ขอข้าวหน่อยครับ..
อ่าน: 2485นรินทร์ เชื้อคำฮด เป็นลูกหลานชนเผ่ากะโซ่ ดงหลวง เขามีพี่น้องท้องเดียวกันถึง 13 คน ซื่อ คบง่าย ทำนาทำไร่เหมือนพี่น้องเพื่อนบ้าน จบการศึกษาแค่ ป. 4 เป็นอดีตทหารเกณฑ์ฝ่ายพลาธิการ ประจำที่จังหวัดนครปฐม เมื่อปลดประจำการก็กลับมาบ้าน สร้างเนื้อตัวด้วยวิถีกะโซ่ ก็คือทำนาทำไร่
เนื่องจากบ้านพังแดงตั้งอยู่ระหว่างภูเขาทั้งสี่ด้าน มีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน อดีตก็เป็นชุมชนค่อนข้างปิด เพราะมีรถเข้าออกเพียงวันละเที่ยว และไม่แน่นอน เนื่องจากถนนยังไม่ได้ลาดยาง ทำเลลักษณะเช่นนี้จึงเป็นที่หมายปองของ พคท. ที่เข้ามายึดพื้นที่เป็นเขตปลดปล่อยในหลายหมู่บ้าน
กรรมการกลาง พคท.มาประจำที่นี่ พท.พโยม หรือสหายคำตัน บิดาของอดีตท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ ก็เข้าป่าที่นี่ นักการเมืองที่เห็นหน้าในจอทีวีบางคนก็เข้าป่าที่นี่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนก็เข้าป่าที่นี่ ชาวบ้านกะโซ่เกือบทั้งหมดยกกันหนีภัยเข้าป่ากันเต็มยอดเขารอบทิศทาง สภาพเป็นบ้านแตกสาแหรกขาด
เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ความสงบ ทุกคนลงมา กลับบ้านเกิด แต่ก็มาเผชิญความลำบากยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับมานับหนึ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ชุมชนกันใหม่หมด วัว ควายหายไปหมดสิ้น เครื่องมือทำนาทำไร่ก็ไม่มีต้องสะสม สร้างกันใหม่ เผชิญปัญหาข้าวไม่พอกินเพราะไม่มีเก็บกักไว้ ราชการก็ไม่สามารถแบกรับภาระได้ ปล่อยให้ กะโซ่กลับใจเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เผชิญกับความอดอยากอย่างรุนแรงนับแต่นั้นมา
ทุกครอบครัวต้องออกไปเอาของป่าไปแลกข้าว นรินทร์เล่าให้ฟังว่า…ตอนนั้นผมยังเล็กแค่ 4-5 ขวบ แต่เป็นความจำที่ฝังแน่น ไม่ลืม มันติดหูติดตาผมมาตลอด ครอบครัวเราต้องตระเวนไปขอข้าวกิน ผมเลือกไปที่ อ.กุดบาก ซึ่งเป็นจุดที่ไกลที่สุด แต่ที่นั่นอุดมสมบูรณ์กว่า เพื่อนบ้านย้ายกันไปที่อื่นๆเช่น อ.นาแก จ.สกลนคร แต่ก่อนขึ้นกับ จ.นครพนม บางสายไปที่ อ.นาคู หรือ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บางสายก็ไปที่ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
เอาอะไรไปแลกล่ะ นรินทร์ ผมถาม.. อาจารย์..ผมพูดตรงๆว่า ผมไม่มีอะไรไปแลกเลยครับ.. นรินทร์น้ำตาซึมออกมา แต่อดกลั้นไว้… ผมใช้สองมือครับ ผมใช้สองมือไหว้ ขอความเมตตา สงสาร ขอข้าวตรงๆครับ เสียงนรินทร์สั่นนิดหน่อย.. ข้าวเปลือกก็เอา ข้าวสารก็เอา บางบ้านก็ไม่มีให้ ผมก็เข้าใจ เพราะเขาก็ยากจน หลายบ้านก็ใจดี บางบ้านใจประเสริฐแท้ เขาให้พักอาศัยด้วย ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเดินทางต่อไปบ้านอื่น
ส่วนใหญ่พวกเราพักตามศาลาวัดกัน ก็ได้อาศัยข้าวก้นบาตรพระยามเช้าด้วย
มีอันตรายต่างๆไหม..ผมถามนรินทร์ เขาตอบว่า..มีครับ เพื่อนบ้านที่ไปส่วนใหญ่จะเป็นสาวจำนวนสามถึงสี่คนที่เพิ่งแต่งงาน ต่างก็มีลูกแล้วหนึ่งคน สองคน หน้าตายังผ่องใส นอกจากนี้ก็มีเด็กเล็กๆอย่างผม และมีผู้ชายสักสองคน ก็มักจะถูกนักเลงหมู่บ้านที่เราไปพักพยายามมาก่อกวนผู้หญิงของเรา บางครั้ง ผู้ชายไม่ได้นอนเลยทั้งคืน คอยอยู่ยามเฝ้า.. การมีเด็กเล็กๆไปอย่างผมนั้น ก็ให้ดูน่าสงสาร (เหมือนปัจจุบันเลย..) การไปขอข้าวแต่ละครั้งใช้เวลาสองคืนสามวัน ได้ข้าวเปลือกประมาณสอง สาม กระสอบ แล้วก็ขอเงินนั่งรถกลับดงหลวง เมื่อหมดข้าวก็ไปอีก แต่จะไม่ซ้ำหมู่บ้านกัน..
ความอยากอาย(สำนวนอีสาน) ทำให้ในระยะเวลาต่อมาพยายามบุกเบิกป่าเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ปลูกข้าวไร่ พันธุ์พื้นบ้านชื่ออีดำอีแดง เมล็ดโต สั้น กลมใหญ่ เวลานึ่งใช้เวลานาน และเหนียวติดมือ เนื่องจากดินบนภูเขาสมบูรณ์มาก ข้าวอีดำอีแดงงามมาก กอใหญ่ พวกเราจึงไปขอข้าวกินลดลง แต่การปลูกข้าวไร่บนภูนั้นขึ้นกับธรรมชาติ บางปีฝนแล้งก็ไม่ได้ผล การตระเวนไปแลกข้าว ขอข้าวก็ยังมีอยู่
หลายปีต่อมาพวกเราบุกเบิกพื้นที่รอบๆหมู่บ้านที่ค่อนข้างราบมากขึ้น เพื่อใช้ปลูกข้าว บ้านเมืองพัฒนาไป เทคโนโลยี่ใหม่ๆเริ่มเข้ามาคือรถไถนายี่ห้อฟอร์ด มาจากอุทัยธานี รับจ้างไถ บุกเบิกที่นาที่ไร่ใหม่
พวกเราออกจากป่ามาได้ 4-5 ปี มันสำปะหลังก็เริ่มเข้ามา และใช้เวลาอีกสัก 4-5 ปี ก็เต็มพื้นที่บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆด้วย เพราะปลูกง่าย สมัยนั้นอาคารบ้านเรือนทั้งหมดเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ หลังย่อมๆ มุงด้วยใบไม้ ไม่มีเรือนไม้อย่างดีแบบปัจจุบัน เพราะพวกเราไม่มีเครื่องมือและไม่มีประสบการณ์ เมื่อชุมชนเริ่มเปิด เทคโนโลยี่ต่างๆก็เข้ามา ขายมันสำปะหลังได้สามปีก็สามารถปลูกบ้านด้วยไม้จริงหลังใหญ่ได้แล้ว
แม้ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ชุมชนเราตั้งอยู่ในหุบเขา มีพื้นที่จำกัด ขยายออกไปก็ไม่ได้เพราะเป็นเขตป่าสงวน ชีวิตเราจึงปลูกข้าวกับมันสำปะหลัง เพราะครอบครัวพวกเราไม่ได้คุมกำเนิดประชากรก็เพิ่มขึ้น การขาดแคลนข้าวกินก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ที่กำลังมาถึงนี่แหละ บางปีมีครอบครัวที่ไม่มีข้าวกินมากถึงร้อยละ 70
นรินทร์บอกว่า มีอยู่สองสามทางที่ชาวบ้านแก้ไขคือ ปลูกมันสำปะหลังเพื่อขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน หรือส่งลูกไปทำงานในเมืองส่งเงินมาซื้อข้าว และหนทางสุดท้ายคือ หาของป่าไปแลกข้าวหรือไปขอข้าวตรงๆ..
นรินทร์เล่าให้ฟังประสบการณ์ฝังลึกอีกเรื่องหนึ่งคือ มีอยู่ปีหนึ่งเราไม่มีข้าวกินเลย นรินทร์ยังเด็ก หิวข้าวมาก ก็ร้องให้ พี่ชายไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปขุดหัวมันสำปะหลัง จำได้ว่าเป็นพันธุ์ระยอง 3 เอามาต้มกิน…
นรินทร์เป็นกะโซ่ไม่กี่คนที่ดิ้นรนหนีความทุกข์ยากจนพอลืมตาอ้าปากได้ เงินที่เขาเก็บออมไว้นำมาลงทุนเปิดสถานที่ขายน้ำมันเล็กๆในชุมชนบ้านพังแดง กิจการของเขาไปได้ดี กำลังขยายกิจการไปขายปัจจัยการผลิตการเกษตรอื่นๆอีก…
นรินทร์ดิ้นหลุดบ่วงนี้ไปแล้วจะไปพบบ่วงอื่นอย่างไรอีก..?
เพื่อนบ้านอีกจำนวนไม่น้อย ยังวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมๆ…?
“งานพัฒนาชนบทเป็นงานที่ยาก คิดง่าย แต่ทำยาก” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
Next : นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๑ » »
5 ความคิดเห็น
ดีใจมากที่ได้อ่าน
คนไหนจะทำงานพัฒนาต้องมาเรียนรู้สาระชีวิตและสังคมตกยากที่นี่
โจทย์พัฒนาสาระพัดจะซับซ้อน
ถ้าตีแตกไม่ได้ บทเรียนก็ตกม้าตาย นะสิครับ
แม้แต่สภาพัด ก็พัดไปพัดมาตามแรงการเมือง
ไม่มีอิสระในการคิดและทำตามหลักการที่ถูกที่ควรเท่าไหร่หรอก
เสาหลักของเศรษฐกิจและสังคมมี แต่มันปักอยู่บนขี้เลนนะขอรับ
ท่านบางทรายขอรับ
ลองพจารณาเอากรณีตัวอย่าง ตามที่เขียนมานี้
ลงในเจ้าเป็นไผ 2 จะดีไหมครับ
มันแทงใจดำกระจุยดีแท้ๆ
ร่วมพัฒนาชาติไทย แบบขอทาน มันสุดยอดจริงๆเลยละขอรับ
ขมวดคิ้วคิดๆๆๆๆๆๆ
1. ทำไมถึงไม่นิยมการคุมกำเนิดคะ
2. พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์อะไร สภาพดินเป็นยังไง มีแร่ธาตุอะไรบ้าง และใช้น้ำจากไหนน้อ
3. วิธีการปลูกข้าวใช้วิธีไหน นาหว่าน? เกี่ยวอย่างไร มีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนเท่าไร ได้ผลผลิตเท่าไรต่อไร่
4. มันส่งขายที่ไหน ขายแบบสดหรือตากแห้ง มันเส้น ฯลฯ หมู่บ้านใกล้เคียงปลูกอะไรบ้าง และหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปเท่าไร
5. นอกจากปลูกมัน+ข้าวแล้วยังปลูกอะไรอีกหนอ
อืม!
พ่อครูครับ บันทึกแบบสรุปออกมาครับ จากเรื่องนี้ก็มีการสานต่อคือทบทวนข้อมูลการขาดแคลนข้าวและการแก้ปัญหาโดยชาวบ้าน ซึ่งผมจะใช้กระบวนวิธี community dialogue ที่เฮียตึ๋งก็ใช้อยู่ หากมีผลอย่างไรก็จะเอามาบอกกล่าว กันครับ
ส่วน การนำบันทึกนี้ไปใส่ใน จปผ.๒ นั้นผมไม่ขัดข้อง ท่านอื่นๆคิดอย่างไรครับ
น้องเบิร์ด
1. ทำไมถึงไม่นิยมการคุมกำเนิดคะ
-สมัยโบราณยาวมาถึงช่วงที่ออกจากป่านั้น ชาวบ้านต้องการแรงงานจึงต้องมีลูกหลายคน และเหตุผลหนึ่งคือ การอนามัยสาธารณสุขเพิ่งจะเข้าไปช่วง 20 ปีมานี่เอง
2. พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์อะไร สภาพดินเป็นยังไง มีแร่ธาตุอะไรบ้าง และใช้น้ำจากไหนน้อ
-สมัยก่อนใช้พันธุ์พื้นบ้านที่ชื่ีออีดำอีแดง และอีกสองสามพันธุ์ เขาลืมชื่อไป พี่เองก็ไม่ได้ค้นจากเอกสารเก่าที่ทำไว้
-สภาพดินนั้นโดยทั่วไปเป็นดินทรายครับ ทรายที่นี่แปลก ปาลียนเคยเอาถั่วลิสงไปทดลองปลูก พบว่าไม่สามารถแทงเข็มลงดินได้ เพราะดินทรายเมื่อขาดน้ำก็แข็งโป้กเลย
-ใช้น้ำจากน้ำฝนอย่างเดียว ยกเว้นในพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ชาวบ้านก็ใช้น้ำจากระบบท่อเสริมช่วงที่ขาดน้ำฝนครับ
-สิ่งที่เราส่งเสริมปรับปรุงดินคือ ใช้ปุ๋ยพืชสด ไม่เผาตอซัง ไถกลบตอซัง ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ และปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักที่อาศัย พด.จากกรมพัฒนาที่ดินครับ
3. วิธีการปลูกข้าวใช้วิธีไหน นาหว่าน? เกี่ยวอย่างไร มีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนเท่าไร ได้ผลผลิตเท่าไรต่อไร่
-ทั้งหมดใช้วิธีดำนา หากขาดน้ำแต่ดินพอมีความชื้นบ้างก็ดำแห้ง ใช้วิธีการเอาไม้กระแทกให้เป็นหลุมก่อนแล้วก็เอากล้าปลูกตรงหลุมนั้น ไม่มีนาหว่าน
-เกี่ยวโดยใช้เคียวแบบชาวนาทั่วไป ไม่ได้ใช้รถเกี่ยว
-พื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า สองพันไร่ รวมทั้งนาลุ่มและนาดอนที่เป็นข้าวไร่
-ผลผลิตก็เฉลี่ย 35 ถังต่อไร่
4. มันส่งขายที่ไหน ขายแบบสดหรือตากแห้ง มันเส้น ฯลฯ หมู่บ้านใกล้เคียงปลูกอะไรบ้าง และหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปเท่าไร
-มันส่งขายลานพ่อค้าในตำบล ทั้งหมดขายหัวมัน
-หมู่บ้านใกล้เคียงปลูกเหมือนกัน คือข้าวนาปีในที่ลุ่ม ข้าวไร่ในที่ดอน ปลูกมันในที่ดอน ยางพาราเริ่มเข้ามาหนาตาขึ้น
-หมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดก็แค่ 200 เมตรเท่านั้น
5. นอกจากปลูกมัน+ข้าวแล้วยังปลูกอะไรอีกหนอ
- นอกจากมัน ข้าว ก็ปลูกยางพาราตามการส่งเสริมของจังหวัด
- หากเป็นเกษตรกรในโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าก็จะส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจตามระบบ contract faraming ซึ่งต้องทบทวนกันอย่างหนักเร็วๆนี้ หากเป็นเกษ๖รกรผู้นำก็จะปลูกพืชแแบบผสมผสาน ตามตัวชี้วัดเรื่องการพึ่งตนเองที่เครือข่ายเขาร่วมกันกำหนดขึ้น เช่น หลังบ้านต้องมีพืชสวนครัวกินได้อย่างน้อย 5 ชนิด ต้องมีสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้เป็นยาพื้นฐานอย่างน้อย 5 ชนิด ต้องปลูกข้าวและใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น ต้องนำเมล็ดไม้ป่ามาเพาะเพื่อปลูกขยาย เป็นต้นครับ
ปลายเดือนนี้เราจะทำ community dialogue เพื่อระดมข้อมูลและความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหานี้กัน