วิถีดงหลวง
เช้าวันนั้นนัดกับพ่อหวังที่บ้านในสวน เพื่อทำ Mini Dialogue กรณีนายสีวร ที่มาทำงานในสวนพ่อหวังนานถึงสองปี แต่วันนั้นแม่บ้านและชาวบ้านทุกคนต้องแบ่งเวลาทำขนมเพื่อไปทำบุญใหญ่ประจำปีที่เรียกว่า “บุญข้าวประดับดิน” ตามประเพณีของอีสาน พ่อหวังจึงต้องมาดูแลร้าน เพื่อให้แม่บ้านมีเวลาดังกล่าว
การพูดคุยไม่ประสบผลสำเร็จตามตั้งใจเพราะที่ร้านจะมีคนเข้าออกตลอดเวลา สถานที่พูดคุยติดถนนก็มีรถมอเตอร์ไซด์วิ่งเสียงดัง จึงเปลี่ยนหัวข้อคุยกันเป็นเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเราได้ผนวกเข้ามาในแผนงานของเราแล้ว
ระหว่างที่เราคุยกันอย่างไม่มีสมาธินั้น สายตาไปเห็นสตรีชาวบ้าน เดินผ่านไป มีถุงปุ๋ยและตะกร้าห้อยพะรุงพะรังทั้งสามคน ผมแว๊บขึ้นมาทันทีว่านี่คือ “พี่น้องมาขอแลกข้าว” แน่เลย ผมถามแม่บ้านพ่อหวัง เธอบอกว่าใช่ มาจากตำบลพังแดง น่าจะเป็นบ้านห้วยคลอง หรือหนองเลา อยากจะเดินไปจับภาพสวยๆและขอคุยด้วย ก็จะทำลายการพูดคุยที่กำลังดำเนินการไป
หลังจากพูดคุยจบก็เดินทางต่อไปบ้านเปี๊ยด เพื่อเยี่ยม “พ่อเตี๋ยน ตาหมู” สมาชิกไทบรู ผมก็พบภาพนี้อีก แสดงว่าคงจะมากันหลายคนและแบ่งกันไปตามหมู่บ้านต่างๆ
พฤติกรรมการเดินทางมาขอข้าว สอดคล้องกับช่วงที่ชาวบ้านกำลังเตรียมทำบุญใหญ่ ที่เรียกว่าบุญข้าวประดับดินในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทุกครอบครัว ทุกหมู่บ้านต่างนั่งล้อมวงกันทำขนมเพื่อเอาไปถวายพระในวันบุญใหญ่ดังกล่าว
กลับมาที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ของเราคนหนึ่งมีบ้านอยู่ที่ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นเขตติดต่อกับ อ.เขาวง ซึ่งติดต่อกับ ต.กกตูม ของ อ.ดงหลวง เธอกล่าวว่า ในอดีตทุกปีในช่วงงานบุญใหญ่เช่นนี้ พี่น้องชาวโซ่ ดงหลวงจะลงไปขอข้าว ขอขนมหรือสิ่งอื่นๆที่เป็นส่วนเกินที่ชาวบ้านไปทำบุญที่วัด อดีตย้อนไปอีกจะขอเสื้อผ้า เงินทอง หากย้อนลึกนานหลายๆปี ชาวโซ่ไปขอเกลือด้วยซ้ำไป
ประเด็นคือ ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี่ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากมายหลายประการ แต่การทำนาข้าวก็ยังพึ่งพาธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่เชิงเขา ความเสี่ยงในการมีข้าวพอหรือไม่พอกินยังเป็นปัญหาพื้นฐานอยู่ แม้ปริมาณจำนวนครัวเรือนที่ขาดแคลนข้าวจะลดลงมา แต่เราก็ยังเห็นภาพชาวบ้านเดินมาขอข้าวกินดังกล่าวนี้
นึกย้อนไปดูพฤติกรรมชาวบ้านพังแดง ในพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าห้วยบางทรายที่เห็นหน้าเราทีไรก็ร้องเรียนว่า อยากให้ปล่อยน้ำออกจากถังวันละสองเวลาได้ไหม ราคาค่าน้ำแพงไป ฯ แต่กระนั้นการเก็บค่าน้ำก็ไม่มีติดขัด ทุกครอบครัวที่ใช้น้ำก็ยินดีที่จ่ายค่าใช้น้ำ ในทัศนะเขากล่าวว่าแพง เพื่อให้ได้น้ำไปใส่แปลงนาข้าว เป็นหลักประกันว่าข้าวที่ปลูกนั้นจะได้ผลเต็มที่ นั่นหมายถึง การมีข้าวกินเพียงพอตลอดปี นี่คือความหวังสูงสุดของชาวบ้าน นี่คือการใช้ประโยชน์โครงการในมุมของชาวบ้าน “เขาไม่อยากเดินไปขอข้าวกิน…”
ขณะที่โครงการนี้กำหนดเป้าหมายว่า เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจในฤดูแล้งหรือหลังนา ที่เราแนะนำในรูปแบบ Contract Farming
นี่คือความจริง ที่เราต้องคิดทบทวนกิจกรรมของโครงการทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมพื้นฐานอื่นๆในพื้นที่ที่มีชาวบ้านเป็นคนไทยเชื้อสายโซ่ และอยู่ในระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบเชิงเขา เช่น ดงหลวง..
หากไม่ลงมาคลุกคลีกับชาวบ้าน ก็ไม่มีทางเห็นภาพเหล่านี้ หากไม่วิเคราะห์เรื่องราว ก็เป็นเพียงภาพที่ผ่านตาเราไปเท่านั้น คิดเลยไปถึงว่า แค่การแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินยังไม่ได้ การวาดฝันสิ่งอื่นๆก็เป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาข้าวไม่พอกินนี้..
หากเราคิดงานพัฒนาที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริงของพื้นที่ ก็คงไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน มันเป็นเพียงตอบสนองความหวังดีของเราเท่านั้น
« « Prev : ทดสอบเอาภาพขึ้น comment ครับ
2 ความคิดเห็น
เรื่องนี้มีประเด็นสุดยอดมาก
ปันน้ำใจด้วยข้าวไปหล่อเลี้ยงความอดหยากให้แก่กัน
ผมจะหาทางไปสัมภาษณ์ชาวบ้านคนที่ไปขอข้าว
ปัจจุบันน้อยลงมาก เพราะ อาย มีหนทางอื่นที่แก้ปัญหา เช่นส่งลูกไปขายแรงงานส่งเงินมาซื้อข้าว ไม่ีต้องไปขอข้าวกิน..ผมสนใจมากครับ