งานด่วน…
อ่าน: 1645ช่วงนี้ผมรู้สึกหนักอึ้งกับการการเขียนรายงานพิเศษเรื่อง 9 ปีผลผลิตโครงการ คฟป. ที่เจ้านายสั่งให้ผมทำ(คนเดียว) ขณะที่รับปากความรู้สึกข้างในก็ร้อง อี๊…. เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมานั่งสรุปงานที่ทำมาแล้วตั้ง 8 ปี 9 ปี เนื้อหาสาระมันมากมาย.. แต่ก็ต้องทำ มิใช่เพราะว่านายสั่ง นายก็เป็นน้องเรานั่นแหละ เป็นถึงเบอร์สองของ ส.ป.ก. ที่ท่านอัยการชาวเกาะยืนเคียงข้างแล้วถล่มนายทุนเสียยับคามือมานั่นแหละ
ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอก กลับตรงข้ามชอบ..เพราะการอ่านเอกสารเป็นตั้งๆแล้วมาสรุปนั้น เท่ากับเราทบทวนสาระทั้งหมดของโครงการทีเดียว เราก็จะรู้มากรู้กว้างครอบคลุมมากที่สุด นี่คือประโยชน์ของการทำงานชิ้นนี้ แต่เซ็งเพราะ การทำงานแบบนี้ต้องมีสมาธิมากๆ แต่บรรยากาศมันหลุดอยู่เรื่อยๆ เลยเซ็ง..
เมื่อวันก่อน เสียงเบอร์สอง ส.ป.ก.ทวงถามมาว่า “…พี่บู๊ด..งานเสร็จหรือยังล่ะ..อิอิ ผมสะดุ้งโหยง..ยิ้มแหยๆ แล้วตอบไปว่า ยังไม่เสร็จครับ จวนแล้วครับขอเวลาอีกสักหน่อยเพื่อความสมบูรณ์…” ผมว่าไปทั้งที่ขยับไปได้นิดเดียว…(บาป) โชคดีนะเนี่ยะที่เบอร์สองล้มหมอนนอนเสื่อในโรงพยาบาลเสียหลายวัน..
มาหามรุ่งหามค่ำ หมู หมา กา ไก่ ไม่ดูไม่แลมันหละ ลุยงานอย่างเดียว…แล้วงานก็สำเร็จเหลือการตรวจสอบและเอารูปลงไปใส่เท่านั้น แล้วก็ส่งให้เพื่อนร่วมงานช่วยกันดูอีกรอบหนึ่ง ก็เป็นอันสมบูรณ์ ดงหลวงดงหลางไม่ได้ไปดูไปแลเลย ปล่อยให้น้องนุ่งลุยไปเท่านั้น เธอทั้งหลายก็ดีใจหาย..เฮ่อ มีทีมงานดีดีก็สบายใจไปแปดอย่าง (เอ ทำไมต้องแปดอย่างก็ไม่รู้นะ…)
เลยถือโอกาสที่มีเวลาแว๊ป…เอาสาระบางส่วนมาเผยแพร่ใน ลานฅนฟื้นฟูแห่งนี้ นำร่องให้เพื่อนๆ น้องๆในโครงการได้อุ่นใจและคาดหวังว่าจะเอาอย่าง ลองขีดๆเขียนๆมาลงบ้างนะ (เฮ่อ บางทีผมว่า เข็นครกขึ้นภูเขาง่ายกว่าอีก อิอิ อิอิ..)
——————————————————————-
ความเป็นมา
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) โดยความช่วยเหลือด้านวิชาการจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น(ไจก้า) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสานในเขตปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ศึกษาเผชิญกับปัญหาต่อไปนี้
· ขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภค
· ความอุดมสมบูรณ์ดินต่ำและบางแห่งมีการพังทลายสูง
· พื้นที่ปฏิรูปที่ดินที่ติดกับเขตอนุรักษ์ล่อแหลมต่อการแผ้วถางทำพื้นที่เกษตร
· รายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตร(ค่าจ้างแรงงาน) ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะทดถอย ทำให้ครัวเรือนเกษ๖รกรขาดรายได้
ด้วยเหตุนี้ ส.ป.ก. จึงจัดทำโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วยการทำการเกษตรผสมผสาน โดยเลือกพื้นที่ปฏิรูปที่ดินซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอต่างๆใน 4 จังหวัดรวมพื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่
การดำเนินงานโครงการ
· การเตรียมความพร้อมเกษตรกรเกี่ยวกับความเข้าใจโครงการ: ส.ป.ก.ได้เตรียมความพร้อมเกษตรกรใน 4 จังหวัด โดยชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ ผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ มีเกษตรกรมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการขอรับการสนับสนุนสระน้ำประจำไร่นา ความจุ 1,260 ลบ.ม. รวมทั้งสำรวจความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระชุมชน ถนนลูกรังสายหลัก สายซอย และถนนเข้าแปลงเกษตรกรรมด้วย
· เตรียมความพร้อมด้านแนวคิดแก่เกษตรกร: พื้นที่นำร่องที่จังหวัดมหาสารคามได้จัดทำการเตรียมความพร้อมเกษตรกรด้านแนวคิดโดยการ จัดศึกษาดูงาน เรียนรู้ประสบการณ์ของเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกร(ศูนย์อินแปง) การทำเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม วนเกษตร กิจกรรมธุรกิจชุมชน ในพื้นที่ต่างๆ มีความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิหมู่บ้าน ได้เข้าร่วมในกิจกรรมศึกษาชุมชนแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม จัดทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งใช้ผลวิเคราะห์จากการศึกษามากำหนดแนวทางการพัฒนาโดยเฉพาะเศรษฐกิจในครัวเรือน
· กรอบแนวคิดหลักในการพัฒนา: กรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาคือ “ความยั่งยืน” “รูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม” และ “การมีส่วนร่วมของเกษตรกร” ผ่านกิจกรรมหลัก 5 ด้านคือ งานพัฒนาองค์กรเกษตรกร และเครือข่าย งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร งานพัฒนาการเกษตร งานฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ป่าชุมชน และอนุรักษ์ดินและน้ำ และงานตลาดชุมชน
· เป้าหมายโครงการ: จากสภาพปัญหาพื้นฐานของพื้นที่ที่มีความด้อยต่างดังกล่าว ส.ป.ก. เข้ามาจัดทำโครงการด้วย 5 กิจกรรมหลัก ด้วยกรอบหลักการมีส่วนร่วมของเกษตรกร การจัดรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมเพื่อให้ผลงานเป็นความยั่งยืนนั้น สาระสำคัญก็เพื่อ สร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป้าหมายให้มีคุณภาพดีขึ้น และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายให้ดีขึ้นนั่นเอง