ตีแตกสวนป่า(3)-เรียนรู้

โดย สาวตา เมื่อ 22 มีนาคม 2009 เวลา 20:45 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 2092

วันแรกที่เหยียบเมืองบุรีรัมย์ ก็ได้ยินข่าวจากอุ๊ยว่า คนในสวนป่ากำลังมีกิจกรรมร่วมกันแบบครอบครัวและรู้สึกดีจัง  ฟังแล้วเสียดายที่ฉันไม่มีโอกาสได้ร่วมอยู่ในบรรยากาศนั้น แล้วยังรู้สึกว่าทำให้น้องฑูรและน้องแอ๊ดไม่มีโอกาสอีกด้วยยังไงเชียว แต่มันผ่านไปแล้วนี่นา ก็ ณ เวลาที่เดินทางมาถึงนั้น เป็นเวลาที่ควรดูแลกันและกันของคนอยู่ใกล้กันซะมากกว่า คนไกลกว่ามาพบเจอกันพรุ่งนี้ก็ยังไม่สาย

วันต่อมาที่ได้เข้ามาสู่สวนป่า ก็ได้รับรู้ว่า พ่อครูนะ แอบดูแลคนหลายคนอยู่นะ แล้วสไตล์ของการดูแลของพ่อครู มันทำให้ใครหลายคนอึดอัดบ้าง จี๊ดบ้าง เซ็งบ้าง ไม่รู้เลยบ้างก็มี หลากหลายทีเดียวเชียว และดูเหมือนผู้ให้ความดูแลนะมีความสุข สนุกแบบเด็กๆด้วยนะ เรียกว่าแอบกระหยิ่มใจที่ตูข้าทำสำเร็จกับการได้ลอง

การเข้ามาอยู่ร่วมกับคนหลายคนที่สวนป่า มันเป็นรูปแบบของสังคมย่อส่วนอย่างหนึ่ง ที่มีความครบถ้วนด้านโครงสร้างไม่แตกต่างจากสังคมภายนอกเลยนะ หลากหลายบทของผู้คนที่เข้ามาสู่พื้นที่ มีทั้งที่ถูกมอบให้อย่างตั้งใจ ไม่ตั้งใจ แกล้งมอบ อยากลอง อยากรู้จัก อีกทั้งเป็นบทของการเลือกบทเองทั้งโดยสมัครใจตามความคุ้นชินและฝืนความคุ้นชิน ฉันว่าบทบาทต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนรู้งอกงามขึ้นในตัวตนของทุกคนแล้วแต่ว่าผู้คนนั้นๆจะรู้ตัวรึไม่ 

 

ภาพบางภาพที่ผ่านสายตามันก็มีเอ๊ะมาแตะความรู้สึกแล้วความคิดความรู้ตามสัญญาเดิมก็มาสะกิดขอเป็นเพื่อน ฉันว่ามีผู้คนมากมายที่ได้เรียนรู้สัญญาของตัวเอง และข้อสรุปผิด-ถูกของตนนั่นแหละที่จะนำไปส่การเรียนรู้การอยู่ร่วมในสังคม ที่สำคัญกว่าที่ฉันเห็นมันเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ คือ การมองเชิงบวกเพื่อวางบทบาทของตนลงสู่พื้นที่สวนป่าให้เหมาะกับตนของผู้คน

ภาพบางภาพทำให้ฉันเอ๊ะกับความรู้สึกผ่อนคลายของผู้คน ฉันว่ามีผู้คนที่เกิดการเรียนรู้ความอึดอัดภายในตัวตนของตนอยู่เช่นกัน บางคนได้สอนให้เห็นวิธีจัดการความอึดอัดให้ผ่อนคลายด้วยการลงมือทำอะไรลงไปด้วยตัวเองด้วยความรู้สึกเชิงบวกที่มีต่อผู้คน บางคนก็หลบเลี่ยงไปใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างเงียบๆ  บางคนก็ใช้การเรียนรู้เข้ามาทำให้เกิดการผ่อนคลาย บางคนก็ใช้วิธีผ่อนคลายเดิมๆของตนในการทำให้เกิดความผ่อนคลาย บางคนก็ลงมือช่วยคนอื่นให้เกิดความผ่อนคลายตามความถนัด จิปาถะที่มีให้เห็นทีเดียว และนี่คือวิถีที่ทำให้เกิดบรรยากาศดีๆเสมอเมื่อเหล่าชาวเฮฮาศาสตร์มาพบปะกัน 

 

คนภายนอกอาจจะมองว่ากลุ่มนี้แปลก แต่ในความแปลกเขาก็อยากรู้มันเป็นอะไรและหลายคนก็เปิดใจเรียนรู้ หลังจากเรียนรู้เขาก็เจอคำตอบ “อ้อ” นะค่ะ

ส่วน “อ้อ” อะไรเห็นทีจะขอใช้วิธีโยนศาสตร์โยนโจทย์ให้ครูปูเล่าให้ฟัง น้องครูอึ่ง น้องราณี น้องอาราม เล่าให้ฟังด้วยเน้อ

นอกจากวิถีที่ดำรงอยู่ในระหว่างวันที่ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้  เด็กๆก็ได้เรียนรู้ผู้ใหญ่ไปด้วย เด็กๆได้เปิดโลกของเขาให้กว้างขึ้น เปิดโลกแห่งความคิดต่อโลกแปลกหน้าและระแวงภัยอยู่ในใจให้เปิดกว้าง ใจของเด็กนั้นมหัศจรรย์ยิ่งนัก ความผ่องใสในใจเขาคือเครื่องมือสำคัญ ฉันว่าเด็กๆเขาได้ข้อคิดแล้วว่าในโลกนี้มีผู้ใหญ่ที่เขาสามารถวางใจในความปลอดภัยอยู่น่ะ การเรียนรู้ต่อไปของเขาเป็นก้าวสำคัญสำหรับการดูแลใจ ว่าเขาจะนำข้อคิด ความรู้อะไรจากการใช้ชีวิตในสวนป่าร่วมกับผู้ใหญ่อย่างพวกเราไปใช้หล่อเลี้ยงใจเขาต่อไปให้เติบโตอย่างสดใส  ฉันว่าสวนป่าได้สอนเด็กๆให้รู้ว่า สังคมที่ “ไม่มีถูก-ไม่มีผิด” เมื่อมีคนอยากลองเพื่อเรียนรู้ มันให้ความสุขอย่างไร ครูผู้นำพาจะช่วยหล่อเลี้ยงอย่างไรให้พวกเขามีสติพร้อมเผชิญภัยในโลกที่คลุกคลีประจำได้อย่างสดใสภายใต้บทเรียนรู้ที่สังคมสวนป่ามอบให้  เป็นโจทย์ที่ฉันรอคอยคำตอบอยู่ค่ะ

สำหรับฉัน ฉันได้เรียนรู้ว่า อัตตาของคุณอำนาจยังคงอยู่ในตัวตนเมื่อเจอกับคนแปลกหน้าที่ลงมือกระทำอะไรที่ทำให้รู้สึกถึงอำนาจจึงรู้สึกจี๊ด แต่ก็ดีใจที่อัตตานั้นไม่ได้พยายามยึดตัวเองเอาไว้มั่น สติจึงเกิดทันและรับรู้ว่าเกิดจี๊ดแล้ว  ดีใจที่สติมันทันกับจี๊ดที่เกิด การเรียนรู้กับจี๊ดครั้งนี้ให้ความรู้ใหม่ว่า เมื่ออัตตาประเภทเดียวกันเจอกันด้วยพลังพอๆกัน มันมีผลต่อคนสองคนที่เจอกันในขณะนั้น แล้วการปะทะกันเล็กๆจะสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งต่อกันเกิดขึ้นได้ หากคนสองคนนั้นไม่รู้สติ สติเกิดขึ้นทันทำให้ฉันแค่ตอบสนองต่อตัวตนอำนาจของตัวเองเพียงแค่เดินหลีกหนีออกมาจากการเผชิญอำนาจของคนอื่นที่อยู่ต่อหน้าเท่านั้นเองเมื่อได้รับรู้มัน

นอกจากเรียนรู้เรื่องของอัตตาของตัว ฉันยังได้เรียนรู้วิธีอ่านสาส์นจากธรรมชาติที่ปรากฏต่อหน้าจากพี่ที่นับถือด้วย พี่หลินฮุ่ยได้ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ให้ได้เรียนอย่างผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็ก ซึ่งทำให้ฉันเอ๊ะกับตัวเองตรงที่รู้สึกสนุกกับมุมเรียนรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับธรรมชาติและมีหลายมุมมองทีเดียวที่ดูเหมือนจะสนใจในเรื่องคล้ายๆกัน รึว่าความสนใจเหล่านี้นี่เองที่ดึงดูดให้คนหลายคนในกลุ่มเฮฮาศาสตร์วิ่งเข้ามาหากันเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จะเรียกว่า จริตการเรียนรู้ต้องกันก็ว่าได้…..มั๊ง

แล้วในบรรยากาศที่อยู่ร่วมกัน ฉันยังได้เรียนรู้เรื่องความเป็นเด็กที่แฝงอยู่ในตัวของผู้ใหญ่หลายคนด้วยนะ ความเป็นเด็กที่มองเห็นนั้นมีทั้งเด็กที่มีความเกรงกับอะไรบางอย่างจึงรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะแสดงออกอย่างเด็ก ความเป็นเด็กที่กล้าลองเพราะอยากรู้ซะจนดูเหมือนจะเป็นการสุ่มเสี่ยงในสายตาผู้ใหญ่ ความเป็นเด็กที่แสดงออกด้วยการลงมือทำในสิ่งที่รู้ว่าตัวทำได้ ความเป็นเด็กที่อยากทำอะไรล้อเลียนผู้ใหญ่ ความเป็นเด็กที่รู้สึกดีกับตัวเองกับการเรียนชีวิต จิปาถะเลยค่ะ ซึ่งทุกเรื่องที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมสังคมชาวเฮฮาศาสตร์ให้อยู่ร่วมกันได้มุมหนึ่งนะฉันว่า

 

ถ้าถามว่าตีแตกอีสานให้บทเรียนอะไรบ้าง ฉันขอบอกมุมมองของฉันว่า หากอยากรู้ว่าสังคมสมานฉันท์จะเกิดได้อย่างไร ให้ถอดบทเรียนจากบทบาทที่ชาวเฮฮาศาสตร์ได้แสดงออกมาให้เห็นนะค่ะ คำตอบบางอย่างมันผุดพรายอยู่ต่อหน้าแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อของใคร นอกจากเชื่อสายตาของตัวเอง 

แน่นอนว่าเมื่อเห็นสิ่งที่ผุดพรายอยู่ต่อหน้า ผู้มองเห็นจะมีคำว่า เอ๊ะ! เกิดขึ้น พร้อมกับคำค้านหรือคำถามบางคำถาม แล้วพยายามหาคำตอบ ฉันขอบอกว่ามีสิ่งเดียวที่ขอให้อย่าเพิ่งเชื่อตาตัวเองแล้วสรุปจากภาพที่ผุดพรายต่อหน้า และฉันยังคงหนุนให้เอ๊ะ!ต่อไป นั่นคือ ขอท่านอย่าเพิ่งเชื่อตัวเองว่ามีสายตาแม่นยำเพียงพอที่จะสรุปถึงวิธีหล่อเลี้ยงให้เกิดความยั่งยืนของสังคมสมานฉันท์แห่งนี้  มันไม่ง่ายที่จะสรุปอย่างที่ตาเห็นหรอกค่ะ

ฉันคิดว่าการหาคำตอบให้กับคำถามเรื่องความยั่งยืน ผู้ที่แค่มองไม่สามารถตอบได้หรอกหนา คนในกลุ่มเองต่างหากเล่าที่จะเป็นคนบอกออกมาเกี่ยวกับความเชื่อของเขาจากประสบการณ์ที่สังคมแห่งนี้ได้ดำเนินมาแล้วว่าเชื่อว่ามันยั่งยืนรึไม่ และได้มีบทบาทอย่างไรให้มันยั่งยืนบ้าง ความรู้ในตัวคนเหล่านี้จะได้ถูกถ่ายทอดออกมารึไม่ในเวทีสวนป่าครั้งนี้ฉันไม่รู้หรอก แต่ฉันก็เชื่อว่ามีผู้คนที่เข้ามาในครั้งนี้แคลงใจ อีกทั้งมีผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดให้รู้อยู่บ้าง

ฉันเชื่อว่าเมื่อคนมองเห็นภาพของกลุ่มเฮฮาศาสตร์ ณ เวทีตีแตกอีสาน ผู้มองเห็นสนใจและเริ่มถอดบทเรียนในเรื่องวิธีที่จะทำให้สังคมสมานฉันท์เกิดขึ้น รวมไปถึงวิธีหล่อเลี้ยงให้สังคมดีๆอย่างที่เห็นสามารถอยู่อย่างยั่งยืนสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นนั้นว่าทำได้อย่างไร

สำหรับฉันนั้น หากจะให้ตอบคำถามสองข้อที่กล่าว ฉันขอตอบว่า “ความเข้าใจ” ผนวกกับ “ใจประสานใจ” ผนวกกับ “การหล่อเลี้ยงที่เหมาะควรแก่ทุกผู้คนเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน” คือ คำตอบค่ะ ความหมายของคำที่ฉันเอ่ยตอบมานี้ มีเรื่องราวแฝงฝังอยู่มากมายนะค่ะ ซึ่งหากใครอ่านบันทึกนี้แล้วก็ลองไปแปลความตามความหมายคำอย่างที่ตัวเองเข้าใจเอาเองละกัน เพราะความหมายของคำเหล่านี้ เมื่อถูกแปลความออกมาเพื่อใช้อธิบายความหมายคำที่คนอื่นพูดถึง บางครั้งมันตี(แสกหน้า)กันได้ไม่สมกับคำว่า “ตีความ” ได้ค่ะ

สำหรับการให้ค่ากับสังคมดีๆในรูปแบบที่กลุ่มเฮฮาศาสตร์ปรารถนาจะให้เกิด จะถูกหล่อเลี้ยงต่อไปอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องราวของผู้คนในกลุ่มที่พึงร่วมกันกำหนดขึ้น เพื่อให้เกิดคติของการดำรงอยู่ร่วมกัน เพราะว่าการอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมายนั้น พึงมีความชัดเจนว่าหมายรวมถึงอย่างไรบ้างในเชิงหลักการ จึงจะพอที่จะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมเพื่อให้เกิดความหมายนั้นด้วยกัน และนั่นจะทำให้ความยั่งยืนของสังคมดีๆแห่งนี้ดำรงอยู่โดยไม่ล่มสลายไปตามกาลค่ะ

« « Prev : ตีแตกสวนป่า(2)-วางแผน

Next : ตีแตกสวนป่า(4)-วัฒนธรรม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตีแตกสวนป่า(3)-เรียนรู้"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.042012929916382 sec
Sidebar: 0.13587307929993 sec