ฟ้าใสขึ้น..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:01 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1733

 


 

เมื่อวันก่อนผมได้รับโทรศัพท์จากพี่ใหญ่ ผู้ร่วมงานแต่อยู่คนละจังหวัดบอกว่า มีข่าวดีมาบอก “มีคำสั่งย้ายเบอร์หนึ่งแล้ว กลับไปหน่วยงานเดิมที่ก่อนจะมาอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นกรมเล็กๆไม่มีงบประมาณมาก เงียบๆ…” พวกเราดีใจโทรแจ้งกันจ้าละหวั่น…ฯลฯ

ปรากฏการณ์นี้ใครต่อใครฟังดูแล้วก็คงทั้งงง และเดาเรื่องราวออก…

  • เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง
  • เป็นคนบ้าอำนาจ คำก็จะย้าย สองคำก็จะย้าย หากลูกน้องระดับจังหวัดพูดไม่ถูกใจ
  • รวบอำนาจไว้ที่คนเดียว
  • จัดงานใหญ่ๆ ถลุงงบฯ จ้างนักข่าวมาประชาสัมพันธ์ตัวเอง
  • พูดจาไม่มีใครรู้เรื่อง แม้ลูกน้องที่ตัวเองโปรโมทขึ้นมาก็สรุปไม่ได้ว่านายต้องการอะไร..ฯ
  • ไปจังหวัดไหนต้องเอาผู้ว่าฯมารับ มาร่วมงานด้วย..
  • ใช้ระบบสั่งการ เอาความคิดตัวเอง ไม่สนใจความคิดแตกต่างและดีกว่า
  • ถลุงงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง
    จนเกษตรกรหัวเราะใส่ จัดงานแบบเนรมิต พอเลิกงานทุกอย่างก็หายไปในพริบตา
  • ไม่เคยศึกษามาก่อนว่าเดิมงานชิ้นนั้นมีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร มาถึงก็จะเอาอย่างนี้
  • แนวคิดวกวน จับหลักจับเกณฑ์ไม่ได้ และแนวคิดดูก้าวหน้า แต่ล้าหลัง
  • เคยแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่นๆว่าถึงเวลาที่คนนี้จะย้ายแล้วนะ หากมากรมนี้จะคิดไง เพื่อนข้าราชการส่ายหัวยกมือท่วมศีรษะ อย่ามาเลยเจ้าประคูณณณณ กรมแตกแน่แน่…เห็นสรรพคุณแล้ว
  • ก่อนที่ข่าวนี้จะออกมา หัวหน้าส่วนราชการที่มุกดาหารที่ผมนั่งทำงานด้วย ชิงลาออกไปก่อนแล้ว นี่ก็แผลเต็มตัว

ข่าวนี้ ดี แผ่นดินที่หน่วยงานผมทำงานด้วยสูงขึ้นเยอะ

อุ้ยเอ๋ย…ที่ไหนๆก็มีอุปสรรค ปัญหาของระบบ เอาเป็นว่า เรามาทำงานบนความไม่พร้อมของระบบ แบบที่พ่อครูบากล่าวไง..

 

หวังว่าเบอร์หนึ่งใหม่คงไม่หนักไปกว่าเดิมนะครับ….อิอิ


วันพระกับยุ้งข้าว

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:18 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5120

วันพระ……

คนเมืองทำอะไร

ทำอะไรก็ได้ที่ใจอยากจะทำ

หรือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า วันพระนั้นคือวันไหน

……………..

เพราะวิถีเมืองรัดรุมเราจนหลงลืม…


วันพระ….

ชนบทแห่งนี้ ที่ยุ้งข้าวหลังเล็กๆนี้

คือที่บรรจุข้าวของเราที่เราใช้ชีวิตทั้งชีวิตหามาก็เพื่อชีวิตนั่นแหละ

เราเคารพแม่โพสพ เราเคารพข้าวทุกเมล็ด เราเคารพจิตวิญญาณ เราเคารพธรรมชาติ

เราเคารพคุณค่าข้าวที่ให้ชีวิต


เราขอมอบใบไม้นี้แทนดอกไม้ ธูปเทียน เคารพ แด่ข้าว คุณค่าของข้าวผู้ให้ชีวิตแก่พวกเรา

———————-

หมายเหตุ ทุกวันพระพี่น้องดงหลวงจะเอาดอกไม้ไปแสดงความคารวะ ต่อแม่โพสพที่ยุ้งข้าวเพื่อระลึกถึงคุณของข้าว.


ต้นหมี่..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 0:05 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 23008

เมื่อสัปดาห์ก่อนโครงการจัดงานวัน Field day แก่ผู้นำเกษตรกร ต.ดงหลวง ซึ่งเราพยายามให้บทบาทแก่ผู้นำได้เอาผลงานของตนเองมาเสนอในลักษณะเล่าสู่กันฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยนกัน

ระหว่างนั้น ผู้นำเครือข่ายไทบรู ได้ขึ้นมาแนะนำกิจกรรมของเครือข่ายที่สนับสนุนให้ปลูกต้นไม้ และหันมาพึ่งพาตนเองกันให้มากๆ โดยลดรายจ่ายด้านต่างๆ อะไรที่ทำขึ้นเองได้ก็ทำ ไม่ต้องไปซื้อ แล้วผู้นำท่านนี้ก็นำตัวอย่างพืช และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มออกมาแนะนำให้สมาชิกได้ทราบและให้กลับไปทำใช้เอง…..

มีสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากคือ ผู้นำท่านนั้นแนะนำต้นไม้พื้นบ้านต้นหนึ่งคือ “ต้นหมี่” ซึ่งสามารถนำไปทำสบู่ ยาสระผม และเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย เมื่อเสร็จงาน ผมไปสอบถามผู้นำท่านนั้นว่ามีตัวอย่างให้ผมดูไหม ท่านก็จูงมือผมไปดูต้นหมี่ หลังจากนั้นผมก็มาค้นข้อมูลคุณประโยชน์มากมายของพืชป่าต้นนี้ ดังนี้


ข้อมูลเบื้องต้น: เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 5-15 เมตร ชอบขึ้นบริเวณดินร่วนปนทราย ตามไร่ นา ป่า โคก เปลือกมีกลิ่นหอม ใบ เป็นใบเดี่ยว ผล เป็นผลเดี่ยว ผลสดรูปทรงกลม ออกเป็นพวง พวงละ 3-7 ผล ผลดิบสีเขียวจุดขาวมันวาว ผลสุกมีสีม่วงเข้มออกดำ เมล็ด เมล็ดสดรูปทรงกลม เนื้อเมล็ดแน่น สีขาวนวล หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด ต้นหมี่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีทางธรรมชาติได้ 2 วิธี คือ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการงอกเป็นต้นกล้าจากรากของต้นเดิมที่แผ่ขยายออกไป


การใช้ประโยชน์ ส่วนต่าง ๆ ของต้นหมี่มีสรรพคุณทางยา คือ ราก นำมาใช้ตำทาแก้ ฝี หนอง ต้มกินแก้ท้องอืด แก้ท้องร่วง เป็นส่วนผสมยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง บางหมู่บ้านนำรากตากให้แห้ง แล้วดองกับเหล้าขาว แก้โรคเลือด เช่น ระดูมาไม่ปกติ ลมพิษ เป็นต้น เปลือก นำมาใช้ฝนทาแก้ฝี ผิวในของเปลือกสดอมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ต้มอาบแก้ผดผื่น แก้ท้องอืด ใบ ใบสดใช้ฆ่าเหา ใช้ขยี้ทารักษาแผล กลากเกลื้อน แก้พิษแมงมุม แก้ท้องร่วง ท้องอืด นอกจากนั้นก็ใช้ ลำต้นใช้สร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำฟืน ทำเขียง ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำด้ามมีด จอบ เสียม ขวาน ทำยุ้งใส่ข้าว และปลูกให้ร่มเงา เปลือกใช้ย้อมผ้า ย้อมแหให้ติดสี ผงเปลือกทำธูปจุดไล่แมลง ยางของต้นหมี่ ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนา และทนทาน ใช้ดักแมลงตัวเล็กๆ ใช้ใบสดสระผม ใช้ตำผสมกับผลทำหัวเชื้อชีวภาพ ใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว ใช้รองฝาปิดปากไหปลาร้ากันหนอน ดอก ของต้นหมี่สามารถนำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย ผลสุก ใช้บีบหรือตำทาแก้โรคผิวหนัง หรือนำมาสระผมก็ได้


ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เด่นชัดที่สุด คือ ใช้ใบสดสระผม และใช้ส่วนต่าง ๆ ตามสรรพคุณทางยา
ด้านประเพณี ใช้ใบห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ ด้านความเชื่อ มีการขูดเปลือกขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลใช้เหน็บบั้นเอว จะทำให้หายจากอาการจุกเสียด เชื่อว่าคนท้องสระผมด้วยใบหมี่ผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่าย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของต้นหมี่ คือ แชมพู ครีมนวด และสบู่เหลวล้างมือ..


ต้นหมี่กับวัฒนธรรมล้านนา….เทศกาลงานสงกรานต์

อุ๊ยแสงดาเล่าว่า “สมัยก่อน จะต้มใบหมี่ในหม้อดินก้นทรงกลม หรือเรียกว่า หม้อสาว จุน้ำสิบถึงยี่สิบลิตร เมื่อต้มแล้ว นำไปสระผมได้หลายๆ คน ขณะที่ต้มกลิ่นอายจากหม้อช่วยผสมให้น้ำเดือดช่วยให้กลิ่นใบหมี่อยู่ได้นาน เพราะความหนาแน่นของหม้อดินจะอมความร้อนได้นานนั้นเอง “

แม่อุ๊ยสอนว่า “ใบแก่ดีกว่าใบอ่อน เพราะกลิ่นหอมมากกว่า..เพียงเอาใบมาทุบแล้วแช่น้ำไว้นานๆ ก็จะมีกลิ่นหอมได้เช่นกันนำมาต้มไฟอ่อนพอน้ำเดือด กลิ่นหอมจะถูกความร้อนละลายออกมาทีละน้อยๆ ไม่ระเหยไปกับน้ำโดยไม่จำเป็น..”


จำนวน ใบที่นำมาต้ม ส่วนมากจะใช้ห้าใบขึ้นไป ปีใหม่เมืองเหนือหรือสงกรานต์ ผู้คนนิยมนำใบหมี่มาสระผมจนถือเป็นเคล็ดกันว่าปีหนึ่งขอให้ได้สระผมด้วยน้ำ ต้มใบหมี่ปีละหนึ่งครั้ง ในวันปีใหม่ ก็จะมีโชคคุ้มได้ทั้งปี

ว่าแต่ว่าสาวเหนือทั้งหลาย อุ้ยสร้อย อึ่งอ๊อบ ครูอึ่ง น้องเบิร์ด เคยสระผมด้วยหมี่หรือยังล่ะ หากเคยละก็เอาผมมาให้พ่อครู จอมป่วน อาเหลียง หอมหน่อยนะ อิอิ

(ข้อมูลจาก http://www.udif.or.th/paritusapril%2051/aal.html)


ลายเซ็น

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 พฤษภาคม 2009 เวลา 13:20 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 4700

หากท่านเข้าไปดงหลวง เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้าน ท่านจะต้องฉงน เพราะมีแต่นามสกุล เชื้อคำฮด ที่ตำบลพังแดง วงศ์กะโซ่และโซ่เมืองแซะที่ ตำบลดงหลวงอาจเรียกว่าร้อยละ 99 มีเพียง 2-3 นามสกุลนี้เท่านั้น

เมื่อเราเข้าไปทำงานใหม่ๆเราก็ ฉงน และสับสน เพราะพบบ่อยที่ไทโซ่มีชื่อและนามสกุลเหมือนกัน ลองเดาซิครับว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะแยกบุคคลนั้นได้ถูกต้องว่าหมายถึงคนนี้ คนนั้น.. คำตอบคือเราใช้สิ่งที่แตกต่างกันแน่นอนคือบ้านเลขที่ เพราะคงไม่มีใครที่ชื่อเหมือนกันและนามสกุลเหมือนกันอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่ เป็นชนเผ่าที่มีภาษาเป็นของตนเอง อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่รัชการที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานหลายแห่ง โดยเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตที่สูง เพราะวิถีเขานั้นพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากภูเขา โดยกายภาพแล้วการตั้งถิ่นฐานนี้อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ อันเป็นเหตุให้ได้รับสวัสดิการของรัฐน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ

ยิ่งสมัยที่เมืองไทยเรามีการขัดแย้งกันทางความเห็นการปกครอง พื้นที่ดงหลวงอยู่ในเขตปลดปล่อย เป็นเวลายาวนาน การศึกษาก็ยิ่งห่างไกลออกไป หลังปี 2527 โดยประมาณ เขาทั้งหลายก็ลงมาจากภูเขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายของประเทศไทย

ปัจจุบันการทำงานพัฒนาภายใต้กึ่งระบบราชการนั้นยังจำเป็นต้องอิงระบบ แม้ว่าจะขัดต่อวิถีทางการพัฒนาคนในหลายๆด้านก็ตาม เพราะโครงการนี้มีที่มาจากระบบราชการนั้นเอง


ทุกครั้งที่เรามีการประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ ที่ต้องอาศัยงบประมาณราชการก็ต้องมีหลักฐานลายเซ็นผู้เข้าร่วม อย่างน้อยที่สุดก็เท่ากับจำนวนที่ระบุไว้ในแผนงานที่เสนอของบประมาณนั้นๆ

ที่ดงหลวงเราต้องเตรียม Stamping Ink ทุกครั้งเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรผู้ที่ไม่สามารถลงนามชื่อตัวเองได้ทำการปั้มลายนิ้วหัวแม่มือแทน


ปรากฏการณ์นี้สะท้อนหลายแง่มุม คนที่คลุกคลีกับวิถีไทยโซ่ฐานรากย่อมเห็น และทราบดีว่า

  • ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มีน้อยกว่าท้องถิ่นอื่นๆส่งผลให้โลกทัศน์ของเขายังสืบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมเดิมๆของเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนชีวิตที่เป็นไปอย่างช้าๆ
  • ระบบการสื่อสารที่เข้าสู่ชุมชนที่ทันสมัยแต่เต็มไปด้วยการกระตุ้นค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาคือปัญหาใหม่
  • งานพัฒนาชุมชนยังไม่ได้เข้าไปจักกระบวนการปรับตัวที่เหมาะสม แต่นำเสนอชิ้นส่วนที่เขาต้องหักดิบการเปลี่ยนแปลงซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนมาก
  • นโยบายของรัฐที่ใช้ศูนย์กลางอำนาจเป็นคำสั่งออกแบบงานพัฒนาชุมชนนั้นก็ยังซ้ำซาก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
  • ฯลฯ

บางทีเราก็นึกไม่ออกว่าเทคโนโลยีนาโน กับการพยายามลงนามเข้าร่วมการเรียนรู้ภายใต้ระเบียบของรัฐของชาวบ้านแบบดงหลวงนี้ ระยะห่างขององค์ความรู้นี้จะก่อผลกระทบในการเคลื่อนตัวของสังคมมากน้อยแค่ไหน


สารภาพ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:48 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 1389

ในปี 2505 กรมการข้าว ได้ทำการส่งเสริมการผลิตข้าว โดยตั้งกองส่งเสริมและเผยแพร่ขึ้น มีฝ่ายต่างๆหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นคือฝ่ายปุ๋ย

ความจริงสารเคมีเข้ามาเมืองไทยนานมาแล้วประมาณปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลสั่งนำ DDT เข้ามาในเมืองไทยเพื่อทำการปราบปรามยุงตัวนำเชื้อโรคมาเลเลีย ซึ่งระบาดมาก ประชากรเจ็บป่วยล้มตายปีละมากๆ DDT จึงถูกสั่งเข้ามาแล้วนำไปพ่น ฉีดฆ่ายุงก้นปล่อง ซึ่งใช้มาหลายสิบปีต่อมา เจ้าสารเคมีตัวนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเห็บ เหา เลือด อีกด้วย ปัจจุบันเกือบไม่ได้ยินว่าที่ไหนมีตัวเลือดให้ปรากฏ

ย้อนไปปี 2503 ฝ่ายวิศวกรรมเกษตร กรมการข้าว สร้างควายเหล็กตัวแรกขึ้นมา เพื่อใช้แทนควาย ซึ่งสมัยนั้นเจตนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ราคาน้ำมันเบนซินในสมัยนั้นลิตรละ 1 บาทเท่านั้น เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมี สมันนั้นข้าวก็ใช้สูตร 16-20-0 เป็นปุ๋ยนำเข้า ใส่แปลงข้าวในอัตรา 20-30 กก.ต่อไร่

การผลิตข้าวในสมัยก่อนนั้นมีโรคที่เป็นกันมากคือ บั่ว หนอนกระทู้ รัฐบาลจึงสั่งสารเคมีเข้ามาเพื่อปราบโรคบั่ว สารเคมีสมัยนั้น เช่น ไทเม็ก โฟลิดอน E605 เอนดริน และ ฯลฯ กลิ่นเหม็นมาก ฉุนแรง สมัยนั้นไม่มีปุ๋ยน้ำหมัก ชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้แต่อย่างใด ภายหลังมาทราบว่าจีนและญี่ปุ่นรู้จักและใช้มานานถึง 700 ปีแล้ว

มาในปัจจุบันนี้ เราพบแล้วว่า สารเคมีเหล่านั้น ปุ๋ยเคมีเหล่านั้นมีส่วนสำคัญยิ่งในการทำลายระบบนิเวศแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืชมาก เจ้าแมลงที่ตั้งใจฆ่าก็พัฒนาตัว พัฒนาสายพันธ์ของมันไปมากขึ้นด้วยทำให้ทนทานต่อสารเคมีที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน

สมัยนี้มีทางเลือกใหม่ๆมากมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อสุขภาพที่ดี นี่เป็นความรู้สึกที่อยากจะบอกพวกเรา….

นี่คือความในใจที่อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยรับผิดชอบการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืชและกระบวนวิธีแบบเก่าๆ อันเป็นเทคโนโลยีและนโยบายของรัฐในอดีต ท่านมาตอกย้ำแนวทางที่เรียกว่าเกษตรทางเลือก…..

ขอบพระคุณพี่…เป็นอย่างสูง

คำสารภาพนี้มีคุณค่าแก่การเดินทางเป็นอย่างยิ่งครับ..



Main: 0.55607509613037 sec
Sidebar: 0.27202177047729 sec