ลานบ้านชลบถพิบูลย์

เมษายน 20, 2011

บุญนี้แด่ผู้พลาดหวัง

อดเสียใจเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ไปไหว้ย่าโม ในเฮฮาศาสตร์ครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าจะพยายามพลิกซ้าย ย้ายขวา แต่ฟ้าก็มัวมิด ปิดไปซะทุกทาง ทำให้เส้นวาสนาอักเสบโดยเฉพาะเรื่องและสถานที่ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งดูจากโปรแกรมแล้ว ต้องบอกว่าขอโอ้ยยยยยยยยยยยยยยยย ยาว ยาว

ท่านว่าอย่าเสียใจอะไรนาน จงมองไปข้างหน้า อิอิ  ในหัวก็คิดชดเชยสิ่งที่ตนเองพลาดหวังไม่ได้ไป คุณครูที่ฮักสคูลเองก็อดไปกันหมดด้วยเพราะหน้าที่ ดังนั้นจึงคิดการไกลกับผู้บริหารเพื่อออกโปรแกรมใหม่ “วิสาขบูชา” ชวนกันไปเฮฮาทำบุญที่สวนป่ากับโครงการ 4P1H วู้ชื่ออะไรเก๋ ๆ แต่สรุปรวมคือชวนคนไปทำบุญ

4P1H หมายถึง Pa Pai Pluk Pa by Hug หรือชื่อในภาษาไทยว่า  “ปะ  ไป  ปลูก ป่า” โดย ฮักสคูล งานนี้ถือฤกษ์ดีในวันหยุดวิสาขบูชา  17 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ยังไม่ได้แจ้งเจ้าของสถานที่ ที่จะไปปลูกเลย เพราะเป็นที่ทุกคนที่โรงเรียนอยากไปมากที่สุด  งานนี้จึงเขียนบันทึกผ่านไปยังสวนป่าด้วย (ครูบาฯ จะได้ยินไหมหนอ) อิอิ

เหตุผลที่เลือกสวนป่ามีหลายอย่าง

1.ใจสั่งมา  ครูที่ฮักสคูลหลายคนฟังเรื่องเล่าสวนป่าจากผม และอ่านจากบันทึกครูบาฯ ร่ำ ๆ ว่าอยากไปสักครั้ง แม้เพียงแค่ช่วงเวลานิดเดียวก็อยากไป ดังนั้นเมื่อใจอยากไป ผู้ประสานจึงเลือกสวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน เพื่อให้ครูได้ไปเยี่ยมสวนป่าให้สมใจปรารถนา หลังจากที่ท่านจะว่านเสน่ห์ไว้ในคราวมินิเฮฮาศาสตร์ปะทะฮักที่ขอนแก่นเมื่อเดือนที่แล้ว

2.สมองต้องการอาหาร การไปปลูกป่า คนไปปลูกก็อยากได้ความรู้ด้วย ดังนั้นปลูกป่าคราวนี้จึงอยากได้อาหารสมองด้วย ดังนั้นคนที่จะพูดเรื่องป่าได้ดีต้องเป็นชาวสวนป่า ดังนั้นแน่นอนเลยต้องเลือกสวนป่า ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งผมจะได้เตรียมประเด็นให้พ่อครูเปิดกระโหลกสักชั่วโมงก่อนปลูกป่า

3.ปลูกป่าทำบุญ  การทำบุญคราวนี้นอกจากทำบุญในวันพระใหญ่ซึ่งถือว่าได้บุญหลาย  ผมในฐานะคนประสานงานยังเชื่ออีกว่า การที่เราไปปลูกป่าที่สวนนอกจากเป็นการทำบุญทุนทานธรรมดาแล้ว ผมยังคิดว่ามันเป็นวิทยาทานอีกขั้นหนึ่ง เพราะสวนป่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้คนที่สนใจ ดังนั้นเราไปปลูกป่าคงเหมือนการไปทำสื่อการเรียนรู้ด้วย ดังนั้นจึงได้กุศลทวีคูณ

ใครจะไปปลูกบ้าง

ผมชวนเพื่อนครูที่ฮักสคูลไปปลูกป่าคราวนี้ ใช่จะกำจัดอยู่เฉพาะชาวฮัก ก็ชวนคนไปทั่วเพราะเป็นวันหยุดผู้คนน่าจะว่าง ใครเอารถไปก็สามารถรับคนที่ไม่มีรถได้ ดังนั้นใครใคร่ไป ใครใคร่ร่วมก็สามารถไปกันได้ รถก็แชร์ส่วนอาหารเที่ยงก็ช่วยกันออกให้ครัวสวนป่าช่วยเตรียมให้ แบบนี้น่าจะไม่รบกวนใคร งานนี้เป้าหมายคือ 20 คนไม่รู้จะได้มากน้อยเท่าไหร่แต่ที่แน่ ๆ “แม่ใหญ่จะไปสวนป่าด้วย”  ส่วนต้นไท้และพื้นที่ปลูกจะปรึกษาชาวสวนป่าอีกครั้ง

ทำบุญกันนะครับ

มีนาคม 21, 2011

ฮํก เข้ามา เฮ

Filed under: Uncategorized — ออต @ 21:24

ประกาศ

พรุ่งนี้ครูฮักสคูล จะล้อมวง เรียนรู้การเขียนBLOG บนลานปัญญา

เวลา 17.00 นเป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและให้กำลังใจ

ออตจะอาสากล้าตายนำทุกคนสมัครลาน ถ้าติดขัดอะไรจะโทรไป

รบกวนจอมยุทธทั้งหลายนะครับ

มีนาคม 12, 2011

กล้ามเนื้อมัดเล็ก ของเจ้าตัวเล็ก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , , , — ออต @ 23:33

กล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ไม่เล็กอย่างชื่อ ที่ครูออตจะเล่าต่อไปเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กที่อยู่บริเวณนิ้วมือและข้อมือ  แม้จะชื่อว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ความสำคัญไม่ได้เล็กเหมือนชื่อเลย เพราะหากเด็กตัวเล็ก ๆ มีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง มันจะนำไปสู่พัฒนาการในเรื่องอื่น ๆ ได้ดีทั้งการจับ หยิบ การขีดเขียน

งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา 10 ปีแรก ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก  ดังนั้นกิจกรรมศิลปะจึงควรจะได้ส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กเหล่านี้

สัปดาห์์นี้ครูออตออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องศิลปะโดยเน้นกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นสำคัญเพื่อตรวจสอบดูถึงคุณภาพของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ เหล่านั้นและส่งเสริมให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นถูกใช้งานมากขึ้น กิจกรรมที่ว่าครูออตตั้งชื่อมันว่า หล่อ เก็บ กด

ดินเหนียวเป็นวัตถุดิบหลักในกิจกรรมศิลปะครั้งนี้ ซึ่งทุกโรงเรียนสามารถหาดินเหนียวได้ง่ายโดยไม่ต้องซื้อหา ดังนั้นมันจึงราคาถูกแสนถูกแต่เมื่อนำมาใช้กับกิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กมันจึงมีค่ามหาศาล นอกจากนั้นยังมีลวดสำหรับตัดดินเหนียว ผ้าเปียกๆสำหรับคลุมดิน ทั้งหมดนี้หาไม่ยากและถูกแสนถูก

นำดินทั้งหมดที่หามาได้ให้เด็ก ๆ นวดให้เนื้อดินเข้ากันให้ดี (แค่เริ่มกิจกรรมกล้ามเนื้อมัดเล็ดก็ถูกทำงานซะแล้ว) มีความนุ่มไม่แข็งกระด้าง หรือหากมีเศษหินเศษไม้ก็สามารถหยิบออกได้ การหยิบวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วทำงานได้ดีขึ้นแข็งแรงขึ้น  เมื่อนวดได้ที่แล้วก็นำมาหล่อให้เป็นก้อนเนื้อเดียวกัน

เมื่อได้ดินก้อนใหญ่แล้ว ครูออตให้เด็ก ๆ เอาลวดตัดดินมาตัดดินเหนียวออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยใช้มือหนึ่งกดดินเหนียว มือหนึ่งควบคุมลวดตัดดินให้สามารถตัดดินเหนียวที่ติดกันเแน่นให้ขาดออกจากกัน ขึ้นตอนนี้เด็กอาจจะได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กควบคู่กันไปด้วย

เมื่อตัดดินหนียวออกมาได้ ก็นำมาตัดย่อยออกให้เล็กลงเท่าขนาดข้อมือของแต่ละคน โดยพยายามให้เด็กตัดให้เล็กเท่าที่จะทำได้

(ลูกชายกำลังตัดดินเหนียวออกมาจากก้อนมวลใหญ่)

(ลูกชายกำลังตัดดินออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ )

เมื่อได้ดินเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็นำมาหล่อให้กลายเป็นเม็ดดินรูปแบบกลมโดยใช้การหล่อ 2 แบบคือมือประกบมือ และมือประกบพื้นเพื่อให้ดินเหนียวมีรูปทรงกลม การหล่อดินแบบนี้ทำให้เด็ก รู้จักการควบคุมข้อมือเพราะหากควบคุมไม่เป็นก้อนดินก็จะไม่กลม ขึ้นตอนนี้ใช้เวลานานพอสมควรเพื่อให้ได้จำนวนก้อนดินกลมจำนวนมาก  อาจจะนำมาใช้ฝึกสมาธิได้  แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กเมื่อยมือก็ให้พักก่อนหรือครูช่วยทำก็ได้

(ตักก้อนดินเล็ก ๆ แล้วค่อยหล่อเป็นก้อนกลม)

นำดินก้อนกลมมาเรียงกันไว้แล้วนำผ้าเปียกมาคลุมเอาไว้ไม่ใช้ผิวดินแห้งเกินไป  นำถ้วย ชาม จาน กระถางหรือแบบพิมพ์ที่ต้องการมาให้เด็ก ๆ เลือก แล้วให้เด็กนำดินก้อนกลมไปกดจนเต็มแม่พิมพ์เหล่านั้น โดยกดที่ละก้อน การกดไม่แน่นจะทำให้ก้อนดินไม่ติดกันเมื่อถอดพิมพ์ออก รูปทรงดินจะไม่แข็งแรงและหลุดออกจากกันได้ง่าย

(การกดโดยใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่  ลูกชายสองคนกับผลงานที่ทำร่วมสองชั่วโมงทั้งเหนื่อยทั้งสนุก)

นี่เป็นเพียงกิจกรรมง่าย ๆแต่นับว่าได้ประโยชน์มาก  ลองทำกันดูนะครับ

มีนาคม 11, 2011

ศิลปะที่ใช้หูฟัง

คงเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า “ศิลปะเข้าถึงยาก” สำหรับผมแล้วเห็นทีจะต้องขอคัดค้าน เพราะศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงไม่ยากเกินที่มนุษย์ด้วยกันจะเข้าถึงมันได้ ส่วนใครจะเข้าถึงได้มากน้อยนั้นย่อมแตกต่างกัน

สิ่งแวดล้อม ๆ ข้าง ๆ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินได้นำมาสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นที่ฮักสคูลจึงสร้างหลักสูตรที่ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสธรรมชาติและนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเด็กเอง ในการสร้างสรรค์เรามักนึกถึงแต่งานสองมิติ หรือสามมิติที่เห็นด้วยตา แต่ที่ฮักสคูลเรามีศิลปะที่สามารถดูได้  สัมผัสด้วยมือได้และยังสัมผัสด้วยหูได้อีก กิจกรรมนี้เราจึงเรียกมันว่า ศิลปะที่ใช้หูฟัง

ข้าง ๆ สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน มีต้นหางนกยูงยืนตายอยู่ สังเกตดูมีฝักเต็มต้นส่วนใหญ่เราจะปล่อยให้มันแห้งตายและสลายไป หากเราสังเกตดีดีเราจะพบว่าฟักแก่ของหางนกยูงเมื่อเคาะจะพบว่ามันมีเสียง เพราะเมล็ดแห้งข้างในโดนเขย่ากับเปลือก เสียงที่ดังนั้นน่าสนใจมาก ผมว่าครูดนตรีอาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการสอนได้ หรือ เอาไปทำเครื่องดนตรีได้ คล้าย ๆ แทมมารีนที่เราเขย่ากัน

วันนี้ผมจึงออกแบบการสอนศิลปะที่มีทั้งเสียงและภาพในผลงานของเด็ก ๆ โดยใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ คือฟักแก่ของหางนกยูงและสีอะครายลิก โดยให้เด็ก ๆ เขย่าหางนกยูงแล้วฟังเสียงว่ามันเป็นเสียงอะไร หลังจากนั้นให้เด็ก ๆ คิดลวดลายแทนเสียงต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งงานนี้ปล่อยตามอิสระ ใครใคร่คิดอย่างไรก็ตามใจเขาเถิด ไม่ว่าเสียงคลื่นกระทบฝัง  เสียงปีศาจ เสียงฝนตกฯลฯ

ในกลุ่มเด็กเล็กจะค่อนข้างมีปัญหากับการใช้สีคะครายลิก ดังนั้นเราจึงให้ลองเขียนลวดลายบนกระดาษก่อน แล้วค่อยให้ลองลงสีจริง แต่เชื่อเถอะผลงานออกแบบกับผลงานจริงไม่เหมือนกันหรอก เพราะความสนุกมันต่างกัน  การระบายสีทับไปทับมาของเด็ก ๆ บนฟักหางนกยูงจึงสนุกสนานมากกว่ากระดาษ จินตนาการและสมาธิจึงบรรเจิดกว่า สนุกกว่า

 

(อุปกรณ์ในการสรางสรรค์  ฟักหางนกยูงแก่และแห้งแล้ว - สีอะครายลิก)

 

(เด็กเล็กเขียนบนกระดาษก่อน อาจจะใช้สีเมจิกที่เขียนง่าย / ศิลปินน้อยกำลังลงมือระบายสีเครื่องดนตรี)

เมื่อแห้งแล้ว เราสามารถเอาไปเคาะทำเสียงดนตรีได้ ซึ่งกิจกรรมต่อไปคงต้องโยนให้ครูดนตรีเอาไปใช้ต่อให้เกิดความเชื่อมโยงของกิจกรรมเพราะดนตรีจากธรรมชาตินั้นช่างไพเราะเสียจริง ไม่แพ้เครื่องดนตรีที่คนเราสร้างขึ้นเลย  จากกิจกรรมนี้ผมคิดว่าเราสามารถใช้วัสดุจากธรรมชาติอื่น ๆ เอามาสร้างงานศิลปะที่ใช้หูฟังได้เยอะแยะเลยครับ

(ผลงานเครื่องดนตรีของเด็ก ๆ สีก็งาม เสียงก็ไพเราะ เคาะกันหลาย ๆคนคงสนุกน่าดูชูใจ ใครสนใจลองเอาไปทำได้ครับ)

กุมภาพันธ 19, 2011

แสงสว่างที่ปลายทาง

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 13:26

ลงนาปีที่แล้ว ได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิแดงมาจากสวนป่าของพ่อครูบาฯ   ตั้งใจจะลงในที่นาเพิ่งได้มาใหม่ 5 ไร่  ข้าวพันธุ์ใหม่นี้นับเป็นของใหม่สำหรับชาวนาในชุมชน แม้แต่แม่เองก็คิดหนักในเรื่องนี้  แต่ด้วยภาคบังคับทำให้ความตั้งใจของผมเป็นจริง  เสียแต่มันแล้งไปหน่อยจึงทำได้แค่นาหว่าน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจึงได้ข้าวมาในปริมาณหนึ่ง

ผมพยายามเชียร์แม่ให้กินข้าวหอมมะลิแดงนี้ แต่ด้วยความคุ้นชินแม่ไม่ค่อยสนองตอบเท่าไหร่ ผมว่าเพราะวัฒนธรรมการกินข้าวขาวที่ฝังลึกมากกะมัง  ดังนั้นเป็นอันว่าปีนี้ยังไงแม่ก็ไม่กินหรอก  จึงมีแนวคิดที่จะเอาไปขาย เมื่อสอบราคาขายที่โรงสีเมืองพล พบว่าราคาข้าวต่ำมากทั้ง ๆ ที่พื้นที่ปลูกข้าวหลายแห่งโดนน้ำท่วม  ผมจึงบอกแม่เก็บข้าวไว้ก่อนเพราะเมื่อคิดจาดราคาต้นทุนแล้วเห็นว่าขาดทุนยับเยิน

ผมมองหาวิธีทางที่จะขายข้าวให้ได้ทุน  โดยยึดกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก เมื่อคิดแบบนี้ผมก็มองเห็นแต่คนเมืองที่สนใจเรื่องสุขภาพที่สนใจข้าวพันธุ์นี้ ดังนั้นผมจึงให้โรงสีชุมชนสีข้าวมะลิแดงโดยขัดสีน้อยให้และลองเอามาบรรจุถุงละ 5 กก แล้วเอามาวางขายที่ร้านผ้าไหม(ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย555) ภายในสวนเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ผลปรากฎว่าได้ผลอย่างที่คิดไว้เพราะข้าวที่ทำไว้ 5 ไร่นั้นผ่านไปสองเดือนข้าวที่เตรียมไว้หมดแล้ว และมีแนวโน้มที่ลูกค้าจะซื้อเป็นประจำอีกหลายคน

นั้นเอง ทำให้ผมมองเห็นแสงสว่างที่ปลายทางแ้ม้จะลาง ๆ แต่ก็ช่วยให้พี่น้องในชุมชนได้ขายข้าวสมราคา ไม่ขาดทุน ไม่โดนกดราคา ด้วยการหาช่องทางจำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภค โดยเน้นผู้บริโภคในเมือง  แม้ปีนี้จะไม่มีข้าวหอมมะลิแดงขายแล้วแต่ปีหน้าผมจะชวนญาติ ๆ ปลูกข้าวหอมมะลิแดงในปริมาณที่พอเพียงในการขายที่ร้านและจะไปคุยกับร้านค้้าหรือเพื่อนสนิทที่สนใจข้าวหอมมะลิแดง เพื่อขยายผู้บริโภค

สู้ ๆ ชีวิตชาวนา กระดูกสัญหลังของชาติ

มกราคม 26, 2011

ร่างกำหนดการ ” ฮัก เฮฯ : สุนทรียศาสตร์ สุนทรียสนทนา”

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 14:40

เคยเกริ่นถึงความสนใจของครูชาวฮักสคูล โรงเรียนสอนศิลปะ ดนตรี เต้นรำ ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งออตสอนอยู่ที่นั้น ถึงความสนใจของชาวฮักในการเขียนบันทึกไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ถึงกระบวนการที่จะลงมือ ช่วงก่อนหน้าเป็นเพียงการขายไอเดียให้ผู้บริหารได้เข้าใจ  เมื่อถึงเวลานี้คงต้องเขยิบดูอีกสักครั้ง

เมื่อทราบข่าวว่าครูบาฯ จะมาบรรยายคณะแพทยศาสตร์ในช่วงวันที่  5-6 มีนาคม 2554 ผมจึงถือโอกาสร่างกำหนดการการขยับการจัดการความรู้ของชาวฮัก โดยถือโอกาสในช่วงที่ครูบาฯจะมาขอนแก่นนี้เป็นการโอ้โลมให้ชาวฮักอยากเขียนบันทึก ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ผมตั้งชื่อว่า “ฮัก เฮ สุนทนียศาสตร์ สุนทรียสนทนา” ซึ่งหมายถึงเราชาวเฮฮาศาสตร์ กับ คุณครูและบุคคลากรชาวฮักสคูล

งานนี้ร่างกำหนดการคร่าว ๆ โดยจะเน้นกระบวนการที่เป็นการพูดคุยกันเสียมากกว่า โดยชาวฮักจะเล่าการเรียนการสอน การบริหารจัดการโรงเรียนสอนด้านสุนทรียศาสตร์ ผสมผสานการโชว์ผลงานของคุณครูและนักเรียนทั้งศิลปะ การร้องเพลง ดนตรีซึ่งน่าจะมีเพลงและดนตรีให้ฟังในหลายแบบ แทรกกับการเล่าเรื่องของชาวฮัก

สำหรับชาวเฮฮาศาสตร์ ออตเองก็อยากให้ช่วยเล่าการเรียนบันทึก เทคนิคการเรียนบันทึกและพลังของการเขียนบันทึก รวมทั้งการขับเคลื่อนกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เพื่อกระตุ้นให้คุณครูอยากเขียนบันทึกทั้งในลานปัญญาและเครือข่ายอื่น ๆ ที่คุณครูเองสนใจ โดยเน้นการพูดคุยเฮฮาแบบชาวเฮฮาศาสตร์  ดังนั้นนอกเสียจากจะร่างกำหนดการเอาไว้ จึงขอฝากคำเชิญชาวเฮฮาศาสตร์ที่สนใจร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วยนะครับ

ทราบว่าครูบาจะมาขอนแก่นวันที่  5-6 มีนาคมดังนั้นอาจจะขอให้ท่านเดินทางมาก่อนในวันที่  4 เพื่อร่วมกิจกรรมหรือไม่อาจจะขอเป็นวันที่  7 หลังจากท่านเสร็จภารกิจการบรรยายที่คณะแพทยศาสตร์ ดังนั้นงานนี้ ชาวเฮฮาศาสตร์ที่สนใจขอเชิญรีบเขียนใบลางาน หรือเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว

สนใจเรื่องราวของชาวฮัก ติดตามที่นี่ครับ ฮักสคูล

พฤศจิกายน 8, 2010

เด็กกับการผลิตรายการทีวี

Filed under: Uncategorized — ออต @ 12:54

เบื่อไหมที่เราต้องทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา  ถามเองตอบเองว่าเบื่อ โดยเฉพาะคนขี้เบื่ออย่างครูออต  ความคิดเข้าข้างตัวเองแบบนี้ทำให้ครูออตคิดว่าถ้ามาสัปดาห์ไหนก็วาดภาพ วาดภาพ วาดภาพ วาดภาพ แบบนี้เด็ก ๆ ที่น่ารักของครูออตคงเบื่อน่าดู วันนี้เราจึงหนีจากการวาดภาพสองมิติมาสู่งานศิลปะแบบสามมิติดูบ้าง

งานประเภทสามมิตินั้น เป็นงานที่ให้มิติทั้งกว้าง ยาว สูง มีมวลของวัตถุ เด็ก ๆ สามารถจินตนาการและมีปฏิสัมพันธ์รอบด้านในตัวผลงานศิลปะ ดังนั้นในสัปดาห์นี้ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ มาทำรายการทีวีกันซึ่งเป็นรายการทีวีที่เด็ก ๆ สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของตนเอง แต่ที่เด็ดกว่าคือเด็ก ๆ จะต้องเริ่มสร้างตั้งแต่ทีวีเป็นต้นไป ไปจนถึงภาพรายการทีวีที่ปรากฎบนจอทีวี

กล่องกระดาษที่ใช้งานแล้วและครูออตสะสมเอาไว้ ถูกระบายสีขาวก่อนที่เด็ก ๆ จะเข้ามาห้องศิลปะ เพราะถ้าให้เด็ก ๆ ลงสีขาวอาจจะใช้เวลาในการทำงานนาน เนื่องจากต้องรอให้กล่องแห้ง  ดังนั้นครูจึงควรเตรียมเอาไว้ก่อนเพราะการลงสีขาวเป็นการรองพื้นก่อนที่เด็ก ๆ จะระบายสีลงไป หากไม่มีสีขาวก็อาจจะไม่ต้องลงเตรียมเอาไว้ก็ได้แต่ข้อเสียคือเมื่อกระดาษโดนสีน้ำจะเปื่อย

ครูออตถามเด็ก ๆ ว่าชอบรายการทีวีอะไรบ้างแน่นอน การ์ตูนดูเหมือนจะเป็นรายการแรก ๆ ที่เด็กตอบ  และการ์ตูนที่ตอบก็ระดับรุนแรงทั้งนั้น(ส่วนใหญ่มาจากรายการของทีวีประเภทบอกรับสมาชิก ที่รัฐไม่ค่อยใส่ใจ ควบคุมดูแล ระดับความเหมาะสมในการเผยแพร่) ดังนั้นเพื่อดึงเด็กออกจากความรุนแรง ครูออตจึงบอกให้เด็ก ๆ ทำรายการที่เน้นความสุข

เมื่อลงมืออุ่นเครื่องกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่เด็ก ๆ เริ่มทำจากตัวทีวีก่อน กล่องกระดาษถูกเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมตามขนาดที่เด็ก ๆ ต้องการ  และสีโปสเตอร์ถูกนำมาให้เด็ก ๆ เลือกลงสีทีวีตามแต่ใจปรารถนา ครูออตสังเกตเห็นว่าทีวีของเด็ก ๆ ไม่ค่อยมีสีเดียว มักจะผสมผสานสีมากมาย(นักการตลาดสินค้าเด็กน่าจะมาดูไว้ อิอิ)  เมื่อระบายเสร็จแล้วเด็ก ๆ ก็เติมแต่งทีวีตามที่คนเองมีประสบการณ์เช่น ทีวีที่มีเสาอากาศ  ทีวีที่มีลำโพง ทีวีที่มีปุ่มกดเปิดปิด เพิ่มลดเสียง  สายไฟจากทีวี ฯลฯ ซึ่งนี่เองเป็นการฝึกการทบทวนความรู้ของเด็ก ๆ จากประสบการณ์ที่เจอะเจอ

หลังจากได้ทีวีแล้ว ก็ปล่อยให้แห้งก่อน  ช่วงนี้เห็นเด็ก ๆ เหนื่อย ๆครูออตคิดว่าสมาธิเหลือน้อยจึงปล่อยให้เด็ก ๆ ไปเติมพลังที่สนามหญ้า บ้างก็ไปเติมพลังที่ตู้ขนม ซึ่งช่วงเวลานี้เด็ก ๆจะอิสระและพักผ่อนตามอัธยาศัย  ครูออตรีบเก็บห้องและเตรียมกระดาษ สี กรรไกร กาว มาเตรียมไว้ให้เด็ก ๆ ได้ออกแบบรายการทีวีตามใจปรารถนาแต่เน้นรายการที่ดูแล้วมีความสุข

เมื่อเด็ก ๆ พร้อมแล้ว ครีเอทีฟน้อยของครูออตเริ่มออกแบบรายการทีวีของตนเองทันที  ซึ่งหน้าที่ของครูคือการรับฟังจินตนาการอันบรรเจิดของเด็ก ๆ การที่ครูสนใจคำที่เด็ก ๆ กล่าวถึงรายการของตนนั้น ครูออตว่าจำเป็นเพราะมันเหมือนการที่เรายอมรับฟังความคิดของเขา และเปิดโอกาสให้เขาได้พูดมากขึ้น

ช่วงนี้ครูทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักผลิตรายการทีวีรุ่นจิ๋วเช่นการตัดกระดาษจากตัวละครที่เด็ก ๆ วาด เพราะว่าเด็กเล็กยังอันตรายสำหรับการเล่นกรรไกรหรือคัตเตอร์  การตัดกาว(ครั้งนี้ครูออตใช้กาวร้อนเพราะจะได้แห้งเร็วขึ้น ประกอบกับเด็กหลายคนหากใช้ลาเท็กซ์ก็จะทำให้วุ่นวาย)  เมื่อตัวละครพร้อม ทีวีพร้อม ทีวีช่องแห่งความสุขก็เริ่มฉาย  ไปดูกันครับ

น้องมิ้น ทำรายการทีวีเรื่องเจ้าหญิงกับเจ้าชาย

น้องโบว์ทำรายการทีวีเรื่อง กระต่ายและช้างใหญ่ในป่าลึก

น้องเจได ทำรายการสารคดีเรื่องชีวิตสัตว์

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับรายการทีวีของเด็ก ๆ ที่น่ารักของครูออต แต่ละคนมีรายการทีวีของตนเอง เป็นรายการทีวีที่ลดความรุนแรง แฝงไปด้วยความสุข  เสียดายที่รายการทีวีจริง ๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เด็ก ๆ ควรจะได้ชม

ตุลาคม 31, 2010

Hug School : โรงเรียนแห่งการเรียนรู้

ครูออตสอนที่ฮักสคูลมาจะเข้าปีที่สามแล้ว ถือว่าเป็นครูกลุ่มแรก ๆ ของโรงเรียน ดังนั้นจึงผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอพอกับอายุของโรงเรียน ที่นี่ผู้บริหารได้สร้างวัฒนธรรมการเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ของครูเสมอ ๆ ดังนั้นการที่เรามีอะไร อยากทำอะไร อยากคิดอะไร อยากบอก อยากสื่อสารอะไรจึงทำไปโดยไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัว  การเกิดวัฒนธรรมแบบนี้จึงทำให้โรงเรียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนการจัดการความรู้(KM) แม้ไม่ได้ใช้โมเดิลการจัดการความรู้อะไรในระบบวิชาการแต่ ที่นี่ก็เกิดการจัดการความรู้แบบธรรมชาติ ซึ่งผมว่ามีเนียนไปในเนื้องานที่สุด มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน บอกเล่า กันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นครูและบุคคลากรทุกคนจึงไม่ได้รู้สึกว่าถูก โมเดิลของการจัดการความรู้ครอบงำอยู่  การที่ไม่มีอะไรมาจ้องมอง การไม่มีดัชนีมาแปะ ทำให้ทุกอย่างสบาย ๆ ขึ้นนำไปสู่การจัดการความรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุด

ก้าวสู่ปีที่ 3 ของโรงเรียนครูออตจึงเชิญชวนครูและบุคคลากรของโรงเรียนเข้ามาร่วมเขียนเรื่องราวและงานของตนใน Lnapanya เพื่อที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนข้างนอกมากขึ้น อย่้างน้อยก็พี่น้องชาวลานที่มีอยู่ทุกภูมิภาค ทุกสาขาวิชาชีพ ทุกมุมมอง เพื่อให้ครูได้นำมุมมองที่ได้รับไปปรับใช้กับวัฒนธรรมการทำงานของตน  เรื่องนี้ครูออตเห็นว่าน่าจะสนุกและลานปัญญาน่าจะมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุนทรียศาสตร์

ทันที่ที่ครูออตโพสในกลุ่มของครูฮักสคูล ผู้บริหารก็แสดงความสนใจและสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะการเขียนในลาน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีพลังในการขับเคลื่อนแนวคิดดีดี  ดังนั้นลานเสวนาต่อไปเห็นที่จะได้เชิญจอมยุทธ์ด้านการเขียนBLOG ไปช่วยเล่าประสบการณ์การเขียน BLOG ให้กับครูที่ฮักสคูลได้รับฟังกันทั้งจุดเริ่มต้นการเขียนและการพัฒนาการเขียน  ไม่แน่เราอาจจะได้ BLOGGER มือใหม่ไฉไลด้านสุนทรีย์มาร่วมร่ายมนต์เสน่ห์แห่งสุนทรียศาสตร์ผ่านลานของเราก็ได้

ข้อมูลของโรงเรียนเบื้องต้น สามารถสืบค้นผ่านช่องทางดังนี้

ตุลาคม 25, 2010

การสอนสุนทรียศาสตร์ : ความรู้สึกผนึกจินตนาการประสานประสบการณ์

Filed under: Uncategorized — ออต @ 15:05

หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการเรียนศิลปะไม่ใช่ให้เด็กพัฒนาเฉพาะทักษะทางด้านการแสดงออกเท่านั้น แต่หัวใจของการสอนศิลปะไม่ว่าเด็ก เยาวชน นักศึกษาศิลปะ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปนั้นคือสุนทรียศาสตร์ ในสมัยที่เรียนศิลปะการเรียนการสอนสุนทรียศาสตร์ส่วนใหญ่จะอิงแอบอยู่กับวิชาต่าง ๆ ของศิลปะไม่ว่าจะเป็นวิชาทางด้านทฤษฏีเช่นประวัติศาสตร์ศิลป์ การวิจารณ์ทางด้านศิลปะ และอิงแอบอยู่กับวิชาปฏิบัติการต่าง ๆ ในงานทัศนศิลป์

ที่โรงเรียนฮักสคูล ที่ครูออตสอนบรรจุหัวใจหลักของการจัดการเรียนการสอนของที่นี่ไว้ชัดว่า การเรียนการสอนจะมุ่งสอนสุนทรียศาสตร์ให้กับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรอะไร ดังนั้นหน้าที่ครูจึงต้องออกแบบกระบวนการให้สุนทรียศาสตร์ผสานอยู่กับวิชาการต่าง ๆ ที่ตนเองสอน

วันนี้ห้องเรียนศิลปะเด็กประถมต้นของครูออตจึงออกแบบการสอนโดยมีจุดเน้นที่สุนทรียศาสตร์เป็นหลัก เพื่อทดลองดูว่าการออกแบบการสอนศิลปะแบบนี้จะช่วยพัฒนาสุนทรียศาสตร์ของนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน โดยสังเกตการแสดงออกทางด้านศิลปะผสมสานกับการวิเคราะห์สิ่งที่นักเรียนพูดคุยกับครูก่อนสอน ขณะสอนและหลังสอนเสร็จ

น้องการ์ตูนเด็กนักเรียนหลักสูตรศิลปะ อายุ 7 ขวบมาเรียนกับครูออตหลายเดือนมาแล้ว เรื่องพัฒนาการทางการแสดงออกทางศิลปะไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือองค์ประกอบทางด้านศิลปะนั้นพัฒนาการดีอย่างต่อเนื่อง ปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนด้วยกันในห้องเรียนและปฏิสัมพันธ์กับครูถือว่าเข้ากับคนอื่นได้ดีมาก ดังนั้นจึงขอเล่าเรื่องการสอนสุนทรียศาสตร์ผ่านน้องการ์ตูนในบันทึกนี้

วันนี้ครูออตนำเข้ากิจกรรมการเรียนด้วยการถามสารทุกข์สุขดิบกับนักเรียน เพราะว่าครูออตไม่ได้เจอการ์ตูนหลายเดือนเพราะก่อนหน้านั้นการ์ตูนอ่านหนังสือสอบปลายภาค ส่วนสัปดาห์ต่อมาครูออตก็ป่วยเป็นไข้เลือกออดต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน ดังนั้นก่อนเข้ากิจกรรมการเรียนครูออตจึงได้คุยเล่นหยอกหัวกับการ์ตูนอย่างสนุก

ครูออตเล่าเรื่องหมอใช้เข็มดูดเอาเลือดครูออตไปตรวจหาเชื้อโรค เข็มตรง ๆ ที่แหลมคมกำลังทิ่งไปที่ผิวหนังและผ่านชั้นผิวหนังไปในเส้นเลือดของครูออต การ์ตูนบอกเข็มน่ากลัว น่ากลัวเพราะ เข็มมันยาวและแหลม (อะน่านเข้าทางครูออตแล้ว) ถ้ายาว ๆ ตรง แหลม ๆ คม ๆ แบบนี้การ์ตูนว่ามันน่ากลัว ครูยิงคำถามต่อไปทันควันแล้วถ้าเส้นโค้ง ๆ การ์ตูนว่ามันให้ความรู้สึกอย่างไร

“สบายค่ะ หนูว่ามันสบาย ๆ เหมือนอยู่ในทุ่งนา หนูเคยไปบ้านยายค่ะอยู่ชัยภูมิบ้านคุณยายอยู่ในหมู่บ้านมีทุ่งนา อยู่ทุ่งนาแล้วสบายค่ะ” คำตอบแบบนี้ครูออตได้ทั้งโต๊ดทั้งเต็งเลย คือได้ทั้งอารมณ์ที่มีความรู้สึกต่อเส้นและได้จินตภาพที่เด็กมีต่ออารมณ์และความรู้สึกแบบนั้น ไม่รอให้ความรู้สึกผ่านไปนาน ครูออตส่งกระดานและกระดาษให้การ์ตูนทันทีก่อนความรู้สึกจะมลายไป

การ์ตูนขีดเส้นโค้ง ๆ ไปมาก่อนที่จะเผยภาพในจินตนาการตามความรู้สึกต่อเส้นโค้งเหล่านั้น ภาพที่เด็กหญิงตัวน้อยแสดงออกคือถนนเส้นหนึ่งที่โค้งยาวเลียบไหล่เขาไป ข้าง ๆก็มีสายน้ำคดโค้งไป ตรงบริเวณเชิงเขามีทุ่งนาสีเขียว ใกล้กับสายน้ำก็มีทุ่งนาสีเขียวให้ดูสบายใจ ภูเขาที่เขียวที่ทอดยาวไปตามเส้นทางที่ยาวไกล “นั้นถนนไปบ้านคุณยายค่ะ คดโค้งไปมา หนูอยากให้มันเท่า ๆ กันค่ะ ข้างบนเป็นก้อนเมฆและฟ้าสีม่วงเหมือนฝนจะตก”

การ์ตูนถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อเส้นโค้ง ผ่านสิ่งที่เคยเห็นหรือเป็นประสบการณ์ที่เธอเคยเจอ เมื่อถ่ายทอดลงในกระดาษ เธอก็ใส่จินตนาการลงไปด้วย เพื่อให้สิ่งที่เห็นในประสบการณ์เป็นเหมือนสิ่งที่เธออยากให้เป็นเช่น อยากให้ภูเขาเท่า ๆ กัน เป็นต้น นี่เป็นประสบการณ์การทดลองสอนสุนทรียศาสตร์ของครูออตในห้องเรียนศิลปะที่ฮักสคูล ไปชมกระบวนการคิดและการวาดภาพของเธอกันครับ และไปดูทุ่งนาที่สบายของการ์ตูน

กันยายน 24, 2010

บทวิจารณ์หนังสือของออต ตามที่นี่ครับ

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress