ลายเซ็น

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 พฤษภาคม 2009 เวลา 13:20 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 4700

หากท่านเข้าไปดงหลวง เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้าน ท่านจะต้องฉงน เพราะมีแต่นามสกุล เชื้อคำฮด ที่ตำบลพังแดง วงศ์กะโซ่และโซ่เมืองแซะที่ ตำบลดงหลวงอาจเรียกว่าร้อยละ 99 มีเพียง 2-3 นามสกุลนี้เท่านั้น

เมื่อเราเข้าไปทำงานใหม่ๆเราก็ ฉงน และสับสน เพราะพบบ่อยที่ไทโซ่มีชื่อและนามสกุลเหมือนกัน ลองเดาซิครับว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะแยกบุคคลนั้นได้ถูกต้องว่าหมายถึงคนนี้ คนนั้น.. คำตอบคือเราใช้สิ่งที่แตกต่างกันแน่นอนคือบ้านเลขที่ เพราะคงไม่มีใครที่ชื่อเหมือนกันและนามสกุลเหมือนกันอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่ เป็นชนเผ่าที่มีภาษาเป็นของตนเอง อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่รัชการที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานหลายแห่ง โดยเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตที่สูง เพราะวิถีเขานั้นพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากภูเขา โดยกายภาพแล้วการตั้งถิ่นฐานนี้อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ อันเป็นเหตุให้ได้รับสวัสดิการของรัฐน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ

ยิ่งสมัยที่เมืองไทยเรามีการขัดแย้งกันทางความเห็นการปกครอง พื้นที่ดงหลวงอยู่ในเขตปลดปล่อย เป็นเวลายาวนาน การศึกษาก็ยิ่งห่างไกลออกไป หลังปี 2527 โดยประมาณ เขาทั้งหลายก็ลงมาจากภูเขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายของประเทศไทย

ปัจจุบันการทำงานพัฒนาภายใต้กึ่งระบบราชการนั้นยังจำเป็นต้องอิงระบบ แม้ว่าจะขัดต่อวิถีทางการพัฒนาคนในหลายๆด้านก็ตาม เพราะโครงการนี้มีที่มาจากระบบราชการนั้นเอง


ทุกครั้งที่เรามีการประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ ที่ต้องอาศัยงบประมาณราชการก็ต้องมีหลักฐานลายเซ็นผู้เข้าร่วม อย่างน้อยที่สุดก็เท่ากับจำนวนที่ระบุไว้ในแผนงานที่เสนอของบประมาณนั้นๆ

ที่ดงหลวงเราต้องเตรียม Stamping Ink ทุกครั้งเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรผู้ที่ไม่สามารถลงนามชื่อตัวเองได้ทำการปั้มลายนิ้วหัวแม่มือแทน


ปรากฏการณ์นี้สะท้อนหลายแง่มุม คนที่คลุกคลีกับวิถีไทยโซ่ฐานรากย่อมเห็น และทราบดีว่า

  • ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มีน้อยกว่าท้องถิ่นอื่นๆส่งผลให้โลกทัศน์ของเขายังสืบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมเดิมๆของเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนชีวิตที่เป็นไปอย่างช้าๆ
  • ระบบการสื่อสารที่เข้าสู่ชุมชนที่ทันสมัยแต่เต็มไปด้วยการกระตุ้นค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาคือปัญหาใหม่
  • งานพัฒนาชุมชนยังไม่ได้เข้าไปจักกระบวนการปรับตัวที่เหมาะสม แต่นำเสนอชิ้นส่วนที่เขาต้องหักดิบการเปลี่ยนแปลงซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนมาก
  • นโยบายของรัฐที่ใช้ศูนย์กลางอำนาจเป็นคำสั่งออกแบบงานพัฒนาชุมชนนั้นก็ยังซ้ำซาก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
  • ฯลฯ

บางทีเราก็นึกไม่ออกว่าเทคโนโลยีนาโน กับการพยายามลงนามเข้าร่วมการเรียนรู้ภายใต้ระเบียบของรัฐของชาวบ้านแบบดงหลวงนี้ ระยะห่างขององค์ความรู้นี้จะก่อผลกระทบในการเคลื่อนตัวของสังคมมากน้อยแค่ไหน



Main: 0.28094816207886 sec
Sidebar: 0.39022183418274 sec