ภูมิปัญญาปกป้องถิ่น

โดย สาวตา เมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:29 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1124

รู้สึกดีกับโอกาสของชีวิตที่ได้เจอปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาตน เล่าเรื่องที่ครูบาสุทธินันท์แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อชวนมองรากที่มาของความเป็นสังคมไทยแล้ว ก็ขอนำเรื่องที่ “ครูชบ” ครูผู้ยิ่งใหญ่ ปราชญ์ชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่ได้พบในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ มาเล่าให้ฟังต่อค่ะ

เรื่องราวที่นำมาเล่าให้ฟังนี้เป็นแค่บางส่วนเป็นน้ำจิ้ม  ส่วนเนื้อหารายละเอียดที่ครูพูดให้ฟังขอชวนไปอ่านบทความที่เชื่อมโยงมาให้กันเองค่ะ

ครูชบ เดิมเป็นครูน้อยของโรงเรียนในถิ่นบ้านเกิด แล้ววันหนึ่งเกิดความรู้สึกอยากเป็นครูใหญ่ จึงเดินไปขอเป็นครูใหญ่ แล้วได้เป็นตามที่ขอ หลังจากเป็นครูใหญ่ ก็โดนชาวบ้านกล่าวหาว่า “บ้าอำนาจ” โดยครูมีสื่งที่อยู่เบื้องหลังของความคิดที่ทำให้เกิดภาพอย่างที่เล่าเมื่อลงมือทำว่า “การศึกษาคือการพัฒนาคน”

เรื่องราวที่ครูคิดและลงมือทำ มีแรงบันดาลใจมาจากวัยเด็กค่ะ

เรื่องราวที่ครูเล่าไว้ น่าสนใจ จึงนำมาบอกเล่าให้รู้ัจักครู  เรื่องราวที่ครูเล่ามีอย่างนี้ค่ะ

“ผมเกิดในครอบครัวที่ยากจนจึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในกทม. และไม่มีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย จึงต้องเรียนและศึกษาด้วยตัวเอง และสุดท้ายเรียนจบปริญญาตรี ขณะที่รับราชการเป็นครูใหญ่ ผมได้สังเกตุว่า ในสังคมไทยจะมีกลุ่มคนในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มข้าราชการ กลุ่มทำงานบริษัท กลุ่มชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน แม่ค้าปลีกย่อย

กลุ่มหลังนี้ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย นอกจากที่รัฐบาลได้จัดให้เล็กๆน้อยๆเท่านั้น เช่น บัตรคนชรา แต่เวลาใช้รักษาพยาบาลจริง มันก็คือต้องอยู่หลัง ต้องไปต่อท้ายคนอื่น ต้องทน เพราะรักษาไม่เสียเงิน พบแพทย์ช้า

ผมจึงรู้สึกว่า ทำไมกลุ่มที่สามนี้ ซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากแต่ได้บริการเพียงเล็กน้อย ถ้าจะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเหมือนคนที่มีโอกาสดี ทำได้ไหม ผมถามตัวเอง น่าจะลองทำดู”

คิดอย่างนี้แล้วครูก็ลงมือทำโดยมีเพื่อนหลายคนบอกว่าครูคิดและทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ครูไม่ติดกรอบว่าเป็นครูต้องอยู่แต่ในโรงเรียน ครูมีความคิดว่า การศึกษามันต้องอยู่ทั่วๆไป ตรงไหนก็ได้ การศึกษามีได้ทุกที่ การอยู่ในห้องเรียนเป็นการบังคับให้สมองคนคิดในกรอบของห้องสี่เหลี่ยมแคบๆในรั้วโรงเรียน (เห็นมั๊ยว่าความคิดครูคมซะไม่มี)

ครูเล่าว่า “ผมเลยต้องใช้เวลากลางคืนออกประชุมชาวบ้านใน ต.น้ำขาว ทั้ง ๑๑ หมู่บ้าน ผมต้องเดินไป และตอนที่ออกไปพูดคุยกับชาวบ้าน ผมคิดว่าถ้าออกคนเดียวจะไม่สะดวกสบาย จึงหาแนวร่วมคือเชิญพัฒนากรตำบล เจ้าหน้าที่อนามัยตำบล ตำรวจตำบล เกษตรตำบลมาคุยที่โรงเรียนก่อนว่า ท่านทั้งหลายที่มาอยู่ใน ต.น้ำขาวนี่มาทำอะไร ทำเพื่อใคร และผมขอว่าอย่าตอบเพื่อเงินเดือน เพราะอันนี้เด็กๆก็รู้ เด็กๆก็เห็นอยู่…..”

“ทุกคนตอบเหมือนกันคือ เพื่อพัฒนา ต.น้ำขาว เพื่อช่วยคน ต.น้ำขาว ผมสรุปว่าถ้าอย่างนั้นทุกคนก็ทำเรื่องเดียวกัน ผมก็คือคน ต.น้ำขาว เด็กก็เหมือนกัน ทำร่วมกันได้ไหม ทุกคนเห็นด้วยและบอกว่าดี”

ตอนนั้นรัฐบาลยังไม่ได้คิดเรื่องสี่กระทรวงหลัก ทั้งหมดในทีมของครูจึงตั้งทีมรณรงค์พัฒนา ต.น้ำขาว แล้วทั้งหมดเลือกครูเป็นหัวหน้าทีมโดยเห็นว่าครูอายุสูงสุด คนอื่นอายุน้อยกว่า ครูขอคำมั่นว่า ถ้าให้ครูเป็นหัวหน้า ก็ต้องสั่งทุกคนได้นะ

ครูบอกว่า “เมื่อผมทำจริง ผมก็สั่ง ก่อนสั่งผมเสนอว่าเราน่าจะทำวิธีใหม่ คือ เดินกลางคืน ต้องเสียสละ เพราะเราไปหาชาวบ้านให้เสียสละ แต่เราราชการเลิกแล้วกลับบ้านไม่เสียสละเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี”

เมื่อทุกคนเชื่อและเห็นด้วย ครูก็มีกำหนดการว่าทุกวันที่ ๕ ของเดือน ให้ไปประชุมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบลนี้ แล้วให้แต่ละคนพูดเรื่องของตัว เช่น อนามัยพูดเรื่องอนามัย ตำรวจพูดเรื่องความสงบเรียบร้อย เรื่องการศึกษาไม่ต้องพูดเพราะเขายอมรับเรื่องโรงเรียนแล้ว ครูจะพูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ชุมชนเอง”

เรื่องราวที่ทำให้ชาวบ้านยอมรับโรงเรียน ครูคิดอย่างไร ลงมือทำอย่างไร ตามไปอ่านชีวิตครูด้วยกันค่ะ

เรื่องราวของสัจจะออมทรัพย์ ครูไปทำอย่างไรไว้บ้าง มีเรื่องราวสนุกๆค่ะ อยากรู้ก็ตามไปชื่นชมครูด้วยกันค่ะ

เพื่อนๆชาวเฮฮาศาสตร์อ่านแล้วรู้สึกไหมว่า ครูชบก็เป็นคนพันธุ์เฮคนหนึ่งเหมือนกันนา

« « Prev : ภูมิปัญญาทิ้งถิ่น

Next : ยังไงดี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ภูมิปัญญาปกป้องถิ่น"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.063115119934082 sec
Sidebar: 0.28072595596313 sec