Home Work

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 ตุลาคม 2010 เวลา 22:42 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 2401

ผมพลาดการแลกเปลี่ยนกับป้าหวานในประเด็นนี้ไปอย่างไรไม่ทราบ ป้าหวานแลกเปลี่ยนกับผมในลานฅนฟื้นฟู (ที่ตายสนิท เพราะไม่ได้รับการตอบรับจากคนในโครงการ) เมื่อ 21 เมษายน 2009 โน้น วันนี้ผมไปพบจึงต้องขออภัยป้าหวานไว้ที่นี่ด้วย ทั้งที่ประเด็นป้าหวานดีจังเลยครับ ดังนี้

“ป้าหวานเกิดความคิดเรื่องการขุดค้นหาศักยภาพค่ะ มาจากการที่ป้าหวานเห็นเพื่อนครอบครัวหนึ่งมาจากต่างประเทศ เป็นคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศทั้งครอบครัวน่ะค่ะ กลับมาเยี่ยมบ้าน พบว่าลูกของครอบครัวนี้ซึ่งกำลังเป็นวัยรุ่นจะต้องทำการบ้านไปส่งอาจารย์เมื่อกลับไป การบ้านก็คือ ให้เด็กเขียนว่า ตั้งแต่ออกเดินทางจากบ้าน มาจนถึงประเทศไทย ระหว่างอยู่ในประเทศไทย จนกลับไปถึงบ้านนั้น เขาพบเห็นอะไรบ้าง เกิดความรู้อะไรบ้าง และ เขามีความคิดเห็นอะไรบ้าง ป้าหวานรู้สึกทึ่งในการให้การบ้านของเขาจริงๆ เพราะมันทำให้ต้องคิด ต้องสนใจสิ่งต่างๆ เพื่อจะได้เอามาเขียน อย่างเช่น เด็กจะถามเรื่องเกี่ยวกับการบิน ว่าเครื่องชนิดนี้ชื่ออะไร แล้วบินความเร็วเท่าไร สูงจากพื้นดินเท่าไหร่จนกระทั่งรายละเอียดอื่นๆอีกมากมายตลอดเวลาที่อยู่ และไป ไหนๆ เราจะค้นพบความสามารถของเด็ก ความสนใจของเด็ก และอื่นๆอีกมากมาย มาประยุกต์ใช้กับบ้านเรา ผ่านโรงเรียนประจำชุมชนต่างๆ ถ้าเขียนได้ สนับสนุนให้เด็กเขียน หรือ อาจประยุกต์เป็น ให้เด็กออกมาเล่าในบรรยากาศง่ายๆ นอกห้องเรียน ใต้ต้นไม้ หรืออื่นๆเพื่อทำให้เด็กผ่อนคลาย เล่าได้อย่างสบายๆ ว่า เขาเห็นอะไร รอบๆตัว ใกล้ๆตัวเขาบ้าง เราก็จะได้ข้อมูลจากเด็กว่าในชุมชนนั้นมีความเป็นอยู่อย่างไร พ่อ แม่ ใครทำอาชีพอะไร มีใครที่น่าจะเข้าข่าย ทุนชุมชน และเกิดการดำเนินการเพื่อสานต่อไป ในทางกว้างและทางลึกค่ะ
ขอบคุณค่ะ”

เห็นด้วยกับป้าหวานว่าการบ้านของเด็กนั้นช่างสร้างสรรค์ดีจริงๆ

  • เป็นโจทย์ที่กระตุ้นให้เด็กต้องเดินทางอย่างมีสาระ สร้างเงื่อนไขให้เด็กต้องสนใจสิ่งรอบตัว และเจาะลึกถึงเรื่องราวสิ่งนั้นๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นกับเด็ก
  • ในระยะยาวหากมีโจทย์แบบนี้มากขึ้น ก็จะเป็นเบ้าหลอมสติปัญญาเด็ก กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และให้เด็กเป็นคนค้นหาความจริงของสรรพสิ่ง
  • ลักษณะดังกล่าวจะหล่อหลอมเด็กให้เป็นผู้กว้างขวาง รู้ลึก รู้จริงมากกว่าเด็กทั่วไป
  • จากลักษณะดังกล่าวจะทำให้เด็กเดินบนเวลาชีวิตด้วยการเรียนรู้ตลอด เขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นสมาชิกชุมชนที่มีคุณภาพ เป็นประชาชนไทยที่มีคุณภาพ
  • ผลผลิตของกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ แม้จะเป็นสาระหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ดีดีแบบอื่นๆ ก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่ที่ดีดีต่อเรื่องอื่นๆทั้งเรื่องส่วนตัวและสังคมด้วย
  • การที่เด็กลงลึกถึงสาระต่างๆนั้น จะมีส่วนสำคัญที่เด็กค้นพบความจริงแล้ว อาจเป็นเหตุให้เขามีความคิดต่อยอดในบางสาระจนเกิดนวัตกรรมดีดีขึ้นมาได้
  • หากเรามีเด็กที่มีคุณภาพแบบนี้ เราจะมีพลเมืองประเทศนี้ที่มีคุณภาพ และหากเรามีปริมาณของพลเมืองที่มีคุณภาพ เราก็จะเป็นประเทศที่รุ่มรวยคนที่มีคุณภาพ

ถามว่าในบ้านเรามีกิจกรรมสร้างสรรค์แบบนี้บ้างไหม ผมว่ามีครับ แต่ส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบเล็กๆในโรงเรียนเท่านั้น เวลาส่วนใหญ่เดินตามระบบราชการ เพราะระบบโรงเรียนถูกครอบด้วยระบบราชการ ยกเว้นบางโรงเรียนที่ดิ้น พยายามสลัดหลุดพันธกิจต่างๆนั้น

มีนักการศึกษาบางคนหากจำไม่ผิดเป็น อีวาล อิลลิช กล่าวว่าระบบโรงเรียนเป็น Deschooling ดูรายละเอียด ที่นี่ ขออภัยป้าหวานที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนทันทีตั้งแต่ปี 2009 อิอิ..


วิเคราะห์ความรู้ในตัวคน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 กันยายน 2009 เวลา 11:25 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 4256

เป็นประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนกับผู้ตั้งคำถามคือคุณ ถึงดิน ในลานถึงดิน เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญ โดยเฉพาะกล่าวอ้างใน “เจ้าเป็นไผ 1″ ที่ชาวเฮทยอยร่ายเรื่องราวอยู่

ความรู้ในตัวคนคืออะไร ในความเข้าใจส่วนตัวคิดว่า คือ “การมีอยู่ขององค์ความรู้ต่างๆที่คนคนนั้นสะสมตลอดช่วงอายุ”

พิจารณา ขยายความประเด็น ความรู้ในตัวคน จากการมองพัฒนาการของคนตั้งแต่เกิด ดูกรณีพิจารณาคนทั่วไปที่ผ่านกระบวนการเติมความรู้จากระบบสังคมที่มีระบบการศึกษาเป็นแกนกลางในการสร้างคน ดังนี้


ซึ่งสรุปได้ว่า ความรู้ในตัวคนนั้นมีมากมายทุกเรื่องทุกสาขา มาจากไหน

  • ก็มาจากสิ่งรอบข้างที่เราเรียกว่า ความรู้ที่เกิดจากสัญชาตญาณ เช่นเมื่อเด็กไปจับเตารีดร้อนๆ ก็รู้ว่าร้อน ต่อไปก็ไม่จับเตารีดที่เสียบไฟฟ้าแล้ว เป็นต้น
  • ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่พ่อแม่ ครอบครัวป้อนให้ตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญที่จะฟอร์มตัวของทัศนคติ และฐานความรู้ในเรื่องต่างๆที่จะเรียนรู้อย่างซับซ้อนในช่วงเวลาต่อมา
  • ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติเอง จากเรื่องง่ายๆ พื้นฐาน และซับซ้อนมากขึ้นตามองค์ประกอบการพัฒนาการของชีวิต
  • ตามลำดับต่างๆตามมาดังแผนผัง

แต่คนเรา พลเมืองในประเทศมิได้ผ่านกระบวนการนี้หมดทุกคนทั้งหมดทั้งสิ้น มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านวงจรดังกล่าว ตัวอย่างคือวงจรชีวิตเกษตรกร ก็จะมีวิถีการได้มีขององค์ความรู้อีกแบบหนึ่ง คือ


  • จากการเรียนรู้ในครอบครัวที่เป็นแบบพื้นฐาน
  • อาจจะเข้าระบบการศึกษาก็เพียงชั้นประถม
  • แล้วก็ออกไปประกอบอาชีพเกษตรกรเลย หรือไปขายแรงงาน
  • การเรียนรู้จึงอยู่ที่ระบบครอบครัว ระบบชุมชน ระบบสังคม ระบบงาน
  • ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติจริง มีความเชื่อ ความศรัทธา กำกับ
  • หากเป็นคนงานก็มีระเบียบกำกับ

นี่คือความแตกต่างของคนในสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษา และคนที่ไม่ผ่าน หรือผ่านแต่เพียงชั้นประถมการศึกษา ความแตกต่างนี้ คือความแตกต่างของการเรียนรู้ องค์ความรู้ และหมายถึงความรู้ที่เขาสะสมอยู่ในตัวของเขา

ความแตกต่างนี้มักจะสรุปกันว่า คนที่ผ่านระบบการศึกษาคือคนที่ Educated ส่วนคนที่ไม่ได้ผ่านหรือผ่านน้อยนั้นเป็นคนที่ Un Educated ซึ่งเป็นการสรุปที่ไม่ได้สร้างการเคารพในความแตกต่าง เพราะ เกษตรกรก็มีความรู้มากมายในเรื่องราวที่เป็นสังคมของเขา สิ่งแวดล้อมวิถีชีวิตของเขา หากเอาคนที่ผ่านระบบการศึกษาไปใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน ก็ไม่สามารถจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ในทางตรงข้ามหากเอาชีวิตเกษตรกรไปอยู่ในสังคมสมัยใหม่ เขาก็ไม่เป็นสุข

ต่างกลุ่มมีการเรียนรู้ มีองค์ความรู้ ในเรื่องราวที่เป็นวิถีของเขา ดังนั้นเราสามารถสรุปเป็นภาพรวมๆได้ว่า ความรู้ในตัวคนนั้นมาจากชุดความรู้ต่างๆที่เกิดจากการเรียนรู้ของคนคนนั้นที่มีความแตกต่างกัน

ดังนั้น คนเราจึงมีความรู้ในตัวคนที่เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน จนกระทั่งแตกต่างกัน


จากแผนผังเหล่านี้น่าที่จะอธิบายความเข้าใจในเรื่อง ความรู้ในตัวคนได้บ้างนะครับ

สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจะแกะเอาความรู้ในตัวคนนั้นๆออกมาใช้ประโยชน์แก่สังคมได้อย่างไร..


กันยายนอันตราย

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 กันยายน 2009 เวลา 0:53 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 3185

ไม่ใช่กันยายนวิปโยคเพราะการเมืองการแมงร๊อก.. แต่จะเป็นกันยายนที่ชุ่มฉ่ำเหมือนปี 48 รึเปล่า


ภาพที่เห็นนั้นทั้งสองภาพเป็นสถานที่เดียวกันได้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2548 คือถนนเปรมพัฒนาที่ผมใช้เดินทางเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานใน อ.ดงหลวง จ. มุกดาหาร ถูกน้ำท่วมเพราะฝนตกหนัก สามวันสามคืนเมื่อ 4 ปีแล้วปีนี้ก็มีคำเตือนมาแล้วว่าจะมีฝนตกหนักอีกโดยเฉพาะในภาคอีสาน


ภาพซ้ายมือเป็นการแสดงให้เห็นว่าถนนสายนี้มีช่วงที่ใกล้ชิดกับลำห้วยบางทราย เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของดงหลวงเป็นภูเขา จึงมีการสะสมน้ำและหลากลงลำห้วยบางทราย แต่ลำห้วยบางทรายรับปริมาณน้ำฝนที่มากมายนั้นไม่ไหวก็เอ่อล้นท่วมตลิ่งสองข้าง

ภาพแผนที่ด้านขวามือก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เกิดน้ำท่วมเช่นกัน


ผมและทีมงานไม่สามารถขับรถผ่านเข้าพื้นที่ได้ ชาวบ้านที่อยู่ด้านในก็ไม่สามารถออกมาทำธุรกิจได้ ทางอำเภอเอาเรือท้องแบนมาบริการ ก็เป็นกรณีที่ชาวบ้านมีธุระด่วน จำเป็นจริงๆเท่านั้น

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุก 3-5 ปี และจะเกิดใหญ่มากๆทุก 20-30 ปี แต่โชคดีที่ความลาดชันของลำห้วยบางทรายจากแหล่งต้นสายน้ำจนไหลออกที่แม่น้ำโขงนั้นมีความลาดชันมาก หรือมีความต่างระดับมาก ปริมาณน้ำที่มากและท่วมล้นขึ้นมานั้นจะแห้งงวดลงภายใน 2-4 วันเท่านั้น แต่ก็ทำความเสียหายต่อพืช และสิ่งปลูกสร้างต่างๆแน่นอน


ในปีเดียวกันนั้น โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อาคารที่เห็นในรูปซ้ายมือนั้นคืออาคารสูบน้ำมีความสูงเท่ากับตึกสามชั้น จากภาพนี้ส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้น้ำ เพียงแต่น้ำไม่เข้าไปข้างในเท่านั้นเอง แต่ก็เสียว กลังว่าน้ำฝนจะมากเกินกว่าการออกแบบ อาคาร

ปีนั้นปริมาณน้ำสูงขึ้นเกือบไหลเข้าด้านในอาคาร เราต้องเดือดร้อนหาถุงทรายมากองเตรียมไว้จำนวนมาก แม้ว่า หากน้ำท่วมเข้าตัวอาคารเราก็ไม่อาจกั้นได้ โชคดีที่ปริมาณน้ำไม่มากถึงระดับนั้น

หากดูแผนที่ทางขวามือเราจะเห็นลำห้วยบางทรายโค้งงอไปมาตัวอาคารสูบน้ำคือตรง A จุดขาวๆนั่นแหละ ตรง C คือถังเก็บกักน้ำ และ B คือโค้งหักศอกของลำห้วยบางทราย ที่ตั้งอาคารสูบน้ำนั้นถูกกำหนดโดยวิศวกรของโครงการตามหลักวิชาการของวิศวกร เราไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แต่เมื่องานก่อสร้างสิ้นสุดลงและเริ่มใช้งานเราจึงพบจุดอ่อนของสถานที่ตั้งอาคาร ไม่ขอกล่าวในที่นี้

ย้อนกลับมาที่กันยายนที่กรมอุตุเตือนว่าฝนจะมาอีกรอบและจะหนักเอาการขนาดเตือนก่อนล่วงหน้า เราจึงเตือนชาวบ้านเช่นกันว่าระบบเตือนภัยของเราไม่มี อาศัยการพยากรณ์ของกรมอุตุฯที่ถือว่าเป็นกระบวนการทางศาสตร์ที่ยอมรับได้ จึงอย่านิ่งนอนใจ พึงระมัดระวัง เพราะรูปทั้งหมดที่เห็นนี้เป็นรูปเดือนกันยายน 2548 โน้น นี่ครบรอบเดือนกันยายนอีกแล้ว

อะไรที่รู้ล่วงหน้า เราก็เตรียมตัวได้ แต่มีหลายอย่างเราไม่รู้ล่วงหน้านี่ซิ ได้แต่ ร้อง อิอิ..



หลักการไม่เหมาะสมเสมอไป

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 กันยายน 2009 เวลา 1:17 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 2783

วันนี้มีการประชุมคณะที่ปรึกษาโครงการเพื่อเตรียมงาน Phase 2 ที่ประชุมกำหนดให้ผมเป็น Core team ในการยกร่างโครงการ


ในขณะเดียวกันก็จะมีการประชุมร่วมกับคณะ PSC (Project Steering Committee) ทุกสองเดือน เพื่อแจ้งความคืบหน้าโครงการให้ที่ประชุมทราบ โดยมีการเสนอว่าให้ทีมผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม ไม่จำเป็นต้องให้ผู้จัดการประจำจังหวัดเข้าร่วม

น่าจะมีสองเหตุผล คือ ไม่จำเป็นต้องยกขบวนมากันทุกคน และปล่อยให้เอาเวลาไปทำงานสนามจะมีประโยชน์กว่า โดยคิดว่าเฉพาะผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางก็สามารถดำเนินการต่างๆได้ในที่ประชุม PSC และนี่คือหลักการ

ผมคิดว่า เหตุผลก็น่าฟัง แต่หากพิจารณาลึกลงไปแล้ว ต่อกรณีโครงการแบบนี้ ลักษณะการประชุมที่เอาผลงานมาบรรยายให้คณะกรรมการฟังนั้น ผมคิดว่าผู้บริหารเสี่ยงเกินไปที่จะเชื่อมั่นเฉพาะผู้เชี่ยวชาญส่วนกลาง เหตุผลคือ


ผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางเป็นคนใหม่ของโครงการ และรับผิดชอบเฉพาะด้าน ส่วนผู้จัดการประจำจังหวัดและทีมงานที่จังหวัดทำงานกิจกรรมต่างๆมากับมือย่อมรู้ตื้นลึกหนาบางของงานที่ทำทั้งหมด หากในกรณีที่คณะกรรมการ PSC ซักถามรายละเอียดลึกๆ การดิ้นไปตามจินตนาการนั้นเสี่ยงต่อความผิดพลาด แต่หากผู้ทำกิจกรรมเป็นผู้ตอบย่อมมีเหตุมีผล หรือมีน้ำหนักมากกว่าการใช้ตรรกเท่านั้น

ในกรณีนี้เห็นว่าผู้จัดการประจำจังหวัดที่เป็นคนเดิมสมควรเข้าร่วมการประชุมด้วย เพราะเมื่อมีคำถามเนื้อหางานเชิงลึกก็สามารถอธิบายข้อเท็จจริงได้จากประสบการณ์การทำงานจริงๆในสนาม..

ในกรณีนี้ เห็นว่าหลักการนั้นไม่เหมาะสมเสมอไป


ปลูกป่าให้ปู่

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 สิงหาคม 2009 เวลา 0:15 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 3071

ป่ากับไทบรูเป็นของคู่กัน เป็นวิถีชีวิต เป็นแหล่งพึ่งพิงของชาวไทบรูมาตลอด จนเราคนนอกมีความรู้สึกว่า มากเกินพอดี ป่ากับชาวบรูหรือโซ่ ผูกพันกันมากกว่าที่คนภายนอกที่ฉาบฉวยจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

อาหารประจำวันของชาวบรู หรือโซ่ นั้นมาจากป่า ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น หนุ่ม วัยครอบครัวเลยไปจนถึงผู้เฒ่า เดินขึ้นป่าเหมือนคนเมืองเดินห้าง การเข้าไปนอนในป่าเพื่อหาสัตว์ป่าเป็นอาหาร เหมือนคนเมืองกางเต็นท์สวยๆนอนในวันสิ้นสุดสัปดาห์

อาจเรียกได้ว่าปัจจัย 3 ใน 4 ของชาวบรูนี้ มาจากป่า คือ อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย แม้ว่ายุคเงินตราจะเข้ามาเป็นปัจจัยใหม่เป้าหมายของชีวิต เขาก็ไม่ทิ้งห่างจากป่า และความผูกพันของป่านอกจากสิ่งที่กล่าวมานั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือ การเคารพ นับถือสิ่งเหนือธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือ ศาลปู่ตา หรือเจ้าปู่ เป็นสิ่งสูงสุดของความเชื่อถือ


ปีนี้เราก็ร่วมงานกับเครือข่ายป่าชุมชนในดงหลวงจัดพบปะหารือกิจกรรมร่วมกัน โดยมีเครือข่ายไทบรูเป็นแกนหลัก คณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งมาปรึกษาหารือจัดทำแผนงานและแลกเปลี่ยนกัน


ทุกปีสมาชิกเครือข่ายไทบรูและคณะกรรมการป่าชุมชน จะขึ้นป่าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ป่ามาเพาะกัน ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปปลุกขยายในป่าหัวไร่ปลายนา หรือที่ที่เหมาะสม และอีกส่วนหนึ่งก็เตรียมไว้ขายให้แก่ราชการ หรือทางโครงการต่างๆที่ต้องการ


จากรูปซ้ายมือจะเห็นถุงเพาะต้นไม้ที่ชาวบ้านใช้ถุงใสแทนถุงดำ ทั้งนี้เพราะชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ที่หาวัสดุการเพาะกล้าไม้ได้ไม่ง่าย จึงเก็บถุงใสที่ได้จากการซื้อสินค้าต่างๆไว้ แล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ พืชป่าที่ชาวบ้านเพาะและปลูกครั้งนี้มี ต้นยางแดง ต้นยางนา มะค่าโมง ประดู่ ซึ่งวันนี้นำไปปลูกในบริเวณป่าปู่ตาประจำหมู่บ้านเลื่อนเจริญ

เจ้าปู่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่พี่น้องไทบรู ทำพิธีตามความเชื่อของชนเผ่าปีละหลายครั้ง เช่น ก่อนเริ่มฤดูทำนา ก่อนเกี่ยวข้าว และช่วงพิธีกรรมตามฮีต คองต่างๆ รวมทั้งการเสี่ยงทายตามความเชื่อต่างๆของชนเผ่า และนี่ก็เป็นองค์ประกอบตามวิถีบรู คนนอกหากไม่เห็นนามธรรมที่เป็นเบ้าหลอมระบบคิดของเขาอย่างเข้าใจแล้ว จะพัฒนาได้อย่างไร มุมมองนี้ไม่สามารถจะออกแบบการพัฒนาชุมชนได้จากภายนอก เหมือนสินค้าสำเร็จรูปได้

เราจึงสนับสนุนพี่น้องไทบรู ไปปลูกป่าให้ปู่(ตา)กันเมื่อเช้านี้ แม้จะมีต้นไม้เพียง 800 ต้น จำนวนคนเข้าร่วมเพียง 50 คน แต่ความหมายนั้นยิ่งใหญ่ ความอิ่มเอมทางใจที่ไทบรูได้กระทำให้เจ้าปู่ ที่เป็นที่สุดของความเชื่อ..


ความศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ นำมาซึ่งความอุดมของสิ่งแวดล้อม อันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งต่อวิถีบรู และสังคมโดยรวม เมื่อเราเริ่มนับหนึ่ง การสะสมก็ได้เริ่มต้นแล้ว..


วิถีดงหลวง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 22:44 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 8176

เช้าวันนั้นนัดกับพ่อหวังที่บ้านในสวน เพื่อทำ Mini Dialogue กรณีนายสีวร ที่มาทำงานในสวนพ่อหวังนานถึงสองปี แต่วันนั้นแม่บ้านและชาวบ้านทุกคนต้องแบ่งเวลาทำขนมเพื่อไปทำบุญใหญ่ประจำปีที่เรียกว่า “บุญข้าวประดับดิน” ตามประเพณีของอีสาน พ่อหวังจึงต้องมาดูแลร้าน เพื่อให้แม่บ้านมีเวลาดังกล่าว


การพูดคุยไม่ประสบผลสำเร็จตามตั้งใจเพราะที่ร้านจะมีคนเข้าออกตลอดเวลา สถานที่พูดคุยติดถนนก็มีรถมอเตอร์ไซด์วิ่งเสียงดัง จึงเปลี่ยนหัวข้อคุยกันเป็นเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเราได้ผนวกเข้ามาในแผนงานของเราแล้ว


ระหว่างที่เราคุยกันอย่างไม่มีสมาธินั้น สายตาไปเห็นสตรีชาวบ้าน เดินผ่านไป มีถุงปุ๋ยและตะกร้าห้อยพะรุงพะรังทั้งสามคน ผมแว๊บขึ้นมาทันทีว่านี่คือ “พี่น้องมาขอแลกข้าว” แน่เลย ผมถามแม่บ้านพ่อหวัง เธอบอกว่าใช่ มาจากตำบลพังแดง น่าจะเป็นบ้านห้วยคลอง หรือหนองเลา อยากจะเดินไปจับภาพสวยๆและขอคุยด้วย ก็จะทำลายการพูดคุยที่กำลังดำเนินการไป

หลังจากพูดคุยจบก็เดินทางต่อไปบ้านเปี๊ยด เพื่อเยี่ยม “พ่อเตี๋ยน ตาหมู” สมาชิกไทบรู ผมก็พบภาพนี้อีก แสดงว่าคงจะมากันหลายคนและแบ่งกันไปตามหมู่บ้านต่างๆ

พฤติกรรมการเดินทางมาขอข้าว สอดคล้องกับช่วงที่ชาวบ้านกำลังเตรียมทำบุญใหญ่ ที่เรียกว่าบุญข้าวประดับดินในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทุกครอบครัว ทุกหมู่บ้านต่างนั่งล้อมวงกันทำขนมเพื่อเอาไปถวายพระในวันบุญใหญ่ดังกล่าว

กลับมาที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ของเราคนหนึ่งมีบ้านอยู่ที่ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นเขตติดต่อกับ อ.เขาวง ซึ่งติดต่อกับ ต.กกตูม ของ อ.ดงหลวง เธอกล่าวว่า ในอดีตทุกปีในช่วงงานบุญใหญ่เช่นนี้ พี่น้องชาวโซ่ ดงหลวงจะลงไปขอข้าว ขอขนมหรือสิ่งอื่นๆที่เป็นส่วนเกินที่ชาวบ้านไปทำบุญที่วัด อดีตย้อนไปอีกจะขอเสื้อผ้า เงินทอง หากย้อนลึกนานหลายๆปี ชาวโซ่ไปขอเกลือด้วยซ้ำไป

ประเด็นคือ ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี่ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากมายหลายประการ แต่การทำนาข้าวก็ยังพึ่งพาธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่เชิงเขา ความเสี่ยงในการมีข้าวพอหรือไม่พอกินยังเป็นปัญหาพื้นฐานอยู่ แม้ปริมาณจำนวนครัวเรือนที่ขาดแคลนข้าวจะลดลงมา แต่เราก็ยังเห็นภาพชาวบ้านเดินมาขอข้าวกินดังกล่าวนี้


นึกย้อนไปดูพฤติกรรมชาวบ้านพังแดง ในพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าห้วยบางทรายที่เห็นหน้าเราทีไรก็ร้องเรียนว่า อยากให้ปล่อยน้ำออกจากถังวันละสองเวลาได้ไหม ราคาค่าน้ำแพงไป ฯ แต่กระนั้นการเก็บค่าน้ำก็ไม่มีติดขัด ทุกครอบครัวที่ใช้น้ำก็ยินดีที่จ่ายค่าใช้น้ำ ในทัศนะเขากล่าวว่าแพง เพื่อให้ได้น้ำไปใส่แปลงนาข้าว เป็นหลักประกันว่าข้าวที่ปลูกนั้นจะได้ผลเต็มที่ นั่นหมายถึง การมีข้าวกินเพียงพอตลอดปี นี่คือความหวังสูงสุดของชาวบ้าน นี่คือการใช้ประโยชน์โครงการในมุมของชาวบ้าน “เขาไม่อยากเดินไปขอข้าวกิน…”

ขณะที่โครงการนี้กำหนดเป้าหมายว่า เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจในฤดูแล้งหรือหลังนา ที่เราแนะนำในรูปแบบ Contract Farming

นี่คือความจริง ที่เราต้องคิดทบทวนกิจกรรมของโครงการทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมพื้นฐานอื่นๆในพื้นที่ที่มีชาวบ้านเป็นคนไทยเชื้อสายโซ่ และอยู่ในระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบเชิงเขา เช่น ดงหลวง..

หากไม่ลงมาคลุกคลีกับชาวบ้าน ก็ไม่มีทางเห็นภาพเหล่านี้ หากไม่วิเคราะห์เรื่องราว ก็เป็นเพียงภาพที่ผ่านตาเราไปเท่านั้น คิดเลยไปถึงว่า แค่การแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินยังไม่ได้ การวาดฝันสิ่งอื่นๆก็เป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาข้าวไม่พอกินนี้..

หากเราคิดงานพัฒนาที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริงของพื้นที่ ก็คงไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน มันเป็นเพียงตอบสนองความหวังดีของเราเท่านั้น


ทดสอบเอาภาพขึ้น comment ครับ

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 10:08 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 2799


การล่มสลายของ KM ธรรมชาติ(แบบวิถีชีวิตเดิม)

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 12:41 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 3655

ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพชีวิตชนบทธรรมดาๆที่ไปที่ไหนๆก็มีให้เห็น เมื่อใครต่อใครเห็นภาพแล้วคงมีหลายมุมมอง อย่างไม่น่าเชื่อนะครับ หากความคิดแต่ละคนมีเสียงดังออกมาคงวุ่นวายน่าดู


คนเมืองบางคนเห็นภาพนี้แล้วเราได้ยินความคิดในใจของเขาว่า “ยี้.. สกปรกจังเลย อะไรก็ไม่รู้ ไม่เจริญหูเจริญตาเลย ดูซิต้นพืชอะไรเกะกะบ้านรกหูรกตาไปหมด ไม่รู้จักกวาดไม่รู้จักทำ ขี้เกียจซะไม่เมี๊ยะ…”

เราอาจจะได้ยินความคิดบางคนอีกว่า “มานั่งทำอะไรกัน งานการไม่ไปทำ แล้วมาบ่นว่ายากจน ก็ขี้เกียจอย่างงี้นี่เล่า..”

แต่หากเป็นคนทำงานชนบท คงต้องตั้งสมมติฐานในใจว่า เอ เขามานั่งทำอะไรกันหนอ เข้าไปพูดคุยสักหน่อย อ้อนั่นเป็นต้นถั่วที่เอามาจากแปลงปลูกเพื่อเอามานั่งเก็บผลผลิตเอาไปขายได้เงินมาเข้าครอบครัว ไม่รู้ว่าราคาเป็นอย่างไรปีนี้ ผลผลิตดีไหม ฯลฯ …


และหากเราจะเดินเข้าไปใกล้อีกซักหน่อย ก็จะเห็นว่าสตรีเสื้อเหลืองสรวมหมวกท่านนั้นกำลังทำขนมชนิดหนึ่ง หากจะนั่งลงแนะนำตัวเองเป็นใครมาจากไหนมาทำอะไร แล้วสอบถามกิจกรรมที่เขาเหล่านั้นกำลังทำอยู่เราก็จะได้เข้าใจ และได้ความรู้มากมาย และเมื่อเราคุ้นชิน สนิทสนมกลมเกลียวแล้ว นั่งอยู่ในวงนั้นนานแล้ว เราจะได้เรื่องราวที่น่าสนใจหลายประการ


ย้อนกลับไปดูรูปแรกซิ องค์ประกอบของภาพบ่งบอกว่ามีคน 3 generation อยู่ที่นั่น นั่งอยู่บนลานปูนหน้าบ้านพ่อเฒ่า ซึ่งมีอายุมากสุด กลุ่มคนวัยกลางคนที่เป็นสตรี และกลุ่มเล็กสุด เป็นลูกหลานที่นั่งตักแม่ นั่งเล่นบนตัวแม่ที่แปลยวน ต่างก็นั่ง ล้อมวงคุยกันและมีสตรีเสื้อสีเหลืองทำขนมสำหรับไปงานบุญใหญ่ข้าวประดับดินในวันพรุ่งนี้ที่วัด เดาซิว่าในกลุ่มนี้สักกี่คนที่จะไปวัดพรุ่งนี้ ไปกันเกือบหมดยกเว้นเด็กเล็กนั่น

เรื่องราวสารพัดเป็นประเด็นพูดในวงนี้ แบบธรรมชาติของชีวิตปกติ ถ้าไม่มีผมอยู่ตรงนั้นก็ยิ่งเป็นธรรมชาติมากกว่านี้อีก เนื้อในคือ

  • กระบวนการทำขนมพื้นบ้านไปถวายพระที่วัดในวันพรุ่งนี้ เด็กๆได้เห็นการทำขนม ก่อนหน้านี้เขาอาจมีส่วนในการช่วยสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่นไปช่วยแม่ตัดใบตอง เอาใบตองมาผึ่งแดด ช่วยแม่เตรียมมะพร้าวมาประกอบการทำขนม ฯลฯ เขาเรียนรู้ไปโดยธรรมชาติ แบบสอนโดยไม่สอน เรียนโดยไม่ต้องเข้าห้องเรียน ทำจริง สัมผัสของจริง
  • พ่อเฒ่ามาลำดับญาติพี่น้องให้ลูกหลานฟัง คนนั้นคืออาว์ คนนี้คือน้า คนนั้นคือพี่ การลำดับญาตินี้ไม่ได้สอนแบบทางการเพียงบอกว่า ไอ้หนู ไปหยิบมีดให้พ่อลุงหน่อย ไอ้หนู ไปหยิบใบตองมาให้ป้าหน่อย มันเป็นธรรมชาติ เด็กเรียนรู้ว่าใครคือใคร ระหว่างหยิบของเดินเอาไปให้ พ่อเฒ่าก็จะสอนกิริยามารยาท ไอ้หนูเดินระมัดระวังของ อย่าไปเหยียบเข้า เดินห่างๆผู้ใหญ่ เดินผ่านผู้ใหญ่ต้องขอโทษ ต้องค้อมหัว หรือแสดงอาการคารวะ มันเป็นธรรมชาติ ฝึกแบบธรรมชาติ ไม่เคอะเขิน ไม่แปลกแยก ไม่ได้เสแสร้ง
  • ความรักความเอ็นดู เกิดขึ้น เด็กเห็นขนมก็อาจจะอยากกิน ผู้ใหญ่ก็อาจแบ่งขนมออกมาใส่จานต่างหากให้เด็กได้กินแบบแยกส่วนออกมา เด็กๆก็สนุกด้วย อิ่มด้วย
  • เรื่องราวต่างๆถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พ่อเฒ่าอาจจะเล่าเรื่องราวการทำขนมในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจเล่าเรื่องราวประเพณีนี้ในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจจะเล่าถึงพระหลวงพ่อที่วัดให้ฟัง ความเชื่อ ความศรัทธา ความดี ความไม่ดี การเคารพนับถือ ปรากฏการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอดีตที่เกี่ยวข้องกับวันบุญข้าวประดับดินอาจถูกส่งต่อให้ generation ที่สองที่สามได้ฟังผ่านวงทำขนมเล็กๆวงนี้ อะไรที่สำคัญ อะไรที่หยาบช้าไม่ดีไม่งาม ที่สังคมแห่งนี้สรุปไว้ถูกถ่ายทอดสู่รุ่นหลังอย่างเป็นธรรมชาติ ความสำคัญของบุญข้าวประดับดินเป็นอย่างไร นี่คือ ฮีต นี่คือ คอง หรือ คลอง หรือครรลอง ของวิถีอีสานถูกถ่ายทอด แล้วจะถูกทำซ้ำๆ(Reproduction) ในปีต่อไป
  • มันเป็นการบูรณาการจากสภาพจริงๆ ไม่ใช่มาเรียนเรื่องทำขนมเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี มารยาทในสังคม ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ฯลฯ ผสมกลมกลืนกันไปอย่างไม่แยกส่วน


นี่คือ กระบวนการเรียนแบบธรรมชาติ

นี่คือ การส่งต่อคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ จากรุ่นสู่รุ่น

นี่คือ ทุนทางสังคม

นี่คือ ความสัมพันธ์ทางแนวราบ

นี่คือ ความงาม ที่เสื่อมลงทุกทีเมื่อสภาพสังคมเมืองคืนคลานเข้ามา ในรูปของความทันสมัย ความก้าวหน้า ความสะดวกสบาย ความมีรสนิยม แม้การศึกษาในรูปแบบก็เข้ามาแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ อันๆ ยากที่จะเข้าใจอย่างผสมกลมกลืน

การปรับตัวแบบใดหนอที่จะผสมผสานเก่ากับใหม่ให้ลงตัวได้ เพราะเราหลีกการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราก็โหยหาคุณค่าเดิมๆอยู่


ข่า VS งานก่อสร้าง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 สิงหาคม 2009 เวลา 10:04 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5734

ฟังดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย ผมเองก็คิดเช่นนั้น นอกจากคิดเลยไปว่า งานก่อสร้างหลายประเภทผู้รับเหมามักจะไหว้ครู ไหว้เจ้าที่ ไหว้ผี เขาเอาข่ามาประกอบเครื่องเซ่นไหว้รึ…

อย่างอื่นนึกไม่ออก..


วันก่อนที่พาทีมงานไปเยี่ยมแปลงเกษตรผสมผสาน ผมได้ไปเตรียมงานกับเจ้าของแปลงก่อน โดยเดินดูบริเวณทั้งหมดแล้วก็คุย แลกเปลี่ยนไปด้วย นับได้ว่าลุงเตี้ย เจ้าของแปลงเป็นผู้ที่ผมนับถือความเชื่อมั่นใจทางออกของวิถีเกษตรกรแบบ “ระบบนิเวศเชิงเขา”

เฝ้าปลูกฝังพืชผักต่างๆเพื่อเอาไว้กินเองและขาย โดยแม่บ้านเป็นผู้เอาไปขายเองอย่างกระตือรือร้น อิอิ เพราะได้เงินทองเข้าครอบครัวเธอชอบ..

ช่วงหนึ่งเราเดินทางถึงต้นข่าที่ปลูกเต็มพื้นที่ไปหมด ว่างตรงไหนก็ปลูกตรงนั้น เจ้าข่านี่สามารถปลูกโดยอาศัยร่มไม้ใหญ่ได้ ข่านับว่าขายดี ผู้บริโภคเอาไปลวกกินกับน้ำพริก อร่อย และเป็นสมุนไพร..

ลุงเตี้ย หรือนายสีวร กล่าวว่า … อาจารย์ พวกก่อสร้างก็ชอบมาเหมาต้นข่าที่ไม่เอาหัวข่า เอาเฉพาะต้นมัน ส่วนที่อยู่บนดิน ..ผมงง

ลุงเตี้ย: เขาเอาต้นข่าไปใส่หล่อเสาปูน…. ผมก็ยัง งง

ลุงเตี้ย: คืองี้ เวลาเขาหล่อเสาปูน ตามหัวเสาช่างเขาจะทำรู ขนาดเท่าน๊อต มาตรฐานเพื่อใช้ยึดสิ่งต่างๆ ตามงานก่อสร้าง.. หากใช้ไม้หรือเหล็ก มาใส่ทำรูนั้น เมื่อการหล่อปูนแห้งลงเหล็กหรือไม้ก็จะติดกับปูน เอาออกยาก การใช้ต้นข่า ซึ่งมีขนาดพอดีนั้น เมื่อปูนแห้ง เจ้าต้นข่าก็เหี่ยว แห้ง สามารถเอาออกมาได้ ก็จะได้รูหัวเสา ตรงตามต้องการ

ลุงเตี้ย: เขาจะมาเหมาซื้อ 100 ต้น 50 บาท

ลุงเตี้ยพึงพอใจ ต่อกิจกรรมการเกษตรที่ทำมาตลอด 10 กว่าปีมานี้ ทำให้ครอบครัวเขามีความสุข และมีหลักประกัน ลดความเสี่ยงของชีวิตครอบครัวได้..


ทำไมจึงขอหน่อกล้วย..

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 สิงหาคม 2009 เวลา 1:33 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5264

ทำไมผมจึงขอความอนุเคราะห์หน่อกล้วย

เรื่องมันคือ ช่วงนี้ผมลงพื้นที่ตระเวนเยี่ยมเยือนผู้นำชาวบ้านในเครือข่ายองค์กรชุมชน ผมพบว่า ผู้นำเกษตรกรก้าวหน้าไปมากในเรื่องการตื่นตัวทำการเกษตรผสมผสาน ปลอดสารพิษ อินทรีย์ ฯลฯ เพื่อการพึ่งตนเอง พึ่งพาในระดับชุมชน อันเป็นเป้าหมายของโครงการ และเป็นข้อสรุปของเครือข่ายชาวบ้านต่อสถานการณ์วิถีชีวิตในปัจจุบันและอนาคต

พอดีทีมงานโครงการจาก 3 จังหวัดเดินทางไปประชุมที่มุกดาหาร และถือโอกาสดูงานในพื้นที่ ผมก็ลงไปเตรียมเกษตรกรเพื่อรับคณะทีมงานที่จะมาวันที่ 13-14 นี้


ลุงเตี้ย(คนซ้ายมือ) ความจริงอายุแค่ 40 เองแต่เขาเรียกตัวเองอย่างนั้น เป็นผู้นำรุ่นสองของเครือข่ายไทบรูที่เราสนับสนุนอยู่ ได้เปลี่ยนอาชีพช่างรับจ้างกลับบ้านมาทำการเกษตรผสมผสาน โดยมีผู้นำรุ่นหนึ่งเอาตัวไปฝึกฝนเสีย 1 ปีเต็มในสวนของผู้นำรุ่นหนึ่งนั้น

แล้วลุงเตี้ยก็ออกมาทำสวนเองและประสบผลสำเร็จ แกปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก ตามหลักการของเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนครที่เป็นพี่ใหญ่ มีพืชผักมากพอที่จะเก็บเกือบทุกวันให้เมียเอาไปขายที่ตลาดในอำเภอดงหลวง ซึ่งลุงเตี้ยอวดว่า ผมไม่เคยทราบเลยว่าเมียผมมีเงินเก็บเท่าไหร่แล้ว เพราะผมยกให้เขาเป็นคนจัดการ..

นาที่ไม่เคยปลูกข้าวพอกินก็ได้ผลผลิตมากขึ้น พอกินทุกปี เพราะได้น้ำซับจากสวนที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นมากพอซับน้ำ และใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ที่ทำขึ้นมาเอง…


นายยงค์เป็นเพื่อนบ้าน เห็นผมทำสำเร็จ(คนขวามือในรูป) จึงมาคุยด้วยและอยากทำบ้าง ลุงเตี้ยจึงให้ความรู้และแนะนำจากประสบการณ์ตนเอง สิ่งที่แนะนำก่อนคือให้เอากล้วยไปปลูก บนพื้นที่ดินดอนที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังมาก่อนหลายปี เพียงอายุ 4 เดือนกล้วยที่นายยงค์ปลูกไปก็โตเท่าที่เห็น ซึ่งงามมาก เป็นที่ภูมิใจของผู้แนะนำ โดยเฉพาะนายยงค์เจ้าของแปลง ที่ลุงเตี้ยบอกว่า ..แกยังไม่มีบ้านสวนหรือเถียงนา บ้านแกอยู่หน้าอำเภอ วันวันเวียนมาสวนหลายรอบ เพราะอยากอยู่สวน


ระหว่างแถวเอาไม้ผล ผักหวานป่ามาปลูก กำลังขึ้นสวยเพราะได้น้ำฝนดี


กลางที่ดินนายยงค์เจาะน้ำบาดาล และก็ได้น้ำมาใช้ โดยใช้แรงคนโยกเอา ที่ดินที่ติดกันก็เป็นของนายยงค์ แต่น้องชายขอเอาไปปลูกมันสำปะหลัง นายยงค์บอกว่า หลังกู้มันฯแล้วจะเอาที่ดินคืนมาปลูกสวนให้หมด รวมพื้นที่น่าจะประมาณ 5 ไร่


ยังไม่มีเถียงนาก็ได้อาศัยกอไผ่นี้บังร่มแดดและฝน และใช้พักผ่อนบ้าง


คุยกันไปมา เกิดแนวคิดขึ้นมาว่า นายยงค์สนใจทำสวนจริงๆ ใจรัก ใจให้แล้ว และเริ่มจากกล้วย และก็ทำได้ดี ลุงเตี้ย บอกว่า นายยงค์น่าจะพิจารณาทำเป็นแปลงสะสมพันธุ์กล้วยต่างๆซะเลย ก็ไปดูว่าบ้านใครมีกล้วยอะไรก็เอามาสะสมไว้ที่นี่ ต้นใหญ่ซ้ายมือนั่นก็เป็นกล้วยท้องถิ่น ที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นยาสมุนไพรด้วย นายยงค์พยักหน้า แล้วก็กล่าวว่าน่าสนใจ..

ผมก็เล่าประสบการณ์ เรื่องกล้วยให้ฟังบ้าง แลกเปลี่ยนกัน เช่น ทางเหนือเอากล้วยป่ามาปลูกเพื่อเอาใบมาห่อขนม เพราะใบกล้วยป่ามีความเหนียวกว่า ที่ราชบุรีและชุมพรปลูกกล้วยหอมทองส่งขายญี่ปุ่น และยังมีความต้องการอีกมาก การปลูกกล้วยให้เครือออกทิศเดียวกัน และ ฯลฯ….

เราตกลงกันว่าจะแวะเวียนไปเยี่ยมกลุ่มผู้นำรุ่นสองนี้แล้วจัด Dialogue กันแบบธรรมชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ลุงเตี้ยบอกว่าอยากให้มาบ่อยๆ อยากได้คำแนะนำต่างๆ..

จากแนวคิดที่สนับสนุนให้นายยงค์ปลูกกล้วยเพื่อสะสมพันธุ์ไว้ เพื่อเป็นแหล่งให้พี่น้องในเครือข่าย และอื่นๆเข้ามาศึกษาต่อ หรือขยายพันธุ์ออกไป เราจึงต้องเริ่มหาช่องทางเพื่อสะสมกล้วยมากขึ้น..

พอดีไปเห็นบันทึกโสทรเข้า เลยอยากเอามาให้ชาวบ้านปลูกเป็นการสะสมพันธุ์และศึกษาต่อไป



Main: 1.1022229194641 sec
Sidebar: 0.016847133636475 sec