วิถีดงหลวง

โดย bangsai เมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 22:44 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 8590

เช้าวันนั้นนัดกับพ่อหวังที่บ้านในสวน เพื่อทำ Mini Dialogue กรณีนายสีวร ที่มาทำงานในสวนพ่อหวังนานถึงสองปี แต่วันนั้นแม่บ้านและชาวบ้านทุกคนต้องแบ่งเวลาทำขนมเพื่อไปทำบุญใหญ่ประจำปีที่เรียกว่า “บุญข้าวประดับดิน” ตามประเพณีของอีสาน พ่อหวังจึงต้องมาดูแลร้าน เพื่อให้แม่บ้านมีเวลาดังกล่าว


การพูดคุยไม่ประสบผลสำเร็จตามตั้งใจเพราะที่ร้านจะมีคนเข้าออกตลอดเวลา สถานที่พูดคุยติดถนนก็มีรถมอเตอร์ไซด์วิ่งเสียงดัง จึงเปลี่ยนหัวข้อคุยกันเป็นเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเราได้ผนวกเข้ามาในแผนงานของเราแล้ว


ระหว่างที่เราคุยกันอย่างไม่มีสมาธินั้น สายตาไปเห็นสตรีชาวบ้าน เดินผ่านไป มีถุงปุ๋ยและตะกร้าห้อยพะรุงพะรังทั้งสามคน ผมแว๊บขึ้นมาทันทีว่านี่คือ “พี่น้องมาขอแลกข้าว” แน่เลย ผมถามแม่บ้านพ่อหวัง เธอบอกว่าใช่ มาจากตำบลพังแดง น่าจะเป็นบ้านห้วยคลอง หรือหนองเลา อยากจะเดินไปจับภาพสวยๆและขอคุยด้วย ก็จะทำลายการพูดคุยที่กำลังดำเนินการไป

หลังจากพูดคุยจบก็เดินทางต่อไปบ้านเปี๊ยด เพื่อเยี่ยม “พ่อเตี๋ยน ตาหมู” สมาชิกไทบรู ผมก็พบภาพนี้อีก แสดงว่าคงจะมากันหลายคนและแบ่งกันไปตามหมู่บ้านต่างๆ

พฤติกรรมการเดินทางมาขอข้าว สอดคล้องกับช่วงที่ชาวบ้านกำลังเตรียมทำบุญใหญ่ ที่เรียกว่าบุญข้าวประดับดินในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทุกครอบครัว ทุกหมู่บ้านต่างนั่งล้อมวงกันทำขนมเพื่อเอาไปถวายพระในวันบุญใหญ่ดังกล่าว

กลับมาที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ของเราคนหนึ่งมีบ้านอยู่ที่ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นเขตติดต่อกับ อ.เขาวง ซึ่งติดต่อกับ ต.กกตูม ของ อ.ดงหลวง เธอกล่าวว่า ในอดีตทุกปีในช่วงงานบุญใหญ่เช่นนี้ พี่น้องชาวโซ่ ดงหลวงจะลงไปขอข้าว ขอขนมหรือสิ่งอื่นๆที่เป็นส่วนเกินที่ชาวบ้านไปทำบุญที่วัด อดีตย้อนไปอีกจะขอเสื้อผ้า เงินทอง หากย้อนลึกนานหลายๆปี ชาวโซ่ไปขอเกลือด้วยซ้ำไป

ประเด็นคือ ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี่ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากมายหลายประการ แต่การทำนาข้าวก็ยังพึ่งพาธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่เชิงเขา ความเสี่ยงในการมีข้าวพอหรือไม่พอกินยังเป็นปัญหาพื้นฐานอยู่ แม้ปริมาณจำนวนครัวเรือนที่ขาดแคลนข้าวจะลดลงมา แต่เราก็ยังเห็นภาพชาวบ้านเดินมาขอข้าวกินดังกล่าวนี้


นึกย้อนไปดูพฤติกรรมชาวบ้านพังแดง ในพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าห้วยบางทรายที่เห็นหน้าเราทีไรก็ร้องเรียนว่า อยากให้ปล่อยน้ำออกจากถังวันละสองเวลาได้ไหม ราคาค่าน้ำแพงไป ฯ แต่กระนั้นการเก็บค่าน้ำก็ไม่มีติดขัด ทุกครอบครัวที่ใช้น้ำก็ยินดีที่จ่ายค่าใช้น้ำ ในทัศนะเขากล่าวว่าแพง เพื่อให้ได้น้ำไปใส่แปลงนาข้าว เป็นหลักประกันว่าข้าวที่ปลูกนั้นจะได้ผลเต็มที่ นั่นหมายถึง การมีข้าวกินเพียงพอตลอดปี นี่คือความหวังสูงสุดของชาวบ้าน นี่คือการใช้ประโยชน์โครงการในมุมของชาวบ้าน “เขาไม่อยากเดินไปขอข้าวกิน…”

ขณะที่โครงการนี้กำหนดเป้าหมายว่า เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจในฤดูแล้งหรือหลังนา ที่เราแนะนำในรูปแบบ Contract Farming

นี่คือความจริง ที่เราต้องคิดทบทวนกิจกรรมของโครงการทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมพื้นฐานอื่นๆในพื้นที่ที่มีชาวบ้านเป็นคนไทยเชื้อสายโซ่ และอยู่ในระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบเชิงเขา เช่น ดงหลวง..

หากไม่ลงมาคลุกคลีกับชาวบ้าน ก็ไม่มีทางเห็นภาพเหล่านี้ หากไม่วิเคราะห์เรื่องราว ก็เป็นเพียงภาพที่ผ่านตาเราไปเท่านั้น คิดเลยไปถึงว่า แค่การแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินยังไม่ได้ การวาดฝันสิ่งอื่นๆก็เป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาข้าวไม่พอกินนี้..

หากเราคิดงานพัฒนาที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริงของพื้นที่ ก็คงไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน มันเป็นเพียงตอบสนองความหวังดีของเราเท่านั้น

« « Prev : ทดสอบเอาภาพขึ้น comment ครับ

Next : ปลูกป่าให้ปู่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 20:28

    เรื่องนี้มีประเด็นสุดยอดมาก
    ปันน้ำใจด้วยข้าวไปหล่อเลี้ยงความอดหยากให้แก่กัน

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 23:35

    ผมจะหาทางไปสัมภาษณ์ชาวบ้านคนที่ไปขอข้าว
    ปัจจุบันน้อยลงมาก เพราะ อาย มีหนทางอื่นที่แก้ปัญหา เช่นส่งลูกไปขายแรงงานส่งเงินมาซื้อข้าว ไม่ีต้องไปขอข้าวกิน..ผมสนใจมากครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14402508735657 sec
Sidebar: 0.10065388679504 sec