วิเคราะห์ความรู้ในตัวคน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กันยายน 2009 เวลา 11:25 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 4257

เป็นประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนกับผู้ตั้งคำถามคือคุณ ถึงดิน ในลานถึงดิน เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญ โดยเฉพาะกล่าวอ้างใน “เจ้าเป็นไผ 1″ ที่ชาวเฮทยอยร่ายเรื่องราวอยู่

ความรู้ในตัวคนคืออะไร ในความเข้าใจส่วนตัวคิดว่า คือ “การมีอยู่ขององค์ความรู้ต่างๆที่คนคนนั้นสะสมตลอดช่วงอายุ”

พิจารณา ขยายความประเด็น ความรู้ในตัวคน จากการมองพัฒนาการของคนตั้งแต่เกิด ดูกรณีพิจารณาคนทั่วไปที่ผ่านกระบวนการเติมความรู้จากระบบสังคมที่มีระบบการศึกษาเป็นแกนกลางในการสร้างคน ดังนี้


ซึ่งสรุปได้ว่า ความรู้ในตัวคนนั้นมีมากมายทุกเรื่องทุกสาขา มาจากไหน

  • ก็มาจากสิ่งรอบข้างที่เราเรียกว่า ความรู้ที่เกิดจากสัญชาตญาณ เช่นเมื่อเด็กไปจับเตารีดร้อนๆ ก็รู้ว่าร้อน ต่อไปก็ไม่จับเตารีดที่เสียบไฟฟ้าแล้ว เป็นต้น
  • ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่พ่อแม่ ครอบครัวป้อนให้ตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญที่จะฟอร์มตัวของทัศนคติ และฐานความรู้ในเรื่องต่างๆที่จะเรียนรู้อย่างซับซ้อนในช่วงเวลาต่อมา
  • ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติเอง จากเรื่องง่ายๆ พื้นฐาน และซับซ้อนมากขึ้นตามองค์ประกอบการพัฒนาการของชีวิต
  • ตามลำดับต่างๆตามมาดังแผนผัง

แต่คนเรา พลเมืองในประเทศมิได้ผ่านกระบวนการนี้หมดทุกคนทั้งหมดทั้งสิ้น มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านวงจรดังกล่าว ตัวอย่างคือวงจรชีวิตเกษตรกร ก็จะมีวิถีการได้มีขององค์ความรู้อีกแบบหนึ่ง คือ


  • จากการเรียนรู้ในครอบครัวที่เป็นแบบพื้นฐาน
  • อาจจะเข้าระบบการศึกษาก็เพียงชั้นประถม
  • แล้วก็ออกไปประกอบอาชีพเกษตรกรเลย หรือไปขายแรงงาน
  • การเรียนรู้จึงอยู่ที่ระบบครอบครัว ระบบชุมชน ระบบสังคม ระบบงาน
  • ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติจริง มีความเชื่อ ความศรัทธา กำกับ
  • หากเป็นคนงานก็มีระเบียบกำกับ

นี่คือความแตกต่างของคนในสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษา และคนที่ไม่ผ่าน หรือผ่านแต่เพียงชั้นประถมการศึกษา ความแตกต่างนี้ คือความแตกต่างของการเรียนรู้ องค์ความรู้ และหมายถึงความรู้ที่เขาสะสมอยู่ในตัวของเขา

ความแตกต่างนี้มักจะสรุปกันว่า คนที่ผ่านระบบการศึกษาคือคนที่ Educated ส่วนคนที่ไม่ได้ผ่านหรือผ่านน้อยนั้นเป็นคนที่ Un Educated ซึ่งเป็นการสรุปที่ไม่ได้สร้างการเคารพในความแตกต่าง เพราะ เกษตรกรก็มีความรู้มากมายในเรื่องราวที่เป็นสังคมของเขา สิ่งแวดล้อมวิถีชีวิตของเขา หากเอาคนที่ผ่านระบบการศึกษาไปใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน ก็ไม่สามารถจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ในทางตรงข้ามหากเอาชีวิตเกษตรกรไปอยู่ในสังคมสมัยใหม่ เขาก็ไม่เป็นสุข

ต่างกลุ่มมีการเรียนรู้ มีองค์ความรู้ ในเรื่องราวที่เป็นวิถีของเขา ดังนั้นเราสามารถสรุปเป็นภาพรวมๆได้ว่า ความรู้ในตัวคนนั้นมาจากชุดความรู้ต่างๆที่เกิดจากการเรียนรู้ของคนคนนั้นที่มีความแตกต่างกัน

ดังนั้น คนเราจึงมีความรู้ในตัวคนที่เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน จนกระทั่งแตกต่างกัน


จากแผนผังเหล่านี้น่าที่จะอธิบายความเข้าใจในเรื่อง ความรู้ในตัวคนได้บ้างนะครับ

สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจะแกะเอาความรู้ในตัวคนนั้นๆออกมาใช้ประโยชน์แก่สังคมได้อย่างไร..


กันยายนอันตราย

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 กันยายน 2009 เวลา 0:53 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 3185

ไม่ใช่กันยายนวิปโยคเพราะการเมืองการแมงร๊อก.. แต่จะเป็นกันยายนที่ชุ่มฉ่ำเหมือนปี 48 รึเปล่า


ภาพที่เห็นนั้นทั้งสองภาพเป็นสถานที่เดียวกันได้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2548 คือถนนเปรมพัฒนาที่ผมใช้เดินทางเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานใน อ.ดงหลวง จ. มุกดาหาร ถูกน้ำท่วมเพราะฝนตกหนัก สามวันสามคืนเมื่อ 4 ปีแล้วปีนี้ก็มีคำเตือนมาแล้วว่าจะมีฝนตกหนักอีกโดยเฉพาะในภาคอีสาน


ภาพซ้ายมือเป็นการแสดงให้เห็นว่าถนนสายนี้มีช่วงที่ใกล้ชิดกับลำห้วยบางทราย เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของดงหลวงเป็นภูเขา จึงมีการสะสมน้ำและหลากลงลำห้วยบางทราย แต่ลำห้วยบางทรายรับปริมาณน้ำฝนที่มากมายนั้นไม่ไหวก็เอ่อล้นท่วมตลิ่งสองข้าง

ภาพแผนที่ด้านขวามือก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมเช่นกัน


ผมและทีมงานไม่สามารถขับรถผ่านเข้าพื้นที่ได้ ชาวบ้านที่อยู่ด้านในก็ไม่สามารถออกมาทำธุรกิจได้ ทางอำเภอเอาเรือท้องแบนมาบริการ ก็เป็นกรณีที่ชาวบ้านมีธุระด่วน จำเป็นจริงๆเท่านั้น

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุก 3-5 ปี และจะเกิดใหญ่มากๆทุก 20-30 ปี แต่โชคดีที่ความลาดชันของลำห้วยบางทรายจากแหล่งต้นสายน้ำจนไหลออกที่แม่น้ำโขงนั้นมีความลาดชันมาก หรือมีความต่างระดับมาก ปริมาณน้ำที่มากและท่วมล้นขึ้นมานั้นจะแห้งงวดลงภายใน 2-4 วันเท่านั้น แต่ก็ทำความเสียหายต่อพืช และสิ่งปลูกสร้างต่างๆแน่นอน


ในปีเดียวกันนั้น โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อาคารที่เห็นในรูปซ้ายมือนั้นคืออาคารสูบน้ำมีความสูงเท่ากับตึกสามชั้น จากภาพนี้ส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้น้ำ เพียงแต่น้ำไม่เข้าไปข้างในเท่านั้นเอง แต่ก็เสียว กลังว่าน้ำฝนจะมากเกินกว่าการออกแบบ อาคาร

ปีนั้นปริมาณน้ำสูงขึ้นเกือบไหลเข้าด้านในอาคาร เราต้องเดือดร้อนหาถุงทรายมากองเตรียมไว้จำนวนมาก แม้ว่า หากน้ำท่วมเข้าตัวอาคารเราก็ไม่อาจกั้นได้ โชคดีที่ปริมาณน้ำไม่มากถึงระดับนั้น

หากดูแผนที่ทางขวามือเราจะเห็นลำห้วยบางทรายโค้งงอไปมาตัวอาคารสูบน้ำคือตรง A จุดขาวๆนั่นแหละ ตรง C คือถังเก็บกักน้ำ และ B คือโค้งหักศอกของลำห้วยบางทราย ที่ตั้งอาคารสูบน้ำนั้นถูกกำหนดโดยวิศวกรของโครงการตามหลักวิชาการของวิศวกร เราไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แต่เมื่องานก่อสร้างสิ้นสุดลงและเริ่มใช้งานเราจึงพบจุดอ่อนของสถานที่ตั้งอาคาร ไม่ขอกล่าวในที่นี้

ย้อนกลับมาที่กันยายนที่กรมอุตุเตือนว่าฝนจะมาอีกรอบและจะหนักเอาการขนาดเตือนก่อนล่วงหน้า เราจึงเตือนชาวบ้านเช่นกันว่าระบบเตือนภัยของเราไม่มี อาศัยการพยากรณ์ของกรมอุตุฯที่ถือว่าเป็นกระบวนการทางศาสตร์ที่ยอมรับได้ จึงอย่านิ่งนอนใจ พึงระมัดระวัง เพราะรูปทั้งหมดที่เห็นนี้เป็นรูปเดือนกันยายน 2548 โน้น นี่ครบรอบเดือนกันยายนอีกแล้ว

อะไรที่รู้ล่วงหน้า เราก็เตรียมตัวได้ แต่มีหลายอย่างเราไม่รู้ล่วงหน้านี่ซิ ได้แต่ ร้อง อิอิ..



ปลูกป่าให้ปู่

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 สิงหาคม 2009 เวลา 0:15 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 3071

ป่ากับไทบรูเป็นของคู่กัน เป็นวิถีชีวิต เป็นแหล่งพึ่งพิงของชาวไทบรูมาตลอด จนเราคนนอกมีความรู้สึกว่า มากเกินพอดี ป่ากับชาวบรูหรือโซ่ ผูกพันกันมากกว่าที่คนภายนอกที่ฉาบฉวยจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

อาหารประจำวันของชาวบรู หรือโซ่ นั้นมาจากป่า ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น หนุ่ม วัยครอบครัวเลยไปจนถึงผู้เฒ่า เดินขึ้นป่าเหมือนคนเมืองเดินห้าง การเข้าไปนอนในป่าเพื่อหาสัตว์ป่าเป็นอาหาร เหมือนคนเมืองกางเต็นท์สวยๆนอนในวันสิ้นสุดสัปดาห์

อาจเรียกได้ว่าปัจจัย 3 ใน 4 ของชาวบรูนี้ มาจากป่า คือ อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย แม้ว่ายุคเงินตราจะเข้ามาเป็นปัจจัยใหม่เป้าหมายของชีวิต เขาก็ไม่ทิ้งห่างจากป่า และความผูกพันของป่านอกจากสิ่งที่กล่าวมานั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือ การเคารพ นับถือสิ่งเหนือธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือ ศาลปู่ตา หรือเจ้าปู่ เป็นสิ่งสูงสุดของความเชื่อถือ


ปีนี้เราก็ร่วมงานกับเครือข่ายป่าชุมชนในดงหลวงจัดพบปะหารือกิจกรรมร่วมกัน โดยมีเครือข่ายไทบรูเป็นแกนหลัก คณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งมาปรึกษาหารือจัดทำแผนงานและแลกเปลี่ยนกัน


ทุกปีสมาชิกเครือข่ายไทบรูและคณะกรรมการป่าชุมชน จะขึ้นป่าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ป่ามาเพาะกัน ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปปลุกขยายในป่าหัวไร่ปลายนา หรือที่ที่เหมาะสม และอีกส่วนหนึ่งก็เตรียมไว้ขายให้แก่ราชการ หรือทางโครงการต่างๆที่ต้องการ


จากรูปซ้ายมือจะเห็นถุงเพาะต้นไม้ที่ชาวบ้านใช้ถุงใสแทนถุงดำ ทั้งนี้เพราะชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ที่หาวัสดุการเพาะกล้าไม้ได้ไม่ง่าย จึงเก็บถุงใสที่ได้จากการซื้อสินค้าต่างๆไว้ แล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ พืชป่าที่ชาวบ้านเพาะและปลูกครั้งนี้มี ต้นยางแดง ต้นยางนา มะค่าโมง ประดู่ ซึ่งวันนี้นำไปปลูกในบริเวณป่าปู่ตาประจำหมู่บ้านเลื่อนเจริญ

เจ้าปู่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่พี่น้องไทบรู ทำพิธีตามความเชื่อของชนเผ่าปีละหลายครั้ง เช่น ก่อนเริ่มฤดูทำนา ก่อนเกี่ยวข้าว และช่วงพิธีกรรมตามฮีต คองต่างๆ รวมทั้งการเสี่ยงทายตามความเชื่อต่างๆของชนเผ่า และนี่ก็เป็นองค์ประกอบตามวิถีบรู คนนอกหากไม่เห็นนามธรรมที่เป็นเบ้าหลอมระบบคิดของเขาอย่างเข้าใจแล้ว จะพัฒนาได้อย่างไร มุมมองนี้ไม่สามารถจะออกแบบการพัฒนาชุมชนได้จากภายนอก เหมือนสินค้าสำเร็จรูปได้

เราจึงสนับสนุนพี่น้องไทบรู ไปปลูกป่าให้ปู่(ตา)กันเมื่อเช้านี้ แม้จะมีต้นไม้เพียง 800 ต้น จำนวนคนเข้าร่วมเพียง 50 คน แต่ความหมายนั้นยิ่งใหญ่ ความอิ่มเอมทางใจที่ไทบรูได้กระทำให้เจ้าปู่ ที่เป็นที่สุดของความเชื่อ..


ความศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ นำมาซึ่งความอุดมของสิ่งแวดล้อม อันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งต่อวิถีบรู และสังคมโดยรวม เมื่อเราเริ่มนับหนึ่ง การสะสมก็ได้เริ่มต้นแล้ว..


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 4

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 สิงหาคม 2009 เวลา 12:22 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2532

คณะต้องเดินทางต่อตามกำหนดการ เรื่องราวแก่งละว้าก็เลยค้างเติ่ง ปล่อยให้ผู้สนใจหาทางต่อกันเอง

ขอเก็บตกและสรุปประเด็นดังนี้


  • ทรัพยากรท้องถิ่นหากจัดระบบดีดีก็อยู่ร่วมกันได้… สาระที่ไม่ได้ post ตอนหนึ่งก็คือ มีผู้นำชุมชนชื่อหลวงคลัง หรือบ้ง ศรีโห นำชุมชนรอบแก่งละว้าพัฒนาและทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์กัน โดยท่านเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมคนรอบแก่งแล้วทำความเข้าใจกัน เมื่อท่านสิ้น ชุมชนก็สร้างอนุสาวรีย์ให้ท่าน
  • ราชการเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยไม่จัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม กรณีเอาน้ำไปทำประปาที่บ้านไผ่ แล้วตั้งกฎระเบียบเอาเอง แล้วเอากฎระเบียบนั้นมาประกาศใช้กับชุมชนรอบๆแก่ง สร้างความขัดแย้งมาจนปัจจุบัน นี่คือกรณีตัวอย่างอีกแห่งของความขัดแย้งระหว่างรัฐ(การปกครองส่วนท้องถิ่น) กับชุมชน
  • กรมชลประทานหวังดี แต่ผลออกมาเป็นการสร้างปัญหาทับถมลงไปอีก แม้จะมีการพยายามจัดประชาคม และบทสรุปของชุมชนคือทุบคันดินออก แต่ก็ยังทำไม่ได้ คาราคาซังเช่นนั้น..จะอีกนานเท่าไหร่หนอ..
  • จากข้อมูลแหล่งข่าวที่เคยมาทำงานที่นี่กล่าวว่า ปัญหาที่ใหญ่ตามมาก็คือ เมื่อน้ำไม่ไหลเข้าแก่ง หรือไหลเข้าน้อย ปัญหาที่พบปัจจุบันคือ เกิดความเค็มขึ้น และเพิ่มขึ้นทุกปี หลับตาดูอนาคตซิว่า ชาวบ้านรอบแก่งจะทำอย่างไร รัฐยังไม่ฟังชาวบ้าน อ้างแต่กฎระเบียบ กฎหมาย.. การถมทับปัญหาที่กระทบต่อวิถีชาวบ้านจะเป็นการสะสมความคั่งแค้น…ปัญหาเล็กไม่รีบแก้ รอให้เป็นปัญหาใหญ่ นักการเมืองนักการแมงที่อ้างจะเข้ามาเป็นปากเสียงชาวบ้านก็หลบลี้หนีหายไปซุกตูดใครก็ไม่รู้ อิอิ
  • นอกจากน้ำในแก่งจะทวีความเค็มแล้ว แหล่งข้อมูลยังกล่าวว่า ลำน้ำที่ไหลเข้าก็เอาความเค็มเข้ามาด้วย….โถ..ประเทศไทย ระเบิดอยู่ข้างหน้าอีกหลายลูก..


  • น้องโอ๋ สาวเหล็ก ลูกหลานหลวงคลัง ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำชี เกาะติดปัญหานี้และรวมตัวชาวบ้านมาช่วยกันคิดอ่าน แก้ปัญหากันเอง รัฐไม่ก้าวเข้ามา มีแต่ปกป้องตัวเอง และหาทางแก้ปัญหาในมุมของราชการ ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน
  • ทราบว่าเกาะกลางแก่งละว้า ได้ถูกจัดให้เป็นอุทยานอะไรสักอย่างเพื่อถวายแด่พระราชวงศ์ หากพระองค์ท่านทราบเรื่อง ทราบปัญหาท่านคงทรงมีเมตตาแก่ประชาชน แต่เรื่องราวนี้ไปไม่ถึง..
  • ผมลองใช้ Google earth ศึกษาพื้นที่ใกล้เคียงกัน พบว่ามีแก่ง อ่าง บึง หนอง ฯลฯ อีกหลายแห่งที่มีเงื่อนไขคล้ายๆแก่งละว้า และที่น่าตกใจคือ ถูกก่อสร้างคันดินล้อมรอบหมดเกือบทุกแห่ง เหมือนแก่งละว้า…??

ข้อเสนอแนะ

  • เมื่อภาครัฐมีข้ออ้างทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ก็น่าที่จะหาคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งท้องถิ่น น่าจะประกอบด้วย ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษาท้องถิ่นที่มีวิชาความรู้ทางด้านนี้ มีนักวิชาการที่เข้าใจชุมชน มีข้าราชการท้องถิ่น มีนักการเมืองท้องถิ่น มีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และฯลฯ มาเป็นคณะศึกษาและหาทางออกร่วมกัน อย่าปล่อยให้ชาวบ้านดิ้นไปแต่ฝ่ายเดียว
  • สถาบันการศึกษาท้องถิ่นต้องลงมาใช้วิชาการความรู้เข้ามาศึกษารายละเอียดให้มากๆ เช่น คณะวิศวะเข้ามาศึกษาด้านโครงสร้าง ฯ คณะเกษตรเข้ามาศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรและอื่นๆ คณะธรณีวิทยาเข้ามาศึกษาเรื่องดิน การเปลี่ยนแปลงเรื่องของธรณี คณะศึกษาศาสตร์เข้ามาตั้งชมรมส่งต่อความรู้แก่งละว้าจากอดีตสู่ปัจจุบันไปสู่อนาคต คณะสื่อสารมวลชนเข้ามาทำข่าวภาคประชาชน คณะพัฒนาสังคมเข้ามาศึกษาชาวบ้าน จัดทำระบบข้อมูล ฯ คณะแพทย์ศาสตร์ เข้ามาศึกษาระบบอนามัยชุมชนที่มีวิถีชีวิตกับแก่งละว้า ฯลฯ อบต. อบจ.เข้ามาสนับสนุน ท้องถิ่น ให้ทุนทำวิจัยเรื่องต่างๆ จัดทำแผนงานพัฒนา แก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ
  • การที่คนท้องถิ่นรวมตัวกัน จับกลุ่มกันมองหาทางออกนั้นเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ภาคเอกชนต่างๆควรเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มคนท้องถิ่นมีศักยภาพในการทำงานต่อไป
  • เรื่องแก่งละว้าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะชาวบ้านรอบแก่งละว้า ความเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์นั้นกว้างขวางออกไปถึงระบบนิเวศกายภาพ ระบบนิเวศวัฒนธรรม ที่กินพื้นที่กว้างไปข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด ต้องศึกษาภาพรวมด้วยอย่างละเอียด เพื่อต่อภาพทั้งหมดให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกัน


ชาวบ้านเอาไหลบัวในแก่งละว้ามาตำส้มตำกินมื้อกลางวัน อร่อยมากครับ

สังคมนี้ต้องการประสานความร่วมมือ

ต้องการระดมความรู้ใหม่ ประสบการณ์เดิม มาร่วมกันมอง คิดอ่านพัฒนาพื้นที่

สังคมนี้ต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหามิใช่รวมตัวกันมาแสวงหาผลประโยชน์ที่อิงแอบบนปัญหาของประชาชน

ฝันมากไปไหมครับ..


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 1

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 สิงหาคม 2009 เวลา 16:21 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 4200

ข้อมูลแก่งละว้า

แก่งละว้าอยู่ไม่ไกลจากเมืองเพียนัก เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำชี ตั้งอยู่ที่ บ้านโคกสำราญ ต.โคกสำราญ กิ่ง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ที่พิกัด 48 QTC 522-898 ระวาง 5541-III มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตร.กม. มีน้ำขังตลอดปี ส่วนยาวและกว้างที่สุดของบึง ประมาณ 11 กม. และ 3 กม. ตามลำดับ ในฤดูแล้งจะมีน้ำขังอยู่ในบึงประมาณระดับ 156.50 ม.(ร.ท.ก.)คิดเป็นความจุของน้ำประมาณ 19 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 10 ตร.กม.


การขึ้นลงของน้ำในบึงอาศัยน้ำต้นทุนจากลำห้วยทั้ง 3 สาย ดังกล่าวแล้ว บางปีที่น้ำในลำน้ำชีไหลหลากมามากก็จะเอ่ยล้นตลิ่งในเขตอำเภอชนบท ทางด้านเหนือน้ำ ไหลลงหนองกองแก้ว ไหลบ่าไปลงบึงแก่งละว้า รวมทั้งการเอ่อล้นท่วมของแม่น้ำชีเข้ามาในบึงแก่งละว้าทางตอนล่างอีกทางหนึ่ง

พื้นที่รับน้ำลงบึงแก่งละว้าอยู่ในเขต อ.ชนบท และ อ.บ้านไผ่ โดยการวัดจากแผ่นที่มาตราส่วน 1 : 50,000 พบว่าพื้นที่รับน้ำลงบึงมีประมาณ 946.25 ตร.กม.


เมื่อแม่น้ำชีลดลงน้ำในบึงจะไหลออกที่ห้วยจิบแจง และห้วยปากผีแป้ง ด้วยเหตุนี้ทางอำเภอและราษฎรจึงช่วยกันปิดทำนบห้วยจิบแจง และห้วยปากผีแป้ง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ทำนบไม่แข็งแรงจึงพังเสียหายในฤดูน้ำหลากทุกปี

ธรรมชาติของแก่ง

ดังกล่าวแล้วว่าน้ำไหลเข้าแก่งหลายทาง คือน้ำฝนตกลงมาในฤดูฝน น้ำจากลำชีที่ไหลเข้าทางห้วยหนองเอียน ห้วยเมืองเพีย และห้วยบ้านเป้าทางด้านใต้ของแก่ง และในปีใดที่มีปริมาณน้ำฝนมากล้นเอ่อลำชีก็จะไหลบ่าเข้าหนองกองแก้วแล้วบ่าเข้าแก่งละว้าทางด้านใต้เช่นกัน แล้วจะไหลออกทางด้านบนของแก่งละว้าที่ห้วยจิบแจงและ ห้วยปากผีแป้ง

การใช้ประโยชน์

เกษตรกรจาก 4 ตำบล คือ ตำบลบ้านไผ่, โคกสำราญ, เมืองเพีย, และบ้านเป้า รวม 40 หมู่บ้านใช้แก่งละว้าเป็นที่ทำมาหากินทั้งใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ใช้เลี้ยงสัตว์วัว ควาย และอื่นๆ และที่ได้ประโยชน์มากอีกประการคือการประมง ชาวบ้านรอบๆแก่งมีอาชีพจับปลาเพื่อบริโภคและขายตลอดปี


น้ำจากแก่งละว้ายังใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาให้กับเทศบาลอำเภอบ้านไผ่ ซึ่งต้องใช้ท่อนำน้ำเป็นระยะทางถึง 15 กม. กรมโยธาธิการประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2526 เทศบาลบ้านไผ่ต้องการน้ำดิบไปผลิตประปาถึงวันละ 10,000 ลบ.ม. นอกจากนี้ชาวบ้านรอบๆยังใช้ประโยชน์จากแก่งอีกหลายประการเช่น เก็บต้นผือไปขาย หรือนำไปทอเสื่อขาย เป็นต้น


การพัฒนาแก่ง จุดเริ่มของปัญหา..?

เมื่อฤดูฝนผ่านไปน้ำในแม่น้ำชีลดลง ก็ดึงเอาน้ำในแก่งละว้าไหลออกเป็นปกติที่ห้วยจิบแจงและห้วยปากผีแป้ง ทางด้านบนของแก่งละว้า เกษตรกรจึงมีความเห็นว่าควรสร้างทำนบกั้นน้ำไหลออกที่ห้วยจิบแจง แต่กำลังของชาวบ้านไม่สามารถสร้างทำนบที่แข็งแรงได้ สร้างขึ้นมาก็พังทลายทุกปี จึงเสนอทางราชการเข้ามาพิจารณาก่อสร้างอย่างแข็งแรงต่อไป

————

ขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.rid6.net/~khonkaen/MidProject/Lawa/Lawa.htm

http://ridceo.rid.go.th/khonkhan/datamid/pm_lawa.html


คนทำงานชุมชน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:28 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 5593

เย็นวันนั้น ท้องฟ้าทิศตะวันตกสวยอย่างในรูป แต่ขอบฟ้าโน้นก้อนเมฆตั้งเค้าก้อนใหญ่


ทีมงานนัดกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำไว้ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องโครงสร้างกลุ่ม และการคัดเลือกกรรมการชุดใหม่ ชาวบ้านเสนอให้ใช้เวลากลางคืน เพราะกลางวันชาวบ้านทำนาทำไร่กัน เพื่อมิให้เป็นภาระแก่ชาวบ้านจึงทำอาหารไปเลี้ยง ทีมงานตัดสินใจเอากาแฟไปด้วย…


งานนี้ผมมอบให้ทีมงานแสดงบทบาทเต็มที่ ซึ่งแต่ละคนก็ผ่านงานมามากจึงไม่เป็นปัญหา เพียงแต่มีประเด็นที่เราต้องไปแลกเปลี่ยนกัน เชิงสาระ และการทำหน้าที่ fa เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติของการทำงานร่วมกัน


การคุยกับชาวบ้านในเวลาค่ำคืนนั้น เป็นเรื่องปกติของเรา ตั้งแต่ ปาลียน อยู่ดงหลวงแล้ว บางคืนคุยกันเพลินเอาซะดึกเลยก็มี มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เราให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะคุยกันเมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหน เมื่อเขาตกลงก็เป็นไปตามนั้น เพราะชาวบ้านทราบดีว่า ช่วงเวลาเขาเหมาะสม คือช่วงไหน เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เราแปรตาม นี่คือข้อดีของเอกชน.. ส่วนข้อเสียก็คือ หากมีสาระที่ต้องปรึกษาหารือกันหลายเรื่อง จะไม่เหมาะ เพราะเกษตรกรปกติจะนอนแต่หัวค่ำ สมาธิในการพูดคุยกันจะไม่ดี สั้น ผู้รับผิดชอบต้องเข้าใจและต้องทำหน้าที่ fa ให้ดี

เราขอยืมเก้าอี้ อบต. แล้วให้ชาวบ้านหยิบไปนั่งกันเอง ใครอยากนั่งตรงไหนก็เอาตามสบาย ก็ออกมาดังรูปที่เห็นนั่นแหละ เราเน้นความไม่เป็นทางการ


คณะกรรมการแลกเปลี่ยนกันเองต่อโครงสร้างกลุ่มจากเดิมที่เน้นโครงสร้างตามแบบสากล แต่หลังจากดำเนินงานมาแล้วเห็นว่าโครงสร้างนั้นเทอะทะมากไป ก็ยุบส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป คงเหลือส่วนที่จำเป็น แบ่งบทบาทหน้าที่กันใหม่ตามความเป็นจริงมากกว่าหลักการสากล.. โดยให้เกษตรกรปรึกษากันเองว่าใครเหมาะที่จะเป็นผู้นำ ตามลำดับโครงสร้างใหม่ ใช้เวลาไม่นานก็ได้คำตอบครบถ้วน


เกือบห้าทุ่ม ก้อนเมฆใหญ่ที่ขอบฟ้าเมื่อเย็นก็มาปกคลุมท้องฟ้าที่บ้านพังแดงจนมิด ฟ้าแลบแปล๊บปล๊าบ หลายคนในเมืองกำลังเพลิดเพลินกับรายการที่ตนเองชื่นชอบในทีวี หลายคนพักผ่อนสบายหลังจากทำงานเต็มที่ในช่วงเวลาราชการ แหล่งธุรกิจในเมืองจำนวนไม่น้อยยังมองหาลูกค้าเข้าไปสนับสนุนกิจการของเขา ผู้บริหารหลายคนมุ่งหวังว่าคนทำงานชุมชนจะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ…แต่ไม่เคยสัมผัสชีวิตเช่นนี้เลย… ความฝันของเขาลอยอยู่บนหลักการสวยหรู


การพูดคุยเลิกราแล้ว ชาวบ้านต่างก็กลับไปพักผ่อน….

กลางสี่แยกในหมู่บ้านยังมีไฟฟ้าทำหน้าที่ส่องสว่างถนนยามค่ำคืน

แมลงกลางคืนบินเล่นไฟ… เสียงสุนัขบ้านทำหน้าที่ตามสัญชาติญาณของเขา

พี่น้องกะโส้หลับตาเถอะ..พรุ่งนี้ งานหนักในไร่นายังรอท่านอยู่…

ผมรำพึงกับตัวเอง…สามสิบกว่าปีแล้ว..ที่เราวนเวียนกับชีวิตแบบนี้..

ผมยืนนิ่งมองไฟดวงนี้อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่น้องๆจะเรียกขึ้นรถเดินทางกลับที่พัก..

เราก็เป็นแค่ไฟบนยอดเสากลางหมู่บ้านดวงนั้น ส่องสว่างให้พี่น้องมองเห็นทางเดินไป

พี่น้องตัดสินใจเองว่าจะเดินไปทิศไหน… ชนบทไทย สังคมไทย ประเทศไทย… อีกไม่นานนักหรอกที่ไฟบนยอดเสากลางชุมชนนั้นก็มอดไหม้ไปตามกาล..แห่งสัจจะ..

……….

น้องๆบางคนนั่งหลับไปในรถ ทุกคนเงียบกับความคิดตัวเอง

คืนนี้พระจันทร์ขมุกขมัว แต่เราก็อิ่มใจที่ได้ทำหน้าที่ของเรา….


คิดไม่ถึง…

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:10 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2814

ยังเกาะติดปัญหาหลักของพี่น้องบ้านพังแดงที่เกริ่นไปหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องที่ประชาชนมีข้าวไม่พอกิน มาเอะใจก็ตอนที่มานั่งคุยกับนรินทร์ เชื้อคำฮด หนุ่มผู้ต่อสู้เพื่อการหนี้รอดความยากจนนี่แหละทำให้เกิดการทบทวนอย่างหนักในเรื่องนี้

  1. หลังจากที่พี่น้องกะโส้บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆออกมาจากป่าแล้วต่างก็เผชิญการอดข้าวบริโภคครั้งใหญ่ ไม่กี่ปีต่อมาการขยายพื้นที่ปลูกข้าวก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการมีพืชไร่ชนิดใหม่เข้ามานั่นคือ มันสำปะหลัง….เพียงสามสี่ปี พืชมหัศจรรย์ชนิดนี้ก็ขยายเต็มพื้นที่ดงหลวง ในที่ที่ไม่ได้ทำนาลุ่ม ปัจจุบันก็เริ่มเอามันสำปะหลังลงไปปลูกในนาข้าวบ้างแล้ว..

    ก็ธรรมดานี่นา..ที่ไหนๆก็ปลูกมันสำปะหลัง ทั่วอีสาน ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการที่ข้าวไม่พอกินเลย หรือจะเป็นเพราะพื้นที่ปลูกมันไปแย่งพื้นที่ปลูกข้าวไร่..? ก็มีบ้าง แต่ไม่ได้แทนที่ทั้งหมด..เพราะเรารู้มาแต่ไหนแต่ไรว่า ข้าวคือพืชหลักที่ชาวบ้านเอาไว้ก่อน อย่างอื่นเป็นเรื่องมาทีหลัง…

  2. ในพื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีเงื่อนไขที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าเอง ในรูปของค่าน้ำที่ใช้นั้น เราแนะนำพืชที่ปลูกแล้วขายได้เพื่อมีรายได้และนำมาแบ่งจ่ายเป็นค่าน้ำซึ่งก็คือค่ากระแสไฟฟ้านั่นเอง ปีแรกๆ ขนาดพื้นที่และชนิดพืชที่ปลูกก็มากพอสมควร แต่ก็ไม่มากพอตามที่เราคาดหวัง ตรงข้ามในปีต่อๆมาพื้นที่กลับทรงตัวและลดลง นั่นหมายถึงว่า เกษตรกรไม่ค่อยรับกระบวนการผลิตพืชแบบพึ่งพิงตลาด ตรงข้ามในพื้นที่เดียวกันนั้นยามฤดูฝนเกษตรกรจะปลูกข้าวในที่ลุ่มทั้งหมด ในที่ดอนจะปลูกข้าวไร่ และมันสำปะหลัง ยางพาราเริ่มมีบ้างและพืชเศรษฐกิจที่เราสนับสนุน

    ยามช่วงทำนาหลังปักดำแล้วเกิดฝนทิ้งช่วง เกษตรกรก็จะร้องขอให้เปิดน้ำ เพื่อเอาเข้าแปลงนาเพื่อรักษาชีวิตต้นข้าว การเอาน้ำใส่ข้าวนั้นต้องใช้ปริมาณที่มาก ซึ่งเกษตรกรต้องจ่ายค่าใช้น้ำมาก โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามิได้ออกแบบมาเพื่อใช้น้ำทำนาข้าว แต่ออกแบบมาเพื่อให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย เท่าที่พืชต้องการเท่านั้น การประหยัดน้ำก็คือประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำ เป็นการรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุด ขนาดนั้นยังบ่นว่าเสียค่าน้ำไปกับพืชเศรษฐกิจมาก อยากให้พิจารณาลดอัตราต่อหน่วยของการใช้น้ำน้ำลงมาอีก แต่แปลกก็คือ ทีค่าน้ำเพื่อนาข้าวนั้นเกษตรกรจ่ายมากหลายเท่าตัว โดยไม่บ่น และจ่ายครบหมดไม่มีใครเบี้ยวเลยแม้แต่คนเดียว..!!

  3. เราเองก็รู้ว่าเมื่อชาวบ้านขาดแคลนข้าวในช่วงสถานการณ์ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก” นั้น การขึ้นป่าขึ้นภูก็มีความถี่สูง และการรบกวนทรัพยากรธรรมชาติก็มากขึ้นด้วย เพื่อเอาผลผลิตจากป่าไปแลกข้าว แต่ปัจจุบันการทำเช่นนี้ลดลงมากแล้ว ซึ่งมิได้หมายความว่าข้าวมีบริโภคเพียงพอ มิใช่ ที่ลดเพราะเกษตรกรมีความ “ของป่าหายากมากขึ้น” “รู้สึกอายมากขึ้น”

    ผมตั้งคำถามนี้แก่นรินทร์ที่ว่า หากครอบครัวข้าวไม่พอกินแล้ว ทำอย่างไร ก็อย่างที่กล่าวไปหลายครั้งแล้ว แต่คำตอบที่มาสร้างความเอ๊ะใจแก่ผมมากก็คือคำตอบของที่ว่า “การผลิตข้าวแต่ละปีนั้น ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปีนั้น ผลผลิตที่ออกมาครอบครัวใครก็รู้แล้วว่า ปีนี้จะขาดแคลนข้าวกินหรือไม่ หากขาด ขาดโดยประมาณเท่าไหร่ จะคิดคร่าวๆได้ จากนี้ก็จะคิดอ่านวางแผนในสมองว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรตั้งแต่ต้นปี ใครจะลงไปทำงานกรุงเทพฯไหม.. ใครจะไปรับจ้างในเมืองไหม และจะปลูกมันสำปะหลังสักกี่ไร่ กี่แปลง เมื่อไหร่ เพื่อให้การเก็บเกี่ยวแล้วขายมันสำปะหลังตรง หรือก่อนการขาดแคลนข้าวจริงๆ…. ก็เอาเงินจากการขายมันสำปะหลังนั่นแหละมาซื้อข้าว”…!!??

    เรานึกไม่ถึงจริงๆ..ว่าชาวบ้านจะแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินด้วยการปลูกมันสำปะหลัง.อย่างมีแบบแผน…


    ดังนั้น

  • มันสำปะหลังคือพืชไร่ที่เกษตรกรจะต้องปลูกเพื่อรายได้ประจำปี
  • “มันสำปะหลังคือหลักประกันการมีข้าวกิน” กรณีดงหลวง

นี่คือการถอดรหัส….จากการพุดคุยกับชาวบ้าน จากการใช้เอ๊ะศาสตร์เข้ามากระตุกต่อมคิด

ดังนั้นการคิดการแก้ปัญหาลดอัตราการขาดแคลนข้าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์รายครัวเรือนมิใช่ภาพรวมทั้งหมดของชุมชนเพราะแต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

การสอบถามชาวบ้านจึงต้องถามละเอียดมากกว่าปกติ เช่น หากไปถามว่า ปีนี้ข้าวพอกินไหม ชาวบ้านอาจตอบว่า “มีพอกิน” แต่เบื้องหลังคือ “ไม่พอกิน” แต่ที่ตอบว่าพอกิน เพราะได้ขายมันสำปะหลังไปแล้วและไปซื้อข้าวมาตุนไว้บนบ้านให้มีเพียงพอกินครบตลอดปีแล้ว…

ผู้ถามอาจเข้าใจไปเลยว่า ครอบครัวนี้ไม่ได้ขาดแคลนข้าว หากสรุปเช่นนี้ก็จะพลาดข้อเท็จจริง หากใครไม่สัมผัสชุมชนมุมลึกแล้วก็จะเข้าใจผิดได้ง่ายมาก ตีโจทย์ไม่แตก ความผิดพลาดในการทำงานก็เกิดขึ้นได้…..


(วงจรหยาบๆเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนข้าวและแนวทางการแก้ไขของชาวบ้าน)

ประเด็นต่อเนื่องก็คือ

  • มีกี่ครัวเรือนที่ข้าวไม่พอกินในรายละเอียดของแต่ละครอบครัวในทุกเดือนตลอดปี..
  • มีกี่ครัวเรือนที่แก้ปัญหาในวิธีต่างๆ
  • มีกี่ครัวเรือนที่ใช้วิธีปลูกมันสำปะหลังเป็นหลักประกัน
  • ฯลฯ

แล้วทั้งหมดนี้ ทางออกคืออะไร..!!

เรากำหนดการจัดทำ “Community Dialogue” ในเรื่องนี้ขึ้นแล้วภายในเดือนนี้ แล้วมาดูกันว่า ความคิดเห็นชาวบ้านนั้น คิดอ่านอย่างไรบ้าง..


นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๒

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:11 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2209

บทเรียนจากงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่สูบน้ำห้วยบางทราย: โครงการได้สร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้พี่น้องบ้านพังแดง เป็นระบบที่ทันสมัยมากมีอาคารติดตั้งเครื่องสูบน้ำสองเครื่อง ระบบควบคุมการปิดเปิดน้ำ แผงวงจรไฟฟ้า มีถังเก็บน้ำขนาดใหญ่มีท่อส่งน้ำฝังดินไปโผล่ที่แปลงที่ดินแต่ละแปลงพร้อมทั้งติดตั้งมิเตอร์จดปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อนำมาคำนวณค่ากระแสไฟฟ้าพร้อม ในด้านการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเราได้ไปประชุมชี้แจงโครงการพร้อมทั้งทำแบบสอบถามพี่น้องเกษตรกรหลายต่อหลายครั้ง มีการประชุมฝึกอบรมเพื่อก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำหลายต่อหลายหนแม้กระทั่งยามกลางค่ำกลางคืน นอกจากนั้นในระยะแรกเรายังรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ แล้วค่อยๆถ่ายภาระให้กับผู้ใช้น้ำทีละน้อยในปีถัดๆไป การก่อสร้างโครงการ ประสบความสำเร็จพอสมควร มีปัญหาอุปสรรคบ้างเช่นการออกแบบหัวกะโหลกสำหรับดูดน้ำเข้าอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นน้ำทำให้ดินโคลนทับถมหนาเกือบสองเมตรทำให้ต้องขุดลอกกันทุกปี ถึงฤดูน้ำหลากก็หวาดเสียวกับการที่น้ำจะท่วมเครื่องสูบน้ำเกือบทุกปี ส่วนการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำก็ได้ผลคุ้มค่ากับการที่พวกเราหมั่นไปประชุมกับคณะกรรมการแม้ยามกลางค่ำกลางคืน

แต่งานที่หนักหนาสาหัสที่สุดเห็นจะเป็นงานด้านการส่งเสริมการเพาะปลูกภายใต้ระบบชลประทาน อันเป็นความรับ ผิดชอบหลักของข้าพเจ้าเอง การที่จะทำให้พี่น้องที่คุ้นเคยกับการปลูกมันสำปะหลังทิ้งไว้แล้วเข้าไปหาอยู่หากินแบบผ่อนคลายในป่าที่อยู่รอบๆหมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนอย่างทันทีทันใดมาปลูกพืชแบบเกษตรประณีตนั้น ทีมงานของเราทุกคนต้องทุ่มเทกันอย่างมาก เราทำตั้งแต่การเสาะหาแหล่งรับซื้อผลผลิต จัดงานวันผู้รับซื้อผลผลิตพบเกษตรกร ทำแปลงเพาะปลูกพืชไปพร้อมๆกับพี่น้องทั้งการปลูกมะเขือเทศ ถั่วฝักยาวผลิตเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ซึ่งงานทำแปลงปลูกพืชนี้ไม่ได้มีงบประมาณจากโครงการแต่อย่างใด ต้องควักกระเป๋าตนเอง น้องๆผู้ช่วยงาน แม้กระทั่งพนักงานขับรถก็มาช่วยลงแรงโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม เมื่อขายผลผลิตได้ก็แบ่งปันกันเพียงคนละเล็กละน้อย เพราะแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรมือใหม่อย่างพวกเรามักจะได้ผลแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ที่พวกเราได้รับแน่ๆได้แก่ประสบการณ์ และเรา “ได้ใจ”จากพี่น้องชาวพังแดง นี่เป็นบทเรียนที่พวกเราผ่านการทดสอบ

นิเวศวัฒนธรรม นำการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม : เราได้พบทางออกในการพัฒนาในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชาวโส้ นั่นคือการทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น “เครือข่ายอินแปง” ซึ่งเป็นตัวแทนของมูลนิธิหมู่บ้านที่เข้ามาร่วมรับงานในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร นอกจากนั้นเรายังเข้าไปศึกษาวิถีชาวโส้อย่างแท้จริง โดยการทดลองไปจัดเวทีชุมชนที่บ้านโพนไฮ ใช้เวลาจัดเวทีหลายครั้งหลายหนในเวลาสามทุ่มถึงราวๆเที่ยงคืน ทำให้ได้ภาพของชุมชนชัดเจนว่าพี่น้องได้ผ่านการหล่อหลอมมาอย่างไร ทั้งจากขนบประเพณีประจำเผ่า และจากเหตุการณ์การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ในส่วนตัวแล้ว ผมยังได้ศึกษาขนบประเพณีของชาวโส้ จากการร่วมในประเพณีต่างๆ จากการพูดคุยกับเจ้าจ้ำ กับผู้อาวุโส รวมถึงการหัดเรียนรู้ภาษาโส้จนถึงขั้นชาวบ้านบอกว่า “นินทาหัวหน้าเปลี่ยนไม่ได้แล้ว” “กวยดังภาษาโส้ เขาฟังภาษาเราออก” ทั้งนี้เพราะก่อนเข้ามาทำงานในดงหลวงเคยมีคนบอกไว้ว่า “ถ้าจะทำงานกับชาวโส้ได้คุณต้องเป็นเจ้าจ้ำของเขาให้ได้ก่อน” ซึ่งถึงแม้ผมยังเป็นเจ้าจ้ำไม่ได้ แต่ก็มีคนพูดหยอกอยู่เสมอว่าเป็น “หัวหน้าเผ่า”

เราทำงานร่วมกับอินแปงในการส่งเสริมการเกษตรแบบ “พออยู่พอกิน” “ยกป่าภูพานมาไว้ในสวน” “ปลูกทุกอย่างที่กิน” มาเผยแพร่มีการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพ แล้วจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหมู่ผู้นำเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้ปุ๋ยดังกล่าวจนในที่สุดเราได้ปุ๋ยสูตรต่างๆมาหลายสูตร และเรามีเกษตรกรที่ทำนาแบบปลอดสารเคมีหลายร้อยแปลง แล้วเรายังได้ผลักดันให้พี่น้องได้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลูกและการขยายพันธุ์ผักหวานป่า ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชั้นเซียนของพี่น้องชาวโส้ดงหลวง ผมกล้ายืนยันว่าการตอนกิ่งผักหวานป่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่ที่ดงหลวง และยังพบอีกว่าคุณป้าวัยใกล้หกสิบแม่บ้านของพ่อลุงแสน ปีหนึ่งๆตอนกิ่งผักหวานป่าได้มากกว่าสามีท่านเสียอีก แต่กว่าจะโน้มน้าวให้มีการเปิดเผยองค์ความรู้เรื่องผักหวานป่านี่ก็ต้อง “ซื้อใจ”กันหลายขั้นตอนเฉพาะตัวผมเองต้องไปคลุกคลีกับพ่อๆ ต้องนั่งกระบะท้ายรถปิกอัพกับพ่อๆข้ามจังหวัดไปนอนตามบ้านปราชญ์ผักหวานป่าที่สกลนครสองสามคืนเพื่อสังเคราะห์และสร้างเครือข่ายผักหวานป่า

ในด้านแหล่งเงินทุนเราที่ปรึกษา และอินแปง ได้พยายามหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกมาให้พี่น้องได้ทำกิจกรรม เพราะงบประมาณจากโครงการนั้นโดยปกติต้องเบิกผ่านระบบราชการซึ่งบางอย่างมักจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้อง อินแปงได้ของบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมาให้พี่น้องช่วยกันบริหาร และใช้สอยในกิจกรรมวนเกษตร เกษตรปลอดสารเคมี ป่าหัวไร่ปลายนา และป่าชุมชน ซึ่งนับว่าได้ช่วยเกื้อกูลงานพัฒนาของเราอยู่ไม่น้อย ในส่วนของที่ปรึกษาก็ไปช่วยพี่น้องขอรับงบประมาณจากหน่วยงานอื่น เช่นวิสาหกิจชุมชนจากสำนักงานเกษตรอำเภอ มาช่วยกลุ่มแม่บ้านพัฒนาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ พร้อมทั้งช่วยในการด้านการปรับปรุงคุณภาพ และการตลาดโดยการประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมด้านนี้

เราได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการจัดกระบวนการเพื่อให้เกิดตลาดชุมชนขึ้น โดยเล็งเห็นประโยชน์ที่หาตลาดให้พี่น้องที่ปลูกผักแบบปลอดสารกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ชาวบ้านได้ซื้อพืชผักที่ปลอดสารเคมี และให้เงินหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งผลที่เราพบนอกเหนือจากนี้เรายังได้เห็น โอกาสที่ผู้เฒ่าจะเก็บผักตามรั้วสามสี่มัดมานั่งขายหาเงินไปซื้อหมากซื้อพลู เห็นเด็กน้อยมาหัดขายของ เห็นการปฏิสัมพันธ์ในชุมชนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีการแจกการแถม มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างแม่ค้า และหากไปแวะเยี่ยมตลาดชุมชนคราวใดเราจะได้ซื้อขนม และอาหารพื้นบ้านอร่อยๆมากินได้อย่างที่ไม่ต้องกลัวสารพิษ

อินแปง และสำนักงานที่ปรึกษายังได้เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรแต่ละหมู่บ้านเป็นเครือข่ายระดับตำบล และในสี่ตำบลเชื่อมเป็นเครือข่ายระดับอำเภอ ชื่อว่า “เครือข่ายไทบรูดงหลวง” ซึ่งเรายังพาไปเชื่อมกับเครืออินแปง ที่เป็นข่ายใหญ่มีสมาชิกครอบคลุมสี่จังหวัด การมีเครือข่ายประชาชนเช่นนี้ช่วยให้เกิดการเกื้อกูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพึ่งพาตนเอง นับว่าสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน ในส่วนของเครือข่ายไทบรูดงหลวงแล้ว เรามีการจัดเวทีในระดับตำบลทุกเดือนโดยผู้นำจัดกันเอง ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ “เดินได้เองแล้ว” พวกเราได้ชวนพี่น้องจัดงาน “วันไทบรู” ขึ้นปีละหนึ่งครั้ง

ทั้งหมดนี้สามารถถอดบทเรียนได้ว่ายัง มีรูปแบบการทำงานพัฒนาอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำงานได้ การร่วมมือไม่แบ่งเขาแยกเราช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น และท้ายที่สุดแนวทางการทำงานต้องสอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น ให้ชุมชนช่วยคิดเพื่อชุมชนของเขาเอง

หมายเหตุ บันทึกนี้เปลี่ยนเป็นผู้เขียนผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงในบันทึกลานฅนฟื้นฟูนี้ครับ


นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๑

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:46 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 6212

เกริ่นนำ: โครงการ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน”(คฟป.) ได้ดำเนินงานที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว เมื่อมองย้อนคืนกลับไปตั้งแต่เริ่มโครงการ สามารถถอดบทเรียนได้หลายบท หลายแง่มุม ดังนี้

แนะนำลักษณะของโครงการโดยสังเขปดังนี้ คฟป. มีเป้าหมายหลักที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการ และรูปแบบการใช้ที่ดิน ให้มีลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน เช่น ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างกลุ่มองค์กรชาวบ้านให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลักษณะของงานประกอบด้วย สามภาคส่วนหลักๆคือกลุ่มงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาถนน และแหล่งน้ำ กลุ่มงานพัฒนาการเกษตร คือ การส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน และกลุ่มงานพัฒนาองค์กรชุมชน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรเกษตรกรให้สามารถประสานกันเป็นเครือข่ายประชาชน ต่อมาภายหลังได้มีการเพิ่มงานในด้านตลาดชุมชนขึ้นอีกด้านหนึ่ง ในแต่ละกลุ่มงานมีกิจกรรมย่อยๆมากมาย ตามความสนใจของเกษตรกรและจากผลการวิเคราะห์ชุมชน

เจ้าของงานได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ส่วนเจ้าของเงิน(กู้) ได้แก่ JABIC (Japan Bank for International Cooperation) เจ้าหนี้รายใหญ่ของเรานี่เอง ซึ่งมีเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินต้องมีที่ปรึกษาไปช่วยดูแล งานก็เลยมาเข้ามือที่ปรึกษาเราด้วยประการฉะนี้

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัทจากประเทศเจ้าของเงิน และจากเจ้าของบ้านรวม ๔ บริษัท ทำสัญญากับเจ้าของงานในนามบริษัทร่วมค้า นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีผู้ร่วมงานในส่วนของเอ็นจีโอ ได้แก่ มูลนิธิหมู่บ้านซึ่งชักนำให้โครงการฯได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายอินแปง และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกในเวลาต่อมา แน่นอนที่ต้องมีฝ่ายข้าราชการจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาทำงานร่วมด้วย ในระยะต่อมาเรายังมีทีมงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช่วยทำงานอีกหน่วยงานหนึ่ง

พื้นที่และการบริหารองค์กร : พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขต ส.ป.ก. ของจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร การบริหารงานในส่วนของที่ปรึกษา ในระยะเริ่มโครงการ การทำงานจะได้รับการวางกรอบจากสำนักงานที่ปรึกษาส่วนกลางซึ่งประกอบ ด้วยผู้เชี่ยวชาญมากๆทั้งจากญี่ปุ่นและคนบ้านเราเอง ในแต่ละจังหวัดมีสำนักงานที่ปรึกษาซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร ด้านเกษตร และด้านวิศวกรรมอยู่ประจำ เพื่อคอยทำงานในส่วนรายละเอียด แต่การจัดองค์กรรูปแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล เพราะคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ย่อมรู้สภาพจริงได้ดีกว่าผู้ที่วางแผนอยู่ที่ส่วนกลาง จึงมีการปรับองค์กรของที่ปรึกษาให้เหมาะสม ตัวผมเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเกษตรประจำจังหวัดมุกดาหาร ดังนั้นบทเรียนที่จะถอดออกมานำเสนอในต่อไปนี้ จะมาจากประสบประการณ์ที่ได้พบเจอในพื้นที่ทำงานจังหวัดมุกดาหารเป็นหลัก

พื้นที่ทำงาน พื้นเพของเกษตรกร : พื้นที่ทำงานของผมตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน สภาพพื้นที่มีที่ราบแคบๆริมลำน้ำห้วยบางทรายใช้เป็นที่นา และที่อยู่อาศัย พี่น้องชาวบ้านมีเชื้อสาย “โส้ หรือ กระโส้ หรือ ข่าโซ่” ที่ยังรักษาขนบประเพณีประจำเผ่าไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาษาพูดประจำเผ่าซึ่งอยู่ในตระกูลภาษามอญ-ขแมร์ ชาวโส้เรียกตัวเองว่า “กวย” แปลว่าคน พี่น้องชาวโส้ก็คือเผ่าเดียวกับชายกูยที่มีช้างเลี้ยงมากๆที่สุรินทร์นั่นเอง วิถีชีวิตของพี่น้องที่ดงหลวงยังคงพึ่งพิงป่าเป็นอย่างมาก ปัญหาข้าวไม่พอกินยังพบปรากฏอยู่ทั่วไป เนื่องจากพื้นที่ทำนามีน้อย พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวไร่ก็ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯ พี่น้องที่ขาดข้าวต้องหาเก็บของป่าเช่นหน่อไม้ ยอดหวาย นก หนู กระรอก บ่าง นำไปขอแลกเอาข้าวมากิน พี่น้องชาวโส้ดงหลวงเคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมือง เคยทิ้งหมู่บ้านให้ร้างหนีเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในป่าหลายปีก่อนที่จะกลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง มีผู้นำชุมชนหลายร้อยคนที่เคยไปศึกษาด้านการเมือง การทหาร การแพทย์จากเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เรื่องอุดมการณ์แนวคิดจึงกว้างไกลกว่าชาวบ้านทั่วไปอยู่มาก

แรกๆก็ทำงานดุ่มๆไปตามแผน : โจทย์ที่ได้รับเมื่อแรกเริ่มเดิมที สำหรับงานหลักๆด้านพัฒนาการเกษตรตามที่วางแผนไว้ในระยะวางโครงการ ได้แก่การขุดสระเก็บน้ำในไร่นา แล้วไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักกาด ผักชี ผักนานาชนิดอยู่ที่ขอบสระ แต่ผลการทำงานสำหรับในพื้นที่มุกดาหารแล้วถือว่าประสบผลสำเร็จน้อยถึงน้อยที่สุด เพราะ

  • มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการ คือสมัครขอรับสระประจำไร่นาจำนวนน้อยมากไม่ถึงสามร้อยสระ(จากที่ตั้งเป้าไว้ ๑,๒๐๐ สระ อันนี้ก็ไม่ทราบว่าท่านใดเป็นผู้ตั้งเป้าและใช้เกณฑ์ใดมาตั้ง) พี่น้องชาวบ้านได้บอกเหตุ ผล ที่ไม่ยอมให้ขุดสระเนื่องจากพี่น้องมีพื้นที่นาเพียงแปลงเล็กๆ ไม่อยากเสียที่นาไปกับการขุดสระ พี่น้องอยากได้บ่อบาดาลมากกว่า
  • เกษตรกรที่ได้รับสระไม่ได้ปลูกผักบริเวณขอบสระตามแผนที่ได้วาดฝันกันไว้ ทั้งนี้พี่น้องได้บอกถึงสาเหตุที่ไม่ปลูกผักว่า “อยากปลูกผักอยู่แต่ดินขอบสระคุณภาพไม่ดีช่างขุดไม่ได้เอาหน้าดินมาใส่ข้างบนคืนให้” “พี่น้องไม่ได้ต้องการขุดสระไว้ปลูกผักแต่จะเอาน้ำไว้ทำนา” “ผักสามารถหาเก็บได้ตามป่าตามธรรมชาติมากมาย” “ปลูกแล้ววัวควายที่เขายังเลี้ยงกันแบบปล่อยทุ่งก็มากัดกินมาเหยียบย่ำ” ถอดบทเรียนได้ว่าในระบบนิเวศน์เชิงเทือกเขาภูพานที่ชาวบ้านมีที่ดินขนาดเล็ก มีอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ การขุดสระประจำไร่นาแล้วให้ปลูกผักกินนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากเกษตรกร

บทเรียนอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถนน : พลาดไปเพียงคำเดียว สาเหตุมาจากมีงานก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านสายหนึ่งที่ทางโครงการได้เปิดประมูลไปแล้ว และกำลังจะเริ่มการก่อสร้าง ประจวบกับว่าเส้นทางดังกล่าวได้รับงบประมาณจากโครงการ“พิเศษ” ซึ่งจะสร้างถนนให้ใหญ่กว่าพร้อมทั้งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำให้ด้วย เมื่อเกิดการแย่งงานกันระหว่างผู้รับเหมาสองเจ้าขึ้นมาพี่น้องชาวบ้านก็ต้องเลือกอยู่ข้างที่มาสร้างของที่ดีกว่าให้แน่นอน เรื่องนี้งานเข้าตัวผมอย่างไม่นึกว่าจะพาตัวเองเข้าไปพัวพันด้วย เรื่องของเรื่องคือเผอิญเป็นคนรับโทรศัพท์จากท่านสมาชิกอบต.ประจำหมู่บ้าน ว่าพี่น้องจะรวมตัวประท้วงขับไล่ผู้รับเหมาของส.ป.ก.ไม่ให้สร้างถนน ความจริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนักพัฒนาการเกษตรอย่างผมที่จะไปรับรู้ แต่ในเมื่อต้องดูแลสำนักงานที่ปรึกษาแทนผู้จัดการฯ ก็พูดคุยสอบถามให้ได้ความ พร้อมทั้งรับปากว่าจะประสานฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ไปพบท่านภายในวันนี้ และสุดท้ายก็หลุดคำพูดออกไปว่า “ขอให้พี่น้องใจเย็นๆนะครับ ให้หน่วยงานเขาเจรจากันเอง ให้ผู้รับเหมาเขาหาข้อตกลงกันก่อน หากเราออกหน้าประท้วงกันอาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ปรากฏว่าคำ “เครื่องมือ”ของผมกลายเป็นประเด็นขึ้นมากลบกระแสต่อต้านส.ป.ก.ไปเสีย เมื่อนักการเมืองประจำหมู่บ้านหยิบยกเอาคำพูดของผมไปแปลงเป็นว่า “อาจารย์เปลี่ยนหาว่าพวกเราตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น” พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นแกนนำในการต่อต้าน “อาจารย์เปลี่ยน” จะพากันไป “ฟ้องหมิ่นประมาท” ช่วงนั้นผมต้องใช้ “ความสงบสยบกระแส” ปล่อยให้ผู้จัดการสนง.ที่ปรึกษาผู้มีความเป็นเลิศในการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ออกหน้าไปเจรจายุติปัญหาเรื่องการสร้างถนน ผ่านการช่วยเจรจาของท่านผู้จัดการ และการรับรองของกลุ่มผู้นำเครือข่ายไทบรู ปัญหาทั้งมวลก็แก้ไขได้ลุล่วง พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านก็กลับมาต้อนรับขับสู้ผมเหมือนเก่า (ในขณะท่านผู้นำเหตุการณ์ในครั้งนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วสอบตก) เรื่องนี้ถอดบทเรียนได้ว่า คำพูดเพียงคำเดียวอาจเป็นเรื่องได้หากถึงคราวเคราะห์

หมายเหตุ บันทึกนี้เปลี่ยนเป็นผู้เขียน ผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงในบันทึก “ลานฅนฟื้นฟู” นี้ครับ


ขอข้าวหน่อยครับ..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:07 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2338

นรินทร์ เชื้อคำฮด เป็นลูกหลานชนเผ่ากะโซ่ ดงหลวง เขามีพี่น้องท้องเดียวกันถึง 13 คน ซื่อ คบง่าย ทำนาทำไร่เหมือนพี่น้องเพื่อนบ้าน จบการศึกษาแค่ ป. 4 เป็นอดีตทหารเกณฑ์ฝ่ายพลาธิการ ประจำที่จังหวัดนครปฐม เมื่อปลดประจำการก็กลับมาบ้าน สร้างเนื้อตัวด้วยวิถีกะโซ่ ก็คือทำนาทำไร่


เนื่องจากบ้านพังแดงตั้งอยู่ระหว่างภูเขาทั้งสี่ด้าน มีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน อดีตก็เป็นชุมชนค่อนข้างปิด เพราะมีรถเข้าออกเพียงวันละเที่ยว และไม่แน่นอน เนื่องจากถนนยังไม่ได้ลาดยาง ทำเลลักษณะเช่นนี้จึงเป็นที่หมายปองของ พคท. ที่เข้ามายึดพื้นที่เป็นเขตปลดปล่อยในหลายหมู่บ้าน

กรรมการกลาง พคท.มาประจำที่นี่ พท.พโยม หรือสหายคำตัน บิดาของอดีตท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ ก็เข้าป่าที่นี่ นักการเมืองที่เห็นหน้าในจอทีวีบางคนก็เข้าป่าที่นี่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนก็เข้าป่าที่นี่ ชาวบ้านกะโซ่เกือบทั้งหมดยกกันหนีภัยเข้าป่ากันเต็มยอดเขารอบทิศทาง สภาพเป็นบ้านแตกสาแหรกขาด


เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ความสงบ ทุกคนลงมา กลับบ้านเกิด แต่ก็มาเผชิญความลำบากยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับมานับหนึ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ชุมชนกันใหม่หมด วัว ควายหายไปหมดสิ้น เครื่องมือทำนาทำไร่ก็ไม่มีต้องสะสม สร้างกันใหม่ เผชิญปัญหาข้าวไม่พอกินเพราะไม่มีเก็บกักไว้ ราชการก็ไม่สามารถแบกรับภาระได้ ปล่อยให้ กะโซ่กลับใจเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เผชิญกับความอดอยากอย่างรุนแรงนับแต่นั้นมา

ทุกครอบครัวต้องออกไปเอาของป่าไปแลกข้าว นรินทร์เล่าให้ฟังว่า…ตอนนั้นผมยังเล็กแค่ 4-5 ขวบ แต่เป็นความจำที่ฝังแน่น ไม่ลืม มันติดหูติดตาผมมาตลอด ครอบครัวเราต้องตระเวนไปขอข้าวกิน ผมเลือกไปที่ อ.กุดบาก ซึ่งเป็นจุดที่ไกลที่สุด แต่ที่นั่นอุดมสมบูรณ์กว่า เพื่อนบ้านย้ายกันไปที่อื่นๆเช่น อ.นาแก จ.สกลนคร แต่ก่อนขึ้นกับ จ.นครพนม บางสายไปที่ อ.นาคู หรือ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บางสายก็ไปที่ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

เอาอะไรไปแลกล่ะ นรินทร์ ผมถาม.. อาจารย์..ผมพูดตรงๆว่า ผมไม่มีอะไรไปแลกเลยครับ.. นรินทร์น้ำตาซึมออกมา แต่อดกลั้นไว้… ผมใช้สองมือครับ ผมใช้สองมือไหว้ ขอความเมตตา สงสาร ขอข้าวตรงๆครับ เสียงนรินทร์สั่นนิดหน่อย.. ข้าวเปลือกก็เอา ข้าวสารก็เอา บางบ้านก็ไม่มีให้ ผมก็เข้าใจ เพราะเขาก็ยากจน หลายบ้านก็ใจดี บางบ้านใจประเสริฐแท้ เขาให้พักอาศัยด้วย ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเดินทางต่อไปบ้านอื่น

ส่วนใหญ่พวกเราพักตามศาลาวัดกัน ก็ได้อาศัยข้าวก้นบาตรพระยามเช้าด้วย

มีอันตรายต่างๆไหม..ผมถามนรินทร์ เขาตอบว่า..มีครับ เพื่อนบ้านที่ไปส่วนใหญ่จะเป็นสาวจำนวนสามถึงสี่คนที่เพิ่งแต่งงาน ต่างก็มีลูกแล้วหนึ่งคน สองคน หน้าตายังผ่องใส นอกจากนี้ก็มีเด็กเล็กๆอย่างผม และมีผู้ชายสักสองคน ก็มักจะถูกนักเลงหมู่บ้านที่เราไปพักพยายามมาก่อกวนผู้หญิงของเรา บางครั้ง ผู้ชายไม่ได้นอนเลยทั้งคืน คอยอยู่ยามเฝ้า.. การมีเด็กเล็กๆไปอย่างผมนั้น ก็ให้ดูน่าสงสาร (เหมือนปัจจุบันเลย..) การไปขอข้าวแต่ละครั้งใช้เวลาสองคืนสามวัน ได้ข้าวเปลือกประมาณสอง สาม กระสอบ แล้วก็ขอเงินนั่งรถกลับดงหลวง เมื่อหมดข้าวก็ไปอีก แต่จะไม่ซ้ำหมู่บ้านกัน..

ความอยากอาย(สำนวนอีสาน) ทำให้ในระยะเวลาต่อมาพยายามบุกเบิกป่าเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ปลูกข้าวไร่ พันธุ์พื้นบ้านชื่ออีดำอีแดง เมล็ดโต สั้น กลมใหญ่ เวลานึ่งใช้เวลานาน และเหนียวติดมือ เนื่องจากดินบนภูเขาสมบูรณ์มาก ข้าวอีดำอีแดงงามมาก กอใหญ่ พวกเราจึงไปขอข้าวกินลดลง แต่การปลูกข้าวไร่บนภูนั้นขึ้นกับธรรมชาติ บางปีฝนแล้งก็ไม่ได้ผล การตระเวนไปแลกข้าว ขอข้าวก็ยังมีอยู่

หลายปีต่อมาพวกเราบุกเบิกพื้นที่รอบๆหมู่บ้านที่ค่อนข้างราบมากขึ้น เพื่อใช้ปลูกข้าว บ้านเมืองพัฒนาไป เทคโนโลยี่ใหม่ๆเริ่มเข้ามาคือรถไถนายี่ห้อฟอร์ด มาจากอุทัยธานี รับจ้างไถ บุกเบิกที่นาที่ไร่ใหม่

พวกเราออกจากป่ามาได้ 4-5 ปี มันสำปะหลังก็เริ่มเข้ามา และใช้เวลาอีกสัก 4-5 ปี ก็เต็มพื้นที่บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆด้วย เพราะปลูกง่าย สมัยนั้นอาคารบ้านเรือนทั้งหมดเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ หลังย่อมๆ มุงด้วยใบไม้ ไม่มีเรือนไม้อย่างดีแบบปัจจุบัน เพราะพวกเราไม่มีเครื่องมือและไม่มีประสบการณ์ เมื่อชุมชนเริ่มเปิด เทคโนโลยี่ต่างๆก็เข้ามา ขายมันสำปะหลังได้สามปีก็สามารถปลูกบ้านด้วยไม้จริงหลังใหญ่ได้แล้ว

แม้ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ชุมชนเราตั้งอยู่ในหุบเขา มีพื้นที่จำกัด ขยายออกไปก็ไม่ได้เพราะเป็นเขตป่าสงวน ชีวิตเราจึงปลูกข้าวกับมันสำปะหลัง เพราะครอบครัวพวกเราไม่ได้คุมกำเนิดประชากรก็เพิ่มขึ้น การขาดแคลนข้าวกินก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ที่กำลังมาถึงนี่แหละ บางปีมีครอบครัวที่ไม่มีข้าวกินมากถึงร้อยละ 70

นรินทร์บอกว่า มีอยู่สองสามทางที่ชาวบ้านแก้ไขคือ ปลูกมันสำปะหลังเพื่อขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน หรือส่งลูกไปทำงานในเมืองส่งเงินมาซื้อข้าว และหนทางสุดท้ายคือ หาของป่าไปแลกข้าวหรือไปขอข้าวตรงๆ..


นรินทร์เล่าให้ฟังประสบการณ์ฝังลึกอีกเรื่องหนึ่งคือ มีอยู่ปีหนึ่งเราไม่มีข้าวกินเลย นรินทร์ยังเด็ก หิวข้าวมาก ก็ร้องให้ พี่ชายไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปขุดหัวมันสำปะหลัง จำได้ว่าเป็นพันธุ์ระยอง 3 เอามาต้มกิน…

นรินทร์เป็นกะโซ่ไม่กี่คนที่ดิ้นรนหนีความทุกข์ยากจนพอลืมตาอ้าปากได้ เงินที่เขาเก็บออมไว้นำมาลงทุนเปิดสถานที่ขายน้ำมันเล็กๆในชุมชนบ้านพังแดง กิจการของเขาไปได้ดี กำลังขยายกิจการไปขายปัจจัยการผลิตการเกษตรอื่นๆอีก…


นรินทร์ดิ้นหลุดบ่วงนี้ไปแล้วจะไปพบบ่วงอื่นอย่างไรอีก..?

เพื่อนบ้านอีกจำนวนไม่น้อย ยังวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมๆ…?

“งานพัฒนาชนบทเป็นงานที่ยาก คิดง่าย แต่ทำยาก” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ



Main: 5.5534110069275 sec
Sidebar: 0.55729293823242 sec