วันนี้มีชาวบ้านแสดงวิธีสร้างความสุขในชีวิตให้ดูค่ะ
2 วันของปลายสัปดาห์นี้ ทีมงานของฉันจัดกิจกรรม “วิธีสร้างความสุขในชีวิต” รุ่นที่ 2 ให้กับชาวบ้านและข้าราชการครู เวทีกิจกรรมแห่งนี้ฉันให้ทีมงานจัดขึ้นเพื่อให้เขาได้ใช้เป็นสนามฝึกวิทยายุทธการเป็นกระบวนกรกันค่ะ
เป็นธรรมเนียมของเราไปแล้ว ที่ก่อนการเริ่มกิจกรรม กระบวนกรจะให้ผู้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยบอกความคาดหวังให้ได้รู้ เพื่อจะได้สนองความต้องการให้ครอบคลุมตามคาดหวังได้ครบ และก็เป็นธรรมเนียมไปแล้วอีกนั่นแหละ ที่หลังจบกิจกรรม ทีมงานจะให้ทำ AAR เพื่อให้เขาได้บอกเล่า สิ่งที่เขาได้ตามคาดหวัง สิ่งที่ยังไม่ได้ และ ข้อคิดเห็นอื่นๆป้อนกลับการทำงานของเรา
มีชาวบ้านบอกว่า ดีใจนักที่หมอๆให้ความเป็นกันเองกับเขา ลงมาพูดคุยเล่นด้วย ให้ความเป็นกันเอง เขาบอกข้าราชการครูที่มาร่วมกิจกรรมด้วยคำพูดนี้เช่นกัน คำพูดนี้มันสื่อความรู้สึกในใจที่เขามีนะค่ะ มันสะท้อนฉันว่า ชาวบ้านเขายกย่องหมอ พยาบาล และครูให้อยู่เหนือเขามากนะค่ะ ฟังแล้วน่าตกใจนะว่า เราวางตัวกันยังไง เขาจึงรู้สึกว่าด้อยกว่าเราถึงขนาดนี้อ่ะค่ะ
บางคนนั้นบอกว่า ก่อนมาเข้าร่วมกิจกรรม เขาเครียดมากเลยค่ะ รู้หนังสือก็ไม่รู้ กลัวหมอ พยาบาลด้วย แต่เมื่อมาเข้าร่วมก็เกินความคาดหวัง ที่ทีมงานเรานั้นเป็นกันเองอย่างยิ่งทำให้เขาเป็นสุข จนกล้าแสดงออกทุกกิจกรรมที่ให้ทำ กล้าเล่าออกมาในเรื่องที่เขาก็ไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อนด้วยค่ะ
ในเรื่องของความกลัวหมอ กลัวพยาบาลนั้นนะคะ ใช่แต่ชาวบ้านรู้สึก ครูที่มาร่วมก็ยังบอกเหมือนๆชาวบ้าน เป็นเรื่องที่น่าฟังแล้วควรเอามาวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมแสดงออกของหมอ พยาบาลนั้น ทั้งๆที่หวังดี ตั้งใจช่วยเหลือพวกเขาเต็มที่ ทำไมจึงให้ผลสะท้อน ออกมาในมุมนี้ได้
ฉันเคยอ่านบันทึกของอาจารย์นกไฟ เกี่ยวกับมณฑลแห่งพลัง อาจารย์ได้กล่าวถึงการประเมินว่าเป็นการดู “ผล” ที่เกิดจาก “ประสบการณ์” การประเมินจะเป็น ความเชื่อมโยงผลลัพธ์เข้ากับประสบการณ์ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการที่ทำความเข้าใจความเกี่ยวเนื่อง เกี่ยวพัน ระหว่างการลงมือกระทำ (performance) และ อารมณ์ความคิด การรับรู้
การเชื่อมโยงความคิด ความรู้สึก ณ ขณะหนึ่ง เข้ากับผลทั้ง ดี และ ไม่ดี แล้วเฝ้าสังเกตจนกระทั่งเริ่มมองเห็นแบบแผนอันเป็นที่มาของสิ่งต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวด
หัวใจของการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญนั้น ต้องปราศจากความกลัว เพราะความกลัวจะเป็นอุปสรรคในการสร้างมณฑลแห่งพลังอย่างยิ่ง ความกลัวก่อให้เกิดอารมณ์ลบมากมายหลายประการ แทบจะไม่สามารถทำให้เกิดพลังบวกได้เลยหากไม่สามารถควบคุมความกลัวให้ดี
การที่ชาวบ้านเขาบอกว่ากลัว หมอ พยาบาลนั้น มันอธิบายสาเหตุที่ดึงให้เขาเกิดอารมณ์ลบระหว่างการพูดคุย ซักถามของเรา ที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆเลย ว่าเหตุจึงเกิดการร้องเรียนและต่อว่าตามมาให้ได้ยินบ่อยๆ มันอธิบายด้วยว่า ทำไมชาวบ้านเขาเครียดก่อนมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา
อาจารย์บอกไว้ว่าการบรรเทาความกลัว สามารถทำได้โดยใช้ หนึ่ง คือ ความคุ้นเคย ไม่มีการตีค่า หรือ “ตีตรา” เพราะเป็นเรื่องไม่ค่อยดี ของอะไรที่ตีตราตีราคาไปแล้ว คำๆนั้น ค่านั้นๆ มันติดอยู่ในความทรงจำได้นาน อีกหนึ่งก็คือ เจตคติทางบวก
โป๊ะเช๊ะเลยท่านขา กลยุทธนี้ใช้ได้ พิสูจน์ได้จากที่ ชาวบ้านที่มาร่วมทำกิจกรรมกับเรา เปิดใจและกล่าวชมเราต่อหน้าต่อตาค่ะ
รูปแบบของกิจกรรมที่เราจัดไปนั้นเป็นวงสนทนาธรรมดานี่แหละ เป็นรูปแบบการสนทนาที่หมุนเวียนเปลี่ยนเรื่องไปเรื่อยๆตามกำหนดที่ปักธงไว้แล้ว
เรื่องที่ปักธงไว้ คือ ให้เขาพูดเล่ากันเรื่องที่ประทับใจหรือเขามีความสุขในอดีตที่ผ่านมาค่ะ มีกิจกรรมการเล่นเพื่อทำความสนิทสนมและร่วมกันทำงานสลับฉากให้ด้วย
เมื่อทำกิจกรรมเสร็จแต่ละอย่าง กระบวนกรในกิจกรรมให้เขาสะท้อนว่า เขาประทับใจเรื่องอะไรของใคร ก็ให้เลือกมาเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งมีกิจกรรมให้เล่าเรื่องของคู่ตนด้วย ทีมงานทำหน้าที่เพียงแค่สะท้อนให้เขารับรู้บรรยากาศที่เห็นระหว่างพวกเขาค่ะ อีกทั้งช่วยเน้นย้ำเรื่องราวที่ชวนประทับใจที่ฟังจากข้อคิดของเขาค่ะ อ้อ! มีอีกอย่างทีมงานเราเข้าไปนั่งร่วมสนทนาในวงของเขาด้วยค่ะ
ตอน AAR เขาสะท้อนว่า กิจกรรมที่เราจัดให้นั้น มันละลายความกลัว ละลายแม้แต่ความเครียด จนทำให้เขาเกิดความกล้าอย่างที่ไม่เคยกล้ามาก่อน คนบางคนที่ชอบหลบอยู่หลังคนอื่นเสมอ จะมาอยู่แถวหน้าขอพูดก่อนใครๆ คนที่เคยกลัวไมค์ ส่งไมค์ให้ก็สั่น กลับแย่งไมค์มาก่อน ขอพูดก่อนให้ได้ ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เจตคติทางบวก ที่เราตั้งโจทย์ให้ทำ ด้วยคาดหวังให้เขาได้สัมผัสแต่ความสุขใจในระหว่างกิจกรรม จะมีพลังมาก จนสามารถสร้างความคุ้นเคยระหว่างคนที่ไม่รู้จักกันให้เปิดใจและคุยกันจนเกิดความคุ้นเคย
ในกิจกรรมสุดท้าย เราให้เขามอบของฝากให้กันและกันด้วยค่ะ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มีบางคู่เขากอดอำลากันและกันด้วยค่ะ บางคู่นั้นมีความประทับใจต่อกันถึงขั้นแลกเบอร์มือถือกันด้วยค่ะ เรื่องที่เล่ามานี้เกิดระหว่างครูกับชาวบ้านนะค่ะ ซึ่งฉันต้องขอบอกว่า ดีใจมากค่ะ ที่การจัดกิจกรรมครั้งนี้ให้ผลถึงขนาดนี้ค่ะ มันเกินความคาดหวังค่ะ
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ฉันไม่ได้เข้าไปอยู่ในวงสนทนาด้วย ทำหน้าที่เพียงแต่เป็นผู้สังเกตการณ์รอบนอก นั่งอยู่ไกลๆเลยค่ะ จะเข้าไปใกล้ๆเขาเมื่อเห็นว่าเขาต้องการความช่วยเหลือบางอย่างก็เข้าไปอำนวยความสะดวกเท่านั้น
อ้อมีบ้างที่ก่อนถึงกิจกรรมท้ายๆ ฉันได้เข้าไปแจมด้วย เข้าไปเพื่อเพียงจะสะท้อนเขาสั้นๆว่า ฉันเห็นว่าพวกเขา แค่ใช้อาวุธ 2 อย่าง คือ “การคุย” และ “การมีความคิดบวก” ก็พบกับความสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้พวกเขามีติดตัวอยู่แล้ว ขอให้เขานำไปใช้แล้วความเครียดทั้งหลายก็จะถอยห่างไป โรคทั้งหลายที่มีมันก็จะสงบและคุมง่ายด้วยค่ะ
ก่อนจบฉันมีของฝากมอบให้เขา เพื่อให้เขาได้ใช้ก่อนใช้อาวุธ 2 อย่างที่อาจารย์นกไฟบอกไว้แล้วข้างต้น ของฝากนั้นก็คือ ข้อคิดนี้ค่ะ
หนึ่ง คือ ก่อนจะเอ่ยปากคุยกับใคร ให้ถามตัวเองก่อนว่า เรื่องที่กำลังจะพูดออกไป เป็นเรื่องบวกหรือลบ ถ้าพบว่าเป็นเรื่องลบ ให้คิดและแปลงก่อนว่า จะพูดให้เป็นบวกอย่างไร แล้วจึงพูดออกมา
สอง คือ ก่อนลงมือทำอะไร ให้ถามตัวเองก่อนว่า ขณะที่ลงมือทำนั้น ความคิดของตนเองเป็นบวก หรือเป็นลบอยู่ ถ้าพบว่าเป็นลบ ให้พึงคิดซะก่อนว่าจะเปลี่ยนมันให้เป็นบวกหรือไม่ จะลงมือทำอย่างที่คิดหรือไม่
โดยฉันย้ำบอกให้เขานึกถึงกิจกรรมที่เข้ามาร่วมนี้ ว่าเขาพบด้วยตัวเองแล้วว่าเมื่อเขาลงมือทำบวก เขาได้ผลสะท้อนเป็นบวกกลับมา และนั่นได้ทำให้เขารู้สึกว่าได้พบความสุขค่ะ
กิจกรรมครั้งนี้ มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากส่วนลึกในใจ ที่ทุกคนรับรู้และรู้สึกว่า เขาอิ่มค่ะ ก่อนจากกันจึงลงเอยด้วยภาพที่เห็นนี้ค่ะ
« « Prev : อีกมุมหนึ่งจากสวนจตุจักร
Next : มาเรียนรู้จากข้อคิดของชาวบ้านกันหน่อย » »
4 ความคิดเห็น
วันหลังมีกิจกรรมดีๆ ส่งข่าวด้วยนะ ว่างๆจะไปร่วมด้วยครับ อิอิ
ได้เลยๆ ยินดีอย่างยิ่งค่ะ
แต่ถ้าเป็นเรื่องลบจริงๆ เราจะต้อง ใช้คำโปรยยังไงก่อนไหมคะ
#3 มีวิธีที่เคยได้ยินมาจากเวทีอื่น คือ ก่อนจะโปรยคำออกไป อลงสมมติว่าเราคือคนที่กำลังทำเรื่องลบนั้น แล้วหาข้อแก้ตัวก่อนว่า ทำไมทำลบ ทำอย่างนี้มันฝืนก็จริง แต่มันทำให้ปิ๊งอะไรมุมมบวกขึ้นมาได้ ทำให้ความคิดบวกมันคืนมาที่ตัวก่อนพูดออกไปค่ะ ฝึกทำๆปบ่อยๆเขาว่า แม้มุมลบก็ยังมองเห็นมุมบวกและพูดออกมาได้ค่ะ