ปลูกป่าให้ปู่

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 สิงหาคม 2009 เวลา 0:15 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 3159

ป่ากับไทบรูเป็นของคู่กัน เป็นวิถีชีวิต เป็นแหล่งพึ่งพิงของชาวไทบรูมาตลอด จนเราคนนอกมีความรู้สึกว่า มากเกินพอดี ป่ากับชาวบรูหรือโซ่ ผูกพันกันมากกว่าที่คนภายนอกที่ฉาบฉวยจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

อาหารประจำวันของชาวบรู หรือโซ่ นั้นมาจากป่า ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น หนุ่ม วัยครอบครัวเลยไปจนถึงผู้เฒ่า เดินขึ้นป่าเหมือนคนเมืองเดินห้าง การเข้าไปนอนในป่าเพื่อหาสัตว์ป่าเป็นอาหาร เหมือนคนเมืองกางเต็นท์สวยๆนอนในวันสิ้นสุดสัปดาห์

อาจเรียกได้ว่าปัจจัย 3 ใน 4 ของชาวบรูนี้ มาจากป่า คือ อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย แม้ว่ายุคเงินตราจะเข้ามาเป็นปัจจัยใหม่เป้าหมายของชีวิต เขาก็ไม่ทิ้งห่างจากป่า และความผูกพันของป่านอกจากสิ่งที่กล่าวมานั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือ การเคารพ นับถือสิ่งเหนือธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือ ศาลปู่ตา หรือเจ้าปู่ เป็นสิ่งสูงสุดของความเชื่อถือ


ปีนี้เราก็ร่วมงานกับเครือข่ายป่าชุมชนในดงหลวงจัดพบปะหารือกิจกรรมร่วมกัน โดยมีเครือข่ายไทบรูเป็นแกนหลัก คณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งมาปรึกษาหารือจัดทำแผนงานและแลกเปลี่ยนกัน


ทุกปีสมาชิกเครือข่ายไทบรูและคณะกรรมการป่าชุมชน จะขึ้นป่าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ป่ามาเพาะกัน ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปปลุกขยายในป่าหัวไร่ปลายนา หรือที่ที่เหมาะสม และอีกส่วนหนึ่งก็เตรียมไว้ขายให้แก่ราชการ หรือทางโครงการต่างๆที่ต้องการ


จากรูปซ้ายมือจะเห็นถุงเพาะต้นไม้ที่ชาวบ้านใช้ถุงใสแทนถุงดำ ทั้งนี้เพราะชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ที่หาวัสดุการเพาะกล้าไม้ได้ไม่ง่าย จึงเก็บถุงใสที่ได้จากการซื้อสินค้าต่างๆไว้ แล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ พืชป่าที่ชาวบ้านเพาะและปลูกครั้งนี้มี ต้นยางแดง ต้นยางนา มะค่าโมง ประดู่ ซึ่งวันนี้นำไปปลูกในบริเวณป่าปู่ตาประจำหมู่บ้านเลื่อนเจริญ

เจ้าปู่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่พี่น้องไทบรู ทำพิธีตามความเชื่อของชนเผ่าปีละหลายครั้ง เช่น ก่อนเริ่มฤดูทำนา ก่อนเกี่ยวข้าว และช่วงพิธีกรรมตามฮีต คองต่างๆ รวมทั้งการเสี่ยงทายตามความเชื่อต่างๆของชนเผ่า และนี่ก็เป็นองค์ประกอบตามวิถีบรู คนนอกหากไม่เห็นนามธรรมที่เป็นเบ้าหลอมระบบคิดของเขาอย่างเข้าใจแล้ว จะพัฒนาได้อย่างไร มุมมองนี้ไม่สามารถจะออกแบบการพัฒนาชุมชนได้จากภายนอก เหมือนสินค้าสำเร็จรูปได้

เราจึงสนับสนุนพี่น้องไทบรู ไปปลูกป่าให้ปู่(ตา)กันเมื่อเช้านี้ แม้จะมีต้นไม้เพียง 800 ต้น จำนวนคนเข้าร่วมเพียง 50 คน แต่ความหมายนั้นยิ่งใหญ่ ความอิ่มเอมทางใจที่ไทบรูได้กระทำให้เจ้าปู่ ที่เป็นที่สุดของความเชื่อ..


ความศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ นำมาซึ่งความอุดมของสิ่งแวดล้อม อันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งต่อวิถีบรู และสังคมโดยรวม เมื่อเราเริ่มนับหนึ่ง การสะสมก็ได้เริ่มต้นแล้ว..


วิถีดงหลวง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 22:44 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 8590

เช้าวันนั้นนัดกับพ่อหวังที่บ้านในสวน เพื่อทำ Mini Dialogue กรณีนายสีวร ที่มาทำงานในสวนพ่อหวังนานถึงสองปี แต่วันนั้นแม่บ้านและชาวบ้านทุกคนต้องแบ่งเวลาทำขนมเพื่อไปทำบุญใหญ่ประจำปีที่เรียกว่า “บุญข้าวประดับดิน” ตามประเพณีของอีสาน พ่อหวังจึงต้องมาดูแลร้าน เพื่อให้แม่บ้านมีเวลาดังกล่าว


การพูดคุยไม่ประสบผลสำเร็จตามตั้งใจเพราะที่ร้านจะมีคนเข้าออกตลอดเวลา สถานที่พูดคุยติดถนนก็มีรถมอเตอร์ไซด์วิ่งเสียงดัง จึงเปลี่ยนหัวข้อคุยกันเป็นเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเราได้ผนวกเข้ามาในแผนงานของเราแล้ว


ระหว่างที่เราคุยกันอย่างไม่มีสมาธินั้น สายตาไปเห็นสตรีชาวบ้าน เดินผ่านไป มีถุงปุ๋ยและตะกร้าห้อยพะรุงพะรังทั้งสามคน ผมแว๊บขึ้นมาทันทีว่านี่คือ “พี่น้องมาขอแลกข้าว” แน่เลย ผมถามแม่บ้านพ่อหวัง เธอบอกว่าใช่ มาจากตำบลพังแดง น่าจะเป็นบ้านห้วยคลอง หรือหนองเลา อยากจะเดินไปจับภาพสวยๆและขอคุยด้วย ก็จะทำลายการพูดคุยที่กำลังดำเนินการไป

หลังจากพูดคุยจบก็เดินทางต่อไปบ้านเปี๊ยด เพื่อเยี่ยม “พ่อเตี๋ยน ตาหมู” สมาชิกไทบรู ผมก็พบภาพนี้อีก แสดงว่าคงจะมากันหลายคนและแบ่งกันไปตามหมู่บ้านต่างๆ

พฤติกรรมการเดินทางมาขอข้าว สอดคล้องกับช่วงที่ชาวบ้านกำลังเตรียมทำบุญใหญ่ ที่เรียกว่าบุญข้าวประดับดินในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทุกครอบครัว ทุกหมู่บ้านต่างนั่งล้อมวงกันทำขนมเพื่อเอาไปถวายพระในวันบุญใหญ่ดังกล่าว

กลับมาที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ของเราคนหนึ่งมีบ้านอยู่ที่ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นเขตติดต่อกับ อ.เขาวง ซึ่งติดต่อกับ ต.กกตูม ของ อ.ดงหลวง เธอกล่าวว่า ในอดีตทุกปีในช่วงงานบุญใหญ่เช่นนี้ พี่น้องชาวโซ่ ดงหลวงจะลงไปขอข้าว ขอขนมหรือสิ่งอื่นๆที่เป็นส่วนเกินที่ชาวบ้านไปทำบุญที่วัด อดีตย้อนไปอีกจะขอเสื้อผ้า เงินทอง หากย้อนลึกนานหลายๆปี ชาวโซ่ไปขอเกลือด้วยซ้ำไป

ประเด็นคือ ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี่ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากมายหลายประการ แต่การทำนาข้าวก็ยังพึ่งพาธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่เชิงเขา ความเสี่ยงในการมีข้าวพอหรือไม่พอกินยังเป็นปัญหาพื้นฐานอยู่ แม้ปริมาณจำนวนครัวเรือนที่ขาดแคลนข้าวจะลดลงมา แต่เราก็ยังเห็นภาพชาวบ้านเดินมาขอข้าวกินดังกล่าวนี้


นึกย้อนไปดูพฤติกรรมชาวบ้านพังแดง ในพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าห้วยบางทรายที่เห็นหน้าเราทีไรก็ร้องเรียนว่า อยากให้ปล่อยน้ำออกจากถังวันละสองเวลาได้ไหม ราคาค่าน้ำแพงไป ฯ แต่กระนั้นการเก็บค่าน้ำก็ไม่มีติดขัด ทุกครอบครัวที่ใช้น้ำก็ยินดีที่จ่ายค่าใช้น้ำ ในทัศนะเขากล่าวว่าแพง เพื่อให้ได้น้ำไปใส่แปลงนาข้าว เป็นหลักประกันว่าข้าวที่ปลูกนั้นจะได้ผลเต็มที่ นั่นหมายถึง การมีข้าวกินเพียงพอตลอดปี นี่คือความหวังสูงสุดของชาวบ้าน นี่คือการใช้ประโยชน์โครงการในมุมของชาวบ้าน “เขาไม่อยากเดินไปขอข้าวกิน…”

ขณะที่โครงการนี้กำหนดเป้าหมายว่า เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจในฤดูแล้งหรือหลังนา ที่เราแนะนำในรูปแบบ Contract Farming

นี่คือความจริง ที่เราต้องคิดทบทวนกิจกรรมของโครงการทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมพื้นฐานอื่นๆในพื้นที่ที่มีชาวบ้านเป็นคนไทยเชื้อสายโซ่ และอยู่ในระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรมแบบเชิงเขา เช่น ดงหลวง..

หากไม่ลงมาคลุกคลีกับชาวบ้าน ก็ไม่มีทางเห็นภาพเหล่านี้ หากไม่วิเคราะห์เรื่องราว ก็เป็นเพียงภาพที่ผ่านตาเราไปเท่านั้น คิดเลยไปถึงว่า แค่การแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินยังไม่ได้ การวาดฝันสิ่งอื่นๆก็เป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มคนที่มีปัญหาข้าวไม่พอกินนี้..

หากเราคิดงานพัฒนาที่ไม่อยู่บนข้อเท็จจริงของพื้นที่ ก็คงไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน มันเป็นเพียงตอบสนองความหวังดีของเราเท่านั้น


ทดสอบเอาภาพขึ้น comment ครับ

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 10:08 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 2876


การล่มสลายของ KM ธรรมชาติ(แบบวิถีชีวิตเดิม)

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 12:41 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 3761

ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพชีวิตชนบทธรรมดาๆที่ไปที่ไหนๆก็มีให้เห็น เมื่อใครต่อใครเห็นภาพแล้วคงมีหลายมุมมอง อย่างไม่น่าเชื่อนะครับ หากความคิดแต่ละคนมีเสียงดังออกมาคงวุ่นวายน่าดู


คนเมืองบางคนเห็นภาพนี้แล้วเราได้ยินความคิดในใจของเขาว่า “ยี้.. สกปรกจังเลย อะไรก็ไม่รู้ ไม่เจริญหูเจริญตาเลย ดูซิต้นพืชอะไรเกะกะบ้านรกหูรกตาไปหมด ไม่รู้จักกวาดไม่รู้จักทำ ขี้เกียจซะไม่เมี๊ยะ…”

เราอาจจะได้ยินความคิดบางคนอีกว่า “มานั่งทำอะไรกัน งานการไม่ไปทำ แล้วมาบ่นว่ายากจน ก็ขี้เกียจอย่างงี้นี่เล่า..”

แต่หากเป็นคนทำงานชนบท คงต้องตั้งสมมติฐานในใจว่า เอ เขามานั่งทำอะไรกันหนอ เข้าไปพูดคุยสักหน่อย อ้อนั่นเป็นต้นถั่วที่เอามาจากแปลงปลูกเพื่อเอามานั่งเก็บผลผลิตเอาไปขายได้เงินมาเข้าครอบครัว ไม่รู้ว่าราคาเป็นอย่างไรปีนี้ ผลผลิตดีไหม ฯลฯ …


และหากเราจะเดินเข้าไปใกล้อีกซักหน่อย ก็จะเห็นว่าสตรีเสื้อเหลืองสรวมหมวกท่านนั้นกำลังทำขนมชนิดหนึ่ง หากจะนั่งลงแนะนำตัวเองเป็นใครมาจากไหนมาทำอะไร แล้วสอบถามกิจกรรมที่เขาเหล่านั้นกำลังทำอยู่เราก็จะได้เข้าใจ และได้ความรู้มากมาย และเมื่อเราคุ้นชิน สนิทสนมกลมเกลียวแล้ว นั่งอยู่ในวงนั้นนานแล้ว เราจะได้เรื่องราวที่น่าสนใจหลายประการ


ย้อนกลับไปดูรูปแรกซิ องค์ประกอบของภาพบ่งบอกว่ามีคน 3 generation อยู่ที่นั่น นั่งอยู่บนลานปูนหน้าบ้านพ่อเฒ่า ซึ่งมีอายุมากสุด กลุ่มคนวัยกลางคนที่เป็นสตรี และกลุ่มเล็กสุด เป็นลูกหลานที่นั่งตักแม่ นั่งเล่นบนตัวแม่ที่แปลยวน ต่างก็นั่ง ล้อมวงคุยกันและมีสตรีเสื้อสีเหลืองทำขนมสำหรับไปงานบุญใหญ่ข้าวประดับดินในวันพรุ่งนี้ที่วัด เดาซิว่าในกลุ่มนี้สักกี่คนที่จะไปวัดพรุ่งนี้ ไปกันเกือบหมดยกเว้นเด็กเล็กนั่น

เรื่องราวสารพัดเป็นประเด็นพูดในวงนี้ แบบธรรมชาติของชีวิตปกติ ถ้าไม่มีผมอยู่ตรงนั้นก็ยิ่งเป็นธรรมชาติมากกว่านี้อีก เนื้อในคือ

  • กระบวนการทำขนมพื้นบ้านไปถวายพระที่วัดในวันพรุ่งนี้ เด็กๆได้เห็นการทำขนม ก่อนหน้านี้เขาอาจมีส่วนในการช่วยสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่นไปช่วยแม่ตัดใบตอง เอาใบตองมาผึ่งแดด ช่วยแม่เตรียมมะพร้าวมาประกอบการทำขนม ฯลฯ เขาเรียนรู้ไปโดยธรรมชาติ แบบสอนโดยไม่สอน เรียนโดยไม่ต้องเข้าห้องเรียน ทำจริง สัมผัสของจริง
  • พ่อเฒ่ามาลำดับญาติพี่น้องให้ลูกหลานฟัง คนนั้นคืออาว์ คนนี้คือน้า คนนั้นคือพี่ การลำดับญาตินี้ไม่ได้สอนแบบทางการเพียงบอกว่า ไอ้หนู ไปหยิบมีดให้พ่อลุงหน่อย ไอ้หนู ไปหยิบใบตองมาให้ป้าหน่อย มันเป็นธรรมชาติ เด็กเรียนรู้ว่าใครคือใคร ระหว่างหยิบของเดินเอาไปให้ พ่อเฒ่าก็จะสอนกิริยามารยาท ไอ้หนูเดินระมัดระวังของ อย่าไปเหยียบเข้า เดินห่างๆผู้ใหญ่ เดินผ่านผู้ใหญ่ต้องขอโทษ ต้องค้อมหัว หรือแสดงอาการคารวะ มันเป็นธรรมชาติ ฝึกแบบธรรมชาติ ไม่เคอะเขิน ไม่แปลกแยก ไม่ได้เสแสร้ง
  • ความรักความเอ็นดู เกิดขึ้น เด็กเห็นขนมก็อาจจะอยากกิน ผู้ใหญ่ก็อาจแบ่งขนมออกมาใส่จานต่างหากให้เด็กได้กินแบบแยกส่วนออกมา เด็กๆก็สนุกด้วย อิ่มด้วย
  • เรื่องราวต่างๆถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พ่อเฒ่าอาจจะเล่าเรื่องราวการทำขนมในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจเล่าเรื่องราวประเพณีนี้ในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจจะเล่าถึงพระหลวงพ่อที่วัดให้ฟัง ความเชื่อ ความศรัทธา ความดี ความไม่ดี การเคารพนับถือ ปรากฏการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอดีตที่เกี่ยวข้องกับวันบุญข้าวประดับดินอาจถูกส่งต่อให้ generation ที่สองที่สามได้ฟังผ่านวงทำขนมเล็กๆวงนี้ อะไรที่สำคัญ อะไรที่หยาบช้าไม่ดีไม่งาม ที่สังคมแห่งนี้สรุปไว้ถูกถ่ายทอดสู่รุ่นหลังอย่างเป็นธรรมชาติ ความสำคัญของบุญข้าวประดับดินเป็นอย่างไร นี่คือ ฮีต นี่คือ คอง หรือ คลอง หรือครรลอง ของวิถีอีสานถูกถ่ายทอด แล้วจะถูกทำซ้ำๆ(Reproduction) ในปีต่อไป
  • มันเป็นการบูรณาการจากสภาพจริงๆ ไม่ใช่มาเรียนเรื่องทำขนมเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี มารยาทในสังคม ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ฯลฯ ผสมกลมกลืนกันไปอย่างไม่แยกส่วน


นี่คือ กระบวนการเรียนแบบธรรมชาติ

นี่คือ การส่งต่อคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ จากรุ่นสู่รุ่น

นี่คือ ทุนทางสังคม

นี่คือ ความสัมพันธ์ทางแนวราบ

นี่คือ ความงาม ที่เสื่อมลงทุกทีเมื่อสภาพสังคมเมืองคืนคลานเข้ามา ในรูปของความทันสมัย ความก้าวหน้า ความสะดวกสบาย ความมีรสนิยม แม้การศึกษาในรูปแบบก็เข้ามาแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ อันๆ ยากที่จะเข้าใจอย่างผสมกลมกลืน

การปรับตัวแบบใดหนอที่จะผสมผสานเก่ากับใหม่ให้ลงตัวได้ เพราะเราหลีกการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราก็โหยหาคุณค่าเดิมๆอยู่


ข่า VS งานก่อสร้าง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 สิงหาคม 2009 เวลา 10:04 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 6026

ฟังดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย ผมเองก็คิดเช่นนั้น นอกจากคิดเลยไปว่า งานก่อสร้างหลายประเภทผู้รับเหมามักจะไหว้ครู ไหว้เจ้าที่ ไหว้ผี เขาเอาข่ามาประกอบเครื่องเซ่นไหว้รึ…

อย่างอื่นนึกไม่ออก..


วันก่อนที่พาทีมงานไปเยี่ยมแปลงเกษตรผสมผสาน ผมได้ไปเตรียมงานกับเจ้าของแปลงก่อน โดยเดินดูบริเวณทั้งหมดแล้วก็คุย แลกเปลี่ยนไปด้วย นับได้ว่าลุงเตี้ย เจ้าของแปลงเป็นผู้ที่ผมนับถือความเชื่อมั่นใจทางออกของวิถีเกษตรกรแบบ “ระบบนิเวศเชิงเขา”

เฝ้าปลูกฝังพืชผักต่างๆเพื่อเอาไว้กินเองและขาย โดยแม่บ้านเป็นผู้เอาไปขายเองอย่างกระตือรือร้น อิอิ เพราะได้เงินทองเข้าครอบครัวเธอชอบ..

ช่วงหนึ่งเราเดินทางถึงต้นข่าที่ปลูกเต็มพื้นที่ไปหมด ว่างตรงไหนก็ปลูกตรงนั้น เจ้าข่านี่สามารถปลูกโดยอาศัยร่มไม้ใหญ่ได้ ข่านับว่าขายดี ผู้บริโภคเอาไปลวกกินกับน้ำพริก อร่อย และเป็นสมุนไพร..

ลุงเตี้ย หรือนายสีวร กล่าวว่า … อาจารย์ พวกก่อสร้างก็ชอบมาเหมาต้นข่าที่ไม่เอาหัวข่า เอาเฉพาะต้นมัน ส่วนที่อยู่บนดิน ..ผมงง

ลุงเตี้ย: เขาเอาต้นข่าไปใส่หล่อเสาปูน…. ผมก็ยัง งง

ลุงเตี้ย: คืองี้ เวลาเขาหล่อเสาปูน ตามหัวเสาช่างเขาจะทำรู ขนาดเท่าน๊อต มาตรฐานเพื่อใช้ยึดสิ่งต่างๆ ตามงานก่อสร้าง.. หากใช้ไม้หรือเหล็ก มาใส่ทำรูนั้น เมื่อการหล่อปูนแห้งลงเหล็กหรือไม้ก็จะติดกับปูน เอาออกยาก การใช้ต้นข่า ซึ่งมีขนาดพอดีนั้น เมื่อปูนแห้ง เจ้าต้นข่าก็เหี่ยว แห้ง สามารถเอาออกมาได้ ก็จะได้รูหัวเสา ตรงตามต้องการ

ลุงเตี้ย: เขาจะมาเหมาซื้อ 100 ต้น 50 บาท

ลุงเตี้ยพึงพอใจ ต่อกิจกรรมการเกษตรที่ทำมาตลอด 10 กว่าปีมานี้ ทำให้ครอบครัวเขามีความสุข และมีหลักประกัน ลดความเสี่ยงของชีวิตครอบครัวได้..


ทำไมจึงขอหน่อกล้วย..

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 สิงหาคม 2009 เวลา 1:33 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5341

ทำไมผมจึงขอความอนุเคราะห์หน่อกล้วย

เรื่องมันคือ ช่วงนี้ผมลงพื้นที่ตระเวนเยี่ยมเยือนผู้นำชาวบ้านในเครือข่ายองค์กรชุมชน ผมพบว่า ผู้นำเกษตรกรก้าวหน้าไปมากในเรื่องการตื่นตัวทำการเกษตรผสมผสาน ปลอดสารพิษ อินทรีย์ ฯลฯ เพื่อการพึ่งตนเอง พึ่งพาในระดับชุมชน อันเป็นเป้าหมายของโครงการ และเป็นข้อสรุปของเครือข่ายชาวบ้านต่อสถานการณ์วิถีชีวิตในปัจจุบันและอนาคต

พอดีทีมงานโครงการจาก 3 จังหวัดเดินทางไปประชุมที่มุกดาหาร และถือโอกาสดูงานในพื้นที่ ผมก็ลงไปเตรียมเกษตรกรเพื่อรับคณะทีมงานที่จะมาวันที่ 13-14 นี้


ลุงเตี้ย(คนซ้ายมือ) ความจริงอายุแค่ 40 เองแต่เขาเรียกตัวเองอย่างนั้น เป็นผู้นำรุ่นสองของเครือข่ายไทบรูที่เราสนับสนุนอยู่ ได้เปลี่ยนอาชีพช่างรับจ้างกลับบ้านมาทำการเกษตรผสมผสาน โดยมีผู้นำรุ่นหนึ่งเอาตัวไปฝึกฝนเสีย 1 ปีเต็มในสวนของผู้นำรุ่นหนึ่งนั้น

แล้วลุงเตี้ยก็ออกมาทำสวนเองและประสบผลสำเร็จ แกปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก ตามหลักการของเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนครที่เป็นพี่ใหญ่ มีพืชผักมากพอที่จะเก็บเกือบทุกวันให้เมียเอาไปขายที่ตลาดในอำเภอดงหลวง ซึ่งลุงเตี้ยอวดว่า ผมไม่เคยทราบเลยว่าเมียผมมีเงินเก็บเท่าไหร่แล้ว เพราะผมยกให้เขาเป็นคนจัดการ..

นาที่ไม่เคยปลูกข้าวพอกินก็ได้ผลผลิตมากขึ้น พอกินทุกปี เพราะได้น้ำซับจากสวนที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นมากพอซับน้ำ และใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ที่ทำขึ้นมาเอง…


นายยงค์เป็นเพื่อนบ้าน เห็นผมทำสำเร็จ(คนขวามือในรูป) จึงมาคุยด้วยและอยากทำบ้าง ลุงเตี้ยจึงให้ความรู้และแนะนำจากประสบการณ์ตนเอง สิ่งที่แนะนำก่อนคือให้เอากล้วยไปปลูก บนพื้นที่ดินดอนที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังมาก่อนหลายปี เพียงอายุ 4 เดือนกล้วยที่นายยงค์ปลูกไปก็โตเท่าที่เห็น ซึ่งงามมาก เป็นที่ภูมิใจของผู้แนะนำ โดยเฉพาะนายยงค์เจ้าของแปลง ที่ลุงเตี้ยบอกว่า ..แกยังไม่มีบ้านสวนหรือเถียงนา บ้านแกอยู่หน้าอำเภอ วันวันเวียนมาสวนหลายรอบ เพราะอยากอยู่สวน


ระหว่างแถวเอาไม้ผล ผักหวานป่ามาปลูก กำลังขึ้นสวยเพราะได้น้ำฝนดี


กลางที่ดินนายยงค์เจาะน้ำบาดาล และก็ได้น้ำมาใช้ โดยใช้แรงคนโยกเอา ที่ดินที่ติดกันก็เป็นของนายยงค์ แต่น้องชายขอเอาไปปลูกมันสำปะหลัง นายยงค์บอกว่า หลังกู้มันฯแล้วจะเอาที่ดินคืนมาปลูกสวนให้หมด รวมพื้นที่น่าจะประมาณ 5 ไร่


ยังไม่มีเถียงนาก็ได้อาศัยกอไผ่นี้บังร่มแดดและฝน และใช้พักผ่อนบ้าง


คุยกันไปมา เกิดแนวคิดขึ้นมาว่า นายยงค์สนใจทำสวนจริงๆ ใจรัก ใจให้แล้ว และเริ่มจากกล้วย และก็ทำได้ดี ลุงเตี้ย บอกว่า นายยงค์น่าจะพิจารณาทำเป็นแปลงสะสมพันธุ์กล้วยต่างๆซะเลย ก็ไปดูว่าบ้านใครมีกล้วยอะไรก็เอามาสะสมไว้ที่นี่ ต้นใหญ่ซ้ายมือนั่นก็เป็นกล้วยท้องถิ่น ที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นยาสมุนไพรด้วย นายยงค์พยักหน้า แล้วก็กล่าวว่าน่าสนใจ..

ผมก็เล่าประสบการณ์ เรื่องกล้วยให้ฟังบ้าง แลกเปลี่ยนกัน เช่น ทางเหนือเอากล้วยป่ามาปลูกเพื่อเอาใบมาห่อขนม เพราะใบกล้วยป่ามีความเหนียวกว่า ที่ราชบุรีและชุมพรปลูกกล้วยหอมทองส่งขายญี่ปุ่น และยังมีความต้องการอีกมาก การปลูกกล้วยให้เครือออกทิศเดียวกัน และ ฯลฯ….

เราตกลงกันว่าจะแวะเวียนไปเยี่ยมกลุ่มผู้นำรุ่นสองนี้แล้วจัด Dialogue กันแบบธรรมชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ลุงเตี้ยบอกว่าอยากให้มาบ่อยๆ อยากได้คำแนะนำต่างๆ..

จากแนวคิดที่สนับสนุนให้นายยงค์ปลูกกล้วยเพื่อสะสมพันธุ์ไว้ เพื่อเป็นแหล่งให้พี่น้องในเครือข่าย และอื่นๆเข้ามาศึกษาต่อ หรือขยายพันธุ์ออกไป เราจึงต้องเริ่มหาช่องทางเพื่อสะสมกล้วยมากขึ้น..

พอดีไปเห็นบันทึกโสทรเข้า เลยอยากเอามาให้ชาวบ้านปลูกเป็นการสะสมพันธุ์และศึกษาต่อไป


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 4

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 สิงหาคม 2009 เวลา 12:22 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2589

คณะต้องเดินทางต่อตามกำหนดการ เรื่องราวแก่งละว้าก็เลยค้างเติ่ง ปล่อยให้ผู้สนใจหาทางต่อกันเอง

ขอเก็บตกและสรุปประเด็นดังนี้


  • ทรัพยากรท้องถิ่นหากจัดระบบดีดีก็อยู่ร่วมกันได้… สาระที่ไม่ได้ post ตอนหนึ่งก็คือ มีผู้นำชุมชนชื่อหลวงคลัง หรือบ้ง ศรีโห นำชุมชนรอบแก่งละว้าพัฒนาและทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์กัน โดยท่านเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมคนรอบแก่งแล้วทำความเข้าใจกัน เมื่อท่านสิ้น ชุมชนก็สร้างอนุสาวรีย์ให้ท่าน
  • ราชการเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยไม่จัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม กรณีเอาน้ำไปทำประปาที่บ้านไผ่ แล้วตั้งกฎระเบียบเอาเอง แล้วเอากฎระเบียบนั้นมาประกาศใช้กับชุมชนรอบๆแก่ง สร้างความขัดแย้งมาจนปัจจุบัน นี่คือกรณีตัวอย่างอีกแห่งของความขัดแย้งระหว่างรัฐ(การปกครองส่วนท้องถิ่น) กับชุมชน
  • กรมชลประทานหวังดี แต่ผลออกมาเป็นการสร้างปัญหาทับถมลงไปอีก แม้จะมีการพยายามจัดประชาคม และบทสรุปของชุมชนคือทุบคันดินออก แต่ก็ยังทำไม่ได้ คาราคาซังเช่นนั้น..จะอีกนานเท่าไหร่หนอ..
  • จากข้อมูลแหล่งข่าวที่เคยมาทำงานที่นี่กล่าวว่า ปัญหาที่ใหญ่ตามมาก็คือ เมื่อน้ำไม่ไหลเข้าแก่ง หรือไหลเข้าน้อย ปัญหาที่พบปัจจุบันคือ เกิดความเค็มขึ้น และเพิ่มขึ้นทุกปี หลับตาดูอนาคตซิว่า ชาวบ้านรอบแก่งจะทำอย่างไร รัฐยังไม่ฟังชาวบ้าน อ้างแต่กฎระเบียบ กฎหมาย.. การถมทับปัญหาที่กระทบต่อวิถีชาวบ้านจะเป็นการสะสมความคั่งแค้น…ปัญหาเล็กไม่รีบแก้ รอให้เป็นปัญหาใหญ่ นักการเมืองนักการแมงที่อ้างจะเข้ามาเป็นปากเสียงชาวบ้านก็หลบลี้หนีหายไปซุกตูดใครก็ไม่รู้ อิอิ
  • นอกจากน้ำในแก่งจะทวีความเค็มแล้ว แหล่งข้อมูลยังกล่าวว่า ลำน้ำที่ไหลเข้าก็เอาความเค็มเข้ามาด้วย….โถ..ประเทศไทย ระเบิดอยู่ข้างหน้าอีกหลายลูก..


  • น้องโอ๋ สาวเหล็ก ลูกหลานหลวงคลัง ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำชี เกาะติดปัญหานี้และรวมตัวชาวบ้านมาช่วยกันคิดอ่าน แก้ปัญหากันเอง รัฐไม่ก้าวเข้ามา มีแต่ปกป้องตัวเอง และหาทางแก้ปัญหาในมุมของราชการ ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน
  • ทราบว่าเกาะกลางแก่งละว้า ได้ถูกจัดให้เป็นอุทยานอะไรสักอย่างเพื่อถวายแด่พระราชวงศ์ หากพระองค์ท่านทราบเรื่อง ทราบปัญหาท่านคงทรงมีเมตตาแก่ประชาชน แต่เรื่องราวนี้ไปไม่ถึง..
  • ผมลองใช้ Google earth ศึกษาพื้นที่ใกล้เคียงกัน พบว่ามีแก่ง อ่าง บึง หนอง ฯลฯ อีกหลายแห่งที่มีเงื่อนไขคล้ายๆแก่งละว้า และที่น่าตกใจคือ ถูกก่อสร้างคันดินล้อมรอบหมดเกือบทุกแห่ง เหมือนแก่งละว้า…??

ข้อเสนอแนะ

  • เมื่อภาครัฐมีข้ออ้างทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ก็น่าที่จะหาคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งท้องถิ่น น่าจะประกอบด้วย ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษาท้องถิ่นที่มีวิชาความรู้ทางด้านนี้ มีนักวิชาการที่เข้าใจชุมชน มีข้าราชการท้องถิ่น มีนักการเมืองท้องถิ่น มีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และฯลฯ มาเป็นคณะศึกษาและหาทางออกร่วมกัน อย่าปล่อยให้ชาวบ้านดิ้นไปแต่ฝ่ายเดียว
  • สถาบันการศึกษาท้องถิ่นต้องลงมาใช้วิชาการความรู้เข้ามาศึกษารายละเอียดให้มากๆ เช่น คณะวิศวะเข้ามาศึกษาด้านโครงสร้าง ฯ คณะเกษตรเข้ามาศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรและอื่นๆ คณะธรณีวิทยาเข้ามาศึกษาเรื่องดิน การเปลี่ยนแปลงเรื่องของธรณี คณะศึกษาศาสตร์เข้ามาตั้งชมรมส่งต่อความรู้แก่งละว้าจากอดีตสู่ปัจจุบันไปสู่อนาคต คณะสื่อสารมวลชนเข้ามาทำข่าวภาคประชาชน คณะพัฒนาสังคมเข้ามาศึกษาชาวบ้าน จัดทำระบบข้อมูล ฯ คณะแพทย์ศาสตร์ เข้ามาศึกษาระบบอนามัยชุมชนที่มีวิถีชีวิตกับแก่งละว้า ฯลฯ อบต. อบจ.เข้ามาสนับสนุน ท้องถิ่น ให้ทุนทำวิจัยเรื่องต่างๆ จัดทำแผนงานพัฒนา แก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ
  • การที่คนท้องถิ่นรวมตัวกัน จับกลุ่มกันมองหาทางออกนั้นเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ภาคเอกชนต่างๆควรเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มคนท้องถิ่นมีศักยภาพในการทำงานต่อไป
  • เรื่องแก่งละว้าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะชาวบ้านรอบแก่งละว้า ความเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์นั้นกว้างขวางออกไปถึงระบบนิเวศกายภาพ ระบบนิเวศวัฒนธรรม ที่กินพื้นที่กว้างไปข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด ต้องศึกษาภาพรวมด้วยอย่างละเอียด เพื่อต่อภาพทั้งหมดให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกัน


ชาวบ้านเอาไหลบัวในแก่งละว้ามาตำส้มตำกินมื้อกลางวัน อร่อยมากครับ

สังคมนี้ต้องการประสานความร่วมมือ

ต้องการระดมความรู้ใหม่ ประสบการณ์เดิม มาร่วมกันมอง คิดอ่านพัฒนาพื้นที่

สังคมนี้ต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหามิใช่รวมตัวกันมาแสวงหาผลประโยชน์ที่อิงแอบบนปัญหาของประชาชน

ฝันมากไปไหมครับ..


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 3

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 สิงหาคม 2009 เวลา 10:58 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 6213

ความอุดมสมบูรณ์ของแก่งละว้าทำให้ทุกสารทิศมุ่งมาปักหลักที่นี่ ถึง 40 หมู่บ้านรอบแก่ง วิถีชีวิตนอกจากนาข้าวแล้วก็จับปลา จนน้องโอ๋ สาวรักท้องถิ่นบอกว่า เมื่อเอาชาวบ้านไปขึ้นภูเพื่อหาหน่อไม้และอาหารอื่นๆ ชาวบ้านบอกเขาทำอะไรไม่เป็นเลย เพราะชีวิตอยู่กับแก่งมาตลอดจนเป็นความถนัด ความเคยชิน เป็นวิถีไปแล้ว ให้ไปทำอย่างอื่นทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี หรือต้องใช้เวลาในการปรับตัวกันนานพอสมควร

ทำให้ผมนึกถึงพี่น้องดงหลวงที่มีวิถีพึ่งพิงป่า มีวัฒนธรรมการกินอาหารจากป่า เมื่อเอาวิถีสมัยใหม่เข้าไปเช่นระบบ Contract farming จึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร…


ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ นำคณะพูดคุยกับผู้นำชุมชนแล้วเราก็ทราบเรื่องราวของแก่งละว้าในอดีต ที่ความอุดมสมบูรณ์ได้หล่อเลี้ยงพี่น้องรอบแก่งมาแสนนาน

..อาจารย์ครับ สมัยก่อนนั้นปลามากมาย ชาวบ้านแค่ทำ “เรือผีหลอก” ก็ได้ปลามามากเพียงพอทำปลาร้า..

..อาจารย์ครับ พวกเราได้กินปลาบึกกันนะครับ ..มันมาจากแม่โขง เข้ามาตามลำมูล เข้ามาลำชี ว่ายทวนน้ำจนมาถึงแก่งละว้านี้ มาออกลูกออกหลานด้วย..

..อาจารย์ครับ ที่นี่มีจระเข้ มีมากด้วยครับ ตัวใหญ่ยาวก็มี..

นั่นคือคำบอกเล่าส่วนหนึ่งของผู้นำ ที่คุยกันก่อนอาหารมื้อเที่ยงวันนั้น


เสียงใครสอดแทรกมาว่า มีคนจับจระเข้บ้างไหม… พ่อสายตา จันทร์เต็ม ผู้นำที่นั่งคุยกับคณะตอบขึ้นมาว่า …พ่อผมเป็นพรานน้ำจับจระเข้มามากต่อมากแล้ว… พวกเราสนใจกันใหญ่ว่าจับจระเข้แบบไหน เหมือนชาละวัน พิจิตรไหม… อยากรู้หรือ เดี๋ยวผมไปเอาเครื่องมือจับจระเข้มาให้ดู ว่าแล้วพ่อสายตาก็ขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้านไปเอาเครื่องมือมา..


พ่อสายตากลับมาพร้อมกับเครื่องมือจับจระเข้ เป็นเบ็ดยักษ์ครับ พร้อมกับหัวหอก พ่อสายตาเล่าว่า พ่อผมออกจับจระเข้ทีไรผมก็ติดตามไปด้วย ได้ดูได้เห็นอย่างใกล้ชิด ก็เอาเหยื่อคือปลาใหญ่ๆเกี่ยวเบ็ดแล้วก็เอาไปหย่อนตรงสถานที่ที่อยู่ของพวกจระเข้พอมันกินก็ดึงยื้อกัน แล้วเอาหอกแทง แล่เอาหนังไปขาย..

พ่อสายตากล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ. 2521 น้ำท่วมใหญ่มากสุด ได้พัดพาเอาวัชพืชต่างๆเข้ามาในแก่ง และพัดพาออกไปตามเส้นทาง ได้พัดพาสัตว์น้อยใหญ่หายไปหมดสิ้นด้วย …ไปค้นข้อมูลพบว่าพายุใหญ่ครั้งนั้นเกิดขึ้นเกือบทั่วประเทศที่มีชื่อว่า”เบส” และ “คิท” ก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ …



พ่อสายตา ชาวบ้านผู้รักอาชีพประมง และวิถีชีวิตกับแก่งละว้ามาค่อนคนแล้ว บุคลิกของท่านบ่งบอกถึงความจัดเจนในอาชีพและความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังที่ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ได้ชี้ให้พิจารณา

มีอะไรมากมายในแต่ละท้องถิ่น “เพียงเราให้เวลารับฟังสิ่งที่ชาวบ้านอยากจะพูด มากกว่าซักถามสิ่งที่เราอยากรู้”

เราก็จะเรียนรู้ความจริงแห่งวิถีชีวิตมากมาย


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 1

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 สิงหาคม 2009 เวลา 16:21 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 4260

ข้อมูลแก่งละว้า

แก่งละว้าอยู่ไม่ไกลจากเมืองเพียนัก เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำชี ตั้งอยู่ที่ บ้านโคกสำราญ ต.โคกสำราญ กิ่ง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ที่พิกัด 48 QTC 522-898 ระวาง 5541-III มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตร.กม. มีน้ำขังตลอดปี ส่วนยาวและกว้างที่สุดของบึง ประมาณ 11 กม. และ 3 กม. ตามลำดับ ในฤดูแล้งจะมีน้ำขังอยู่ในบึงประมาณระดับ 156.50 ม.(ร.ท.ก.)คิดเป็นความจุของน้ำประมาณ 19 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 10 ตร.กม.


การขึ้นลงของน้ำในบึงอาศัยน้ำต้นทุนจากลำห้วยทั้ง 3 สาย ดังกล่าวแล้ว บางปีที่น้ำในลำน้ำชีไหลหลากมามากก็จะเอ่ยล้นตลิ่งในเขตอำเภอชนบท ทางด้านเหนือน้ำ ไหลลงหนองกองแก้ว ไหลบ่าไปลงบึงแก่งละว้า รวมทั้งการเอ่อล้นท่วมของแม่น้ำชีเข้ามาในบึงแก่งละว้าทางตอนล่างอีกทางหนึ่ง

พื้นที่รับน้ำลงบึงแก่งละว้าอยู่ในเขต อ.ชนบท และ อ.บ้านไผ่ โดยการวัดจากแผ่นที่มาตราส่วน 1 : 50,000 พบว่าพื้นที่รับน้ำลงบึงมีประมาณ 946.25 ตร.กม.


เมื่อแม่น้ำชีลดลงน้ำในบึงจะไหลออกที่ห้วยจิบแจง และห้วยปากผีแป้ง ด้วยเหตุนี้ทางอำเภอและราษฎรจึงช่วยกันปิดทำนบห้วยจิบแจง และห้วยปากผีแป้ง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ทำนบไม่แข็งแรงจึงพังเสียหายในฤดูน้ำหลากทุกปี

ธรรมชาติของแก่ง

ดังกล่าวแล้วว่าน้ำไหลเข้าแก่งหลายทาง คือน้ำฝนตกลงมาในฤดูฝน น้ำจากลำชีที่ไหลเข้าทางห้วยหนองเอียน ห้วยเมืองเพีย และห้วยบ้านเป้าทางด้านใต้ของแก่ง และในปีใดที่มีปริมาณน้ำฝนมากล้นเอ่อลำชีก็จะไหลบ่าเข้าหนองกองแก้วแล้วบ่าเข้าแก่งละว้าทางด้านใต้เช่นกัน แล้วจะไหลออกทางด้านบนของแก่งละว้าที่ห้วยจิบแจงและ ห้วยปากผีแป้ง

การใช้ประโยชน์

เกษตรกรจาก 4 ตำบล คือ ตำบลบ้านไผ่, โคกสำราญ, เมืองเพีย, และบ้านเป้า รวม 40 หมู่บ้านใช้แก่งละว้าเป็นที่ทำมาหากินทั้งใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ใช้เลี้ยงสัตว์วัว ควาย และอื่นๆ และที่ได้ประโยชน์มากอีกประการคือการประมง ชาวบ้านรอบๆแก่งมีอาชีพจับปลาเพื่อบริโภคและขายตลอดปี


น้ำจากแก่งละว้ายังใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาให้กับเทศบาลอำเภอบ้านไผ่ ซึ่งต้องใช้ท่อนำน้ำเป็นระยะทางถึง 15 กม. กรมโยธาธิการประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2526 เทศบาลบ้านไผ่ต้องการน้ำดิบไปผลิตประปาถึงวันละ 10,000 ลบ.ม. นอกจากนี้ชาวบ้านรอบๆยังใช้ประโยชน์จากแก่งอีกหลายประการเช่น เก็บต้นผือไปขาย หรือนำไปทอเสื่อขาย เป็นต้น


การพัฒนาแก่ง จุดเริ่มของปัญหา..?

เมื่อฤดูฝนผ่านไปน้ำในแม่น้ำชีลดลง ก็ดึงเอาน้ำในแก่งละว้าไหลออกเป็นปกติที่ห้วยจิบแจงและห้วยปากผีแป้ง ทางด้านบนของแก่งละว้า เกษตรกรจึงมีความเห็นว่าควรสร้างทำนบกั้นน้ำไหลออกที่ห้วยจิบแจง แต่กำลังของชาวบ้านไม่สามารถสร้างทำนบที่แข็งแรงได้ สร้างขึ้นมาก็พังทลายทุกปี จึงเสนอทางราชการเข้ามาพิจารณาก่อสร้างอย่างแข็งแรงต่อไป

————

ขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.rid6.net/~khonkaen/MidProject/Lawa/Lawa.htm

http://ridceo.rid.go.th/khonkhan/datamid/pm_lawa.html



Main: 0.084352016448975 sec
Sidebar: 0.022795915603638 sec