ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 4
อ่าน: 2590คณะต้องเดินทางต่อตามกำหนดการ เรื่องราวแก่งละว้าก็เลยค้างเติ่ง ปล่อยให้ผู้สนใจหาทางต่อกันเอง
ขอเก็บตกและสรุปประเด็นดังนี้
-
ทรัพยากรท้องถิ่นหากจัดระบบดีดีก็อยู่ร่วมกันได้… สาระที่ไม่ได้ post ตอนหนึ่งก็คือ มีผู้นำชุมชนชื่อหลวงคลัง หรือบ้ง ศรีโห นำชุมชนรอบแก่งละว้าพัฒนาและทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์กัน โดยท่านเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมคนรอบแก่งแล้วทำความเข้าใจกัน เมื่อท่านสิ้น ชุมชนก็สร้างอนุสาวรีย์ให้ท่าน
-
ราชการเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยไม่จัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม กรณีเอาน้ำไปทำประปาที่บ้านไผ่ แล้วตั้งกฎระเบียบเอาเอง แล้วเอากฎระเบียบนั้นมาประกาศใช้กับชุมชนรอบๆแก่ง สร้างความขัดแย้งมาจนปัจจุบัน นี่คือกรณีตัวอย่างอีกแห่งของความขัดแย้งระหว่างรัฐ(การปกครองส่วนท้องถิ่น) กับชุมชน
-
กรมชลประทานหวังดี แต่ผลออกมาเป็นการสร้างปัญหาทับถมลงไปอีก แม้จะมีการพยายามจัดประชาคม และบทสรุปของชุมชนคือทุบคันดินออก แต่ก็ยังทำไม่ได้ คาราคาซังเช่นนั้น..จะอีกนานเท่าไหร่หนอ..
-
จากข้อมูลแหล่งข่าวที่เคยมาทำงานที่นี่กล่าวว่า ปัญหาที่ใหญ่ตามมาก็คือ เมื่อน้ำไม่ไหลเข้าแก่ง หรือไหลเข้าน้อย ปัญหาที่พบปัจจุบันคือ เกิดความเค็มขึ้น และเพิ่มขึ้นทุกปี หลับตาดูอนาคตซิว่า ชาวบ้านรอบแก่งจะทำอย่างไร รัฐยังไม่ฟังชาวบ้าน อ้างแต่กฎระเบียบ กฎหมาย.. การถมทับปัญหาที่กระทบต่อวิถีชาวบ้านจะเป็นการสะสมความคั่งแค้น…ปัญหาเล็กไม่รีบแก้ รอให้เป็นปัญหาใหญ่ นักการเมืองนักการแมงที่อ้างจะเข้ามาเป็นปากเสียงชาวบ้านก็หลบลี้หนีหายไปซุกตูดใครก็ไม่รู้ อิอิ
-
นอกจากน้ำในแก่งจะทวีความเค็มแล้ว แหล่งข้อมูลยังกล่าวว่า ลำน้ำที่ไหลเข้าก็เอาความเค็มเข้ามาด้วย….โถ..ประเทศไทย ระเบิดอยู่ข้างหน้าอีกหลายลูก..
-
น้องโอ๋ สาวเหล็ก ลูกหลานหลวงคลัง ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำชี เกาะติดปัญหานี้และรวมตัวชาวบ้านมาช่วยกันคิดอ่าน แก้ปัญหากันเอง รัฐไม่ก้าวเข้ามา มีแต่ปกป้องตัวเอง และหาทางแก้ปัญหาในมุมของราชการ ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน
-
ทราบว่าเกาะกลางแก่งละว้า ได้ถูกจัดให้เป็นอุทยานอะไรสักอย่างเพื่อถวายแด่พระราชวงศ์ หากพระองค์ท่านทราบเรื่อง ทราบปัญหาท่านคงทรงมีเมตตาแก่ประชาชน แต่เรื่องราวนี้ไปไม่ถึง..
-
ผมลองใช้ Google earth ศึกษาพื้นที่ใกล้เคียงกัน พบว่ามีแก่ง อ่าง บึง หนอง ฯลฯ อีกหลายแห่งที่มีเงื่อนไขคล้ายๆแก่งละว้า และที่น่าตกใจคือ ถูกก่อสร้างคันดินล้อมรอบหมดเกือบทุกแห่ง เหมือนแก่งละว้า…??
ข้อเสนอแนะ
-
เมื่อภาครัฐมีข้ออ้างทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ก็น่าที่จะหาคณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งท้องถิ่น น่าจะประกอบด้วย ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษาท้องถิ่นที่มีวิชาความรู้ทางด้านนี้ มีนักวิชาการที่เข้าใจชุมชน มีข้าราชการท้องถิ่น มีนักการเมืองท้องถิ่น มีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และฯลฯ มาเป็นคณะศึกษาและหาทางออกร่วมกัน อย่าปล่อยให้ชาวบ้านดิ้นไปแต่ฝ่ายเดียว
-
สถาบันการศึกษาท้องถิ่นต้องลงมาใช้วิชาการความรู้เข้ามาศึกษารายละเอียดให้มากๆ เช่น คณะวิศวะเข้ามาศึกษาด้านโครงสร้าง ฯ คณะเกษตรเข้ามาศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรและอื่นๆ คณะธรณีวิทยาเข้ามาศึกษาเรื่องดิน การเปลี่ยนแปลงเรื่องของธรณี คณะศึกษาศาสตร์เข้ามาตั้งชมรมส่งต่อความรู้แก่งละว้าจากอดีตสู่ปัจจุบันไปสู่อนาคต คณะสื่อสารมวลชนเข้ามาทำข่าวภาคประชาชน คณะพัฒนาสังคมเข้ามาศึกษาชาวบ้าน จัดทำระบบข้อมูล ฯ คณะแพทย์ศาสตร์ เข้ามาศึกษาระบบอนามัยชุมชนที่มีวิถีชีวิตกับแก่งละว้า ฯลฯ อบต. อบจ.เข้ามาสนับสนุน ท้องถิ่น ให้ทุนทำวิจัยเรื่องต่างๆ จัดทำแผนงานพัฒนา แก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ
-
การที่คนท้องถิ่นรวมตัวกัน จับกลุ่มกันมองหาทางออกนั้นเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ภาคเอกชนต่างๆควรเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มคนท้องถิ่นมีศักยภาพในการทำงานต่อไป
-
เรื่องแก่งละว้าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะชาวบ้านรอบแก่งละว้า ความเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์นั้นกว้างขวางออกไปถึงระบบนิเวศกายภาพ ระบบนิเวศวัฒนธรรม ที่กินพื้นที่กว้างไปข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด ต้องศึกษาภาพรวมด้วยอย่างละเอียด เพื่อต่อภาพทั้งหมดให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกัน
ชาวบ้านเอาไหลบัวในแก่งละว้ามาตำส้มตำกินมื้อกลางวัน อร่อยมากครับ
สังคมนี้ต้องการประสานความร่วมมือ
ต้องการระดมความรู้ใหม่ ประสบการณ์เดิม มาร่วมกันมอง คิดอ่านพัฒนาพื้นที่
สังคมนี้ต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหามิใช่รวมตัวกันมาแสวงหาผลประโยชน์ที่อิงแอบบนปัญหาของประชาชน
ฝันมากไปไหมครับ..
« « Prev : ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..แก่งละว้า 3
Next : ทำไมจึงขอหน่อกล้วย.. » »
2 ความคิดเห็น
ถอนหายใจยาว คงไม่ใช่ที่เดียวใช่มั้ยคะที่มีปัญหาแบบนี้ การจัดการลุ่มน้ำโขงก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่การศึกษาเส้นทางของพี่บู๊ดทำให้สนใจว่าแม่น้ำ 6 สายของชร.ไหลทิ้งไหลขว้าง ไหลบนลงล่าง ไหลล่างขึ้นบนยังไงบ้าง
แม่น้ำชี เกิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลผ่านชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และไหลไปเจอกับแม่น้ำมูลใน
เอ๋อ ไหงข้อมูลด้วนไปเฉยๆ
แม่น้ำชีเกิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ แล้วไปเจอแม่น้ำมูลในอุบลฯ มีความยาวประมาณ 756 กม. ความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำเพียงพอต่อการกำเนิดสายน้ำนี้ไปอีกนานเพียงใด บนเส้นทางสายน้ำ มีคนอยู่มากน้อยเพียงใด มีรูปแบบการใช้น้ำตลอดเส้นทางเป็นยังไง ต่างใช้น้ำมากน้อยแค่ไหน คำนวณอนาคตของแม่น้ำสายนี้ผ่านปริมาณน้ำ การใช้น้ำ และจำนวนคนได้หรือไม่ อืม…การจัดการน้ำไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ
แก่งละว้า…จะอยู่ได้มั้ยถ้าไม่มีต้นน้ำ