ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 3
ความอุดมสมบูรณ์ของแก่งละว้าทำให้ทุกสารทิศมุ่งมาปักหลักที่นี่ ถึง 40 หมู่บ้านรอบแก่ง วิถีชีวิตนอกจากนาข้าวแล้วก็จับปลา จนน้องโอ๋ สาวรักท้องถิ่นบอกว่า เมื่อเอาชาวบ้านไปขึ้นภูเพื่อหาหน่อไม้และอาหารอื่นๆ ชาวบ้านบอกเขาทำอะไรไม่เป็นเลย เพราะชีวิตอยู่กับแก่งมาตลอดจนเป็นความถนัด ความเคยชิน เป็นวิถีไปแล้ว ให้ไปทำอย่างอื่นทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี หรือต้องใช้เวลาในการปรับตัวกันนานพอสมควร
ทำให้ผมนึกถึงพี่น้องดงหลวงที่มีวิถีพึ่งพิงป่า มีวัฒนธรรมการกินอาหารจากป่า เมื่อเอาวิถีสมัยใหม่เข้าไปเช่นระบบ Contract farming จึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร…
ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ นำคณะพูดคุยกับผู้นำชุมชนแล้วเราก็ทราบเรื่องราวของแก่งละว้าในอดีต ที่ความอุดมสมบูรณ์ได้หล่อเลี้ยงพี่น้องรอบแก่งมาแสนนาน
..อาจารย์ครับ สมัยก่อนนั้นปลามากมาย ชาวบ้านแค่ทำ “เรือผีหลอก” ก็ได้ปลามามากเพียงพอทำปลาร้า..
..อาจารย์ครับ พวกเราได้กินปลาบึกกันนะครับ ..มันมาจากแม่โขง เข้ามาตามลำมูล เข้ามาลำชี ว่ายทวนน้ำจนมาถึงแก่งละว้านี้ มาออกลูกออกหลานด้วย..
..อาจารย์ครับ ที่นี่มีจระเข้ มีมากด้วยครับ ตัวใหญ่ยาวก็มี..
นั่นคือคำบอกเล่าส่วนหนึ่งของผู้นำ ที่คุยกันก่อนอาหารมื้อเที่ยงวันนั้น
เสียงใครสอดแทรกมาว่า มีคนจับจระเข้บ้างไหม… พ่อสายตา จันทร์เต็ม ผู้นำที่นั่งคุยกับคณะตอบขึ้นมาว่า …พ่อผมเป็นพรานน้ำจับจระเข้มามากต่อมากแล้ว… พวกเราสนใจกันใหญ่ว่าจับจระเข้แบบไหน เหมือนชาละวัน พิจิตรไหม… อยากรู้หรือ เดี๋ยวผมไปเอาเครื่องมือจับจระเข้มาให้ดู ว่าแล้วพ่อสายตาก็ขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้านไปเอาเครื่องมือมา..
พ่อสายตากลับมาพร้อมกับเครื่องมือจับจระเข้ เป็นเบ็ดยักษ์ครับ พร้อมกับหัวหอก พ่อสายตาเล่าว่า พ่อผมออกจับจระเข้ทีไรผมก็ติดตามไปด้วย ได้ดูได้เห็นอย่างใกล้ชิด ก็เอาเหยื่อคือปลาใหญ่ๆเกี่ยวเบ็ดแล้วก็เอาไปหย่อนตรงสถานที่ที่อยู่ของพวกจระเข้พอมันกินก็ดึงยื้อกัน แล้วเอาหอกแทง แล่เอาหนังไปขาย..
พ่อสายตากล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ. 2521 น้ำท่วมใหญ่มากสุด ได้พัดพาเอาวัชพืชต่างๆเข้ามาในแก่ง และพัดพาออกไปตามเส้นทาง ได้พัดพาสัตว์น้อยใหญ่หายไปหมดสิ้นด้วย …ไปค้นข้อมูลพบว่าพายุใหญ่ครั้งนั้นเกิดขึ้นเกือบทั่วประเทศที่มีชื่อว่า”เบส” และ “คิท” ก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ …
พ่อสายตา ชาวบ้านผู้รักอาชีพประมง และวิถีชีวิตกับแก่งละว้ามาค่อนคนแล้ว บุคลิกของท่านบ่งบอกถึงความจัดเจนในอาชีพและความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังที่ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ได้ชี้ให้พิจารณา
มีอะไรมากมายในแต่ละท้องถิ่น “เพียงเราให้เวลารับฟังสิ่งที่ชาวบ้านอยากจะพูด มากกว่าซักถามสิ่งที่เราอยากรู้”
เราก็จะเรียนรู้ความจริงแห่งวิถีชีวิตมากมาย
« « Prev : ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 1
Next : ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 4 » »
2 ความคิดเห็น
คำเฉลยเรื่องเบ็ดยักษ์ คือ เบ็ดตกจระเข้ ครับ…. ผมยังนึกไม่ถึงว่าจับจระเข้โดยใช้เบ็ดกับหอก คอนคนช่างสังเกตุ เห็นหอกด้วย ในรูปที่ตั้งคำถาม แต่คงนึกไม่ถึงเช่นผม
ไม่มีใครตอบถูก อิอิ อดได้ขนมจากมุกดาหารเลย..
ส่วนเครื่องลางที่ห้อยคอพ่อสายตา ลูกนายพรานจระเข้ นั้น ผมขยายใหญ่ ชัดเจน เป็นเขี้ยวเสือ แกะเป็นรูปเสือ พ่อสายตา ไม่ยอมเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป แต่อมยิ้มตลอด วันหลังหากมีโอกาสจะสอบถามใหม่