สระในนาคือหลักประกันการมีข้าวกิน

โดย bangsai เมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 15:09 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 9230

วิถีชีวิต: คำกล่าวที่ว่า “ข้าวคือชีวิต” คิดว่าเราเข้าใจ แต่ในแง่ความตระหนักและสัมผัสความหมายแท้จริง อาจจะแตกต่างกัน


รูปนี้อาจจะช่วยในการมองส่วนใหญ่ของวิถีชีวิตคนอีสานได้ โดยเฉพาะที่มุกดาหาร ที่ครอบครัวต้อง “ทำนาเอาไว้กิน” เหลือขาย หรือเก็บเอาไว้แบ่งให้ญาติพี่น้อง “มีมันสำปะหลังปลูกในที่ดอน เพื่อเป็นหลักประกันในการมีข้าวกิน” และเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ง่ายที่สุด มีสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ คือ วัว เพื่อเป็นออมสินยามที่จะต้องใช้เงินก้อนแบบด่วนก็ขายไป

รายละเอียดแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข เรื่องแรงงาน และพัฒนาการของครอบครัวจากอดีต ไปจนถึงความสนใจตั้งใจการเลือกอาชีพ และ….

สระน้ำประจำไร่นา: สัมผัสมาตั้งแต่ทำงานโครงการของ สปก. ที่กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ก็ไม่ลึกซึ้ง เพียงรับรู้ เข้าใจ ตระหนักว่า ดี มีประโยชน์ หลายประการ ควรสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับ ฯ… แต่มาซาบซึ้งเอาตอนที่มาอยู่มุกดาหารนี่แหละครับ เพราะโครงการไปสนับสนุนขุดสระน้ำประจำไร่นา แล้วไปกระตุ้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากสระ ให้ปลูกพืชผักรอบสระเพื่อเอาไว้บริโภคเหลือขาย

แต่เราก็พบว่า ชาวบ้านไม่ได้สนใจการปลูกผักรอบคันสระเท่าที่ควร ตรงข้ามเรากลับพบว่าเกษตรกรดงหลวง เอาน้ำในสระน้ำประจำไร่นาไปใส่นาทั้งช่วงหว่านกล้าข้าวและใส่แปลงนาในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงนานมากเกินไป เกษตรกรบางคนปลูกข้าวที่ริมคันสระนั้นเลย จะว่าไปแล้วเกษตรกรทำผิดวัตถุประสงค์ของหลักการขุดสระน้ำประจำไร่นาที่ต้องการใช่ใช้น้ำเพื่อพืชผัก เพื่อการเกษตรผสมผสาน…??

งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย: โครงการนี้ลงทุนไปมาก และคาดหวังว่าจะระดมความรู้ความสามารถ กระตุ้นให้เกษตรกรมาใช้ประโยชน์เต็มที่ ตลอดช่วงที่เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันนั้น พื้นที่ใช้ประโยชน์ไม่มากเท่าที่คาดหวัง เราส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบมีสัญญา เพราะเป็นหลักประกันในการที่จะมีตลาดรองรับผลผลิต แต่แล้วเราพบว่า เกษตรกรกลับบ่นเรื่องค่าบริการน้ำ ว่าแพงไป สูงไป อัตราการเก็บเพียง 65 สตางค์ต่อ ลบ.ม. มีเกษตรกรบางคนที่ขัดขืนในการเสียค่าน้ำบ้าง แต่คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำก็สามารถจัดการได้ แต่ที่เป็นที่แปลกใจมากๆคือ ยามตกกล้าข้าวน้ำฝนไม่เพียงพอ เกษตรกรมาเรียกร้องให้เปิดน้ำเพื่อเอาไปใช้ตกกล้าข้าว และเมื่อปลูกข้าวไปแล้วฝนเกิดทิ้งช่วง เกษตรกรก็มาร้องขอให้เปิดน้ำเพื่อเอาน้ำใส่นาข้าว และสามารถจ่ายค่าบริการน้ำได้ครบถ้วนโดยไม่มีติดขัด ทั้งที่แต่ละคนใช้น้ำในปริมาณมากกว่าหลายเท่าตัว จ่ายเงินได้หมด ครบ….????

พิลา: แม้จะมารับจ้างขับรถให้โครงการแต่ก็ทำนาด้วย และทำได้ดีมากเพราะเอาความรู้จากเราไปดัดแปลงใช้กับอาชีพของเขา ได้แลกเปลี่ยนเรื่องการทำนากับพิลาบ่อยๆ ซึ่งในที่สุดก็ยืนยันว่า “เกษตรกรต้องการหลักประกันการปลูกข้าวนาปีเพื่อการบริโภค เกษตรกรต้องการลดความเสี่ยงจากสภาพฝนธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมีโอกาส” ให้การปลูกข้าวเพื่อการบริโภคนั้นเกิดขึ้นได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม หลักประกันของพิลาและชาวบ้านก็คือ ประการแรกคือ สระน้ำในแปลงนา ประการสอง ปลูกพืชไร่ คือ มันสำปะหลังในที่ดอน หรือ อ้อย


พิลาย้ำและชวนไปดูแปลงนาในหมู่บ้านเขาว่ามีสระน้ำกลางแปลงนามากมายแค่ไหน พิลากล่าวว่า …พี่..ที่นี่มีสระน้ำเกือบทุกหลังคาเรือนครับ เพราะเอาไว้ยามฉุกเฉิน ไม่เช่นนั้นไม่ได้ข้าวกิน..

Google earth: ตกใจว่าทำไมสระน้ำในแปลงนาของเกษตรกรที่หมู่บ้านพิลาถึงมากมายเกินกว่าที่จะนึก จึงกลับมาใช้ Google earth ส่องดู ก็พบว่า สระน้ำในแปลงนาของเกษตรกรที่หมู่บ้านพิลามากจริงๆอย่างที่พิลากล่าวว่า …พี่มีสระน้ำเกือบทุกหลังคาเรือน เพราะมันเป็นหลักประกันมีข้าวกิน..!!!!???


ภาพที่เห็นนี้เป็นเพียงด้านตะวันออกและทิศเหนือของชุมชนแห่งนี้ ด้านใต้และตะวันตกยังไม่ได้เอามาแสดง ลองเข้าไปดูตัวอย่างใกล้ๆทางมุมสูงดู


ชัดเจนครับ เต็มไปหมด พิลากล่าวว่า ชุมชนของเขามีผลผลิตข้าวมากที่สุดในตำบลหรืออาจทั้งอำเภอก็เป็นได้ เพราะเกษตรกรต่าง “ตื่นตัวและแข่งกันทำนา” ให้ได้ผลผลิตสูงๆกัน แล้วเอาไปคุยอวดกันในชุมชน..

ปลูกผักบนคันสระ: พิลาบอกว่ามีน้อยมากที่จะปลูกผักบนคันสระ ไม่ถึง ร้อยละห้า หากจะมีการปลูกผักเพื่อไว้กินในครัวเรือนเขาจะปลูกไว้ที่บ้าน ปลูกอย่างเล็กน้อยพอกินเท่านั้น ถามว่าทำไมไม่ปลูกเพื่อขายด้วยเล่า พิลาตอบว่า วงจรเวลาของชาวบ้านนั้น เสร็จนาก็ลงสวน เมื่อข้าวสุกก็ลงนา หมดนาก็ไปสวนอีก เวลาทั้งวันหมดไปกับงานในสวนและนา ยิ่งแรงงานมีน้อยๆเพราะเด็กรุ่นใหม่ เขาไม่ลงนา ไม่ไปสวนกัน เขาตั้งเป้าเข้าเมืองทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะมาทำสวนทำนาเหมือนพ่อแม่ เด็กบางคนไม่อยากไปนาด้วยซ้ำเมื่อพ่อแม่ขอร้องให้ไปช่วยก็อิดออด….

การปรับที่นา: การทำนาให้ได้ผลดีนั้นมีรายละเอียดมากมายในทางปฏิบัติ เกษตรกรสันหลังของชาตินั้นรู้ดี และตัดสินใจทันทีที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลผลิตมากและมีคุณภาพ การปรับที่นาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ แปลงนานั้นเดิมทีจะไม่เรียบที่เมื่อเอาน้ำใส่เข้า น้ำจะไปกองอยู่ในที่ต่ำของแปลง ส่วนที่เป็นระดับสูงก็จะไม่ได้น้ำ แปลงนาที่มีลักษณะเช่นนี้ เกษตรกรจะไม่ชอบ เขาจะทำการจ้างปรับที่นาให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งแปลง ที่เราเรียกว่า Land Leveling ซึ่งเกษตรกรบอกว่าก็ได้อาศัยกองทุนของ ส.ป.ก. มาช่วยทางด้านนี้

พิลาบอกว่า บ้านผมมีคนขาดข้าวกินสองครอบครัวเพราะไม่มีที่นา.. แต่ญาติก็ช่วยๆกัน

สรุป

  • ต้องวิเคราะห์วิถีครอบครัวเกษตรกรใหม่เพื่อให้เห็นรายละเอียด เพื่อนำมาออกแบบโครงการต่อไป…??
  • สระน้ำในแปลงนาคือหลักประกันการทำนา การมีข้าวเพื่อการบริโภคเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองลงไป
  • การปรับที่นาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้การผลิตได้ผลผลิตสูง ปริมาณมาก
  • รายละเอียดวิถีชีวิตแต่ละภูมินิเวศย่อมแตกต่างกัน การวิเคราะห์วิถีไม่ควรสรุปภาพรวมทั้งหมดว่าเหมือนกัน..!!
  • ในกรณีที่บ้านคำเขื่อง ต.คำอาฮวน อ.เมือง มุกดาหาร ซึ่งเป็นชุมชนของพิลานั้น สระน้ำประจำไร่นาเป็นหลักประกันการทำนามากกว่าการอิงหลักประกันที่มันสำปะหลัง เกษตรกรจึงทุ่มเทการขุดสระน้ำในแปลงนามากมาย
  • การคาดหวังให้เกษตรกรปลูกผักบนคันแปลงสระน้ำในเชิงปริมาณพื้นที่นั้นเป็นการฝืนวิถีของเขา
  • กิจกรรมสระน้ำประจำไร่นาในบางภูมินิเวศวัฒนธรรมต้องปรับวัตถุประสงค์หลักใหม่

« « Prev : คนทำงานชุมชน..

Next : ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 1 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 สิทธิรักษ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 15:27

    ยอดมากๆ ครับพี่

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 19:29

    อาเหลียง บันทึกฉบับนี้เขียนไม่ค่อยรื่นเท่าไหร่ ตะกุกตะกักอย่างไรไม่รู้ กำลังจะเอาบทนี้เสนอให้โครงการพิจารณาเป็นต้นเรื่องในการทบทวนโครงการในระยะที่สองต่อไป  รายละเอียดเชิงความขัดแย้งในการขุดสระน้ำประจำไร่นามีหลายประการ

           - โครงการตั้งวัตถุประสงค์สระน้ำไว้ที่ ให้เกษตรกรเอาน้ำมาปลูกพืชผัก  แต่เกษตรกรเอาไปใส่นา
           - โครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทาน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบน้ำให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจขายเพิ่มรายได้ แต่เกษตรกรเอาน้ำใส่นา

    หากราชการจะทำเรื่องนี้ต่อไปต้องทบทวนวัตถุประสงค์ใหม่  หากสมมุติว่าราชการเออออตามชาวบ้านว่าสระเพื่อนาข้าว ก็อาจจะลื้อแบบแปลนการขุดสระใหม่ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

    และที่ร้ายคือ ระบบราชการเราตั้งเป้าไว้เช่นนั้น สตง.ก็ตามมาประเมนผล เขาก็ประเมินผลตามวัตถุประสงค์ คือมาดูว่าเกษตรกรใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชแค่ไหน  เมื่อเกษตรกรใช้น้อย สตง.ก็สรุปว่าโครงการนี้ล้มเหลว หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์  แต่ สตง.ไมสนใจว่าเกษตรกรใช้ประโยชน์มหาศาลกับการเอาน้ำใช้เพื่อช่วยให้ปลูกข้าวในนาประสบผลสำเร็จ

    มันผิดฝาผิดตัวอย่างไรไม่รู้ ราชการนี่นะ เห็นๆว่าเป็นอย่างนี้ ก็ปรับยาก


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.68223285675049 sec
Sidebar: 0.28758001327515 sec