คิดไม่ถึง…
อ่าน: 2884ยังเกาะติดปัญหาหลักของพี่น้องบ้านพังแดงที่เกริ่นไปหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องที่ประชาชนมีข้าวไม่พอกิน มาเอะใจก็ตอนที่มานั่งคุยกับนรินทร์ เชื้อคำฮด หนุ่มผู้ต่อสู้เพื่อการหนี้รอดความยากจนนี่แหละทำให้เกิดการทบทวนอย่างหนักในเรื่องนี้
-
หลังจากที่พี่น้องกะโส้บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆออกมาจากป่าแล้วต่างก็เผชิญการอดข้าวบริโภคครั้งใหญ่ ไม่กี่ปีต่อมาการขยายพื้นที่ปลูกข้าวก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการมีพืชไร่ชนิดใหม่เข้ามานั่นคือ มันสำปะหลัง….เพียงสามสี่ปี พืชมหัศจรรย์ชนิดนี้ก็ขยายเต็มพื้นที่ดงหลวง ในที่ที่ไม่ได้ทำนาลุ่ม ปัจจุบันก็เริ่มเอามันสำปะหลังลงไปปลูกในนาข้าวบ้างแล้ว..
ก็ธรรมดานี่นา..ที่ไหนๆก็ปลูกมันสำปะหลัง ทั่วอีสาน ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการที่ข้าวไม่พอกินเลย หรือจะเป็นเพราะพื้นที่ปลูกมันไปแย่งพื้นที่ปลูกข้าวไร่..? ก็มีบ้าง แต่ไม่ได้แทนที่ทั้งหมด..เพราะเรารู้มาแต่ไหนแต่ไรว่า ข้าวคือพืชหลักที่ชาวบ้านเอาไว้ก่อน อย่างอื่นเป็นเรื่องมาทีหลัง…
-
ในพื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีเงื่อนไขที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าเอง ในรูปของค่าน้ำที่ใช้นั้น เราแนะนำพืชที่ปลูกแล้วขายได้เพื่อมีรายได้และนำมาแบ่งจ่ายเป็นค่าน้ำซึ่งก็คือค่ากระแสไฟฟ้านั่นเอง ปีแรกๆ ขนาดพื้นที่และชนิดพืชที่ปลูกก็มากพอสมควร แต่ก็ไม่มากพอตามที่เราคาดหวัง ตรงข้ามในปีต่อๆมาพื้นที่กลับทรงตัวและลดลง นั่นหมายถึงว่า เกษตรกรไม่ค่อยรับกระบวนการผลิตพืชแบบพึ่งพิงตลาด ตรงข้ามในพื้นที่เดียวกันนั้นยามฤดูฝนเกษตรกรจะปลูกข้าวในที่ลุ่มทั้งหมด ในที่ดอนจะปลูกข้าวไร่ และมันสำปะหลัง ยางพาราเริ่มมีบ้างและพืชเศรษฐกิจที่เราสนับสนุน
ยามช่วงทำนาหลังปักดำแล้วเกิดฝนทิ้งช่วง เกษตรกรก็จะร้องขอให้เปิดน้ำ เพื่อเอาเข้าแปลงนาเพื่อรักษาชีวิตต้นข้าว การเอาน้ำใส่ข้าวนั้นต้องใช้ปริมาณที่มาก ซึ่งเกษตรกรต้องจ่ายค่าใช้น้ำมาก โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามิได้ออกแบบมาเพื่อใช้น้ำทำนาข้าว แต่ออกแบบมาเพื่อให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย เท่าที่พืชต้องการเท่านั้น การประหยัดน้ำก็คือประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำ เป็นการรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุด ขนาดนั้นยังบ่นว่าเสียค่าน้ำไปกับพืชเศรษฐกิจมาก อยากให้พิจารณาลดอัตราต่อหน่วยของการใช้น้ำน้ำลงมาอีก แต่แปลกก็คือ ทีค่าน้ำเพื่อนาข้าวนั้นเกษตรกรจ่ายมากหลายเท่าตัว โดยไม่บ่น และจ่ายครบหมดไม่มีใครเบี้ยวเลยแม้แต่คนเดียว..!!
-
เราเองก็รู้ว่าเมื่อชาวบ้านขาดแคลนข้าวในช่วงสถานการณ์ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก” นั้น การขึ้นป่าขึ้นภูก็มีความถี่สูง และการรบกวนทรัพยากรธรรมชาติก็มากขึ้นด้วย เพื่อเอาผลผลิตจากป่าไปแลกข้าว แต่ปัจจุบันการทำเช่นนี้ลดลงมากแล้ว ซึ่งมิได้หมายความว่าข้าวมีบริโภคเพียงพอ มิใช่ ที่ลดเพราะเกษตรกรมีความ “ของป่าหายากมากขึ้น” “รู้สึกอายมากขึ้น”
ผมตั้งคำถามนี้แก่นรินทร์ที่ว่า หากครอบครัวข้าวไม่พอกินแล้ว ทำอย่างไร ก็อย่างที่กล่าวไปหลายครั้งแล้ว แต่คำตอบที่มาสร้างความเอ๊ะใจแก่ผมมากก็คือคำตอบของที่ว่า “การผลิตข้าวแต่ละปีนั้น ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปีนั้น ผลผลิตที่ออกมาครอบครัวใครก็รู้แล้วว่า ปีนี้จะขาดแคลนข้าวกินหรือไม่ หากขาด ขาดโดยประมาณเท่าไหร่ จะคิดคร่าวๆได้ จากนี้ก็จะคิดอ่านวางแผนในสมองว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรตั้งแต่ต้นปี ใครจะลงไปทำงานกรุงเทพฯไหม.. ใครจะไปรับจ้างในเมืองไหม และจะปลูกมันสำปะหลังสักกี่ไร่ กี่แปลง เมื่อไหร่ เพื่อให้การเก็บเกี่ยวแล้วขายมันสำปะหลังตรง หรือก่อนการขาดแคลนข้าวจริงๆ…. ก็เอาเงินจากการขายมันสำปะหลังนั่นแหละมาซื้อข้าว”…!!??
เรานึกไม่ถึงจริงๆ..ว่าชาวบ้านจะแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินด้วยการปลูกมันสำปะหลัง.อย่างมีแบบแผน…
ดังนั้น
-
มันสำปะหลังคือพืชไร่ที่เกษตรกรจะต้องปลูกเพื่อรายได้ประจำปี
-
“มันสำปะหลังคือหลักประกันการมีข้าวกิน” กรณีดงหลวง
นี่คือการถอดรหัส….จากการพุดคุยกับชาวบ้าน จากการใช้เอ๊ะศาสตร์เข้ามากระตุกต่อมคิด
ดังนั้นการคิดการแก้ปัญหาลดอัตราการขาดแคลนข้าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์รายครัวเรือนมิใช่ภาพรวมทั้งหมดของชุมชนเพราะแต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
การสอบถามชาวบ้านจึงต้องถามละเอียดมากกว่าปกติ เช่น หากไปถามว่า ปีนี้ข้าวพอกินไหม ชาวบ้านอาจตอบว่า “มีพอกิน” แต่เบื้องหลังคือ “ไม่พอกิน” แต่ที่ตอบว่าพอกิน เพราะได้ขายมันสำปะหลังไปแล้วและไปซื้อข้าวมาตุนไว้บนบ้านให้มีเพียงพอกินครบตลอดปีแล้ว…
ผู้ถามอาจเข้าใจไปเลยว่า ครอบครัวนี้ไม่ได้ขาดแคลนข้าว หากสรุปเช่นนี้ก็จะพลาดข้อเท็จจริง หากใครไม่สัมผัสชุมชนมุมลึกแล้วก็จะเข้าใจผิดได้ง่ายมาก ตีโจทย์ไม่แตก ความผิดพลาดในการทำงานก็เกิดขึ้นได้…..
(วงจรหยาบๆเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนข้าวและแนวทางการแก้ไขของชาวบ้าน)
ประเด็นต่อเนื่องก็คือ
-
มีกี่ครัวเรือนที่ข้าวไม่พอกินในรายละเอียดของแต่ละครอบครัวในทุกเดือนตลอดปี..
-
มีกี่ครัวเรือนที่แก้ปัญหาในวิธีต่างๆ
-
มีกี่ครัวเรือนที่ใช้วิธีปลูกมันสำปะหลังเป็นหลักประกัน
-
ฯลฯ
แล้วทั้งหมดนี้ ทางออกคืออะไร..!!
เรากำหนดการจัดทำ “Community Dialogue” ในเรื่องนี้ขึ้นแล้วภายในเดือนนี้ แล้วมาดูกันว่า ความคิดเห็นชาวบ้านนั้น คิดอ่านอย่างไรบ้าง..
« « Prev : นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๒
3 ความคิดเห็น
ผมจะหาจังหวะไปดงหลวงครับพี่ ไปแล้วจะไม่ได้อะไรในครั้งแรก เพราะไปเก็บข้อมูลมาดู เรื่องเอาน้ำในอ่างไปใช้ในที่ดอน ซึ่งจะใช้ได้หรือไม่ ก็ยังขึ้นกับองค์ประกอบอื่นอีกครับ (แต่อยากไป)
ด้วยความยินดีครับ เมื่อไหร่พร้อมก็บอกมา จะชวนใครๆมาเที่ยวชนบทแบบดงหลวงบ้างก็ได้ บอกซะก่อนว่า ต้องใช้เวลาสัก สองวันเต็มๆนะครับ เพราะมีสถานที่น่าเยี่ยมน่าชมหลายแห่งครับ
หากคอนจะมาดูเรื่องแหล่งน้ำเพื่อคิดอ่านเบื้องต้นในการดูลู่ทางเอาน้ำขึ้นไปใช้นั้น ก็เป็นกุศลอย่างมหาศาล แหล่งน้ำในดงหลวงมีมากที่จัดสร้างโดยราชการ แต่การเอาน้ำไปใช้ประโยชน์ยังมีน้อย คอนอาจจะท่องดูพื้นที่โดย google ก่อนก็ได้นะครับ หรือว่าท่องจนเบื่อแล้วก้ได้ อิอิ