นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๑
อ่าน: 6442เกริ่นนำ: โครงการ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน”(คฟป.) ได้ดำเนินงานที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว เมื่อมองย้อนคืนกลับไปตั้งแต่เริ่มโครงการ สามารถถอดบทเรียนได้หลายบท หลายแง่มุม ดังนี้
แนะนำลักษณะของโครงการโดยสังเขปดังนี้ คฟป. มีเป้าหมายหลักที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการ และรูปแบบการใช้ที่ดิน ให้มีลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน เช่น ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างกลุ่มองค์กรชาวบ้านให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลักษณะของงานประกอบด้วย สามภาคส่วนหลักๆคือกลุ่มงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาถนน และแหล่งน้ำ กลุ่มงานพัฒนาการเกษตร คือ การส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน และกลุ่มงานพัฒนาองค์กรชุมชน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรเกษตรกรให้สามารถประสานกันเป็นเครือข่ายประชาชน ต่อมาภายหลังได้มีการเพิ่มงานในด้านตลาดชุมชนขึ้นอีกด้านหนึ่ง ในแต่ละกลุ่มงานมีกิจกรรมย่อยๆมากมาย ตามความสนใจของเกษตรกรและจากผลการวิเคราะห์ชุมชน
เจ้าของงานได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ส่วนเจ้าของเงิน(กู้) ได้แก่ JABIC (Japan Bank for International Cooperation) เจ้าหนี้รายใหญ่ของเรานี่เอง ซึ่งมีเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินต้องมีที่ปรึกษาไปช่วยดูแล งานก็เลยมาเข้ามือที่ปรึกษาเราด้วยประการฉะนี้
กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัทจากประเทศเจ้าของเงิน และจากเจ้าของบ้านรวม ๔ บริษัท ทำสัญญากับเจ้าของงานในนามบริษัทร่วมค้า นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีผู้ร่วมงานในส่วนของเอ็นจีโอ ได้แก่ มูลนิธิหมู่บ้านซึ่งชักนำให้โครงการฯได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายอินแปง และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกในเวลาต่อมา แน่นอนที่ต้องมีฝ่ายข้าราชการจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาทำงานร่วมด้วย ในระยะต่อมาเรายังมีทีมงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช่วยทำงานอีกหน่วยงานหนึ่ง
พื้นที่และการบริหารองค์กร : พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขต ส.ป.ก. ของจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร การบริหารงานในส่วนของที่ปรึกษา ในระยะเริ่มโครงการ การทำงานจะได้รับการวางกรอบจากสำนักงานที่ปรึกษาส่วนกลางซึ่งประกอบ ด้วยผู้เชี่ยวชาญมากๆทั้งจากญี่ปุ่นและคนบ้านเราเอง ในแต่ละจังหวัดมีสำนักงานที่ปรึกษาซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร ด้านเกษตร และด้านวิศวกรรมอยู่ประจำ เพื่อคอยทำงานในส่วนรายละเอียด แต่การจัดองค์กรรูปแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล เพราะคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ย่อมรู้สภาพจริงได้ดีกว่าผู้ที่วางแผนอยู่ที่ส่วนกลาง จึงมีการปรับองค์กรของที่ปรึกษาให้เหมาะสม ตัวผมเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเกษตรประจำจังหวัดมุกดาหาร ดังนั้นบทเรียนที่จะถอดออกมานำเสนอในต่อไปนี้ จะมาจากประสบประการณ์ที่ได้พบเจอในพื้นที่ทำงานจังหวัดมุกดาหารเป็นหลัก
พื้นที่ทำงาน พื้นเพของเกษตรกร : พื้นที่ทำงานของผมตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน สภาพพื้นที่มีที่ราบแคบๆริมลำน้ำห้วยบางทรายใช้เป็นที่นา และที่อยู่อาศัย พี่น้องชาวบ้านมีเชื้อสาย “โส้ หรือ กระโส้ หรือ ข่าโซ่” ที่ยังรักษาขนบประเพณีประจำเผ่าไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาษาพูดประจำเผ่าซึ่งอยู่ในตระกูลภาษามอญ-ขแมร์ ชาวโส้เรียกตัวเองว่า “กวย” แปลว่าคน พี่น้องชาวโส้ก็คือเผ่าเดียวกับชายกูยที่มีช้างเลี้ยงมากๆที่สุรินทร์นั่นเอง วิถีชีวิตของพี่น้องที่ดงหลวงยังคงพึ่งพิงป่าเป็นอย่างมาก ปัญหาข้าวไม่พอกินยังพบปรากฏอยู่ทั่วไป เนื่องจากพื้นที่ทำนามีน้อย พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวไร่ก็ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯ พี่น้องที่ขาดข้าวต้องหาเก็บของป่าเช่นหน่อไม้ ยอดหวาย นก หนู กระรอก บ่าง นำไปขอแลกเอาข้าวมากิน พี่น้องชาวโส้ดงหลวงเคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมือง เคยทิ้งหมู่บ้านให้ร้างหนีเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในป่าหลายปีก่อนที่จะกลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง มีผู้นำชุมชนหลายร้อยคนที่เคยไปศึกษาด้านการเมือง การทหาร การแพทย์จากเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เรื่องอุดมการณ์แนวคิดจึงกว้างไกลกว่าชาวบ้านทั่วไปอยู่มาก
แรกๆก็ทำงานดุ่มๆไปตามแผน : โจทย์ที่ได้รับเมื่อแรกเริ่มเดิมที สำหรับงานหลักๆด้านพัฒนาการเกษตรตามที่วางแผนไว้ในระยะวางโครงการ ได้แก่การขุดสระเก็บน้ำในไร่นา แล้วไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักกาด ผักชี ผักนานาชนิดอยู่ที่ขอบสระ แต่ผลการทำงานสำหรับในพื้นที่มุกดาหารแล้วถือว่าประสบผลสำเร็จน้อยถึงน้อยที่สุด เพราะ
-
มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการ คือสมัครขอรับสระประจำไร่นาจำนวนน้อยมากไม่ถึงสามร้อยสระ(จากที่ตั้งเป้าไว้ ๑,๒๐๐ สระ อันนี้ก็ไม่ทราบว่าท่านใดเป็นผู้ตั้งเป้าและใช้เกณฑ์ใดมาตั้ง) พี่น้องชาวบ้านได้บอกเหตุ ผล ที่ไม่ยอมให้ขุดสระเนื่องจากพี่น้องมีพื้นที่นาเพียงแปลงเล็กๆ ไม่อยากเสียที่นาไปกับการขุดสระ พี่น้องอยากได้บ่อบาดาลมากกว่า
-
เกษตรกรที่ได้รับสระไม่ได้ปลูกผักบริเวณขอบสระตามแผนที่ได้วาดฝันกันไว้ ทั้งนี้พี่น้องได้บอกถึงสาเหตุที่ไม่ปลูกผักว่า “อยากปลูกผักอยู่แต่ดินขอบสระคุณภาพไม่ดีช่างขุดไม่ได้เอาหน้าดินมาใส่ข้างบนคืนให้” “พี่น้องไม่ได้ต้องการขุดสระไว้ปลูกผักแต่จะเอาน้ำไว้ทำนา” “ผักสามารถหาเก็บได้ตามป่าตามธรรมชาติมากมาย” “ปลูกแล้ววัวควายที่เขายังเลี้ยงกันแบบปล่อยทุ่งก็มากัดกินมาเหยียบย่ำ” ถอดบทเรียนได้ว่าในระบบนิเวศน์เชิงเทือกเขาภูพานที่ชาวบ้านมีที่ดินขนาดเล็ก มีอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ การขุดสระประจำไร่นาแล้วให้ปลูกผักกินนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากเกษตรกร
บทเรียนอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถนน : พลาดไปเพียงคำเดียว สาเหตุมาจากมีงานก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านสายหนึ่งที่ทางโครงการได้เปิดประมูลไปแล้ว และกำลังจะเริ่มการก่อสร้าง ประจวบกับว่าเส้นทางดังกล่าวได้รับงบประมาณจากโครงการ“พิเศษ” ซึ่งจะสร้างถนนให้ใหญ่กว่าพร้อมทั้งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำให้ด้วย เมื่อเกิดการแย่งงานกันระหว่างผู้รับเหมาสองเจ้าขึ้นมาพี่น้องชาวบ้านก็ต้องเลือกอยู่ข้างที่มาสร้างของที่ดีกว่าให้แน่นอน เรื่องนี้งานเข้าตัวผมอย่างไม่นึกว่าจะพาตัวเองเข้าไปพัวพันด้วย เรื่องของเรื่องคือเผอิญเป็นคนรับโทรศัพท์จากท่านสมาชิกอบต.ประจำหมู่บ้าน ว่าพี่น้องจะรวมตัวประท้วงขับไล่ผู้รับเหมาของส.ป.ก.ไม่ให้สร้างถนน ความจริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนักพัฒนาการเกษตรอย่างผมที่จะไปรับรู้ แต่ในเมื่อต้องดูแลสำนักงานที่ปรึกษาแทนผู้จัดการฯ ก็พูดคุยสอบถามให้ได้ความ พร้อมทั้งรับปากว่าจะประสานฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ไปพบท่านภายในวันนี้ และสุดท้ายก็หลุดคำพูดออกไปว่า “ขอให้พี่น้องใจเย็นๆนะครับ ให้หน่วยงานเขาเจรจากันเอง ให้ผู้รับเหมาเขาหาข้อตกลงกันก่อน หากเราออกหน้าประท้วงกันอาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ปรากฏว่าคำ “เครื่องมือ”ของผมกลายเป็นประเด็นขึ้นมากลบกระแสต่อต้านส.ป.ก.ไปเสีย เมื่อนักการเมืองประจำหมู่บ้านหยิบยกเอาคำพูดของผมไปแปลงเป็นว่า “อาจารย์เปลี่ยนหาว่าพวกเราตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น” พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นแกนนำในการต่อต้าน “อาจารย์เปลี่ยน” จะพากันไป “ฟ้องหมิ่นประมาท” ช่วงนั้นผมต้องใช้ “ความสงบสยบกระแส” ปล่อยให้ผู้จัดการสนง.ที่ปรึกษาผู้มีความเป็นเลิศในการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ออกหน้าไปเจรจายุติปัญหาเรื่องการสร้างถนน ผ่านการช่วยเจรจาของท่านผู้จัดการ และการรับรองของกลุ่มผู้นำเครือข่ายไทบรู ปัญหาทั้งมวลก็แก้ไขได้ลุล่วง พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านก็กลับมาต้อนรับขับสู้ผมเหมือนเก่า (ในขณะท่านผู้นำเหตุการณ์ในครั้งนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วสอบตก) เรื่องนี้ถอดบทเรียนได้ว่า คำพูดเพียงคำเดียวอาจเป็นเรื่องได้หากถึงคราวเคราะห์
หมายเหตุ บันทึกนี้เปลี่ยนเป็นผู้เขียน ผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงในบันทึก “ลานฅนฟื้นฟู” นี้ครับ
Next : นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๒ » »
4 ความคิดเห็น
อ่านแล้ว เห็นแล้ว เข้าใจแล้ว ก็…….ไป …อิอิอิ มันเป็นเช่นนี้เอง
ครับอาม่า
ชีวิตแต่ละคนผ่านเรื่องราวต่างๆมามากมาย……….
บางคนได้คิด บางคนคิดได้ (ได้บ้างไม่ได้บ้าง) บางคนก็ปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่เรียนรู้อะไร ?
ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆที่มีความหมาย อิอิ
ขอบคุณแทนเปลี่ยนครับ