ต้นหมี่..

โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 0:05 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 23284

เมื่อสัปดาห์ก่อนโครงการจัดงานวัน Field day แก่ผู้นำเกษตรกร ต.ดงหลวง ซึ่งเราพยายามให้บทบาทแก่ผู้นำได้เอาผลงานของตนเองมาเสนอในลักษณะเล่าสู่กันฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยนกัน

ระหว่างนั้น ผู้นำเครือข่ายไทบรู ได้ขึ้นมาแนะนำกิจกรรมของเครือข่ายที่สนับสนุนให้ปลูกต้นไม้ และหันมาพึ่งพาตนเองกันให้มากๆ โดยลดรายจ่ายด้านต่างๆ อะไรที่ทำขึ้นเองได้ก็ทำ ไม่ต้องไปซื้อ แล้วผู้นำท่านนี้ก็นำตัวอย่างพืช และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มออกมาแนะนำให้สมาชิกได้ทราบและให้กลับไปทำใช้เอง…..

มีสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากคือ ผู้นำท่านนั้นแนะนำต้นไม้พื้นบ้านต้นหนึ่งคือ “ต้นหมี่” ซึ่งสามารถนำไปทำสบู่ ยาสระผม และเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย เมื่อเสร็จงาน ผมไปสอบถามผู้นำท่านนั้นว่ามีตัวอย่างให้ผมดูไหม ท่านก็จูงมือผมไปดูต้นหมี่ หลังจากนั้นผมก็มาค้นข้อมูลคุณประโยชน์มากมายของพืชป่าต้นนี้ ดังนี้


ข้อมูลเบื้องต้น: เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 5-15 เมตร ชอบขึ้นบริเวณดินร่วนปนทราย ตามไร่ นา ป่า โคก เปลือกมีกลิ่นหอม ใบ เป็นใบเดี่ยว ผล เป็นผลเดี่ยว ผลสดรูปทรงกลม ออกเป็นพวง พวงละ 3-7 ผล ผลดิบสีเขียวจุดขาวมันวาว ผลสุกมีสีม่วงเข้มออกดำ เมล็ด เมล็ดสดรูปทรงกลม เนื้อเมล็ดแน่น สีขาวนวล หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด ต้นหมี่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีทางธรรมชาติได้ 2 วิธี คือ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการงอกเป็นต้นกล้าจากรากของต้นเดิมที่แผ่ขยายออกไป


การใช้ประโยชน์ ส่วนต่าง ๆ ของต้นหมี่มีสรรพคุณทางยา คือ ราก นำมาใช้ตำทาแก้ ฝี หนอง ต้มกินแก้ท้องอืด แก้ท้องร่วง เป็นส่วนผสมยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง บางหมู่บ้านนำรากตากให้แห้ง แล้วดองกับเหล้าขาว แก้โรคเลือด เช่น ระดูมาไม่ปกติ ลมพิษ เป็นต้น เปลือก นำมาใช้ฝนทาแก้ฝี ผิวในของเปลือกสดอมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ต้มอาบแก้ผดผื่น แก้ท้องอืด ใบ ใบสดใช้ฆ่าเหา ใช้ขยี้ทารักษาแผล กลากเกลื้อน แก้พิษแมงมุม แก้ท้องร่วง ท้องอืด นอกจากนั้นก็ใช้ ลำต้นใช้สร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำฟืน ทำเขียง ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำด้ามมีด จอบ เสียม ขวาน ทำยุ้งใส่ข้าว และปลูกให้ร่มเงา เปลือกใช้ย้อมผ้า ย้อมแหให้ติดสี ผงเปลือกทำธูปจุดไล่แมลง ยางของต้นหมี่ ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนา และทนทาน ใช้ดักแมลงตัวเล็กๆ ใช้ใบสดสระผม ใช้ตำผสมกับผลทำหัวเชื้อชีวภาพ ใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว ใช้รองฝาปิดปากไหปลาร้ากันหนอน ดอก ของต้นหมี่สามารถนำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย ผลสุก ใช้บีบหรือตำทาแก้โรคผิวหนัง หรือนำมาสระผมก็ได้


ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เด่นชัดที่สุด คือ ใช้ใบสดสระผม และใช้ส่วนต่าง ๆ ตามสรรพคุณทางยา
ด้านประเพณี ใช้ใบห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ ด้านความเชื่อ มีการขูดเปลือกขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลใช้เหน็บบั้นเอว จะทำให้หายจากอาการจุกเสียด เชื่อว่าคนท้องสระผมด้วยใบหมี่ผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่าย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของต้นหมี่ คือ แชมพู ครีมนวด และสบู่เหลวล้างมือ..


ต้นหมี่กับวัฒนธรรมล้านนา….เทศกาลงานสงกรานต์

อุ๊ยแสงดาเล่าว่า “สมัยก่อน จะต้มใบหมี่ในหม้อดินก้นทรงกลม หรือเรียกว่า หม้อสาว จุน้ำสิบถึงยี่สิบลิตร เมื่อต้มแล้ว นำไปสระผมได้หลายๆ คน ขณะที่ต้มกลิ่นอายจากหม้อช่วยผสมให้น้ำเดือดช่วยให้กลิ่นใบหมี่อยู่ได้นาน เพราะความหนาแน่นของหม้อดินจะอมความร้อนได้นานนั้นเอง “

แม่อุ๊ยสอนว่า “ใบแก่ดีกว่าใบอ่อน เพราะกลิ่นหอมมากกว่า..เพียงเอาใบมาทุบแล้วแช่น้ำไว้นานๆ ก็จะมีกลิ่นหอมได้เช่นกันนำมาต้มไฟอ่อนพอน้ำเดือด กลิ่นหอมจะถูกความร้อนละลายออกมาทีละน้อยๆ ไม่ระเหยไปกับน้ำโดยไม่จำเป็น..”


จำนวน ใบที่นำมาต้ม ส่วนมากจะใช้ห้าใบขึ้นไป ปีใหม่เมืองเหนือหรือสงกรานต์ ผู้คนนิยมนำใบหมี่มาสระผมจนถือเป็นเคล็ดกันว่าปีหนึ่งขอให้ได้สระผมด้วยน้ำ ต้มใบหมี่ปีละหนึ่งครั้ง ในวันปีใหม่ ก็จะมีโชคคุ้มได้ทั้งปี

ว่าแต่ว่าสาวเหนือทั้งหลาย อุ้ยสร้อย อึ่งอ๊อบ ครูอึ่ง น้องเบิร์ด เคยสระผมด้วยหมี่หรือยังล่ะ หากเคยละก็เอาผมมาให้พ่อครู จอมป่วน อาเหลียง หอมหน่อยนะ อิอิ

(ข้อมูลจาก http://www.udif.or.th/paritusapril%2051/aal.html)

« « Prev : ลายเซ็น

Next : วันพระกับยุ้งข้าว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 1:32

    ที่สวนเกิดเองตามธรรมชาติ เมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์แบบสมัยก่อน ชาวบ้านก็ตัดทิ้ง เพราะเกะกะการเพาะปลูก
    เท่าที่สังเกต ต้นเล็กๆเกิดเองทั่วไป ทีสวนเก็บต้นใหญ่ๆไว้  เจ๊งเมื่อไหร่คนก็จะหวนมาถามหา เรื่องเตรียมการ ปลูกมะกรูดไว้เยอะก็ดี ยามขัดสนจะได้ไม่ขัดเคืองใจ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.21814393997192 sec
Sidebar: 0.029149055480957 sec