ตามลม (๕๑) : กลิ่นหมายถึง…มีพื้นที่ไร้ออกซิเจนอยู่แถวๆนั้นด้วยนะเธอ

อ่าน: 1480

ผู้รู้เขาบอกว่า ในสภาพที่เป็นกรดสูงและมีธาตุเหล็กหรืออลูมิเนียม ฟอสฟอรัสจะรวมตัวกับทั้ง 2 ธาตุเป็นสารฟอสเฟตที่ไม่ละลายน้ำ ในสภาพที่เป็นด่างสูง และมีธาตุแคลเซียมหรือแมกนีเซียม ฟอสฟอรัสจะรวมตัวกับธาตุ 2 ชนิดหลังเป็นสารฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้น้อย

ใต้ตึกมีท่ออยู่ เป็นไปได้ว่าจะมีเหล็ก หรืออลูมิเนียมอยู่ใกล้ๆ  แล้วจับตัวกับฟอสเฟตในผงซักฟอกที่รั่วซึมลงไปเป็นสารประกอบฟอสเฟต   เรื่องนี้ควรยืนยันให้แน่ใจต่อไป ถ้าหากจะคงบ่อทดน้ำรอบำบัดไว้ใช้งานแบบถาวร  เพื่อความมั่นใจเรื่องการจัดการกับฟอสเฟตก่อนปล่อยทิ้ง

รู้สึกดีที่ได้รู้ว่า ฟอสฟอรัสไม่เปลี่ยนรูปเป็นก๊าซเหมือน 4 ธาตุที่รู้จักแล้ว  แต่วงจรที่มันวนเวียนอยู่ ตั้งแต่การละลายน้ำแล้วไหลลงทะเลไป ตกตะกอนค้างอยู่ในทะเล และจะวนกลับขึ้นบกมาใหม่เมื่อมีสัตว์นำพาขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ชุมชนปวดหัวได้เหมือนกันถ้าสมดุลของมันไม่ดี

พืชที่ปลูกในดินซึ่งมีความเป็นกรดหรือด่างสูงจะดูดฟอสฟอรัสไปใช้ได้น้อย เพราะมันจะอยู่ในรูปของที่ไม่ละลายน้ำหรือละลายได้น้อย

น้ำทิ้งที่มีความเป็นกรด-ด่างของน้ำสูงก็ทำให้ฟอสฟอรัสอยู่ในรูปของตะกอนที่ไม่ละลายน้ำหรือละลายได้น้อยด้วย

ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีส่วนสำคัญต่อขบวนการสร้างเปลือกของสัตว์น้ำอย่างยิ่ง นาทีทองที่มันต้องใช้คือช่วงเริ่มต้นของการสร้างเปลือกนั่นเอง  เมื่อฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำมีน้อยก็จะมีผลทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอได้

แพลงตอนพืชที่เป็นอาหารสัตว์น้ำก็ใช้ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตพอๆกับไนโตรเจน การมีฟอสฟอรัสและไนโตรเจนที่เพียงพอในน้ำจึงสำคัญสำหรับแพลงตอนด้วย

มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-Green Algae) เพียงชนิดเดียวที่เติบโตได้ดีในน้ำที่มีไนโตรเจนน้อย ฟอสฟอรัสมาก

สารประกอบของฟอสฟอรัสต่างๆจะละลายน้ำได้น้อยเมื่อมีออกซิเจน และละลายน้ำได้มากขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะไร้ออกซิเจน

เมื่อฟอสฟอรัสถูกดูดไปใช้งาน ธรรมชาติจะปรับสมดุลระหว่างฟอสฟอรัสในน้ำและดินหรือตะกอนก้นบ่อเสมอ น้ำที่ขังไว้เป็นเวลานานๆหรือมีการวนน้ำกลับมาใช้ใหม่จึงเป็นน้ำที่สะสมฟอสฟอรัสไว้ในปริมาณที่สูงขึ้นๆโดยปริยาย

เมื่อฟอสฟอรัสในน้ำเพิ่มขึ้น แพลงก์ตอนพืชก็สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและนี่คือเหตุที่ทำให้น้ำขังนิ่งเปลี่ยนสีได้

ในพื้นที่ที่มีความเค็มต่ำ ก็เกิดปัญหาแอลจีบลูมได้ เพราะว่ามีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินบางกลุ่มสามารถเจริญเติบโตในแหล่งน้ำได้ตลอดทั้งปี  น้ำที่เร่งให้เกิดบลูมได้ง่ายมีความเค็มอยู่ระหว่าง 0-10 พีพีที อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 28-35 องศาเซลเซียส

ยิ่งเป็นน้ำนิ่งๆไม่ไหล ขุ่นมาก มีปริมาณสารอินทรีย์ แอมโมเนียและฟอสฟอรัสที่สูงมากก็ยิ่งช่วยทำให้การบลูมเกิดมาก เมื่อมากขึ้นๆก็จะไปกดการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนอื่นๆ  มีผู้รู้บอกเล่ามาว่าแค่น้ำมีออร์โธฟอสเฟตเข้มข้น 0.23 พีพีเอ็มก็สามารถทำให้เกิดบลูมของสาหร่ายกลุ่มนี้ได้แล้ว

จะป้องกันไม่ให้เกิดแอลจีบลูมก็ต้องควบคุมและป้องกันการสะสมของฟอสฟอรัสไม่ให้มากเกินไป วิธีทำก็คือตรวจวัดและติดตามปริมาณฟอสเฟตในน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง และควบคุมออร์โธฟอสเฟตให้มีไม่เกิน 0.2 พีพีเอ็ม ฟอสเฟตทั้งหมดไม่เกิน 0.5 พีพีเอ็ม  ป้องกันการเติมอินทรีย์สารลงในน้ำ ดูดตะกอนเลนก้นบ่อออกมาทิ้งเพื่อไม่ให้ละลายกลับมาเป็นอาหารของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินได้อีก

เวลาที่ควบคุมแล้ว น้ำยังมีกลิ่นดินหรือกลิ่นโคลน หรือเนื้อของสัตว์น้ำที่มีชีวิตอยู่ในน้ำนั้นมีกลิ่นดินหรือโคลน ก็ใช้เป็นข้อสังเกตได้เลยว่าในน้ำมีสาหร่ายกลุ่มนี้อยู่ เพราะมีแต่พวกมันเท่านั้นที่ผลิตสารประกอบที่ให้กลิ่นเหล่านี้ได้

อืม ข้อมูลที่ได้เพิ่มมานี้ทำให้เห็นภาพว่า กลิ่นไม่ได้หมายถึงแค่ก๊าซก็ได้นะเออ  ใต้ถุนตึกแห่งนี้สอนอะไรให้เยอะเลยนิ

« « Prev : ตามลม (๕๐) : หรือว่าเหตุที่เกิดกับคนงานเป็นผลจากแอลจีบลูม?????

Next : ตามลม (๕๒) : ก้าวต่อไปอีกก้าวแล้วหละ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๕๑) : กลิ่นหมายถึง…มีพื้นที่ไร้ออกซิเจนอยู่แถวๆนั้นด้วยนะเธอ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.03249192237854 sec
Sidebar: 0.14961791038513 sec