การล่มสลายของ KM ธรรมชาติ(แบบวิถีชีวิตเดิม)
อ่าน: 3761ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพชีวิตชนบทธรรมดาๆที่ไปที่ไหนๆก็มีให้เห็น เมื่อใครต่อใครเห็นภาพแล้วคงมีหลายมุมมอง อย่างไม่น่าเชื่อนะครับ หากความคิดแต่ละคนมีเสียงดังออกมาคงวุ่นวายน่าดู
คนเมืองบางคนเห็นภาพนี้แล้วเราได้ยินความคิดในใจของเขาว่า “ยี้.. สกปรกจังเลย อะไรก็ไม่รู้ ไม่เจริญหูเจริญตาเลย ดูซิต้นพืชอะไรเกะกะบ้านรกหูรกตาไปหมด ไม่รู้จักกวาดไม่รู้จักทำ ขี้เกียจซะไม่เมี๊ยะ…”
เราอาจจะได้ยินความคิดบางคนอีกว่า “มานั่งทำอะไรกัน งานการไม่ไปทำ แล้วมาบ่นว่ายากจน ก็ขี้เกียจอย่างงี้นี่เล่า..”
แต่หากเป็นคนทำงานชนบท คงต้องตั้งสมมติฐานในใจว่า เอ เขามานั่งทำอะไรกันหนอ เข้าไปพูดคุยสักหน่อย อ้อนั่นเป็นต้นถั่วที่เอามาจากแปลงปลูกเพื่อเอามานั่งเก็บผลผลิตเอาไปขายได้เงินมาเข้าครอบครัว ไม่รู้ว่าราคาเป็นอย่างไรปีนี้ ผลผลิตดีไหม ฯลฯ …
และหากเราจะเดินเข้าไปใกล้อีกซักหน่อย ก็จะเห็นว่าสตรีเสื้อเหลืองสรวมหมวกท่านนั้นกำลังทำขนมชนิดหนึ่ง หากจะนั่งลงแนะนำตัวเองเป็นใครมาจากไหนมาทำอะไร แล้วสอบถามกิจกรรมที่เขาเหล่านั้นกำลังทำอยู่เราก็จะได้เข้าใจ และได้ความรู้มากมาย และเมื่อเราคุ้นชิน สนิทสนมกลมเกลียวแล้ว นั่งอยู่ในวงนั้นนานแล้ว เราจะได้เรื่องราวที่น่าสนใจหลายประการ
ย้อนกลับไปดูรูปแรกซิ องค์ประกอบของภาพบ่งบอกว่ามีคน 3 generation อยู่ที่นั่น นั่งอยู่บนลานปูนหน้าบ้านพ่อเฒ่า ซึ่งมีอายุมากสุด กลุ่มคนวัยกลางคนที่เป็นสตรี และกลุ่มเล็กสุด เป็นลูกหลานที่นั่งตักแม่ นั่งเล่นบนตัวแม่ที่แปลยวน ต่างก็นั่ง ล้อมวงคุยกันและมีสตรีเสื้อสีเหลืองทำขนมสำหรับไปงานบุญใหญ่ข้าวประดับดินในวันพรุ่งนี้ที่วัด เดาซิว่าในกลุ่มนี้สักกี่คนที่จะไปวัดพรุ่งนี้ ไปกันเกือบหมดยกเว้นเด็กเล็กนั่น
เรื่องราวสารพัดเป็นประเด็นพูดในวงนี้ แบบธรรมชาติของชีวิตปกติ ถ้าไม่มีผมอยู่ตรงนั้นก็ยิ่งเป็นธรรมชาติมากกว่านี้อีก เนื้อในคือ
-
กระบวนการทำขนมพื้นบ้านไปถวายพระที่วัดในวันพรุ่งนี้ เด็กๆได้เห็นการทำขนม ก่อนหน้านี้เขาอาจมีส่วนในการช่วยสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่นไปช่วยแม่ตัดใบตอง เอาใบตองมาผึ่งแดด ช่วยแม่เตรียมมะพร้าวมาประกอบการทำขนม ฯลฯ เขาเรียนรู้ไปโดยธรรมชาติ แบบสอนโดยไม่สอน เรียนโดยไม่ต้องเข้าห้องเรียน ทำจริง สัมผัสของจริง
-
พ่อเฒ่ามาลำดับญาติพี่น้องให้ลูกหลานฟัง คนนั้นคืออาว์ คนนี้คือน้า คนนั้นคือพี่ การลำดับญาตินี้ไม่ได้สอนแบบทางการเพียงบอกว่า ไอ้หนู ไปหยิบมีดให้พ่อลุงหน่อย ไอ้หนู ไปหยิบใบตองมาให้ป้าหน่อย มันเป็นธรรมชาติ เด็กเรียนรู้ว่าใครคือใคร ระหว่างหยิบของเดินเอาไปให้ พ่อเฒ่าก็จะสอนกิริยามารยาท ไอ้หนูเดินระมัดระวังของ อย่าไปเหยียบเข้า เดินห่างๆผู้ใหญ่ เดินผ่านผู้ใหญ่ต้องขอโทษ ต้องค้อมหัว หรือแสดงอาการคารวะ มันเป็นธรรมชาติ ฝึกแบบธรรมชาติ ไม่เคอะเขิน ไม่แปลกแยก ไม่ได้เสแสร้ง
-
ความรักความเอ็นดู เกิดขึ้น เด็กเห็นขนมก็อาจจะอยากกิน ผู้ใหญ่ก็อาจแบ่งขนมออกมาใส่จานต่างหากให้เด็กได้กินแบบแยกส่วนออกมา เด็กๆก็สนุกด้วย อิ่มด้วย
-
เรื่องราวต่างๆถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พ่อเฒ่าอาจจะเล่าเรื่องราวการทำขนมในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจเล่าเรื่องราวประเพณีนี้ในอดีตให้ฟัง พ่อเฒ่าอาจจะเล่าถึงพระหลวงพ่อที่วัดให้ฟัง ความเชื่อ ความศรัทธา ความดี ความไม่ดี การเคารพนับถือ ปรากฏการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอดีตที่เกี่ยวข้องกับวันบุญข้าวประดับดินอาจถูกส่งต่อให้ generation ที่สองที่สามได้ฟังผ่านวงทำขนมเล็กๆวงนี้ อะไรที่สำคัญ อะไรที่หยาบช้าไม่ดีไม่งาม ที่สังคมแห่งนี้สรุปไว้ถูกถ่ายทอดสู่รุ่นหลังอย่างเป็นธรรมชาติ ความสำคัญของบุญข้าวประดับดินเป็นอย่างไร นี่คือ ฮีต นี่คือ คอง หรือ คลอง หรือครรลอง ของวิถีอีสานถูกถ่ายทอด แล้วจะถูกทำซ้ำๆ(Reproduction) ในปีต่อไป
- มันเป็นการบูรณาการจากสภาพจริงๆ ไม่ใช่มาเรียนเรื่องทำขนมเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี มารยาทในสังคม ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ฯลฯ ผสมกลมกลืนกันไปอย่างไม่แยกส่วน
นี่คือ กระบวนการเรียนแบบธรรมชาติ
นี่คือ การส่งต่อคุณค่าวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ จากรุ่นสู่รุ่น
นี่คือ ทุนทางสังคม
นี่คือ ความสัมพันธ์ทางแนวราบ
นี่คือ ความงาม ที่เสื่อมลงทุกทีเมื่อสภาพสังคมเมืองคืนคลานเข้ามา ในรูปของความทันสมัย ความก้าวหน้า ความสะดวกสบาย ความมีรสนิยม แม้การศึกษาในรูปแบบก็เข้ามาแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ อันๆ ยากที่จะเข้าใจอย่างผสมกลมกลืน
การปรับตัวแบบใดหนอที่จะผสมผสานเก่ากับใหม่ให้ลงตัวได้ เพราะเราหลีกการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราก็โหยหาคุณค่าเดิมๆอยู่