วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (2)
อ่าน: 5887
ที่ผมร่ายยาวมานี่เพราะความจริงเรื่องนี้ของชาวบ้านดงหลวงไปกระทบต่อการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในการทำการผลิตที่ก้าวหน้า คือ โครงการที่รับผิดชอบได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างงานสูบน้ำเพื่อการชลประทาน ที่ใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างทันสมัย เพื่อสนับสนุนเกษตรกรทำการผลิตแบบก้าวหน้า ในรูปของ Contract farming อันเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพการเกษตรแบบก้าวหน้า
เราใช้ GIS ออกแบบแผนงาน และติดตามงาน และใช้วิเคราะห์ เราเอาดินไปเข้าห้องแล็ป เพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารเพื่อเราจะได้แนะนำการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง เราจัดระบบกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีชาวบ้านมีส่วนร่วมและเข้ามาร่วมการบริหารจัดการ เรามีนักเกษตรกินนอนในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ V&C หรือ Visiting and Coaching ฯลฯ
ผลการทำงานอย่างหนักมาสามปี เราพบว่า มีเกษตรกรจำนวนไม่มากอย่างที่เราคาดหวังที่เข้าร่วมโครงการ และในจำนวนนั้นก็ไม่ได้ทุ่มเทเวลาทำการผลิตตามคำแนะนำของการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบใหม่ เวลาส่วนหนึ่งเขาเหล่านั้นขึ้นป่า ปลูกแล้วก็ใช้ความเคยชินเดิมๆ พฤติกรรมเดิมๆคือ เข้าป่า คำพูดนรินทร์ น่าจะเป็นตัวสะท้อนที่สำคัญประการหนึ่งคือ “…ผมติดรสอาหารป่า และนิสัยการชอบเข้าป่า ถ้ามีเวลาก็จะนึกถึงการเข้าป่ามากกว่าจะเดินไปที่แปลงพืชเศรษฐกิจ..”
เป็นโจทย์ใหญ่ของเรามาตลอดว่าจะทำอย่างไรต่อกรณีนี้ แต่บังเอิญที่โครงการเรามีอาการโคลงเคลงของการบริหารระดับสูง และการออกแบบโครงการไม่เข้าใจรายละเอียดแบบนี้ จึงมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่คิดว่าจะต้องมีอะไรทำพิเศษ เพราะทัศนคติผู้บริหารระดับสูงเป็นอีกแบบหนึ่ง
มีแนวทางออกอย่างไรในมุมมองของสนาม
- ทฤษฎีนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ การเอาผลตอบแทนรายพืชเป็นตัวกระตุ้น นั่นหมายถึง เน้นผู้ผลิตที่ประสบผลสำเร็จให้เป็นตัวนำร่อง
- เลือกชนิดพืชที่ไม่ซับซ้อนในการปลูกและดูแล เพื่อให้สอดคล้องต่อ นิสัยเรียบง่ายของเกษตรกร
- มีเจ้าหน้าที่ประจำในพื้นที่ที่เป็นพี่เลี้ยงเกษตรกร ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และเข้าใจการผลิตและเกษตรกรอย่างลึกซึ้ง
- นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มีประสบการณ์เข้ามาศึกษาและสร้างกระบวนการปรับกระบวนทัศน์การดำรงชีวิตที่เปิดกว้างมากขึ้น และเหมาะสมต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสมดุล
- การกระทำจะต้องต่อเนื่องและเน้นการเรียนรู้และกระตุ้นการตระหนักรู้ เข้าใจและสำเหนียก
- สร้างองค์กรชุมชนที่มีการผสมผสานระหว่างวัย เพศ เพื่อการเข้ามาดำเนินการเองในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ
- การสร้างองค์กรและกระบวนทัศน์ใหม่ต่อกลุ่มชาวบ้านอาศัยในภูมินิเวศเช่นนี้ นั้น ต้องใช้เวลา ซึ่งขึ้นกับประสิทธิภาพขององค์ประกอบต่างๆ
- เรามีบทเรียนโครงการงานสูบน้ำมามากพอสมควร แต่มิใช่กับกลุ่มเกษตรกรที่มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าแบบนี้..
บทเรียนกิจกรรมการพัฒนาเกษตรนี้ เป็นอีกครั้งที่ชี้ให้เห็นว่า
“เกษตรกรต้องเข้าใจและสร้างวินัยการผลิตต่อระบบการการเกษตรอย่างเหมาะสม มิเช่นนั้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตจะไม่ส่งผล ตามศักยภาพที่มีอยู่…”
« « Prev : Empowerment ในโครงการพัฒนาชุมชน
2 ความคิดเห็น
น่าสนใจมากเลยค่ะพี่บู๊ท เบิร์ดเคยคิดว่าการเพิ่มผลผลิตข้าวจะทำให้ข้าวราคาตกหรือไม่(ตามหลักการตลาด) พี่บู๊ทคิดว่ายังไงคะ?
พี่ไม่ค่อยเข้าใจอย่างลึกซึ้งเรื่องราคาข้าวว่าขึ้นลงเป็นเพราะเหตุผลใดกันแน่
เท่าที่พอฟังๆมา ราคาข้าวดูจะเป็นของเล่นของกลุ่มพ่อค้าข้าวส่งออกมากกว่าครับ และรัฐเองก็ไม่ได้เข้ามา subsidized กลุ่มพ่อค้าข้าวจึงเล่นกันจนรวย ไม่ต้องเสี่ยงในการผลิต แถมเป็นผู้กำหนดราคาข้าวเอง
เรื่องนี้อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทองรู้ดีเพราะเป็นคนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของปรินส์ตัน เรื่องข่าว
มีคนเสนอทางออกมากมาย ที่พูดกันมานานและทำไม่สำเร็จคือ เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ผู้ผลิตข้าว แล้วทำการส่งออกเอง ????? เราเริ่มมา 20-30 ปีแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เพราะอะไรหรือ พี่ก็ไม่ได้อยู่วงใน แต่เดาเอาว่า เพราะสหกรณ์ไม่ได้เป็นธุรกิจเอกชนยังอยู่ภายใต้ระบบราชการ แค่นี้ก็เสร็จแล้ว และบุคลากรของสหกรณ์จะไปสู้กลุ่มพ่อค้าส่งออกได้อย่างไร ฝีมือคนละชั้นกันเลย
การเพิ่มผลผลิตข้าวเป็นทางเลือกที่มีเจ้าสัว CP เสนอว่า เพิ่มผลผลิตข้าว คุณภาพข้าว แล้วแบ่งพื้นที่ดินไปปลูกพืชพลังงาน จริงๆเจ้าสัวเสนอให้เอาพืชพลังงานเป็นหลักแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกินด้วยซ้ำ…!!!
ในทางการเมืองนั้น ยังไม่มีการเมืองบริสุทธิ์ที่จะทำการเมืองเพื่อประเทศชาติจริงๆ มีความพยายามแต่องค์ประกอบก็ต้องเกื้อหนุนกันไปด้วย แต่ยังไม่เป็นเช่นนั้น