สารภาพ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:48 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 1457

ในปี 2505 กรมการข้าว ได้ทำการส่งเสริมการผลิตข้าว โดยตั้งกองส่งเสริมและเผยแพร่ขึ้น มีฝ่ายต่างๆหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นคือฝ่ายปุ๋ย

ความจริงสารเคมีเข้ามาเมืองไทยนานมาแล้วประมาณปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลสั่งนำ DDT เข้ามาในเมืองไทยเพื่อทำการปราบปรามยุงตัวนำเชื้อโรคมาเลเลีย ซึ่งระบาดมาก ประชากรเจ็บป่วยล้มตายปีละมากๆ DDT จึงถูกสั่งเข้ามาแล้วนำไปพ่น ฉีดฆ่ายุงก้นปล่อง ซึ่งใช้มาหลายสิบปีต่อมา เจ้าสารเคมีตัวนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเห็บ เหา เลือด อีกด้วย ปัจจุบันเกือบไม่ได้ยินว่าที่ไหนมีตัวเลือดให้ปรากฏ

ย้อนไปปี 2503 ฝ่ายวิศวกรรมเกษตร กรมการข้าว สร้างควายเหล็กตัวแรกขึ้นมา เพื่อใช้แทนควาย ซึ่งสมัยนั้นเจตนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ราคาน้ำมันเบนซินในสมัยนั้นลิตรละ 1 บาทเท่านั้น เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมี สมันนั้นข้าวก็ใช้สูตร 16-20-0 เป็นปุ๋ยนำเข้า ใส่แปลงข้าวในอัตรา 20-30 กก.ต่อไร่

การผลิตข้าวในสมัยก่อนนั้นมีโรคที่เป็นกันมากคือ บั่ว หนอนกระทู้ รัฐบาลจึงสั่งสารเคมีเข้ามาเพื่อปราบโรคบั่ว สารเคมีสมัยนั้น เช่น ไทเม็ก โฟลิดอน E605 เอนดริน และ ฯลฯ กลิ่นเหม็นมาก ฉุนแรง สมัยนั้นไม่มีปุ๋ยน้ำหมัก ชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้แต่อย่างใด ภายหลังมาทราบว่าจีนและญี่ปุ่นรู้จักและใช้มานานถึง 700 ปีแล้ว

มาในปัจจุบันนี้ เราพบแล้วว่า สารเคมีเหล่านั้น ปุ๋ยเคมีเหล่านั้นมีส่วนสำคัญยิ่งในการทำลายระบบนิเวศแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืชมาก เจ้าแมลงที่ตั้งใจฆ่าก็พัฒนาตัว พัฒนาสายพันธ์ของมันไปมากขึ้นด้วยทำให้ทนทานต่อสารเคมีที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน

สมัยนี้มีทางเลือกใหม่ๆมากมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อสุขภาพที่ดี นี่เป็นความรู้สึกที่อยากจะบอกพวกเรา….

นี่คือความในใจที่อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยรับผิดชอบการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืชและกระบวนวิธีแบบเก่าๆ อันเป็นเทคโนโลยีและนโยบายของรัฐในอดีต ท่านมาตอกย้ำแนวทางที่เรียกว่าเกษตรทางเลือก…..

ขอบพระคุณพี่…เป็นอย่างสูง

คำสารภาพนี้มีคุณค่าแก่การเดินทางเป็นอย่างยิ่งครับ..


วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (2)

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 มกราคม 2009 เวลา 10:22 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 5893

ที่ผมร่ายยาวมานี่เพราะความจริงเรื่องนี้ของชาวบ้านดงหลวงไปกระทบต่อการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในการทำการผลิตที่ก้าวหน้า คือ โครงการที่รับผิดชอบได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อสร้างงานสูบน้ำเพื่อการชลประทาน ที่ใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างทันสมัย เพื่อสนับสนุนเกษตรกรทำการผลิตแบบก้าวหน้า ในรูปของ Contract farming อันเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาอาชีพการเกษตรแบบก้าวหน้า

เราใช้ GIS ออกแบบแผนงาน และติดตามงาน และใช้วิเคราะห์ เราเอาดินไปเข้าห้องแล็ป เพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารเพื่อเราจะได้แนะนำการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง เราจัดระบบกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีชาวบ้านมีส่วนร่วมและเข้ามาร่วมการบริหารจัดการ เรามีนักเกษตรกินนอนในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ V&C หรือ Visiting and Coaching ฯลฯ

ผลการทำงานอย่างหนักมาสามปี เราพบว่า มีเกษตรกรจำนวนไม่มากอย่างที่เราคาดหวังที่เข้าร่วมโครงการ และในจำนวนนั้นก็ไม่ได้ทุ่มเทเวลาทำการผลิตตามคำแนะนำของการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบใหม่ เวลาส่วนหนึ่งเขาเหล่านั้นขึ้นป่า ปลูกแล้วก็ใช้ความเคยชินเดิมๆ พฤติกรรมเดิมๆคือ เข้าป่า คำพูดนรินทร์ น่าจะเป็นตัวสะท้อนที่สำคัญประการหนึ่งคือ …ผมติดรสอาหารป่า และนิสัยการชอบเข้าป่า ถ้ามีเวลาก็จะนึกถึงการเข้าป่ามากกว่าจะเดินไปที่แปลงพืชเศรษฐกิจ..

เป็นโจทย์ใหญ่ของเรามาตลอดว่าจะทำอย่างไรต่อกรณีนี้ แต่บังเอิญที่โครงการเรามีอาการโคลงเคลงของการบริหารระดับสูง และการออกแบบโครงการไม่เข้าใจรายละเอียดแบบนี้ จึงมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่คิดว่าจะต้องมีอะไรทำพิเศษ เพราะทัศนคติผู้บริหารระดับสูงเป็นอีกแบบหนึ่ง

มีแนวทางออกอย่างไรในมุมมองของสนาม

  • ทฤษฎีนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ การเอาผลตอบแทนรายพืชเป็นตัวกระตุ้น นั่นหมายถึง เน้นผู้ผลิตที่ประสบผลสำเร็จให้เป็นตัวนำร่อง

  • เลือกชนิดพืชที่ไม่ซับซ้อนในการปลูกและดูแล เพื่อให้สอดคล้องต่อ นิสัยเรียบง่ายของเกษตรกร

  • มีเจ้าหน้าที่ประจำในพื้นที่ที่เป็นพี่เลี้ยงเกษตรกร ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และเข้าใจการผลิตและเกษตรกรอย่างลึกซึ้ง

  • นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มีประสบการณ์เข้ามาศึกษาและสร้างกระบวนการปรับกระบวนทัศน์การดำรงชีวิตที่เปิดกว้างมากขึ้น และเหมาะสมต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสมดุล

  • การกระทำจะต้องต่อเนื่องและเน้นการเรียนรู้และกระตุ้นการตระหนักรู้ เข้าใจและสำเหนียก

  • สร้างองค์กรชุมชนที่มีการผสมผสานระหว่างวัย เพศ เพื่อการเข้ามาดำเนินการเองในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การสร้างองค์กรและกระบวนทัศน์ใหม่ต่อกลุ่มชาวบ้านอาศัยในภูมินิเวศเช่นนี้ นั้น ต้องใช้เวลา ซึ่งขึ้นกับประสิทธิภาพขององค์ประกอบต่างๆ

  • เรามีบทเรียนโครงการงานสูบน้ำมามากพอสมควร แต่มิใช่กับกลุ่มเกษตรกรที่มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าแบบนี้..

บทเรียนกิจกรรมการพัฒนาเกษตรนี้ เป็นอีกครั้งที่ชี้ให้เห็นว่า

เกษตรกรต้องเข้าใจและสร้างวินัยการผลิตต่อระบบการการเกษตรอย่างเหมาะสม มิเช่นนั้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตจะไม่ส่งผล ตามศักยภาพที่มีอยู่…


แนะนำลานฅนฟื้นฟู

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 ตุลาคม 2008 เวลา 1:39 ในหมวดหมู่ ชุมชนชนบท #
อ่าน: 1623

ลานฅนฟื้นฟูคืออะไร : คือเวทีเปิดกลางของโครงการ คฟป. (ที่บางทรายทำงานอยู่) เพื่อให้เพื่อนร่วมงานทุกคนได้ฝึกการทำบันทึกงาน และนำประเด็นสาระต่างๆที่พบเห็นระหว่างการดำเนินงาน และทำบันทึกไว้มาลงในเวทีแห่งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่โครงการทุกคน สามารถเข้ามาเรียนรู้และปรึกษาหารือได้ตลอด ทุกที่ ทุกเวลา

ทำไมต้องฅนฟื้นฟู: เพราะชื่อของโครงการนี้คือ โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรผสมผสานมีชื่อย่อว่า คฟป. หรือ PRO-IAD และเราเคยมี Newsletter ชื่อ คนฟื้นฟูคิดว่าชื่อนี้เหมาะสมกับการนำมาตั้งชื่อ Blog นี้

โครงการนี้อยู่ที่ไหน: โครงการนี้ปฏิบัติงานเฉพาะพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 ในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 30 คน

งานของโครงการนี้ทำอะไรบ้าง: เป็นงานพัฒนาชุมชนที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่โครงการ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น มีกิจกรรมหลัก 5 ด้านคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการเกษตรผสมผสาน การพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่าย การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาตลาดชุมชน

รูปเจ้าหน้าที่บางส่วน

องค์ประกอบของทีมงานมีใครบ้าง: ทีมทำงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ราชการ ส.ป.ก.ส่วนกลางและจังหวัด คณะที่ปรึกษา และองค์การพัฒนาชนบทเอกชนที่จะบูรณาการคณะทำงานร่วมกันในแต่ละพื้นที่โครงการฯ

ทำไมต้องลานปัญญา ฅนฟื้นฟู: เนื่องจากบางทรายและ Silt (ปาลียน) ทำงานที่โครงการนี้และเป็น blogger ทั้งที่ G2K และที่ Lanpanya แห่งนี้ หัวหน้างานทราบและเห็นว่ามีประโยชน์ยิ่งนัก จึงให้บางทรายสนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานใช้เวทีนี้บันทึกงานลงบล็อก เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น บางทรายเห็นว่าที่แห่งนี้น่าที่จะมีความเหมาะสมจึงเปิดเวทีนี้ขึ้น เพื่อทดลองดู เพราะเพื่อนร่วมงานหลายคนไม่เคยชิน และไม่สันทัดในการเขียนบันทึก แต่จะลองทำ

เพื่อนๆลานที่รักกรุณาต้อนรับเพื่อนร่วมงาน ฅนฟื้นฟู ที่เหนียมอายที่จะค่อยๆก้าวเข้ามาด้วยครับ และเชิญทุกท่านเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้วยกันนะครับ เพราะเปิดเป็นเวทีสาธารณะด้วยครับ

ขอบคุณทุกท่าน



Main: 0.033852100372314 sec
Sidebar: 0.037516832351685 sec