การล่มสลายของ KM ธรรมชาติ(แบบวิถีชีวิตเดิม)

โดย bangsai เมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 12:41 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 3655

ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพชีวิตชนบทธรรมดาๆที่ไปที่ไหนๆก็มีให้เห็น เมื่อใครต่อใครเห็นภาพแล้วคงมีหลายมุมมอง อย่างไม่น่าเชื่อนะครับ หากความคิดแต่ละคนมีเสียงดังออกมาคงวุ่นวายน่าดู


คนเมืองบางคนเห็นภาพนี้แล้วเราได้ยินความคิดในใจของเขาว่า “ยี้.. สกปรกจังเลย อะไรก็ไม่รู้ ไม่เจริญหูเจริญตาเลย ดูซิต้นพืชอะไรเกะกะบ้านรกหูรกตาไปหมด ไม่รู้จักกวาดไม่รู้จักทำ ขี้เกียจซะไม่เมี๊ยะ…”

เราอาจจะได้ยินความคิดบางคนอีกว่า “มานั่งทำอะไรกัน งานการไม่ไปทำ แล้วมาบ่นว่ายากจน ก็ขี้เกียจอย่างงี้นี่เล่า..”

แต่หากเป็นคนทำงานชนบท คงต้องตั้งสมมติฐานในใจว่า เอ เขามานั่งทำอะไรกันหนอ เข้าไปพูดคุยสักหน่อย อ้อนั่นเป็นต้นถั่วที่เอามาจากแปลงปลูกเพื่อเอามานั่งเก็บผลผลิตเอาไปขายได้เงินมาเข้าครอบครัว ไม่รู้ว่าราคาเป็นอย่างไรปีนี้ ผลผลิตดีไหม ฯลฯ …


และหากเราจะเดินเข้าไปใกล้อีกซักหน่อย ก็จะเห็นว่าสตรีเสื้อเหลืองสรวมหมวกท่านนั้นกำลังทำขนมชนิดหนึ่ง หากจะนั่งลงแนะนำตัวเองเป็นใครมาจากไหนมาทำอะไร แล้วสอบถามกิจกรรมที่เขาเหล่านั้นกำลังทำอยู่เราก็จะได้เข้าใจ และได้ความรู้มากมาย และเมื่อเราคุ้นชิน สนิทสนมกลมเกลียวแล้ว นั่งอยู่ในวงนั้นนานแล้ว เราจะได้เรื่องราวที่น่าสนใจหลายประการ


ย้อนกลับไปดูรูปแรกซิ องค์ประกอบของภาพบ่งบอกว่ามีคน 3 generation อยู่ที่นั่น นั่งอยู่บนลานปูนหน้าบ้านพ่อเฒ่า ซึ่งมีอายุมากสุด กลุ่มคนวัยกลางคนที่เป็นสตรี และกลุ่มเล็กสุด เป็นลูกหลานที่นั่งตักแม่ นั่งเล่นบนตัวแม่ที่แปลยวน ต่างก็นั่ง ล้อมวงคุยกันและมีสตรีเสื้อสีเหลืองทำขนมสำหรับไปงานบุญใหญ่ข้าวประดับดินในวันพรุ่งนี้ที่วัด เดาซิว่าในกลุ่มนี้สักกี่คนที่จะไปวัดพรุ่งนี้ ไปกันเกือบหมดยกเว้นเด็กเล็กนั่น

เรื่องราวสารพัดเป็นประเด็นพูดในวงนี้ แบบธรรมชาติของชีวิตปกติ ถ้าไม่มีผมอยู่ตรงนั้นก็ยิ่งเป็นธรรมชาติมากกว่านี้อีก เนื้อในคือ

  • กระบวนการทำขนมพื้นบ้านไปถวายพระที่วัดในวันพรุ่งนี้ เด็กๆได้เห็นการทำขนม ก่อนหน้านี้เขาอาจมีส่วนในการช่วยสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่นไปช่วยแม่ตัดใบตอง เอาใบตองมาผึ่งแดด ช่วยแม่เตรียมมะพร้าวมาประกอบการทำขนม ฯลฯ เขาเรียนรู้ไปโดยธรรมชาติ แบบสอนโดยไม่สอน เรียนโดยไม่ต้องเข้าห้องเรียน ทำจริง สัมผัสของจริง
  • พ่อเฒ่ามาลำดับญาติพี่น้องให้ลูกหลานฟัง คนนั้นคืออาว์ คนนี้คือน้า คนนั้นคือพี่ การลำดับญาตินี้ไม่ได้สอนแบบทางการเพียงบอกว่า ไอ้หนู ไปหยิบมีดให้พ่อลุงหน่อย ไอ้หนู ไปหยิบใบตองมาให้ป้าหน่อย มันเป็นธรรมชาติ เด็กเรียนรู้ว่าใครคือใคร ระหว่างหยิบของเดินเอาไปให้ พ่อเฒ่าก็จะสอนกิริยามารยาท ไอ้หนูเดินระมัดระวังของ อย่าไปเหยียบเข้า เดินห่างๆผู้ใหญ่ เดินผ่านผู้ใหญ่ต้องขอโทษ ต้องค้อมหัว หรือแสดงอาการคารวะ มันเป็นธรรมชาติ ฝึกแบบธรรมชาติ ไม่เคอะเขิน ไม่แปลกแยก ไม่ได้เสแสร้ง
  • ความรักความเอ็นดู เกิดขึ้น เด็กเห็นขนมก็อาจจะอยากกิน ผู้ใหญ่ก็อาจแบ่งขนมออกมาใส่จานต่างหากให้เด็กได้กินแบบแยกส่วนออกมา เด็กๆก็สนุกด้วย อิ่มด้วย
  • เรื่องราวต่างๆถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พ่อเฒ่าอาจจะเล่าเรื่องราวการทำขนมในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจเล่าเรื่องราวประเพณีนี้ในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจจะเล่าถึงพระหลวงพ่อที่วัดให้ฟัง ความเชื่อ ความศรัทธา ความดี ความไม่ดี การเคารพนับถือ ปรากฏการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอดีตที่เกี่ยวข้องกับวันบุญข้าวประดับดินอาจถูกส่งต่อให้ generation ที่สองที่สามได้ฟังผ่านวงทำขนมเล็กๆวงนี้ อะไรที่สำคัญ อะไรที่หยาบช้าไม่ดีไม่งาม ที่สังคมแห่งนี้สรุปไว้ถูกถ่ายทอดสู่รุ่นหลังอย่างเป็นธรรมชาติ ความสำคัญของบุญข้าวประดับดินเป็นอย่างไร นี่คือ ฮีต นี่คือ คอง หรือ คลอง หรือครรลอง ของวิถีอีสานถูกถ่ายทอด แล้วจะถูกทำซ้ำๆ(Reproduction) ในปีต่อไป
  • มันเป็นการบูรณาการจากสภาพจริงๆ ไม่ใช่มาเรียนเรื่องทำขนมเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี มารยาทในสังคม ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ฯลฯ ผสมกลมกลืนกันไปอย่างไม่แยกส่วน


นี่คือ กระบวนการเรียนแบบธรรมชาติ

นี่คือ การส่งต่อคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ จากรุ่นสู่รุ่น

นี่คือ ทุนทางสังคม

นี่คือ ความสัมพันธ์ทางแนวราบ

นี่คือ ความงาม ที่เสื่อมลงทุกทีเมื่อสภาพสังคมเมืองคืนคลานเข้ามา ในรูปของความทันสมัย ความก้าวหน้า ความสะดวกสบาย ความมีรสนิยม แม้การศึกษาในรูปแบบก็เข้ามาแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ อันๆ ยากที่จะเข้าใจอย่างผสมกลมกลืน

การปรับตัวแบบใดหนอที่จะผสมผสานเก่ากับใหม่ให้ลงตัวได้ เพราะเราหลีกการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราก็โหยหาคุณค่าเดิมๆอยู่

« « Prev : ข่า VS งานก่อสร้าง

Next : ทดสอบเอาภาพขึ้น comment ครับ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 สุวรรณา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 15:48

    คิดถึงขนมนึ่งแม่ค่ะ เมื่อเล็กกัน  4คนพี่น้องถือจานรอขนมสุกรอบเตาแม่ แต่รุ่นหลาน รอหน้าคอมพิวเตอร์ ยายมาเสริฟ ต้องปฎิวัติ ลูกสาวใหม่แล้วค่ะ พี่บางทราย อิอิ

  • #2 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 16:31

    แค่รูปภาพกับตัวอักษร  อ่านแล้วทำให้รู้สึกได้ว่าตัวละครมีชีวิต  นั่งคุย  นั่งทำงานกันอยู่ต่อหน้าเลย  ขอบอก  อิอิ

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 18:51

    จริง ๆ เรามีการจัดการความรู้มานานนะคะ และอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ได้อยู่ในกระดาษ เบิร์ดเชื่อว่าความรู้ควรใหม่สด มากกว่าจะเก่าเก็บเป็นประวัติศาสตร์
    ถ้าจะใหม่สด ก็ต้องเป็นคนที่ไม่รู้อยู่ตลอดเวลา และกล้าที่จะลอง รวมทั้งมีการนำมาใช้เหมือนการทำขนมนี่แหละค่ะ ทำอยู่ทุกปี สม่ำเสมอ ถ่ายทอดกันไปเรื่อย ๆ ปีนี้แป้งไม่ได้ดังหวังทำอย่างไรให้ขนมออกมาดี นี่ก็ความรู้แล้ว ประมวลชุดความรู้เดิมให้กลายเป็นการแก้ไขปัญหาใหม่ ไม่ใช่จดในกระดาษว่าต้องใช้แป้งยี่ห้อนี้เพื่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปหามาใช้ ถ้าไม่ได้แป้งยี่ห้อนั้นล่ะจะทำยังไง?

    อิอิอิ บ่นก่อนไปอาบน้ำเดี๋ยวเข้าไปเล่นพุงพี่บู๊ด เอ๊ยแหย่พี่ตึ๋งต่อในบันทึกเบิร์ดค่า ^ ^

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 0:04

    อิอิ  จั่วหัวไว้หวือหวา อย่าตกอกตกใจนะครับ
    ผมแหย่ให้พวกเราได้ลองซักค้านน่ะครับ
    มุมมองนี้เป็นมุมมองในชนบท เป็นมุมมองแคบๆเท่านั้น

    เพราะปรากฏการณ์ต่างๆมันบ่งชี้ให้เห็นการเคลื่อนตัวของสังคม มันเคลื่อนออกห่างจากคุณค่าเดิมๆมากขึ้น คุณค่าใหม่เข้ามาแทนที่ แต่คุณค่าใหม่นั้นถูกตั้งคำถามมากสักหน่อย นะน้องนิด จอมป่วน น้องเบิร์ดครับ
    ———————

    ผมมีความเชื่อว่า KM ธรรมชาติมีหลายรูปแบบมิใช่แบบที่ผมพยายามนำเสนอนี้เพียงแบบเดียว ดังนั้นหาก KM ธรรมชาติในรูปบบที่นำเสนออาจจะล่มสลายไปจริงตามที่ผมพยายามอธิบาย ก็มี KM ธรรมชาติในรูปแบบอื่นอีก ซึ่งท่านลองพิจารณาดูนะครับ

    การย้อนรอยไปอยู่ในสภาพวิถีชีวิตแบบเดิมนั้น คงเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว มีแต่จะเปลี่ยนไป เพราะโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การสื่อสาร ฯลฯ เปลี่ยนไปแล้ว วิถีชีวิตใหม่เข้ามา KM ธรรมชาติในรูปแบบใหม่ก็ต้องมี ซึ่งแน่นอนไม่เหมือนเดิมแน่นอน โครงสร้างและองค์ประกอบการเกิด KM ธรรมชาติใหม่ก็คงมีภาพอีกภาพหนึ่ง ซึ่งเรายังอ่านไม่ออก หรืออาจมีแล้วแต่เรายังไม่เข้าใจก็ได้ เช่น รูปบบกึ่งทางการกึ่งไม่ทางการของ หมู่บ้านเด็ก รุ่งอรุณ และอื่นๆเป็นต้น Home school ก็น่าจะใช่

    ที่ใช้กันมากก็ในงานพัฒนาชนบทแบบของ NGO ที่ไม่เน้นความเป็นทางการ แต่เน้นเรียบง่าย เข้าใจง่ายๆ เน้นประสิทธิภาพการสื่อสารมากกว่ารูปแบบเป็นต้น
    ———————


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.57106614112854 sec
Sidebar: 2.4330868721008 sec