มหกรรมเรียนกับครูวัว
พ่อครูให้โจทย์ว่า ให้จูงวัวไปรอบสวนแล้วมาเจอกันที่จุดปล่อยวัว ให้เวลา ๒ ชั่วโมง แล้วเมื่อวัว ๖ ตัวถูกส่งมอบใส่มือ ก็เกิดความโกลาหลเล็กๆ โกลาหลอย่างไรดูและสร้างภาพเคลื่อนไหวดูเอาเองก็แล้วกันค่ะ
ใครมีธรรมชาติแห่งการเป็น change agent สูงกว่าใคร เริ่มมองเห็นบ้างแล้ว ใครที่จะบ๊ายบายชนบทหรือถอดใจง่ายๆหากไม่มีข้อร้อยรัดให้ผูกพันกับชนบท ใครก้ำกึ่ง พอจะมองเห็นได้ลางๆเหมือนกันนะ
ใครที่มีน้ำอดน้ำทน รู้จักสังเกต สังเกต สังเกต ใครที่ปล่อยวางหรือสิ้นคิดง่ายกว่าใคร ใครที่รู้จักยืดหยุ่น ใครเรียนรู้เร็ว ก็เห็นได้ลางๆเหมือนกัน
ใครที่ชอบลอง แต่ปล่อยให้ความชอบลองเป็นอีแอบหลังประตู ก็เริ่มเปิดประตูใจแง้มออกให้อีแอบแปลงร่างออกมาเป็นอีเห็น
พ่อครูให้โจทย์แล้วก็ยังตามไปดูแลด้วยความห่วงใย คงเกรงว่าเด็กๆจะได้รับอันตรายจากวัว
เด็กๆใช้เวลาเรียนรู้กับโจทย์นี้อยู่เพียงแค่ชั่วโมงเศษๆก็ถอดใจยอมแพ้ ชวนกันกลับมาที่บ้านอย่างอ่อนระโหยไม่น้อยเลย อากาศใกล้เที่ยงร้อนขึ้นอีกแล้ว ความชื่นเย็นที่อวลอยู่แบบตอนเช้าไม่เหลือให้สัมผัสแล้ว มีนักเรียนแพทย์ผู้หญิงโดนวัวเหยียบเท้าซะนิ้วบวมแล้วต่อมาก็เขียวปี๋เลยด้วยคนหนึ่ง
เมื่อส่วนใหญ่พากันกลับเข้ามาพักกายในบ้าน ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ก็ชวนกันโจ้ข้าวหลามหนองมนที่นำติดมือเข้ามาที่สวนป่าด้วยกันอีกมื้อ ฉันเห็นชิ้นข้าวเหนียวที่แต่ละคนหยิบกินกันแล้วสยอง อือหือ แคลอรี่ที่กินเข้าไปหนักหนาเชียว ที่สยองก็เพราะกิจกรรมที่เตรียมไว้ต่อลำดับ ไม่ลงตัวกับการใช้แคลอรี่เอาซะเลย แล้วเวลาอีกไม่เกินชั่วโมงหลังจากกินมื้อนี้ก็เป็นมื้ออาหารใหญ่อีกมื้อแล้ว
นั่งกินข้าวเหนียวอย่างที่เห็น บอกให้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับกิจกรรมเด็กน้อยที่ผ่านมาแล้วเมื่อคืนนี้บ้าง น่าค้นหาไม่เบา
แล้ววงสนทนาอย่างเรียบง่ายก็เริ่มขึ้น เมื่อน้องสุชาดาชวนให้เด็กๆนั่งล้อมวงชวนเช็คอินและฝึกการสะท้อนการเรียนรู้ พี่ตึ๋งเป็นคนเริ่มโยนโจทย์ คุยกันด้วยคำถามง่ายๆ “รู้สึกอย่างไร” ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจด้วยว่า ชวนคุยง่ายๆแค่ความรู้สึก ไม่ต้องการคำอธิบาย ไม่ต้องคิด ไม่ต้องกลัวผิด คุยเรื่องความรู้สึกต่ออะไรก็ได้ จะเป็นเรื่องของการปั้นพระ หรือ จูงวัวก็ได้ แล้วแต่จะเลือก
บรรยากาศช่วงต้นของการเปิดวงสนทนา ซึ่งความผ่อนคลายยังไม่เกิดเท่าไร
เด็กคนแรกที่ยกมือขอพูด คือ คนที่นั่งอยู่ทางซ้ายของฉัน เด็กคนนี้มาสวนป่าร่วมกับนักเรียนแพทย์รุ่นปีที่แล้วด้วย ในใจฉันเดาไว้แล้วว่า น้องเขาเลือกพูดเรื่องจูงวัว เดาถูกเผงเลยค่ะ เขาพูดเรื่องความรู้สึกของการจูงวัวจริงๆด้วย เด็กคนนี้คือคนเสื้อสีเทาที่เห็นยืนดูวัวในภาพบนและกำลังจูงวัวในภาพล่างไงค่ะ
ไมค์ถูกส่งต่อไปรอบวง เมื่อไมค์ส่งผ่านสู่มือเด็กๆ ๔-๕ คนแรก ความรู้สึกผ่อนคลายยังไม่เกิดขึ้น บางคนไม่พร้อมที่จะพูดในรอบแรก ส่งต่อไมค์ให้เพื่อนก่อนก็มี บางคนพูดแล้วไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกเป็นคำพูดอย่างไรแต่ก็ยอมพูดในรอบแรกแล้วสะดุดหยุดลงโดยพูดไม่จบก็มี ผ่านคนที่ ๕ ไปแล้ว คราวนี้เริ่มลื่นไหลเมื่อมีคนเริ่มพูดยาวๆแบบต่อเนื่องอย่างเป็นธรรมดาๆของตัวเองได้ แต่บรรยากาศก็ยังไม่ผ่อนคลายเท่าไรนะ
ไม่ได้จำคำพูดของเด็กๆไว้หรอกค่ะ จำได้แต่ประเด็นที่สะดุดใจให้เอ๊ะ เป็นคำพูดที่ยืนยันสัญญาณที่จับได้บางอย่างจากภาพของเด็กๆที่ผ่านตามาแล้วหลายกิจกรรมค่ะ ประโยคหนึ่งของเด็กคนหนึ่งพูดถึงเรื่องการเล่าสู่กันฟังเรื่องเด็กน้อยว่า “ได้คุยกันก็ดี แต่เรื่องลึกๆกว่านี้ขอไม่คุยเล่า รอให้สนิทกว่านี้ซะก่อน” เป็นคำพูดที่สะกิดให้เอะใจค่ะ
บรรยากาศในช่วงหนึ่งของการสนทนา เริ่มมีรอยยิ้ม เมื่อมะเดี่ยวลงมือถ่ายรูปพี่ตึ๋ง
เช้านี้ฉันเข้าไปนั่งร่วมวงสนทนาด้วยอย่างรู้ตัวเองว่าไม่พร้อมสำหรับวงสนทนา จึงปล่อยให้พี่ตึ๋งทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ ส่วนตัวเองทำหน้าที่ร่วมวงฟังอยู่อย่างเงียบๆ
ในวงสนทนารอบ ๒ พี่ตึ๋งชวนคุย “เรียนรู้อะไร” ค่ะ เด็กสะท้อนบทเรียนรู้ออกมามากมายหลายมุมอย่างน่าทึ่งกับวิธีการคิดของพวกเขา ได้ประเด็นของการเรียนรู้ว่า การทำงานเป็นทีมมีความสำคัญ การสื่อสารมีความสำคัญ
บทเรียนของการปั้นพระ ได้อะไรตามโจทย์ของครูผู้มอบให้หรือเปล่า พี่ตึ๋งโอนหน้าที่ไปให้น้องตฤณเฉลยให้เด็กฟังด้วยตัวเองค่ะ แต่เจ้าของโจทย์เติมแค่ส่วนที่อยากบอกเท่านั้นว่า “การสื่อสารใช่แต่จะเป็นการพูด แต่ยังมีการสื่อสารที่ใช้การฟังด้วยนะ ฟังสิ่งที่ไม่ได้ออกเสียงพูด”
ฉันบอกเด็กๆไปว่า บทเรียนจูงวัวนั้นสอนอะไรมากมายหลายมุม ขอเพียงแต่จำได้ เมื่อไรก็เมื่อนั้น วัวเป็นครูให้ได้ทันที
น่าจะเป็นว่าฉันนั่งเงียบเสียจนพี่ตึ๋งทนไม่ได้มั๊ง จึงโยนไมค์มาให้พูด หลังน้องตฤณพูดจบลงแล้ว
ไม่ได้พูดอะไรหรอกค่ะ ฉันแค่โยนตัวกวนให้เด็กที่นั่งข้างตัวฉันซึ่งหมออุ๊ได้กระซิบโจทย์พิเศษของเขาฝากเอาไว้สะท้อนมองเห็นตัวเองในแง่มุมของความสามารถที่จำเป็นสำหรับอนาคต
ทำงานกับชีวิตคนที่ทำแบบปั้นพระไม่ได้เมื่อคนอื่นมีความคาดหวังต่อผลงานของคนเป็นหมอเมื่อจบออกไป
ความสำคัญของการฟังภาษาที่ไม่ได้ออกเสียงพูดที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตคนเป็นหมอได้ ทำร้ายความรู้สึกดีๆที่ตั้งใจทำได้ ถ้าไม่มีทักษะของการฟังภาษาเงียบเหล่านี้ ก็เกิดผลร้ายๆกับตัวเองทั้งๆที่ตั้งใจทำดีได้
ยกตัวอย่างของรุ่นน้องแพทย์ที่ทำงานวันแรกก็โดนฟ้องให้ฟัง คดีกว่าจะปิดลงด้วยข้อสรุปว่า หมอทำดีที่สุดแล้ว ก็ใช้เวลานานถึง ๗ ปีที่ความรู้สึกด้านร้ายๆยังคงเกาะอยู่กับใจ
ได้ขอบคุณน้องตฤณที่นำมาเติมเต็มให้แทนเด็กๆด้วย
มีคำพูดหนึ่งที่เด็กๆสะท้อนว่า “วัวมันฉลาด มันแก้เชือกที่พันตัวมันได้ง่ายๆ ในขณะที่ผมคิดไม่ได้ว่าจะทำยังไง”
ฉันว่าตัวกวนที่ฉันโยนใส่นี้ก่อความสะเทือนให้เด็ก ๒ คนที่นั่งขนาบข้างฉันเริ่มหันมาพิจารณาความสามารถของตัวเองที่ตั้งเป้าไว้ว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้วค่ะ รวมทั้งเด็กคนอื่นๆก็เริ่มเปิดมุมมองใหม่กับตัวเองด้วย
พูดอะไรออกไปบ้างจำไม่ได้แล้วค่ะเพราะคำพูดมันเกิดขึ้นจากความคิดสดๆอ่ะค่ะ จำได้แต่คำที่บอกเด็ก ๒ คนที่นั่งขนาบข้างว่า น้องโชคดีที่ได้มาสวนป่าเป็นครั้งที่ ๒ เท่านั้นเองค่ะ
วงสนทนาดำเนินไปจนถึงเที่ยงครึ่ง น้องสุชาดาจึงจบวงสนทนาลงเพื่อให้ท้องได้เติมอาหาร บอกเด็กๆก่อนเลิกว่า ช่วงบ่ายๆจะคืนเวลาให้เด็กๆสบายๆกัน ส่วนอยากจะทำอะไรเอาไว้ค่อยตกลงกัน
เด็กๆสะท้อนบอกว่า ชอบกิจกรรมนอนและอยากให้มีการนอนในรอบที่ให้สะท้อนความรู้สึกแล้ว ก่อนเลิกกิจกรรมภาคเช้าน้องสุชาดาจึงแจ้งกำหนดการว่ากินข้าวแล้วมีนอน เด็กๆชอบใจ
กินข้าวอิ่มแล้ว ได้นั่งคุยกับน้องเพ็ญ ลูกศิษย์ของอาจารย์เอเชีย ก็ได้ฟังคำพูดที่กระตุกให้ใคร่ครวญ “หนูไม่เข้าใจ นักศึกษาที่มาก็วัยไล่ๆกับหนู ทำไมเขาคิดกันเยอะจัง”
๒๔ เมษายน ๒๕๕๓
« « Prev : เมื่อวิชาเก็บผักสอนอีกมุม
4 ความคิดเห็น
ขอกล่าวเฉพาะน้องเพ็ญนะครับ เพิ่งพบเธอครั้งแรกเพราะเธอมากับน้องสุชาดา เป็นเด็กที่น่าสนใจทีเดียว เธอบอกว่าจบชีววิทยาเกียรตินิยมอันดับสอง ผมก็บอกว่าเออ พี่ก็เรียนชีววิทยามาเยอะ เพื่อจะได้รู้สึกว่าใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะผมตั้งคำถามในใจว่าเด้กวัยรุ่นสมัยนี้คิดอะไร ทำอะไรกันบ้าง เพราะคนข้างกายพูดกันบ่อยๆว่า เราน่ะวุ่นวายกับวิชาชีพทั้งวันทั้งคืนดูจะห่างไกลวัยรุ่นมากไปแล้ว กลัวว่าเราจะไม่เข้าใจลูกสาวที่กำลังเป็นวัยรุ่น จึงพยายามเรียนรู้เขาด้วย
ดูเหมือนเธอกำลังตามหาตัวเอง
และดีจริงๆที่เธอมากับน้องสุชาดา และทำงานกับ อ.เอเซีย (ความจริงผมยังไม่รู้จัก อ.เอเซีย) แต่เชื่อเช่นนั้น การที่เด็กสาวมาทำกิจกรรมเหล่านี้ มาคลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้ ความรู้รอบข้างอาจจะมีส่วนสะสมให้เธอเหล่านั้นประเมินตัวเองได้บ้างว่า ชีวิตต้องการอะไรกันแน่ นี่หละสำคัญจริงๆ การมาอยู่สวนป่าเพียงสองสามวัน อาจจะไม่สามารถบรรลุประเด็นนั้น แต่จะสะสมความรู้สึก ฉุกคิด มีส่วนในการประมวลตัวเองมากขึ้น นี่คือกิจกรรมที่สำคัญกับชีวิตที่ครูบาอาจารย์ และพ่อแม่ ควรให้โอกาสกับเด็ก
ย้อนมาเล่าถึงลูกสาวตัวเอง เธอเรียนมาทางสายวิทย์ เพราะเธอสนใจและชอบ ทำคะแนนได้ดีมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นสมัยมัธยมปลายดูเธอเปลี่ยนไป สนใจภาษาและทำได้ดี แต่ก็ยังเรียนสายวิทย์ เมื่อมีเวลาว่างถามว่าโตขึ้นหนูสนใจอะไร เธอตอบไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่เซ้าซี้ แต่ตั้งประเด็นในใจไว้กับพ่อแม่ว่าต้องช่วยหาทางให้ลูกสรุปตัวเองให้ได้เมื่อมีโอกาส
เธอไปเรียนไฮสคูลที่ NZ โดยที่เราไม่ได้ตั้งเป้ามาก่อน เมื่อปิดเทอมกลับมาขอนแก่น เธอออกปากว่า หนูอยากไปทำงาน เราเป็นงง เพราะเด็กวัยรุ่นปิดเทอมก็เที่ยวกันทั้งนั้น แต่เธอขอร้องให้หางานให้ทำ เหมือนเพื่อนๆเขาที่ NZ เราจึงไปฝากทำงานที่โรงแรมชั้นหนึ่งของขอนแก่น ทำงานแบบไม่รับเงินค่าตอบแทน แค่สามวันแรกเท่านั้นเธอกลับมาร้องไห้เลย เพราะไม่สนุก (วันหลังจะลงรายละเอียดเรื่องนี้) แต่เธอได้บทเรียนชิ้นใหญ่ในชีวิตว่าอนาคตเธอจะไปเรียนอะไรต่อ เทอมต่อมาเธอขอทำงานอีก คราวนี้ผมไปฝากทำงานโดยไม่รับเงินกับเอเยนซี่ขายตั๋วเครื่องบิน ทัวร์ต่างๆที่ขอนแก่น ดูเธอผ่อนคลายและสนุก ได้ใช้คอม ได้ติดต่อสื่อสาร เข้าใจระบบเครือข่ายธุรกิจด้านนี้ ฯลฯ แต่เธอก็ยังเรียนสายวิทย์
อีกสองปีเธอตัดสินใจกลับมาเรียนเมืองไทยในสายวิทย์ด้าน Food Science ที่ ABAC และเข้าทำงานในสายธุรกิจด้านอาหารจนปัจจุบัน และเธอสนุกกับงานแม้จะมีอุปสรรค ก็เป็นปกติของพนักงานใหม่
หันหลับมาน้องเพ็ญ ลางๆว่าน้องเพ็ญก็กำลังหาตัวเอง แม้เพื่อนๆส่วนใหญ่จะเรียนต่อ ตัวเองก็ยังวนเวียนกับ อ.เอเซียเพราะประทับใจ อ.เอเซีย ซึ่งผมว่าดี และเชื่อต่อไปว่าเธอคงสรุปตัวเองได้ว่าต้องการอะไรในชีวิต
แต่นิสิตแพทย์นี่ซิ จบไปก็ต้องเป็นแพทย์อยู่แล้ว มันเลยช่วงการตัดสินใจมาแล้ว แต่จะปรับตัวเองกับวิชาชีพนี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจกับเด็กบางคนที่อาจมีปัญหากับตัวเอง การมาสวนป่า มาอยู่ในบรรยากาศที่แตกต่างออกไปจากวงการแพทย์บ้างก็น่าจะช่วยเติมองค์ประกอบของคำตอบ หรือสะสมองค์ประกอบการมุ่งมั่นได้บ้างนะครับ
ใช่เลยค่ะพี่ น้องเพ็ญกำลังค้นหาตามหาตัวเองเพื่อสรุปว่า “เธออยากทำอะไร”
เอเชีย ตอนทำวิทยานิพนธ์ มาฝังตัวอยู่สวนป่า 2 ปี เรียนทุกอย่าง ปะทะปัญหาอย่างไม่ย่นย่อ
ถูกแกล้งสาระพัด ทำโครงการ แผนการเรียนการสอน “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ถูกครูและผู้บริหารที่ร่วมโครงการ เรียก”โครงการความหลอกหลอนทางชีวภาพ” แต่จากการที่เป็นคนดีจริง ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ สู้งานอย่างหัวชนฝา ผมเองประทับใจกับมานพน้อยคนนี้มาก เป็นเด็กพิเศษจริงๆ ตอนนี้เป็นอาจารย์ที่มหิดล แว่วๆว่าจะมาช่วยม.ขอนแก่น ทางด้านครู ครุศาสตร์ ประมาณนี้มั๊ง
เคยเจอดร.เอเชียผ่านเวที HA ครั้งที่ ๑๑ ค่ะพ่อครู