างให้เห็นด้วยอย่างน่าสนใจ อยู่ได้ไง

บ้านเรือนที่เห็นในสองฟากถนนบอกให้รู้ว่าการสร้างเมืองมีการวางผังเมืองก่อนสร้าง ร่องรอยของความเป็นตึกที่อยู่อาศัยที่หนาแน่นและแออัดในบางช่วงบอกให้รู้ว่าในอดีตถิ่นนี้เคยรุ่งเรือง ความเก่าคร่ำคร่าของตึกรามและซากปรักหักพังที่เห็นบอกให้รู้ว่าความเจริญรุ่งเรืองที่เคยมีอยู่มาก่อนได้หนีไปสู่ที่อื่นนานแล้ว

สภาพของความทรุดโทรมที่เห็นดูแล้วไม่ต่างจากชนบทไทยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนเลยเชียว  จะเชื่อหรือไม่ถ้าบอกว่าประชากรในเมืองแห่งนี้มีความหนาแน่นไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯของไทย  ภาพที่เห็นบอกตัวเองว่าคงเชื่อได้กับข้อมูลที่รับฟังมาว่าคนอินเดียที่นี่กว่า  ๒๕% ยากจนมาก การกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง

คูหาเล็กๆที่เห็น ชาวบ้านเขาใช้ทำธุรกิจทุกรูปแบบที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ มีทั้งธุรกิจอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงเสร็จระดับครัวเรือนที่เกลื่อนตาอยู่ ๒ ข้างถนน หน้าตาของร้านค้ามีทั้งแบบแบกะดิน เป็นเพิง เป็นแผงลอย หรือเป็นร้าน ความกว้างของคูหาไม่ต่างจากบู๊ทขายสินค้าที่เห็นเกลื่อนตาในบ้านเรา ที่ต่างไปจากบ้านเราก็ตรงที่ เขาใช้กินอยู่หลับนอนและทำการค้าไปด้วยเบ็ดเสร็จ

เห็นชีวิตประจำวันและที่อยู่ของเขาแล้ว ฉันไม่แปลกใจว่าทำไมคนอินเดียไม่สนการมีห้องน้ำห้องส้วมไว้ในบ้านเลยค่ะ

บ้านติดกันแบบห้องแถว ทุกบ้านทำธุรกิจเล็กๆเลี้ยงตัว ทุกร้านจะเห็นคนนั่งพูดคุยกัน สังเกตเห็นพ่อค้าซะเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่เห็นแม่ค้าเลยค่ะ

สภาพทรุดโทรมและติดดินอย่างที่เห็นนี่แหละที่ทำให้มีคำเตือนว่า ไปเที่ยวอินเดียเมื่อไรให้ระวังเรื่องความเรียบง่าย สบายๆ ระวังการอยู่ง่ายๆขนาดอยากกินอะไรก็ซื้อกินข้างทางเอาไว้ เพราะว่าอาจได้แถมโรคจากอาหารและน้ำโดยไม่รู้ตัวได้  อีกทั้งความสะอาดส่วนบุคคลก็เป็นเรื่องที่พึงกระทำบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมั่นล้างมือ

ฉันว่าความเป็นนักธุรกิจของคนอินเดียคงได้รับการปลูกฝังกันมาเป็นทอดๆ ตั้งแต่เมืองโกลกาตาถูกเลือกให้เป็นโกดังสินค้าของบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษเลยละมั๊ง  บันทึกในประวัติศาสตร์เล่าไว้ว่าโกดังแห่งนี้เป็นโกดังใหญ่บนฝั่งแม่น้ำฮูกลี ในตอนนั้นเมืองโกลกาตาเป็นเมืองท่าสถานีการค้าเล็กๆที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำเท่านั้นเอง หัวหน้าโกดังสินค้าที่ทำให้โกลกาตาถือกำเนิดขึ้นชื่อ จ๊อบ ชาร์น็อก เขาทำคลอดโกดังที่หมู่บ้านกาลีกัตในปีค.ศ. ๑๖๙๐ (พ.ศ. ๒๒๓๓)

๘๓ ปีต่อมาโกลกาตาก็กลายเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองจากการที่อังกฤษเลือกให้เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของตนในอินเดีย ความเจริญนี้คงอยู่ราวๆ ๑๘๓ ปี เมื่ออังกฤษย้ายไปใช้เมืองเดลีเป็นศูนย์กลางแทน ความเจริญของเมืองนี้ก็ตกลงเรื่อยๆ ในขณะที่ความแออัดกลับเพิ่มขึ้น

แผงแบกะดินก็เหมือนๆในชนบทบ้านเรา แผงที่เห็นกางร่มนั้นเป็นแผงขายปลาที่มีบริการฆ่าปลาให้เบ็ดเสร็จ

เมื่อรถวิ่งผ่านตรงที่มีชุมชนหนาแน่น จะเห็นแผงขายอาหารสดแบกะดินอยู่เป็นระยะ ผลิตผลทางการเกษตรที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นแตงกวา มันฝรั่ง บวบงู มะเขือเทศ หัวหอม  ฟักทอง มะเขือ กล้วยหอม ถั่วฝักยาว ความสมบูรณ์ของผลผลิตสู้บ้านเราไม่ได้

ที่แปลกตาของแผงแบกะดินนี้ก็คือการฆ่าปลา ที่พ่อค้าเขาจะใช้มีดโค้งงอคล้ายมีดพร้าแต่หัวตัด ขนาดยาวเท่าศอก วางมีดตั้งขึ้นให้ปลายตัดขนานพื้น แล้วเวลาชำแหละปลา เขาก็จัดการกับปลาโดยมีดอยู่ในท่านี้แหละค่ะ

ฉันทึ่งกับความเป็นชุมชนของเขาอีกอย่าง ตรงที่เจ้าแผงปลาที่เห็นนี่ เขาแบอยู่หน้าร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป และที่หน้าร้านมีร่องรอยน้ำเจิ่งขังอยู่เป็นหย่อมๆ น้ำที่ขังก็มาจากร่องรอยการล้างปลาลงในอ่างใบกลางที่พ่อค้าปลาเขานำมาใช้ล้างปลาหลังชำแหละนั่นเอง  ภาพอย่างนี้ถ้าเป็นในชุมชนบ้านเรา โดนด่าเปิงไปแล้วแน่นอน

มีเพิงขายน้ำบรรจุขวดให้เห็นด้วยตามข้างทาง เห็นแล้วก็เข้าใจคำเตือนเรื่องการเลือกซื้อน้ำดื่มสะอาดแบบไม่ต้องย่อยความข้าใจเลยค่ะ

๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : มาแล้วก็ลองดู

Next : สัมผัสความเป็นโกลกาตา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 เวลา 9:05

    ถ้าเจอมะขามป้อมอินเดีย เอามาฝากด้วยนะครับ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 เวลา 21:38

    อินเดียมีคนจนที่สุดและรวยที่สุด การมีประชากรมากเป็นปัญหาของรัฐที่จะเข้าไปพัฒนาให้ทั่วถึง ในเรื่องมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้น Basic Minimum Needs (BMN) บ้านเราดีกว่าเยอะเลยนะครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.092296123504639 sec
Sidebar: 0.24670100212097 sec