Empowerment ในโครงการพัฒนาชุมชน

โดย bangsai เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 เวลา 23:48 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 3363

เมื่อวันอาทิตย์ปลายเดือนที่แล้ว ที่ผมไม่ได้มาร่วมงานชาว blog ในกรุงเทพฯตามคำชวนของป้าจุ๋ม เพราะผมต้องเป็นคนขับรถให้คนข้างกายตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปร่วมสัมมนาเรื่อง Local Communities: the Forces of Global Change ที่โรงแรมวีวัน นครราชสีมา เนื่องในงานเกษียณอายุราชการของ ดร.ปรีชา อุยตระกูล ผอ.ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

เป็นการสัมมนาเล็กๆที่จัดเฉพาะคนวงในของ ดร.ปรีชาเท่านั้น ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจท้องถิ่น ปัญญาชนท้องถิ่น ต่างสาขาอาชีพ เพียง 25 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้มี ดร.ชัยอนันท์ สมุทรวาณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มาร่วมด้วย และมีโปรเฟสเซอร์ 3 ท่านจากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย คือ Dr. Paul Battersby, Dr.Kett Kennedy และ Dr.Douglas Hunt ทั้งสามท่านเป็นอาจารย์สอนของดร.ปรีชา สมัยที่ท่านเรียนอยู่ที่นั่น

เป็นการสัมมนาที่น่าสนใจมากครั้งหนึ่งที่ผมได้เข้าร่วม เก็บความคิดมาต่อยอดหลายประการ หลายเรื่องก็ตอกย้ำประสบการณ์แนวคิดของผมเองจากการทำงานชุมชนมานาน บางเรื่องก็เป็นเรื่องพอรู้คร่าวๆไม่ลึกซึ้ง บางเรื่องก็ได้รับข้อมูลที่ลึกซึ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า ชุมชนหรือท้องถิ่นนี่น่ะสามารถเป็นพลังที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนโลกได้..

สาระที่สำคัญคือ:

ความล้มเหลวของระบบทุนนิยมโลก: ปรากฏการณ์ต้มยำกุ้งมาจนถึงปรากฏการณ์แฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกานั้นตอกย้ำให้นักการเงินต้องทบทวนองค์ความรู้และการพัฒนาระบบธุรกิจทั้งหมดใหม่ แต่ระบบโลกาภิวัฒน์ก็ยังขับเคลื่อนไปแต่จะปรับตัวอย่างไรนั้นเราต้องติดตามอย่างเท่าทัน

ไม่ปฏิเสธระบบโลกาภิวัฒน์แต่ทำอย่างไรที่จะไม่เป็นเบี้ยให้เขาดึงดูดทรัพยากรไปแต่ตรงข้ามเราจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรต่อท้องถิ่น ในกรณีนี้พูดกันมากถึงเรื่อง พ่อค้ารายย่อยในท้องถิ่นกับ ห้างสรรพสินค้ารายยักษ์ใหญ่หลายยี่ห้อ ที่เราดูจะไม่สามารถต่อต้านเขาได้เพราะเงื่อนไขที่เราไปผูกไว้กับ ระบบการค้าโลกเสียแล้ว

ทุกคนยืนยันความมีอัตลักษณ์เอกลักษณ์ของระบบท้องถิ่น โลกได้หันกลับมาบริโภคเรื่องราวและความเป็นท้องถิ่นมากขึ้นและเป็นกลไกที่สำคัญของการไหลบ่าของการท่องเที่ยวที่ทำเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่เราจะเท่าทันและเป็นตัวของตัวเองอย่างไร เราจะปรับตัวให้ก่อเกิดประโยชน์ได้อย่างไร เช่น กรณี Homestay ท่านอาจารย์ชัยอนันท์ยกกรณีเมืองหลวงพระบางที่ท่านไปแนะนำไว้ตั้งแต่หลังปฏิวัติสำเร็จ แต่รัฐมนตรีของเขาสมัยนั้นไม่เข้าใจ ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นแบบเมืองที่ทันสมัยที่เมืองใหญ่ทั่วไปทำกัน ท่านอาจารย์ยกประโยคที่คุยกับท่านรัฐมนตรีว่า …ท่านปฏิวัติสำเร็จแล้วจะพัฒนาเมืองหลวงพระบางให้เจริญก้าวหน้าแล้วให้ประชาชนลาวกลายมาเป็นเพียงพนักงานตัวเล็กๆในโรงแรมใหญ่ๆเท่านั้นหรือ…ทำไมไม่คิดพัฒนาความเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆของตัวเองเล่า……ต่อมาเขาก็ย้อนกลับไปใช้แนวทางที่ได้เสนอไว้ จนได้รับเป็นมรดกโลกในปัจจุบัน

สาระที่ถูกใจผมและตรงกับประสบการณ์ของผมมากก็คือ ท่านอาจารย์ชัยอนันท์ทบทวนคำพูดของ Dr. Hunt ที่กล่าว่าเมื่อหลายสิบปีที่ได้พบกับ ดร.ชัยอนันท์ นั้น ได้ถกกันถึงแนวคิดของชัยอนันท์ที่ว่าต้องยกระดับท้องถิ่นโดยให้คำว่า Capacity Building ซึ่ง Dr. Hunt ได้นำแนวคิดนั้นไปขยายต่อและนำไปใช้ปฏิบัติจริงๆ… จนเกิดการส่งนักศึกษาปริญญาโทและเอกมาศึกษาท้องถิ่นของสังคมไทยและแลกเปลี่ยนความรู้กันมาตลอด… อ.ชัยอนันท์เล่าความเป็นมาของคำนี้ว่า สมัยก่อนนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ออกชนบท จมปลักอยู่กับวิชาการในมหาวิทยาลัยและมุ่งที่จะเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่ท่านเห็นตรงข้ามและออกตระเวนท้องถิ่น และใช้ศักยภาพของท่านเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นมากมาย และท่านเป็นคนแรกๆที่กล่าวว่าต้องกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น….

สาระตรงนี้ก็คือการที่ผู้อยู่ในสถานะที่พร้อมกว่าสมควรจะต้องไปยกระดับความรู้ต่างๆในท้องถิ่นให้เท่าทันกับสังคมใหญ่และทั้งโลก…..จะด้วยวิธีไหน อย่างไรก็แล้วแต่เงื่อนไข ในระดับชุมชนก็เช่นกัน การรู้เท่าทันก็คือการสร้างคนให้มีความเชื่อมั่น เมื่อมีความเชื่อมั่นก็กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง ด้วยกลุ่ม ด้วยชุมชน มิใช่ถูกสร้างค่านิยมอย่างไม่รู้ตัวให้เป็นผู้บริโภค และนั่นก็คือเหยื่อของระบบโลกาภิวัฒน์……

อภิปราย:

ประเด็นนี้มันแทงใจผมจริงๆ เราทำงานชุมชนกันมานาน และก็พูดเรื่องนี้มานานเช่นกัน แต่เมื่อลงมือทำกันจริงๆ เราจมลงไปสู่ปัญหารายวันที่เผชิญหน้ากับชาวบ้านที่มีสารพัดรอบตัวรอบบ้าน และที่สำคัญระบบโครงการได้วางงานไว้หมดสิ้นแล้วที่กิจกรรมต่างๆโดยมิได้เงยหัวขึ้นมาดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหญ่ และสังคมโลกแล้วหยิบเอาประเด็นเหล่านั้นไปเป็นหัวข้อทำ Capacity Building(CB) ให้แก่ผู้นำ เยาวชน สตรี และคนในชุมชนโดยรวม เราหยิบมาบ้างเหมือนกันแต่เบาบางมาก และเป็นชิ้นๆที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และที่สำคัญไม่ต่อเนื่อง เราเคยจัดค่ายวิเคราะห์ชุมชน วิเคราะห์สังคมกัน 2 วัน 3 วัน แล้วก็ชื่นชมที่มีผู้นำหลายคนตื่นตัวขึ้นมา ที่เรียกหูตาสว่าง แต่เมื่อจบสิ้นก็จบ กลับกลายเป็นการใช้เวลาทั้งหมดไปกับกิจกรรมที่สร้างขึ้นมา แล้วเรื่องของภาพรวมก็จางหายไป

ผมทราบดีว่าชาวบ้านที่เกิดสำนึกในระหว่างทำค่ายวิเคราะห์ชุมชนนั้น เราดีใจ แต่สำนึกเกิดได้ก็หายไปได้ เมื่อเขากลับสู่ครอบครัวที่มีปัญหามากมายรออยู่…. เมื่อความไม่ต่อเนื่องใน CB ความเชื่อมั่นก็คลายตัว หรือสิ้นสุดลงได้ ความต่อเนื่องจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ

แม้ว่าเราอาจจะมีระบบเครือข่าย และมีการประชุมกันเป็นประจำ แต่สาระส่วนใหญ่จะลงไปที่กิจกรรมย่อย บางกิจกรรมทำได้ดีบ้างแล้ว เช่นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี แต่การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างถึงรากถึงโคนนั้นยังมีน้อยเกินไป การหยิบผลเสียและสร้างการเรียนรู้ที่สำคัญๆให้เกิดขึ้นนั้นยังน้อย การขยายตัวของกิจกรรมนี้จึงยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ต้องการเสนอ:

ทบทวนกิจกรรมการสร้าง CB ในแง่การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสังคม ของโลกทั้งเรื่องใหญ่ไกลตัวแต่กระทบชุมชนกับเรื่องใกล้ตัว

ที่สำคัญโครงการควรจะพิจารณาสร้างกิจกรรมเฉพาะเรื่อง CB ขึ้นมาอย่างจริงจังในการเรียนรู้ของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากใกล้ตัวไปสู่สิ่งไกลตัว จากสิ่งที่จับต้องได้จนถึงสิ่งที่เป็นระบบคิด และต้องทำอย่างต่อเนื่อง

เช่นทำกิจกรรมรายเดือนเป็นเวทีเรียนรู้ร่วมกัน อาจจะเรียกเวทีเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง สังคมและโลก หรือจะเรียกมหาวิทยาลัยชีวิตชุมชน ให้ผู้นำชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนซึ่งกันและกัน แล้วมีพี่เลี้ยงคอยป้อนข้อมูลต่างๆเติมให้ครบถ้วน กิจกรรมเหล่านี้อาจจะคู่ขนานไปกับกิจกรรมย่อยที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ทั้งนี้เพื่อขยายการรับรู้และการเกี่ยวข้องกันในสรรพสิ่งต่างๆที่มีในชุมชนกับสังคมภายนอกและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

การทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยตอกย้ำความรู้เท่าทัน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างสำนึกร่วมกัน และที่สำคัญอาจารย์ชัยอนันท์กล่าวย้ำว่า การสร้างให้คนรู้เท่าทันนี่คือการสร้าง Empowerment ซึ่งเป็นพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากตัวของเขาเอง เพื่อชุมชนของเขาเอง และสังคมโดยรวม นั่นเอง..

« « Prev : งานด่วน…

Next : วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (2) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 rani ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 เวลา 0:12

    ตามมาอ่าน เห็นปัญหาบ้านเราเป็นอย่างนั้นจริง อาจเพราะอยากสร้างภาพหรือไม่ เลยกระพือข่าว นักข่าวทำข่าวกันเสร็จแล้วก็จบกันไป ฉาบฉวยกับปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาไม่เคยแก้ได้ถูกจุด ทั้งๆ ที่รู้จุด ไม่เข้าใจว่าทำไม 
    นักวิชาการที่ลงชุมชนและเข้าใจปัญหาที่แท้จริง มีอยู่น้อยค่ะ ส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่กัน เพราะตำแหน่ง ทำให้พูดได้ง่าย อย่างนี้เขาเรียกว่า คนทำ ไม่ได้พูด แต่คนพูด ไม่ได้ทำ (ส่วนใหญ่นะคะ)
    เกือบลืมนะคะ โชคดีที่รัฐมนตรีท่านนั้น คิดยาวกว่า รมต.บ้านเรา อิอิ .

  • #2 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 เวลา 0:14

    ความเห็นของผม  (ไม่ใช่ท้องถิ่นนิยมนะครับ)  มันเหมือนมีอะไรบังตา  ทุกคนมองข้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แถมไปดูถูกว่าโง่เง่า  หลังเขา  ตีนดอย  ขี้โกงอีกต่างหาก
    …..  การกระจายอำนาจ  เป็นการกระจายการทุจริต
    …..  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเหลือบฝูงใหม่
    …..  ฯลฯ

    ปัจจุบันเข้าสู่ยุคการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Public Participation  รวมทั้ง Participatory Democracy ด้วย)  ข้าราชการจากรัฐบาลกลาง( รวมภูมิภาค)  นักวิชาการ  NGO  NPO  มาแล้วเงินหมดก็จากไป  (น้อยรายที่อยู่นานเหมือนลุงเปลี่ยน  ลุงบางทราย)  แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้ชิดกับชุมชนและประชาชนมาก

    ในต่างประเทศองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมกับชุมชนเพราะใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด  จะนำนโยบายจากรัฐบาลกลางลงสู่ชุมชนร่วมกับ NGO  NPO  แต่บ้านเราดุ่ยๆลงไปข้ามหัวไปเลย  บางครั้งไม่รัก  ไม่รู้จัก  ไม่เข้าใจบริบทของเขา  คิดเอาเองแล้วเอามาให้เขาทำ  มันถึงได้พังๆๆๆๆๆ

    ไม่ได้ว่าลุงเปลี่ยนกับลุงบางทรายนะครับ  อิอิ
     

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 เวลา 3:22

    ผมคิดว่ามีสามสิ่ง (เป็นอย่างน้อย) ที่หายไปครับ คือเป้าหมายร่วมกัน ความไว้วางใจกัน และความโปร่งใสที่แสดงถึงความคืบหน้าของเป้าหมายร่วมกัน

    เหมือนกับจะลงแขกกัน ก็ต้องรู้ว่าจะลงแขกทำอะไรนะครับ ทำกันจะๆ เห็นกันจะๆ เดี๋ยวนั้นเลย

  • #4 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 เวลา 19:43

    ฮึ่ม คันมือ แปะไว้ก่อนนะคะเพราะขอศึกษาการไปเป็นกรรมการคัดสรรโอทอปจังหวัดก่อน ต้องไปเป็นกรรมเกินสามวันรวด หายมึนแล้วจะกลับมาคุยด้วยค่ะ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 เวลา 21:43

    ขออภัยทุกท่านที่ผมเข้ามาแลกเปลี่ยนช้า….

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 เวลา 21:55

    น้องราณีครับ เป็นอย่างที่กล่าวครับ  ไม่วาในอดีตหรือปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ยังมีให้เห็นบ่อยๆ โดยเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่บางท่าน นักการเมืองจำนวนหนึ่งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น (ที่ดีดีก็มีจำนวนไม่น้อยนะครับ)

    บุคคลสาธารณะเหล่านี้สร้างแบบอย่างขึ้นและก็เจริญรอยตามกันไป

    ผมมีโอกาศเข้าร่วมประชุมกับผู้ใหญ่ที่เป็นข้าราชการระดับเทียบเท่าอธิบดี ในที่ประชุมนั้นมีเพื่อนท่านเป็นหัวหน้าส่วนในระดับจังหวัด และข้าราชการที่ติดตามและที่อยู่ในท้องถิ่นมาร่วมประชุมกันหนาตา  ผมในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการในจังหวัดนั้นก็ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย…เผื่อท่านมีคำถามอะไรเกี่ยวกับโครงการจะได้ตอบ ช่วยท่านหัวหน้าส่วนราชการนั้น…

    สิ่งที่ผมพบคือ ท่านเทียบเท่าอธิบดีท่านนี้ใช้อำนาจ(บาดใหญ่) พูดจากับเพื่อนที่เป็นหัวหน้าส่วนนั้นอย่างกับไม่ใช่เพื่อน และฟาดฟันเสียจนทุกคนเงียบกริบไปหมด….ในทัศนผมท่านแสดงอำนาจ เกินเลยไป แม้ว่าจะพูดในสิ่งที่เป็นประเด็น มีเหตุผล แต่การพูดกับลูกน้องตัวเอง(ที่เป็นเพื่อน)ต่อหน้าข้าราชการชั้นผู้น้อยจำนวนมาก ท่านไม่มีสุนทรียศาสตร์ในการแสดงความเห็นเชิงสร้างสรรค์กับลูกน้องเลย…มันน่านัก…

    ผมอธิบายว่า นี่คือการแสดงอำนาจ…ให้ทุกคนเกรงกลัว…และทุกคนก็หงอ  ขึ้นต่อ… พินอบพิเทา…สวามิภักดิ์…

    อีกไม่นานหัวหน้าส่วนราชการท่านนั้นก็โดนย้ายไปจังหวัดอื่น…แบบบอบช้ำไปเลย  แล้วใครที่ไหนจะมีกำลังใจไปทำงานแบบสร้างสรรค์ ก็ทำไปตามนายสั่ง(เพื่อนแท้ๆ)

    ระบบราชการจึงมีเงื่อนไขที่ยาก ลำบากในการทำงานพัฒนาแบบไร้เทียมทาน  มิใช่  ยกเว้นว่าหน่วยงานอื่นๆจะมีหัวหน้างานที่เข้าใจ และมีทัศนคติที่ดี และ…….ฯลฯ

    อ้าว เป็นการมาบ่นให้กันซะแล้วน้องราณี…

  • #7 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 เวลา 22:25

    เฮียตึ๋ง…ครับ….

    ความเห็นของผม  (ไม่ใช่ท้องถิ่นนิยมนะครับ)  มันเหมือนมีอะไรบังตา  ทุกคนมองข้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แถมไปดูถูกว่าโง่เง่า  หลังเขา  ตีนดอย  ขี้โกงอีกต่างหาก
    …..  การกระจายอำนาจ  เป็นการกระจายการทุจริต
    …..  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเหลือบฝูงใหม่
    …..  ฯลฯ

    ท่านอาจารย์ชัยอนันท์ และอาจารย์หลายท่านกล่าวเรื่องนี้ไว้มากครับ ในรายละเอียดที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมี  ตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า นักการเมืองท้องถิ่นหลายที่หลายแห่ง พยายามเลียบแบบนักการเมืองระดับชาติ  แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีจริง แต่ก็ต้องหาทางแก้ไขพัฒนากันไป  หลัการทำ CB ให้กับ อปท.นัน้ถูกต้องและต้องทำกันต่อไป ขณะเดียวกันการ หาทางสร้างเกราะป้องกันนักการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ดีก็ต้องหาทางกันไป ซึ่งนักวิชาการ และ อ.ชัยอนันท์ท่านก็กล่าวไว้มาก และกำลังดำเนินการกันอยู่  เชื่อว่ากำลังพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น  ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น 

    อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า ต่อไปการเสียภาษีของประชาชนควรจะเสียในท้องที่ และไม่ต้องเอาเข้าส่วนกลางเลย  เสีนที่ท้องถิ่นและท้องถิ่นจัดดารเองทั้งหมด  มิเช่นนั้นเมื่อเข้าส่วนกลาง ความรู้สึกประชาชนก็จะคิดไปว่า นั่นคือเงินหลวง  ทั้งๆที่เป็นเงินภาษีอากรของตัวเองที่เสียไปแบบไม่รู้ตัวบ้าง รู้ตัวบ้าง รัฐเก็บเอาไปแล้วแบ่งสรรย้อนกลับมา….  ต่อไปอาจจะไม่ต้องส่งไปส่วนกลาง

    อีกเรื่องหนึ่งคือ ภาษีทางอ้อมนัน้ไม่มีให้เสียภาษีตรงและต้องไปเสียเองด้วยตัวเองที่สำนักงานกลางเก็บภาษีที่ท้องถิ่น  อย่างนี้มันสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของว่างบประมาณที่ อปท.มีอยู่ในมือนั้นเป็นเงินของประชาชน และประชาชนก็ตั้งคณะทำงานควบคุ่กับ ผู้แทน อปท. เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณ..เป็นต้น

     

    ปัจจุบันเข้าสู่ยุคการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Public Participation  รวมทั้ง Participatory Democracy ด้วย)  ข้าราชการจากรัฐบาลกลาง( รวมภูมิภาค)  นักวิชาการ  NGO  NPO  มาแล้วเงินหมดก็จากไป  (น้อยรายที่อยู่นานเหมือนลุงเปลี่ยน  ลุงบางทราย)  แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้ชิดกับชุมชนและประชาชนมาก

    ในต่างประเทศองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมกับชุมชนเพราะใกล้ชิด กับประชาชนมากที่สุด  จะนำนโยบายจากรัฐบาลกลางลงสู่ชุมชนร่วมกับ NGO  NPO  แต่บ้านเราดุ่ยๆลงไปข้ามหัวไปเลย  บางครั้งไม่รัก  ไม่รู้จัก  ไม่เข้าใจบริบทของเขา  คิดเอาเองแล้วเอามาให้เขาทำ  มันถึงได้พังๆๆๆๆๆ

    ไม่ได้ว่าลุงเปลี่ยนกับลุงบางทรายนะครับ  อิอิ

    เรื่องนี้ต้องยอมรับกัยตรงๆว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ  โดยเฉพาะ NGO มีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีต่อ อปท. ว่าเป็นเครื่องมือของอำเภอ จังหวัด และกลุ่มนายทุนท้องถิ่นที่จะก้าวไปสู่ขั้นตอนอื่นๆของงานการเมือง  แต่คลี่คลายไปมากแล้ว  และ NGO จำนวนมากก็ก้าวลงสู่การเมืองท้องถิ่นด้วย  เขาเองก็เบื่อหน่ายการเขียนโครงการขอเงินจาก Funding agency ที่มีแนวโน้มมานานว่าจะให้งบประมาณตรงไปที่องค์กรประชาชนมากกว่าที่จะให้เงินลงไปที่องค์กรพัฒนาชุมชน

    ผมชอบกรณีอุดรธานีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ถ้าจำไม่ผิด) และนายกเทศมนตรี จัดจ้าง NGO เข้ามาทำงานเลย  ใช้กระบวนการของ NGO แต่ทำงานภายใต้กรอบที่ปรึกษาหารือกัน เพื่อหาทางผลักดันงานให้ลงถึงพื้นที่ โดยเฉพาะคนยากจนมากที่สุด  ลูกน้องผมปัจจุบันผันตัวมาจากตำแหน่งนั้น  และที่เทศบาลเมืองขอนแก่น ก็จัดจ้าง NGO ที่เจ๋งๆมานั่งเป็นที่ปรึกษาและทำงานในด้านมวลชน และคิดสร้างสรรงานอื่นๆในความถนัดของเขา  มีงานดีดีออกมามากมาย  และกำลังจะก้าวไปทำงานใหญ่คือ  จัดประชุมคนขอนแก่นเพื่อสร้างวิสัยทัศน์การพัฒนาเมือง  สิ่งหนึ่งที่ออกมาคือ ต้องการผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้ง และต้องเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้น…..กำลังมาแรง  เพราะโคราชก็ขานรับ….เพราะท่านทวิสันต์ (ดูจะเป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครราชสีมา และปัจจุบันดูจะเป็น ประธานสันนิบาตรเทศบาลภาคอีสาน  หากผิดขออภัยด้วยครับ) ก็มาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย…

  • #8 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 เวลา 22:44

    Logos ครับ

    ผมคิดว่ามีสามสิ่ง (เป็นอย่างน้อย) ที่หายไปครับ คือเป้าหมายร่วมกัน ความไว้วางใจกัน และความโปร่งใสที่แสดงถึงความคืบหน้าของเป้าหมายร่วมกัน

    เหมือนกับจะลงแขกกัน ก็ต้องรู้ว่าจะลงแขกทำอะไรนะครับ ทำกันจะๆ เห็นกันจะๆ เดี๋ยวนั้นเลย

    ที่กล่าวมานั้นผมเห็นด้วยมากครับ องค์กรที่อยู่ในเมืองใหญ่ การทำอะไรที่ปิดๆบังๆนั้นยาก แต่ก็มีและซับซ้อนมากขึ้น  องค์กรที่อยู่ไกลปืนเที่ยงอย่างดงหลวง นั้น ชาวบ้านไม่เข้าใจกระบวนการทำงานขององค์กรเหล่านี้เท่าไหร่นัก  องค์กรก็แล่นไปตามผู้นำคนนั้นๆ…ดีก็ดีไป  หากเจอะคนไม่ดี..ชาวบ้านก็พลาดโอกาสในการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดายงบประมาณที่สุด

    การเอาชาวบ้านมามีส่วนร่วมนั้นเป็นยาขนาดเอก ที่หลายแห่งหลายที่ใช้กล่าวกันแบบเป็นยันต์กันผีหลอก  หากได้ผู้นำที่เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องการมีส่วนร่วมก็ดี  และก็มีจำนวนมากเหมือนกันที่ปรากฏเด่นชัดในเรื่องเหล่านี้  มันมีข้อน่าสังเกตุว่าผู้นำในท้องถิ่นมักเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจท้องถิ่น….อิอิ เดาก็รู้คิดอะไรอยู่…

    ทุกปีในช่วงปลายปีงบประมาณ  ที่มุกดาหารที่ผมอยู่ และโรงแรมที่ผมพักประจำนั้นจะรับแขก 4-5 คันรถบัสใหญ่ พาชาวบ้านมาเที่ยวกัน บางกลุ่มก็ข้ามไปฝั่งลาว  บางกลุ่มก็เลยไปถึงเวียตนาม  ถามว่ามาจากไหน  โอยอย่าให้บอกเลย…หัวคะแนนทั้งนั้น… พามาเที่ยว ถลุงเงินปลายปีกัน…

    เชื่อไหมว่า มีความถี่มากขึ้นทุกปีตั้งแต่สพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่สองนี้สร้างเสร็จ จนเจ้าของโรงแรมที่ผมพักมา 4 -5 ปีนั้นไล่ผมออกโดยขึ้นราคาค่าห้องพลวดเดียว 4 เท่าตัว จนผมต้องระเห็ดไปหาที่ซุกหัวนอนในโรงแรมชั้นสาม(พร้อมกับข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนในจังหวัดอีกยี่สิบคน) เพราะราคาเท่ากับสิทธิที่ผมเบิกได้ ซึ่งก็ up ราคาขึ้นมาแล้ว  มันเป็นขาขึ้นของเขา ก็ไม่ว่ากัน อิอิ

    นอกจากเราจะต้อง CB กลุ่มผู้นำองค์กรในท้องถิ่นแล้ว ตัวชาวบ้านเองนั่นแหละต้อง CB ด้วย จะได้เท่าทันกัน…..

  • #9 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 เวลา 22:51

    แหะ…น้องแก้มยุ้ย..

    ฮึ่ม คันมือ แปะไว้ก่อนนะคะเพราะขอศึกษาการไปเป็นกรรมการคัดสรรโอทอปจังหวัดก่อน ต้องไปเป็นกรรมเกินสามวันรวด หายมึนแล้วจะกลับมาคุยด้วยค่ะ

    ช่วงเชียงรายหากมีอะไรเกี่ยวกับโอทอป แลกเปลี่ยนกับคนข้างกายพี่ได้นะ  เพราะเธอไปประเมินผลโอทอปมาร่วมกับทีมงานจากต้นตำหรับโอทอปญี่ปุ่นครับ  และนักวิชาการจาก ประเทศมาลาวีก็มาเรียนรู้จากเมืองไทย  ก่อนหน้านี้ท่านที่รับผิดชอบโอทอปของกระทรวงอุตสาหกรรม(ท่านรอง วิม รุ่งกรุด ปัจจุบันท่านเกษียณแล้วปีนี้เอง) ก็ให้คนข้างกายพี่ทำการฝึกอบรมโอทอปทั่วประเทศมาแล้ว

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.302090883255 sec
Sidebar: 0.13935494422913 sec