ใช้ความกลัวเป็นครู

โดย สาวตา เมื่อ 4 ตุลาคม 2008 เวลา 18:14 ในหมวดหมู่ การจัดการ, ประสบการณ์ชีวิต, สร้างนิสัย, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 2532

มีอยู่ช่วงหนึ่งกัลยาณมิตรได้บอกฉันว่า หมอน่าจะหยุดไปทำอะไรที่หมออยากทำสักกี่วัน เพื่อผ่อนคลาย ดูเหมือนว่าหมอจะเครียดหนา คำแนะนำนี้ทำให้ฉันอึ้งด้วยว่าทุกวันฉันไม่ได้รู้สึกว่าฉันมีความเครียด ทุกวันที่มาทำงานและใช้ชีวิตที่บ้านนั้นก็เป็นปกติอยู่เช่นทุกวัน

เมื่อเจอกับคำแนะนำนี้ ฉันได้กลับมาใคร่ครวญว่า หรือว่าฉันมีความเครียด โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว พอเจอคำบอกเล่าง่ายๆ ตื้นๆจากกัลยาณมิตรฉันจึงงงไปเลย เพราะไม่เคยคิดจริงๆ หรือจะเป็นเพราะว่าจริงๆ แล้วเรามีความเครียด (หรือไม่ก็มีความทุกข์อยู่ด้วย แต่ไม่รู้ตัว) นะนี่

จนกระทั่งได้ไปอ่านบทความของใครคนหนึ่งที่เคยเก็บเกี่ยวเอามาไว้อ่านยามว่าง เขาเล่าถึงเรื่องของการใช้เวลาประจำวันในการทำงาน ว่าเมื่อการทำงานกับงานที่ใกล้เส้นตายที่ต้องเสร็จเป็นงานที่ผัดวันประกันพรุ่งมาถูกขัดจังหวะ เขาจะมีความขุ่นใจเกิดขึ้น

แม้แต่เวลาอยู่ที่บ้าน เมื่อมีใครมาขัดจังหวะในขณะที่เขาทำงาน เขาก็เกิดความรู้สึกเช่นว่านี้ และเขาจะพูดออกไปโดยอัตโนมัติเป็นประจำนับสิบปีกับทั้งลูกและเมียว่า ป่าป๊าทำงานอยู่

จนกระทั่งมีวันหนึ่ง ลูกสาวมาอวดว่า เธอไปถ่ายรูปสวยๆมา อยากจะให้เขาดู เขาจึงนึกขึ้นมาได้ว่า เขาไม่ได้ให้เวลากับลูกสาวสักเท่าไร วันนั้นเมื่อถูกขัดจังหวะขณะทำงานที่รีบ เขาจึงให้เวลากับเธอ ความคิดแรกก็คือจะดูรูปกับเธออย่างเร็วๆ ผ่านๆ พอเป็นพิธี

คราวนี้มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นจากการที่เขานั่งใกล้ลูกสาว ชั่วขณะที่มองเธอผู้กำลังเล่าเรื่องราวอยู่นั้น เขาเกิดความคิดภายในใจขึ้นมาว่า นี่คือเลือดเนื้อเชื้อไขของเขา และเธอก็สวยงามมาก เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเขามานานมากแล้ว เขานึกไปถึงความรู้สึกแบบเดียวกันเมื่อเขาอุ้มเธอในตอนที่เธอยังตัวเล็กๆอยู่ แล้วเขาจึงรู้ว่า ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือ “ความสุข” ความสุขอย่างนี้เขาเคยมีมันมาแล้วแต่ได้ลืมมันไปนานมากแล้ว

เมื่อนึกขึ้นมาได้ เขาเกิดความรู้สึกเหมือนมีก้อนๆขึ้นมาจุกที่ลำคอจนปวดที่กรามทั้งสองข้างขึ้นไปจนถึงรอบใบหู แล้วก็รู้สึกมีน้ำตาซึมๆ ออกมา แล้วเขาก็เข้าไปอยู่ในภวังค์ของความเสียใจ เสียใจที่คิดขึ้นมาได้ว่าเขามีเรื่องของตัวเองมากมายที่ต้องคิดต้องทำเกี่ยวกับงานอยู่ตลอดเวลา แม้อยู่ที่บ้านก็เอางานมาทำ วันหยุดก็ยังทำ เขามีเวลาทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัวน้อยไป

เหตุการณ์ที่เขาเล่ามานี้มีใครรู้สึกไหมว่าเหมือนกับชีวิตที่กำลังเป็นอยู่ของตัวเองฉันว่าฉันก็มีชีวิตการทำงานเป็นอย่างที่เขาเป็นเช่นกัน บางครั้งฉันไม่อยากทำงานแบบผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อไรที่มีงานที่ใกล้เส้นตายต้องเสร็จก็ตั้งใจมั่นที่จะทำงานให้มันเสร็จให้ได้ทัน เมื่อใจมันไปมั่นเอาอยู่เยี่ยงนี้ ก็พลอยไปคาดหวังคนอื่นเขาด้วยว่าเขาจะทำงานด้วยใจมั่นอย่างใจเราเอง โดยคนที่เราคาดหวังเขานั้นเขาก็อาจจะไม่รู้หรือรู้แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราได้ผลงานที่ต้องการมา แล้วพอผลงานเขาออกมาไม่เป็นอย่างที่ใจเราคาด ความพลาดหวังจึงทำให้ตัวเราเองเกิดความเครียด เครียดด้วยความไม่เข้าใจว่าอะไรทำให้มันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาได้

เจ้านายฉันเขาเก่งที่รับรู้ได้ว่ามีความเครียดเกิดขึ้นในองค์กรระดับต่างๆ เขาได้กรุณาช่วยวิเคราะห์และบอกให้รู้ว่า เหตุที่เครียดนั้นเพราะมีความกลัวแอบแฝงอยู่ ความกลัวนั้นแหละที่ทำให้เกิดความกดดันอยู่ในใจ ฉันเองฟังตอนแรกก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับที่เจ้านายพูดเรื่องความกลัวหรอกนะ จึงคอยถามใจอยู่เรื่อยๆแต่ก็ไม่มีคำตอบให้ได้กระจ่าง จนเมื่อได้ปรึกษากับกัลยาณมิตรอีกคนหนึ่ง แลกเปลี่ยนกันไปมาในเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์คน จึงได้คำตอบกลับมาว่าความกลัวที่มีอยู่แล้วทำให้เครียดเมื่อเกิดความพลาดหวังขึ้นนั้น มันกลัวตัวเองจะเสียฟอร์มนี่เอง ฟอร์มที่ว่านั้นคือ กลัวว่าการได้พบเหตุการณ์เยี่ยงนี้บ่อยๆ จะทำให้เสียตัวเพราะหมดไฟ

มันก็เลยเป็นทุกข์เพราะเห็นจุดอ่อนของตนเอง ในเรื่องที่อยากเป็นคนที่พัฒนาตนเองให้ดีไปกว่านี้ เข้มแข็งกว่านี้ จะได้ทำสิ่งดีๆมีประโยชน์ได้มากขึ้น มันทุกข์เพราะมองเห็นว่าสิ่งที่เราตอบโต้กับคนไปไวๆ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะช่วยให้งานมันออกมาได้ดี มันถูกตอบโต้แรงๆกลับมาแบบล้มกระดานบ่อยครั้ง มันมองไม่เห็นความร่วมมือที่เกิดขึ้น ไม่มีมิตรภาพ ไม่มีการร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ผลงานที่มีเป็นเรื่องที่ผิดความคาดหวังในเชิงลบอยู่เรื่อยๆ ภาวะที่ผ่อนคลาย เบาสบายภายใน จิตใจปลอดโปร่ง สามารถปล่อยวางความคับแค้นที่เกิดขึ้นในใจได้จึงไม่เกิดขึ้น ใจมันคอยพะวงระวังไม่ให้ความกลัวมาครอบงำจนกลายเป็นคนเก็บกดแบบ ไม่ทำอะไร/ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร มันหวั่นไหวในใจไปอย่างนี้ก็เลยเครียด

มีคนพูดให้ฟังว่า เมื่อรู้ว่าความกลัวไม่ใช่สิ่งผิดปกติหรือสิ่งที่น่ารังเกียจที่จะต้องจัดการหรือกำจัดมันออกไป มันก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ฉันว่ามันจะเป็นประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำให้มันเป็น “ตัวช่วย” หรือ “อุปสรรค” ให้กับชีวิตต่างหาก ขอเพียงเมื่อเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วกล้าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกกับมัน อย่างยอมรับกับตัวเองว่าเราก็คนธรรมดาๆคนหนึ่งที่กลัวเป็น..เหมือนคนอื่นๆ เราจะพบว่าตรงนั้นแหละค่ะคือทางออกจากความกลัว.. โดยการยอมรับและรู้เท่าทันมัน

เมื่อฉันคิดได้อย่างที่คนๆนี้พูดไว้ ฉันก็พบว่าฉันได้ความสุขคืนมาค่ะ เป็นความสุขที่ได้มาจากการยอมรับและรู้เท่าทันใจตัวเอง ตอนที่อ๋อกับคำตอบนี้ฉันยิ้มออกมาได้และบอกกัลยาณมิตรไปว่า รู้เท่าทันแล้วว่าที่ใจไม่ปลอดโปร่งจนคนอื่นรับรู้ได้นั้น มันเกิดจากตัวเองกลัวใจตัวเอง ฉันว่าความรู้สึกกลัวตัวเองนี้ร้ายกว่ากลัวคนอื่นมากนักด้วยมันทักมันทายแทบแยกไม่ยอมออกจากใจให้รับรู้ได้

พอรับรู้และจับต้องความกลัวของตัวไว้ได้ และยอมรับมันตามความจริงแท้ของใจ ใจมันก็สุขขึ้นมาแล้ว มันโล่งมันเบาอยู่พอตัว แต่ยังหรอกนะมันยังไม่ผ่อนคลายทั้งหมด เหมือนมันยังต้องเรียนรู้และปล่อยให้ธรรมชาติของใจช่วยสร้างสมดุลให้ สมดุลที่ว่านั้นคือการลงมือฝึกทำว่าจะทำอย่างผ่อนปรนยืดหยุ่นอย่างไรจึงพอดี ที่จะทำให้มองความกลัวเหมือนเพื่อนที่น่ารัก น่าทะนุถนอม ลงมือฝึกไปเรื่อยๆอย่างไรจึงจะอดทนอยู่กับมันได้เมื่อใจมันกลับไปวุ่นวายใหม่ รื้อฟื้นการไม่ยอมรับขึ้นมาใหม่ วนเวียนอยู่ร่ำไป ฝึกต่อไปที่จะกล้าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกกับมันอย่างยอมรับกับตัวเองว่าเราก็คนธรรมดาๆคนหนึ่งที่กลัวเป็นเหมือนคนอื่นๆยอมรับและรู้เท่าทันมันโดยไม่ให้ความกลัวมาครอบงำตน จนผ่อนคลาย เบาสบายได้ สามารถปล่อยวางความคับแค้นที่เกิดขึ้นในใจได้ รู้สึกได้จริงๆว่าไม่เป็นไร ไม่อึดอัด ไม่เคร่งเครียด

ฉันกำลังหาทางของตัวเองให้ได้แล้วก็พยายามทำกิจกรรมนั้นๆให้ได้ทุกวันคะ เพื่อฝึกให้ใจได้คุ้นชินกับสภาวะที่ผ่อนคลายไปเรื่อยๆ การวางใจให้ถูกจุดได้ วางใจได้ถูกต้องได้ไม่หลงออกนอกเส้นทาง ใจเค้าจะได้ค่อยๆจำได้เองว่าภาวะที่สบายๆผ่อนคลายของตัวเองเป็นยังไง

เมื่อฝึกฝนไปได้บ้างแล้ว ฉันก็เรียนรู้ว่า เมื่อไรก็ตามที่ใจเกิดความกลัว ความรู้สึกหงุดหงิดหรือกังวลมันจะเกิดขึ้นมา แล้วความคิดนั่นแหละก็ไปเติมเสริมแต่ง ความคิดมันวนเวียนไปมาอยู่ในหัวคอยต่อเติม คิดเอง เออเอง เสริมแต่งต่อ ความกลัวจะถูกเสริมแต่งโดยไม่รู้ตัว ทำให้หัวและใจมันหลอมรวมกันจนแยกไม่ออก ความกลัวเล็กๆที่เกิดขึ้น จึงได้แปลงร่างกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ใหญ่มากกกก อารมณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบพายุพัดในระดับทอร์นาโดหรือไต้ฝุ่นได้เลยทีเดียวเชียว และเมื่อภาวะเหล่านี้เกิดขึ้น เมตตาต่อตัวเองมันไม่เกิด ความผ่อนคลายจะไม่เกิด แล้วกลับทำให้เกิดการเบียดเบียนตัวเองให้เครียด

ทางออกที่จะทำให้เมตตาเกิดขึ้น ไม่เบียดเบียนตัวเอง คือ การมีสติรับรู้และหน่วงตัวเองได้ทันเวลา มีความเร็วพอเพียงที่จะรู้จักความกลัวในรูปแบบต่างๆของตนเอง และรู้ทันว่า ความคิด คือ ต้นเหตุใหญ่ที่ทำให้ความกลัวเล็กๆกลับกลายเป็นพายุที่รุนแรงนี้คือสิ่งที่ใจต้องวิวัฒน์เพื่อให้ได้จิตสำนึกใหม่ที่ไม่เบียดเบียนตนเป็นใจที่คอยให้กำลังใจและมองมุมบวกกับสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วมองสิ่งที่พลาดไปเป็นบทเรียนรู้ที่ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้การแก้ปัญหารับรู้ว่า ปัญหามีไว้แก้ ไม่ใช่มีไว้ทำร้ายและเบียดเบียนตนด้วยความเสียใจ

หากจะพูดแบบใช้ธรรมะก็ต้องกล่าวว่าให้ใช้พรหมวิหาร 4 ดูแลใจของตัวเอง เมตตาต่อตัวเอง ด้วยการรับรู้ว่า มีความกลัวเกิดในใจแล้วกรุณาต่อตัวเองด้วยการคอยค้นหาวิธีขจัดความกลัว ฝึกฝนตนเองไว้ที่จะทำให้ความกลัวเป็นเพื่อนรักมิใช่ศัตรู มุทิตาต่อตัวเองด้วยความยินดีที่ได้รับรู้ผลที่ได้ทำการฝึกฝนตนเองไป และอุเบกขาต่อตนเองด้วยการยอมรับว่าการฝึกฝนนี้ไม่ได้ง่ายเลย แต่ก็หาใช่ทำไม่ได้ไม่

มีคนพูดให้ฟังอีกเช่นกันว่ารู้สึกว่าตัวเองผิดปกติที่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในภาวะของความกลัวบ่อยๆ ที่รู้สึกไปอย่างนี้เพราะคิดว่าความกลัวเป็นภาวะของคนที่อ่อนแอ ความไม่อยากเป็นคนอ่อนแอ จึงไม่ชอบความกลัว เพราะเมื่อรู้สึกกลัว ความมั่นใจจะหดหายไป รู้สึกว่าตัวเองมีพลังอำนาจลดลง

ยอมรับกันอยู่แล้วว่าคนธรรมดาๆมีความกลัวกันอยู่ทุกคน จึงแน่นอนว่าไม่มีใครชอบมันเท่าไหร่ “เมื่อไรที่เกิดความกลัวขึ้นมา สังเกตตนบ้างไหมว่า จะรีบกระโดดออกไปทำเพื่อปกป้องตัวเองจากความกลัวที่รับรู้แล้วในใจ หรือเลือกชิงลงมือทำซะก่อนที่จะรู้สึกกลัว” ฉันว่ามีคนน้อยกว่าน้อยที่จะกล้าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกกับมันและรู้เท่าทันมัน

การหาคนที่ยอมรับกับตัวเองว่าเป็นคนธรรมดาๆคนหนึ่งที่ขี้กลัวและกำลังรู้สึกกลัวง่ายกว่าการหาคนที่รู้เท่าทันความกลัวของตัวเอง เมื่อใครรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย รู้สึกกับการถูกปฏิเสธ รู้สึกกับการถูกทำร้าย ใจคนนั้นจะบอกตัวเองให้มีปฏิกิริยาตอบโต้ออกมาต่างๆนานา แล้วสุดท้ายใจจะจดจำว่า นี่คือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเอง แล้วต่อๆไปเมื่อมีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้น คนๆนั้นก็จะปลีกตัวออกไปจากการอยู่ร่วมในสถานการณ์นั้นๆหรืออยู่ร่วมแบบมีกำแพงขึ้นป้องกันตัวอยู่ในใจ

กำแพงป้องกันนี้จะถูกกำหนดรูปแบบขึ้นในใจเพื่อควบคุมสิ่งต่างๆในโลกภายนอกให้อยู่ในมือตัวเอง แล้วแสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมที่แต่ละบุคคลใคร่ครวญและมั่นใจว่าจะทำให้ตัวเองมีความปลอดภัยจากโลกภายนอกในสถานการณ์นั้นๆด้วยเขารู้สึกว่ามีอันตรายอยู่ในโลกภายนอก เหตุผลนี้กระมังที่ทำให้คนเป็นอริกับความกลัว

ความจริงโลกภายนอกใบนี้ไม่ได้อันตรายอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป การเอาความรู้สึกมั่นใจในตัวเราไปผูกอยู่กับโลกภายนอก แล้วสร้างกลไกที่ผลักดันตนให้ออกไปทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ปลอดภัยต่อตนเองนั้นจะทำให้พบกับความทุกข์ได้ด้วยความรู้สึกว่าไม่มีอำนาจที่จะจัดการอะไรกับมันได้เลย

การฝึกให้ใจยอมรับและเรียนรู้เพื่อให้รู้เท่าทันความกลัวยอมรับมันตามความเป็นจริง ต้องทำความรู้จักกับความกลัว จึงจะรู้จักความกลัวตามความเป็นจริงว่าแต่ละรูปแบบนั้นมันสุดโด่งหรือพอดีอย่างไร รู้จักมันเพื่อมาปรับตัวเองให้อยู่กับมันอย่างเป็นเพื่อนรักได้ การคุกคาม การบังคับ การใช้อำนาจ การโอนอ่อนผ่อนปรน การรู้จักยืดหยุ่น การไม่ทำอะไร การไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ล้วนเป็นรูปแบบของการที่คนพยายามสร้างสมดุลในตัวเองให้ใจไม่หวั่นไหว

การฝึกใจเพื่อให้ตามรู้เท่าทันความรู้สึก ทำให้ฉันได้ใคร่ครวญและพบว่า การลงมือจัดการกับอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย หรือที่มักมองว่าไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ออกมาในรูปบังคับตัวให้ตัดสินใจรวดเร็วแล้วลงมือจัดการทันทีภายใต้บริบทของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยไม่รีรอบ่อยครั้งนั้น มันเป็นรูปแบบหนึ่งของความกลัวในใจ การไม่ลงมือทำอะไรมันทำให้ฉันมีความหวั่นไหว กลัวความไม่สำเร็จ กลัวความเหนื่อยยากที่ต้องอดหลับอดนอนกับงานที่ไม่เสร็จอยู่ในส่วนลึกของใจ

ด้วยรู้สึกว่าการทำงานในลักษณะอย่างนี้มันไม่สนุก มันทำให้เกิดความเคร่งเครียด ตลอดเวลามีแต่งาน งาน และงาน ฉันจึงเคยฝึกผ่อนตัวเอง ปล่อยตัวเองให้กระทำไปตามแรงผลักดันข้างใน โอนอ่อนผ่อนปรนหรือยืดหยุ่นปล่อยให้เวลายืดออกไป ไม่รีบร้อนลงมือทำ ไม่รีบร้อนจัดการ แล้วฉันก็พบว่า การไม่รีบตัดสินใจว่าจะทำอะไร ก็ยังมีช่องให้ความกลัวผุดขึ้นมา เป็นความกลัวเรื่องงานไม่เสร็จที่ทำให้ความสนุกในการทำงานลดลงเช่นเดียวกัน

ฝึกไปฝึกมาหลายๆรอบเข้า ความหวั่นไหวในใจก็ยังมีความกลัวก็ยังมี ด้วยเหตุที่ว่าไม่ชอบรอ ไม่ชอบทน ไม่อยากเผชิญหน้ากับความกลัว/ความหวั่นไหวในใจต่อความสำเร็จอีกนั่นแหละสุดท้ายความกลัวอีกนั่นแหละที่ดึงฉันให้หันกลับมาลงเอยกับการกระทำที่คุ้นชินแบบเดิมๆ คือ ตัดสินใจรวดเร็วภายใต้บริบทของสถานการณ์โดยไม่รีรอ การเรียนรู้ที่ได้จากการเคยรอคอย การทอดเวลา ทำให้ฉันความอดทนมากขึ้น ยืดหยุ่นกับตัวเองมีมากขึ้น มันให้คำตอบผสมผสานออกมาว่า ใจฉันเริ่มรับเอาความกลัวเป็นเพื่อนใจแล้วค่ะ

สิ่งที่ได้จากการไม่ตัดสินใจเร็วด่วนที่ได้ฝึกตัวเองไปนั้น ทำให้ได้มุมมองเพิ่มขึ้นว่าเหตุปัจจัยต่างๆมันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ มองเห็นปมปัญหาที่แตกต่างไปจากที่เคยเข้าข้างตัวเองหรือมองความจริงด้านเดียวในแบบที่ไปยึดมั่นว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นแน่ๆ ทำให้รู้จักพิจารณาสิ่งต่างๆรอบด้านมากขึ้น ไม่รีบร้อนตัดสินจากมุมมองแคบๆหรืออคติส่วนตัวเช่นแต่ก่อน ซึ่งในมุมมองของสัตว์สี่ทิศนั้นฉันพบว่าการได้ฝึกเรียนรู้ที่ผ่านมา ทำให้ฉันเปลี่ยนตัวเองเมื่อเกิดความกลัวจากความเป็นกระทิงมาเป็นหมีมากขึ้นๆได้แล้ว การเปลี่ยนไปนี้ทำให้ฉันยอมรับความพลาดของตัวเองได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆค่ะ

ถ้าชีวิตทุกนาทีคือการทำงานละก็ความกลัวก็เป็นสภาวะอันหนึ่งที่คนไปให้ค่า ไปตัดสินมันตามมุมมอง/ความรู้สึก ทั้งๆที่ตัวของมันเองไม่ดีไม่เลว ผลจากการฝึกฝนที่ฉันได้เรียนรู้มาคือ การคุกคามหรือบังคับ และ การไม่ทำอะไรหรือไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ไม่ใช่คำตอบของความพอดีหรือความสมดุลที่ต้องการในการใช้ความกลัวให้มันเป็น “ตัวช่วย” ในการใช้ชีวิต  ทั้ง 2 ประเด็นของพฤติกรรมเป็นเรื่องของความสุดโด่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับชีวิต

คนเรานั้นไม่รู้ตัวว่าที่ใช้ชีวิตอยู่ทุกนาทีนั้น ตัวเองรู้สึกอยู่ลึกๆเสมอว่ากำลังลงสนามอะไรสักอย่าง การมีอะไรลึกๆเกี่ยวกับการลงสนามนี่แหละจึงทำให้มีการให้ค่ากับความเก่ง ความแกร่ง ความเจ๋งของคนที่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งสังคมเรียกมันว่า “ค่านิยม” เมื่อสังคมให้ค่ามัน มันจึงสะสมขึ้นมาในใจคนทีละนิดความกลัวเป็นผลพวงหนึ่งที่เป็นผลของการสร้างค่านิยมเหล่านี้ขึ้นมา

เมื่อคนที่ให้ค่ากับความเก่ง ความแกร่ง และความเจ๋งถูกทำร้าย ถูกโจมตี และทำให้เหนื่อย เขาจะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย ความปลอดภัยในที่นี้คือ การได้รับการยอมรับในความเก่ง ความแกร่ง ความเจ๋ง ความกลัวในที่นี้ก็คือ การยอมรับไม่ได้กับการไม่ได้รับการยอมรับ การไม่ได้รับการยอมรับทำให้คนซึ่งยึดมั่นและให้ค่ากับเรื่องเหล่านี้ใช้ความกลัวเป็นตัวช่วยในชีวิตอย่างไม่สมดุล จะมีพฤติกรรมที่สุดโด่งเกิดขึ้น

ถ้าตั้งคำถามใหม่ว่ากลไกแบบเดิมๆอะไรที่เมื่อลงสนามใหม่ไปเรื่อยๆแล้วทำให้เขามั่นคงพอ ไม่หวั่นไหวกับความกลัว ที่จะช่วยจรรโลงให้เกิดความสุขในโลกภายในและเกิดความสมดุลกับโลกภายนอก ควรเป็นกลไกที่ทำให้คนมีพลังเหลือพอที่จะสร้างสิ่งดีๆ ทำอะไรที่มีประโยชน์ได้มากขึ้นไปได้อีก การทำให้คนๆหนึ่งได้ทำกิจบางประการทุกๆวัน จนใจได้เรียนรู้และคุ้นชินกับความกลัว รู้เท่าทัน กล้าเปิดใจต้อนรับไว้อย่างยินดี เหมือนการได้พบกับอริที่กลายเป็นมิตร จะทำให้เขาได้ฝึกใจต่อไปให้คุ้นชินกับความกลัวจนมันเป็นเพื่อนรัก จึงเป็นสิ่งที่ควรหนุนให้เกิดมีขึ้นมา

การฝึกนี้ก็เพื่อให้คนๆนั้นได้รู้จักสภาวะที่ผ่อนคลายไปเรื่อยๆ ซึ่งใจมันจะค่อยๆจำได้เองว่าภาวะที่สบายๆผ่อนคลายเป็นยังไง ดังนั้นแม้บางครั้งความกลัวเกิดมาในรูปแบบใหม่ อาการจะไม่รุนแรงมาก พฤติกรรมที่ออกมาจะเข้าใกล้สมดุลมากขึ้นๆเป็นการฝึกเพื่อให้เขาวางใจให้ถูกจุด ถูกต้องไม่หลงออกนอกเส้นทางของการฝึกให้ยอมรับความกลัวไว้และจะได้รู้เท่าทันความกลัว กล่อมเกลาความกลัวไว้เป็นเพื่อนประเภทที่แม้มาหาบ่อยๆก็ไม่รังเกียจแต่กลับยินดีที่ได้ต้อนรับ

การหลงออกนอกเส้นทางที่มักจะพบกันอยู่เสมอ ก็คือ การปรุงแต่งต่อเรื่องจริงให้เกิดเป็นเรื่องใหม่จนกระทั่งเรื่องใหม่นี้หลอกตัวเองให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง การปรุงแต่งนี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการคุยกับตัวเองแล้วความกลัวนั่นแหละที่มันเติมเรื่องแต่งเรื่องเพิ่ม ความกลัวนั่นแหละที่มันทำให้รีบมีการตัดสิน ความกลัวทำให้คิดเอง เออเอง เติมให้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากกกก ทั้งๆที่เรื่องจริงมันไม่ได้มีอะไรมากมายอย่างที่คิดเลย

ฉันถือว่าการฝึกที่จะเรียนรู้จักกับความกลัวที่ฉันเล่าให้ฟังนี้ มันเป็นบทเรียนอีกบทที่จะนำตนเองออกจากพื้นที่ไข่แดงค่ะ ขั้นต่อไปที่กำลังจะฝึกก็คือ การจะไม่ลงมือจัดการอะไร ไม่ลงมือควบคุมอะไร การปล่อยให้สิ่งต่างๆเป็นไปอย่างที่มันเป็นตามธรรมชาติ ไม่เข้าไปแทรกแซงเมื่อเกิดความกลัว เพื่อเรียนรู้จากพฤติกรรมของตัวว่าความมั่นใจและความรู้สึกต่อพลังอำนาจของตนในขณะที่ลงมือทำอย่างนี้ มันเป็นอย่างไรค่ะ

« « Prev : นกแก้วตกคอน

Next : กลับมาบ้านก็เจอฝน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 ตุลาคม 2008 เวลา 18:36

    ยินดีกับพี่ด้วยครับ เพราะตาของเรามองออกนอกตัว จึงมักเห็นแต่คนอื่น เป็นทุกข์ไปกับเรื่องที่ควบคุมไม่ได้

    ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ดั่งนี้

    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

  • #2 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 เวลา 23:38

    พี่ไปฝึกฝนตัวเองเพิ่มในเรื่องการท่องโลกในตัวมาค่ะ ไปหากระจกเงาอีกหลายๆบานที่ช่วยสะท้อนให้เห็นเรื่องในตัว ขอบคุณน้องนะค่ะ ที่เป็นกระจกหนึ่งที่ช่วยสะท้อนเงาให้พี่ได้เรียนรู้ตัวเอง ธรรมะมีอยู่แล้ว แต่จะเรียนรู้และเข้าถึงธรรมะและน้อมนำเข้ามาสู่ใจได้มากแค่ไหน ต้องเรียนรู้กรรมะที่ก่อเกิดให้มากเพียงนั้นเช่นกัน ดวงจิตประภัสสรจะส่องสว่างแวววาวแค่ไหน อยู่ที่รู้จักแก่นของศาสนาแค่ไหนจริงๆค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.05794095993042 sec
Sidebar: 0.16665101051331 sec