Empowerment ในโครงการพัฒนาชุมชน
อ่าน: 3359เมื่อวันอาทิตย์ปลายเดือนที่แล้ว ที่ผมไม่ได้มาร่วมงานชาว blog ในกรุงเทพฯตามคำชวนของป้าจุ๋ม เพราะผมต้องเป็นคนขับรถให้คนข้างกายตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปร่วมสัมมนาเรื่อง Local Communities: the Forces of Global Change ที่โรงแรมวีวัน นครราชสีมา เนื่องในงานเกษียณอายุราชการของ ดร.ปรีชา อุยตระกูล ผอ.ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
เป็นการสัมมนาเล็กๆที่จัดเฉพาะคนวงในของ ดร.ปรีชาเท่านั้น ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจท้องถิ่น ปัญญาชนท้องถิ่น ต่างสาขาอาชีพ เพียง 25 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้มี ดร.ชัยอนันท์ สมุทรวาณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มาร่วมด้วย และมีโปรเฟสเซอร์ 3 ท่านจากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย คือ Dr. Paul Battersby, Dr.Kett Kennedy และ Dr.Douglas Hunt ทั้งสามท่านเป็นอาจารย์สอนของดร.ปรีชา สมัยที่ท่านเรียนอยู่ที่นั่น
เป็นการสัมมนาที่น่าสนใจมากครั้งหนึ่งที่ผมได้เข้าร่วม เก็บความคิดมาต่อยอดหลายประการ หลายเรื่องก็ตอกย้ำประสบการณ์แนวคิดของผมเองจากการทำงานชุมชนมานาน บางเรื่องก็เป็นเรื่องพอรู้คร่าวๆไม่ลึกซึ้ง บางเรื่องก็ได้รับข้อมูลที่ลึกซึ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า “ชุมชนหรือท้องถิ่นนี่น่ะสามารถเป็นพลังที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนโลกได้..”
สาระที่สำคัญคือ:
ความล้มเหลวของระบบทุนนิยมโลก: ปรากฏการณ์ต้มยำกุ้งมาจนถึงปรากฏการณ์แฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกานั้นตอกย้ำให้นักการเงินต้องทบทวนองค์ความรู้และการพัฒนาระบบธุรกิจทั้งหมดใหม่ แต่ระบบโลกาภิวัฒน์ก็ยังขับเคลื่อนไปแต่จะปรับตัวอย่างไรนั้นเราต้องติดตามอย่างเท่าทัน
ไม่ปฏิเสธระบบโลกาภิวัฒน์แต่ทำอย่างไรที่จะไม่เป็นเบี้ยให้เขาดึงดูดทรัพยากรไปแต่ตรงข้ามเราจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรต่อท้องถิ่น ในกรณีนี้พูดกันมากถึงเรื่อง พ่อค้ารายย่อยในท้องถิ่นกับ ห้างสรรพสินค้ารายยักษ์ใหญ่หลายยี่ห้อ ที่เราดูจะไม่สามารถต่อต้านเขาได้เพราะเงื่อนไขที่เราไปผูกไว้กับ ระบบการค้าโลกเสียแล้ว
ทุกคนยืนยันความมีอัตลักษณ์เอกลักษณ์ของระบบท้องถิ่น โลกได้หันกลับมาบริโภคเรื่องราวและความเป็นท้องถิ่นมากขึ้นและเป็นกลไกที่สำคัญของการไหลบ่าของการท่องเที่ยวที่ทำเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่เราจะเท่าทันและเป็นตัวของตัวเองอย่างไร เราจะปรับตัวให้ก่อเกิดประโยชน์ได้อย่างไร เช่น กรณี Homestay ท่านอาจารย์ชัยอนันท์ยกกรณีเมืองหลวงพระบางที่ท่านไปแนะนำไว้ตั้งแต่หลังปฏิวัติสำเร็จ แต่รัฐมนตรีของเขาสมัยนั้นไม่เข้าใจ ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นแบบเมืองที่ทันสมัยที่เมืองใหญ่ทั่วไปทำกัน ท่านอาจารย์ยกประโยคที่คุยกับท่านรัฐมนตรีว่า “…ท่านปฏิวัติสำเร็จแล้วจะพัฒนาเมืองหลวงพระบางให้เจริญก้าวหน้าแล้วให้ประชาชนลาวกลายมาเป็นเพียงพนักงานตัวเล็กๆในโรงแรมใหญ่ๆเท่านั้นหรือ…ทำไมไม่คิดพัฒนาความเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆของตัวเองเล่า……” ต่อมาเขาก็ย้อนกลับไปใช้แนวทางที่ได้เสนอไว้ จนได้รับเป็นมรดกโลกในปัจจุบัน
สาระที่ถูกใจผมและตรงกับประสบการณ์ของผมมากก็คือ ท่านอาจารย์ชัยอนันท์ทบทวนคำพูดของ Dr. Hunt ที่กล่าว่าเมื่อหลายสิบปีที่ได้พบกับ ดร.ชัยอนันท์ นั้น ได้ถกกันถึงแนวคิดของชัยอนันท์ที่ว่าต้องยกระดับท้องถิ่นโดยให้คำว่า Capacity Building ซึ่ง Dr. Hunt ได้นำแนวคิดนั้นไปขยายต่อและนำไปใช้ปฏิบัติจริงๆ… จนเกิดการส่งนักศึกษาปริญญาโทและเอกมาศึกษาท้องถิ่นของสังคมไทยและแลกเปลี่ยนความรู้กันมาตลอด… อ.ชัยอนันท์เล่าความเป็นมาของคำนี้ว่า สมัยก่อนนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ออกชนบท จมปลักอยู่กับวิชาการในมหาวิทยาลัยและมุ่งที่จะเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่ท่านเห็นตรงข้ามและออกตระเวนท้องถิ่น และใช้ศักยภาพของท่านเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นมากมาย และท่านเป็นคนแรกๆที่กล่าวว่าต้องกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น….
สาระตรงนี้ก็คือการที่ผู้อยู่ในสถานะที่พร้อมกว่าสมควรจะต้องไปยกระดับความรู้ต่างๆในท้องถิ่นให้เท่าทันกับสังคมใหญ่และทั้งโลก…..จะด้วยวิธีไหน อย่างไรก็แล้วแต่เงื่อนไข ในระดับชุมชนก็เช่นกัน การรู้เท่าทันก็คือการสร้างคนให้มีความเชื่อมั่น เมื่อมีความเชื่อมั่นก็กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง ด้วยกลุ่ม ด้วยชุมชน มิใช่ถูกสร้างค่านิยมอย่างไม่รู้ตัวให้เป็นผู้บริโภค และนั่นก็คือเหยื่อของระบบโลกาภิวัฒน์……
อภิปราย:
ประเด็นนี้มันแทงใจผมจริงๆ เราทำงานชุมชนกันมานาน และก็พูดเรื่องนี้มานานเช่นกัน แต่เมื่อลงมือทำกันจริงๆ เราจมลงไปสู่ปัญหารายวันที่เผชิญหน้ากับชาวบ้านที่มีสารพัดรอบตัวรอบบ้าน และที่สำคัญระบบโครงการได้วางงานไว้หมดสิ้นแล้วที่กิจกรรมต่างๆโดยมิได้เงยหัวขึ้นมาดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหญ่ และสังคมโลกแล้วหยิบเอาประเด็นเหล่านั้นไปเป็นหัวข้อทำ Capacity Building(CB) ให้แก่ผู้นำ เยาวชน สตรี และคนในชุมชนโดยรวม เราหยิบมาบ้างเหมือนกันแต่เบาบางมาก และเป็นชิ้นๆที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และที่สำคัญไม่ต่อเนื่อง เราเคยจัดค่ายวิเคราะห์ชุมชน วิเคราะห์สังคมกัน 2 วัน 3 วัน แล้วก็ชื่นชมที่มีผู้นำหลายคนตื่นตัวขึ้นมา ที่เรียกหูตาสว่าง แต่เมื่อจบสิ้นก็จบ กลับกลายเป็นการใช้เวลาทั้งหมดไปกับกิจกรรมที่สร้างขึ้นมา แล้วเรื่องของภาพรวมก็จางหายไป
ผมทราบดีว่าชาวบ้านที่เกิดสำนึกในระหว่างทำค่ายวิเคราะห์ชุมชนนั้น เราดีใจ แต่สำนึกเกิดได้ก็หายไปได้ เมื่อเขากลับสู่ครอบครัวที่มีปัญหามากมายรออยู่…. เมื่อความไม่ต่อเนื่องใน CB ความเชื่อมั่นก็คลายตัว หรือสิ้นสุดลงได้ ความต่อเนื่องจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ
แม้ว่าเราอาจจะมีระบบเครือข่าย และมีการประชุมกันเป็นประจำ แต่สาระส่วนใหญ่จะลงไปที่กิจกรรมย่อย บางกิจกรรมทำได้ดีบ้างแล้ว เช่นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี แต่การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างถึงรากถึงโคนนั้นยังมีน้อยเกินไป การหยิบผลเสียและสร้างการเรียนรู้ที่สำคัญๆให้เกิดขึ้นนั้นยังน้อย การขยายตัวของกิจกรรมนี้จึงยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควรจะเป็น
สิ่งที่ต้องการเสนอ:
ทบทวนกิจกรรมการสร้าง CB ในแง่การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสังคม ของโลกทั้งเรื่องใหญ่ไกลตัวแต่กระทบชุมชนกับเรื่องใกล้ตัว
ที่สำคัญโครงการควรจะพิจารณาสร้างกิจกรรมเฉพาะเรื่อง CB ขึ้นมาอย่างจริงจังในการเรียนรู้ของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากใกล้ตัวไปสู่สิ่งไกลตัว จากสิ่งที่จับต้องได้จนถึงสิ่งที่เป็นระบบคิด และต้องทำอย่างต่อเนื่อง
เช่นทำกิจกรรมรายเดือนเป็นเวทีเรียนรู้ร่วมกัน อาจจะเรียกเวทีเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง สังคมและโลก หรือจะเรียกมหาวิทยาลัยชีวิตชุมชน ให้ผู้นำชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนซึ่งกันและกัน แล้วมีพี่เลี้ยงคอยป้อนข้อมูลต่างๆเติมให้ครบถ้วน กิจกรรมเหล่านี้อาจจะคู่ขนานไปกับกิจกรรมย่อยที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ทั้งนี้เพื่อขยายการรับรู้และการเกี่ยวข้องกันในสรรพสิ่งต่างๆที่มีในชุมชนกับสังคมภายนอกและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
การทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยตอกย้ำความรู้เท่าทัน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างสำนึกร่วมกัน และที่สำคัญอาจารย์ชัยอนันท์กล่าวย้ำว่า การสร้างให้คนรู้เท่าทันนี่คือการสร้าง Empowerment ซึ่งเป็นพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากตัวของเขาเอง เพื่อชุมชนของเขาเอง และสังคมโดยรวม นั่นเอง..