ลายเซ็น
หากท่านเข้าไปดงหลวง เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้าน ท่านจะต้องฉงน เพราะมีแต่นามสกุล เชื้อคำฮด ที่ตำบลพังแดง วงศ์กะโซ่และโซ่เมืองแซะที่ ตำบลดงหลวงอาจเรียกว่าร้อยละ 99 มีเพียง 2-3 นามสกุลนี้เท่านั้น
เมื่อเราเข้าไปทำงานใหม่ๆเราก็ ฉงน และสับสน เพราะพบบ่อยที่ไทโซ่มีชื่อและนามสกุลเหมือนกัน ลองเดาซิครับว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะแยกบุคคลนั้นได้ถูกต้องว่าหมายถึงคนนี้ คนนั้น.. คำตอบคือเราใช้สิ่งที่แตกต่างกันแน่นอนคือบ้านเลขที่ เพราะคงไม่มีใครที่ชื่อเหมือนกันและนามสกุลเหมือนกันอยู่ในครอบครัวเดียวกัน
ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่ เป็นชนเผ่าที่มีภาษาเป็นของตนเอง อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่รัชการที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานหลายแห่ง โดยเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตที่สูง เพราะวิถีเขานั้นพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากภูเขา โดยกายภาพแล้วการตั้งถิ่นฐานนี้อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ อันเป็นเหตุให้ได้รับสวัสดิการของรัฐน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ
ยิ่งสมัยที่เมืองไทยเรามีการขัดแย้งกันทางความเห็นการปกครอง พื้นที่ดงหลวงอยู่ในเขตปลดปล่อย เป็นเวลายาวนาน การศึกษาก็ยิ่งห่างไกลออกไป หลังปี 2527 โดยประมาณ เขาทั้งหลายก็ลงมาจากภูเขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายของประเทศไทย
ปัจจุบันการทำงานพัฒนาภายใต้กึ่งระบบราชการนั้นยังจำเป็นต้องอิงระบบ แม้ว่าจะขัดต่อวิถีทางการพัฒนาคนในหลายๆด้านก็ตาม เพราะโครงการนี้มีที่มาจากระบบราชการนั้นเอง
ทุกครั้งที่เรามีการประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ ที่ต้องอาศัยงบประมาณราชการก็ต้องมีหลักฐานลายเซ็นผู้เข้าร่วม อย่างน้อยที่สุดก็เท่ากับจำนวนที่ระบุไว้ในแผนงานที่เสนอของบประมาณนั้นๆ
ที่ดงหลวงเราต้องเตรียม Stamping Ink ทุกครั้งเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรผู้ที่ไม่สามารถลงนามชื่อตัวเองได้ทำการปั้มลายนิ้วหัวแม่มือแทน
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนหลายแง่มุม คนที่คลุกคลีกับวิถีไทยโซ่ฐานรากย่อมเห็น และทราบดีว่า
-
ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มีน้อยกว่าท้องถิ่นอื่นๆส่งผลให้โลกทัศน์ของเขายังสืบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมเดิมๆของเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนชีวิตที่เป็นไปอย่างช้าๆ
-
ระบบการสื่อสารที่เข้าสู่ชุมชนที่ทันสมัยแต่เต็มไปด้วยการกระตุ้นค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาคือปัญหาใหม่
-
งานพัฒนาชุมชนยังไม่ได้เข้าไปจักกระบวนการปรับตัวที่เหมาะสม แต่นำเสนอชิ้นส่วนที่เขาต้องหักดิบการเปลี่ยนแปลงซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนมาก
-
นโยบายของรัฐที่ใช้ศูนย์กลางอำนาจเป็นคำสั่งออกแบบงานพัฒนาชุมชนนั้นก็ยังซ้ำซาก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
-
ฯลฯ
บางทีเราก็นึกไม่ออกว่าเทคโนโลยีนาโน กับการพยายามลงนามเข้าร่วมการเรียนรู้ภายใต้ระเบียบของรัฐของชาวบ้านแบบดงหลวงนี้ ระยะห่างขององค์ความรู้นี้จะก่อผลกระทบในการเคลื่อนตัวของสังคมมากน้อยแค่ไหน
« « Prev : สารภาพ..
Next : ต้นหมี่.. » »
4 ความคิดเห็น
เรื่องนี้มันส์มาก อึ้งๆๆ เวลาแต่งงานจะไขว้นามสกุลยังไงนี่
หากคนที่ไม่ได้เข้าพื้นที่และคลุกคลีกับชาวบ้านนั้น จะนึกไม่ออกว่าจะจำแนกคนที่มีชื่อเดียวกันตามบ้านเลขที่นั้นเป็นอย่างไร เช่นนายหล่อง เชื้อคำฮดบ้านพังแดง มีสองคน เราก็ต้องใช้ข้อมูลมากไปอีกว่า นายหล่อง เชื้อคำฮด บ้านเลขที่ 10 นายหล่อง เชื้อคำฮด บ้านเลขที่ 56 เป็นคนละคนกัน หน้าตาไม่เหมือนกัน มีโคตรคนละโคตร หากเราคลุกคลีมากๆเราก็มีรายละเอียดแต่ละคนมากขึ้น เมื่อเอ่ยถึง นายหล่องบ้านลขที่ 10 ก็บอกว่า คนที่เก่งเรื่องทำปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่นายหล่อง บ้านเลขที่ 56 นั้นเก่งเรื่องปลูกยาสูบพื้นบ้าน
นานมาแล้วแถวภาคกลางเราก็พบว่า ผู้ชายผู้หยิงชื่อเหมือนกัน สะกดเหมือนกันคือ ชื่อ อุไร ที่ซ้ำร้ายมาแต่งงานกัน เลย ผัวก็ชื่ออุไร เมียก็ชื่ออุไร นามสกุลก็เป็นนามสกุลเดียวกันอีก จึงต้องแยกเป็นนายและนางอุไร สองผัวเมียนี่ทำให้เกิดเรื่องขำๆมากมายเกี่ยวกับชื่อ เช่น ภาคกลางสมัยก่อนมักจะมีการเรี่ยไรสร้างโบสถ์ สร้างวิหารกัน วิธีการก็มีรถหรือเรือเดินทางไปมีพระนั่งไปด้วย มีคณะกรรมการสัดและชาวบ้านไปช่วยกันเรี่ยไร เมื่อมีคนทำบุญ พระ หรือผู้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ก็จะถามชื่อเสียงว่าชื่ออะไร เพื่อจะได้โฆษณาผ่านเครื่องกระจายเสียงป่าวประกาศให้ชาวบ้านร้านถิ่นทราบว่า นายนี่ นางนี่ ร่วมทำบุญกับวัดแล้ว เท่านั้นเท่านี้บาท หรือไม่บอกจำนวนเงิน หรือไม่บอกชื่อเสียงผู้ร่วมทำบุญ
พระท่านก็ถามว่า ชื่ออะไรเล่า นางอุไรก็ตอบว่า ชื่อไร(ชาวบ้านมักจะพูดจากันด้วยคำสั้นๆ จากอุไร เป็น ไร) พระท่านนึกว่าย้อนถาม จึงย้ำถามไปว่า ชื่อไรเราน่ะ นางอุไรก็ตอบอีกว่า ชื่อไรค่ะหลวงพี่… พระไม่เข้าใจก็ถามซ้ำๆไป ฉันถามว่าโยมชื่อไร นางอุไรก็ย้ำอีกว่า ชื่อไรค่ะ….. กว่าจะรู้เรื่องกันได้ก็เล่นเอาทั้งพระทั้งนางอุไร เกือบทะเลาะกัน อิอิ
สวัสดีครับพี่บางทราย ที่น่านมีหลายแห่งที่มีนามสกุล 2-3 นามสกุลเหมือน ๆ กัน เกื่อบทั้งหมู่บ้าน แต่ที่นั้นเวลาเรียกกันจะบอกว่าเป็นลูกเต้าใครด้วย เช่น ยา ลูกตามียายผัด เป็นต้น (ยกตัวอย่างภรรยาผมเอง อิอิอิ)
ใช่แล้วครับอ.ภูคา การเรียกชื่อคนนั้นว่าเป็นลูกใครนั้นเป็นการย้ำว่าสังคมชนบทนั้นรู้จักลึกไปถึงพ่อแม่ หรือถึงปู่ย่า ถึงตระกูลกันเลยทีเดียว สังคมชนบทรู้จักกันไปหมด มีแต่เราคนภายนอกเท่านั้นแหละที่งง หากไม่ใกล้ชิดละก็ ยิ่งงงใหญ่ แม้ระบบเลข 13 หลักที่ทางราชการมักเอามาเป็นฐานการเชื่อมข้อมูล เจ้าหน้าที่คน key in ข้อมูลบางทีไม่เข้าใจไปแก้ชื่อเขาให้เลย ฐานข้อมูลเลยไปกันใหญ่ ความเข้าใจสังคมชนบทนั้นจำเป็นสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนบทใช่ไหมครับ อ.ภูคา อยากเที่ยวน่านครับ