สระในนาคือหลักประกันการมีข้าวกิน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 15:09 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 9659

วิถีชีวิต: คำกล่าวที่ว่า “ข้าวคือชีวิต” คิดว่าเราเข้าใจ แต่ในแง่ความตระหนักและสัมผัสความหมายแท้จริง อาจจะแตกต่างกัน


รูปนี้อาจจะช่วยในการมองส่วนใหญ่ของวิถีชีวิตคนอีสานได้ โดยเฉพาะที่มุกดาหาร ที่ครอบครัวต้อง “ทำนาเอาไว้กิน” เหลือขาย หรือเก็บเอาไว้แบ่งให้ญาติพี่น้อง “มีมันสำปะหลังปลูกในที่ดอน เพื่อเป็นหลักประกันในการมีข้าวกิน” และเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ง่ายที่สุด มีสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ คือ วัว เพื่อเป็นออมสินยามที่จะต้องใช้เงินก้อนแบบด่วนก็ขายไป

รายละเอียดแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข เรื่องแรงงาน และพัฒนาการของครอบครัวจากอดีต ไปจนถึงความสนใจตั้งใจการเลือกอาชีพ และ….

สระน้ำประจำไร่นา: สัมผัสมาตั้งแต่ทำงานโครงการของ สปก. ที่กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ก็ไม่ลึกซึ้ง เพียงรับรู้ เข้าใจ ตระหนักว่า ดี มีประโยชน์ หลายประการ ควรสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับ ฯ… แต่มาซาบซึ้งเอาตอนที่มาอยู่มุกดาหารนี่แหละครับ เพราะโครงการไปสนับสนุนขุดสระน้ำประจำไร่นา แล้วไปกระตุ้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากสระ ให้ปลูกพืชผักรอบสระเพื่อเอาไว้บริโภคเหลือขาย

แต่เราก็พบว่า ชาวบ้านไม่ได้สนใจการปลูกผักรอบคันสระเท่าที่ควร ตรงข้ามเรากลับพบว่าเกษตรกรดงหลวง เอาน้ำในสระน้ำประจำไร่นาไปใส่นาทั้งช่วงหว่านกล้าข้าวและใส่แปลงนาในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงนานมากเกินไป เกษตรกรบางคนปลูกข้าวที่ริมคันสระนั้นเลย จะว่าไปแล้วเกษตรกรทำผิดวัตถุประสงค์ของหลักการขุดสระน้ำประจำไร่นาที่ต้องการใช่ใช้น้ำเพื่อพืชผัก เพื่อการเกษตรผสมผสาน…??

งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย: โครงการนี้ลงทุนไปมาก และคาดหวังว่าจะระดมความรู้ความสามารถ กระตุ้นให้เกษตรกรมาใช้ประโยชน์เต็มที่ ตลอดช่วงที่เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันนั้น พื้นที่ใช้ประโยชน์ไม่มากเท่าที่คาดหวัง เราส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบมีสัญญา เพราะเป็นหลักประกันในการที่จะมีตลาดรองรับผลผลิต แต่แล้วเราพบว่า เกษตรกรกลับบ่นเรื่องค่าบริการน้ำ ว่าแพงไป สูงไป อัตราการเก็บเพียง 65 สตางค์ต่อ ลบ.ม. มีเกษตรกรบางคนที่ขัดขืนในการเสียค่าน้ำบ้าง แต่คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำก็สามารถจัดการได้ แต่ที่เป็นที่แปลกใจมากๆคือ ยามตกกล้าข้าวน้ำฝนไม่เพียงพอ เกษตรกรมาเรียกร้องให้เปิดน้ำเพื่อเอาไปใช้ตกกล้าข้าว และเมื่อปลูกข้าวไปแล้วฝนเกิดทิ้งช่วง เกษตรกรก็มาร้องขอให้เปิดน้ำเพื่อเอาน้ำใส่นาข้าว และสามารถจ่ายค่าบริการน้ำได้ครบถ้วนโดยไม่มีติดขัด ทั้งที่แต่ละคนใช้น้ำในปริมาณมากกว่าหลายเท่าตัว จ่ายเงินได้หมด ครบ….????

พิลา: แม้จะมารับจ้างขับรถให้โครงการแต่ก็ทำนาด้วย และทำได้ดีมากเพราะเอาความรู้จากเราไปดัดแปลงใช้กับอาชีพของเขา ได้แลกเปลี่ยนเรื่องการทำนากับพิลาบ่อยๆ ซึ่งในที่สุดก็ยืนยันว่า “เกษตรกรต้องการหลักประกันการปลูกข้าวนาปีเพื่อการบริโภค เกษตรกรต้องการลดความเสี่ยงจากสภาพฝนธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมีโอกาส” ให้การปลูกข้าวเพื่อการบริโภคนั้นเกิดขึ้นได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม หลักประกันของพิลาและชาวบ้านก็คือ ประการแรกคือ สระน้ำในแปลงนา ประการสอง ปลูกพืชไร่ คือ มันสำปะหลังในที่ดอน หรือ อ้อย


พิลาย้ำและชวนไปดูแปลงนาในหมู่บ้านเขาว่ามีสระน้ำกลางแปลงนามากมายแค่ไหน พิลากล่าวว่า …พี่..ที่นี่มีสระน้ำเกือบทุกหลังคาเรือนครับ เพราะเอาไว้ยามฉุกเฉิน ไม่เช่นนั้นไม่ได้ข้าวกิน..

Google earth: ตกใจว่าทำไมสระน้ำในแปลงนาของเกษตรกรที่หมู่บ้านพิลาถึงมากมายเกินกว่าที่จะนึก จึงกลับมาใช้ Google earth ส่องดู ก็พบว่า สระน้ำในแปลงนาของเกษตรกรที่หมู่บ้านพิลามากจริงๆอย่างที่พิลากล่าวว่า …พี่มีสระน้ำเกือบทุกหลังคาเรือน เพราะมันเป็นหลักประกันมีข้าวกิน..!!!!???


ภาพที่เห็นนี้เป็นเพียงด้านตะวันออกและทิศเหนือของชุมชนแห่งนี้ ด้านใต้และตะวันตกยังไม่ได้เอามาแสดง ลองเข้าไปดูตัวอย่างใกล้ๆทางมุมสูงดู


ชัดเจนครับ เต็มไปหมด พิลากล่าวว่า ชุมชนของเขามีผลผลิตข้าวมากที่สุดในตำบลหรืออาจทั้งอำเภอก็เป็นได้ เพราะเกษตรกรต่าง “ตื่นตัวและแข่งกันทำนา” ให้ได้ผลผลิตสูงๆกัน แล้วเอาไปคุยอวดกันในชุมชน..

ปลูกผักบนคันสระ: พิลาบอกว่ามีน้อยมากที่จะปลูกผักบนคันสระ ไม่ถึง ร้อยละห้า หากจะมีการปลูกผักเพื่อไว้กินในครัวเรือนเขาจะปลูกไว้ที่บ้าน ปลูกอย่างเล็กน้อยพอกินเท่านั้น ถามว่าทำไมไม่ปลูกเพื่อขายด้วยเล่า พิลาตอบว่า วงจรเวลาของชาวบ้านนั้น เสร็จนาก็ลงสวน เมื่อข้าวสุกก็ลงนา หมดนาก็ไปสวนอีก เวลาทั้งวันหมดไปกับงานในสวนและนา ยิ่งแรงงานมีน้อยๆเพราะเด็กรุ่นใหม่ เขาไม่ลงนา ไม่ไปสวนกัน เขาตั้งเป้าเข้าเมืองทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะมาทำสวนทำนาเหมือนพ่อแม่ เด็กบางคนไม่อยากไปนาด้วยซ้ำเมื่อพ่อแม่ขอร้องให้ไปช่วยก็อิดออด….

การปรับที่นา: การทำนาให้ได้ผลดีนั้นมีรายละเอียดมากมายในทางปฏิบัติ เกษตรกรสันหลังของชาตินั้นรู้ดี และตัดสินใจทันทีที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลผลิตมากและมีคุณภาพ การปรับที่นาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ แปลงนานั้นเดิมทีจะไม่เรียบที่เมื่อเอาน้ำใส่เข้า น้ำจะไปกองอยู่ในที่ต่ำของแปลง ส่วนที่เป็นระดับสูงก็จะไม่ได้น้ำ แปลงนาที่มีลักษณะเช่นนี้ เกษตรกรจะไม่ชอบ เขาจะทำการจ้างปรับที่นาให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งแปลง ที่เราเรียกว่า Land Leveling ซึ่งเกษตรกรบอกว่าก็ได้อาศัยกองทุนของ ส.ป.ก. มาช่วยทางด้านนี้

พิลาบอกว่า บ้านผมมีคนขาดข้าวกินสองครอบครัวเพราะไม่มีที่นา.. แต่ญาติก็ช่วยๆกัน

สรุป

  • ต้องวิเคราะห์วิถีครอบครัวเกษตรกรใหม่เพื่อให้เห็นรายละเอียด เพื่อนำมาออกแบบโครงการต่อไป…??
  • สระน้ำในแปลงนาคือหลักประกันการทำนา การมีข้าวเพื่อการบริโภคเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองลงไป
  • การปรับที่นาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้การผลิตได้ผลผลิตสูง ปริมาณมาก
  • รายละเอียดวิถีชีวิตแต่ละภูมินิเวศย่อมแตกต่างกัน การวิเคราะห์วิถีไม่ควรสรุปภาพรวมทั้งหมดว่าเหมือนกัน..!!
  • ในกรณีที่บ้านคำเขื่อง ต.คำอาฮวน อ.เมือง มุกดาหาร ซึ่งเป็นชุมชนของพิลานั้น สระน้ำประจำไร่นาเป็นหลักประกันการทำนามากกว่าการอิงหลักประกันที่มันสำปะหลัง เกษตรกรจึงทุ่มเทการขุดสระน้ำในแปลงนามากมาย
  • การคาดหวังให้เกษตรกรปลูกผักบนคันแปลงสระน้ำในเชิงปริมาณพื้นที่นั้นเป็นการฝืนวิถีของเขา
  • กิจกรรมสระน้ำประจำไร่นาในบางภูมินิเวศวัฒนธรรมต้องปรับวัตถุประสงค์หลักใหม่


คนทำงานชุมชน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:28 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 5831

เย็นวันนั้น ท้องฟ้าทิศตะวันตกสวยอย่างในรูป แต่ขอบฟ้าโน้นก้อนเมฆตั้งเค้าก้อนใหญ่


ทีมงานนัดกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำไว้ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องโครงสร้างกลุ่ม และการคัดเลือกกรรมการชุดใหม่ ชาวบ้านเสนอให้ใช้เวลากลางคืน เพราะกลางวันชาวบ้านทำนาทำไร่กัน เพื่อมิให้เป็นภาระแก่ชาวบ้านจึงทำอาหารไปเลี้ยง ทีมงานตัดสินใจเอากาแฟไปด้วย…


งานนี้ผมมอบให้ทีมงานแสดงบทบาทเต็มที่ ซึ่งแต่ละคนก็ผ่านงานมามากจึงไม่เป็นปัญหา เพียงแต่มีประเด็นที่เราต้องไปแลกเปลี่ยนกัน เชิงสาระ และการทำหน้าที่ fa เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติของการทำงานร่วมกัน


การคุยกับชาวบ้านในเวลาค่ำคืนนั้น เป็นเรื่องปกติของเรา ตั้งแต่ ปาลียน อยู่ดงหลวงแล้ว บางคืนคุยกันเพลินเอาซะดึกเลยก็มี มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เราให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะคุยกันเมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหน เมื่อเขาตกลงก็เป็นไปตามนั้น เพราะชาวบ้านทราบดีว่า ช่วงเวลาเขาเหมาะสม คือช่วงไหน เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เราแปรตาม นี่คือข้อดีของเอกชน.. ส่วนข้อเสียก็คือ หากมีสาระที่ต้องปรึกษาหารือกันหลายเรื่อง จะไม่เหมาะ เพราะเกษตรกรปกติจะนอนแต่หัวค่ำ สมาธิในการพูดคุยกันจะไม่ดี สั้น ผู้รับผิดชอบต้องเข้าใจและต้องทำหน้าที่ fa ให้ดี

เราขอยืมเก้าอี้ อบต. แล้วให้ชาวบ้านหยิบไปนั่งกันเอง ใครอยากนั่งตรงไหนก็เอาตามสบาย ก็ออกมาดังรูปที่เห็นนั่นแหละ เราเน้นความไม่เป็นทางการ


คณะกรรมการแลกเปลี่ยนกันเองต่อโครงสร้างกลุ่มจากเดิมที่เน้นโครงสร้างตามแบบสากล แต่หลังจากดำเนินงานมาแล้วเห็นว่าโครงสร้างนั้นเทอะทะมากไป ก็ยุบส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป คงเหลือส่วนที่จำเป็น แบ่งบทบาทหน้าที่กันใหม่ตามความเป็นจริงมากกว่าหลักการสากล.. โดยให้เกษตรกรปรึกษากันเองว่าใครเหมาะที่จะเป็นผู้นำ ตามลำดับโครงสร้างใหม่ ใช้เวลาไม่นานก็ได้คำตอบครบถ้วน


เกือบห้าทุ่ม ก้อนเมฆใหญ่ที่ขอบฟ้าเมื่อเย็นก็มาปกคลุมท้องฟ้าที่บ้านพังแดงจนมิด ฟ้าแลบแปล๊บปล๊าบ หลายคนในเมืองกำลังเพลิดเพลินกับรายการที่ตนเองชื่นชอบในทีวี หลายคนพักผ่อนสบายหลังจากทำงานเต็มที่ในช่วงเวลาราชการ แหล่งธุรกิจในเมืองจำนวนไม่น้อยยังมองหาลูกค้าเข้าไปสนับสนุนกิจการของเขา ผู้บริหารหลายคนมุ่งหวังว่าคนทำงานชุมชนจะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ…แต่ไม่เคยสัมผัสชีวิตเช่นนี้เลย… ความฝันของเขาลอยอยู่บนหลักการสวยหรู


การพูดคุยเลิกราแล้ว ชาวบ้านต่างก็กลับไปพักผ่อน….

กลางสี่แยกในหมู่บ้านยังมีไฟฟ้าทำหน้าที่ส่องสว่างถนนยามค่ำคืน

แมลงกลางคืนบินเล่นไฟ… เสียงสุนัขบ้านทำหน้าที่ตามสัญชาติญาณของเขา

พี่น้องกะโส้หลับตาเถอะ..พรุ่งนี้ งานหนักในไร่นายังรอท่านอยู่…

ผมรำพึงกับตัวเอง…สามสิบกว่าปีแล้ว..ที่เราวนเวียนกับชีวิตแบบนี้..

ผมยืนนิ่งมองไฟดวงนี้อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่น้องๆจะเรียกขึ้นรถเดินทางกลับที่พัก..

เราก็เป็นแค่ไฟบนยอดเสากลางหมู่บ้านดวงนั้น ส่องสว่างให้พี่น้องมองเห็นทางเดินไป

พี่น้องตัดสินใจเองว่าจะเดินไปทิศไหน… ชนบทไทย สังคมไทย ประเทศไทย… อีกไม่นานนักหรอกที่ไฟบนยอดเสากลางชุมชนนั้นก็มอดไหม้ไปตามกาล..แห่งสัจจะ..

……….

น้องๆบางคนนั่งหลับไปในรถ ทุกคนเงียบกับความคิดตัวเอง

คืนนี้พระจันทร์ขมุกขมัว แต่เราก็อิ่มใจที่ได้ทำหน้าที่ของเรา….


คิดไม่ถึง…

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:10 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2883

ยังเกาะติดปัญหาหลักของพี่น้องบ้านพังแดงที่เกริ่นไปหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องที่ประชาชนมีข้าวไม่พอกิน มาเอะใจก็ตอนที่มานั่งคุยกับนรินทร์ เชื้อคำฮด หนุ่มผู้ต่อสู้เพื่อการหนี้รอดความยากจนนี่แหละทำให้เกิดการทบทวนอย่างหนักในเรื่องนี้

  1. หลังจากที่พี่น้องกะโส้บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆออกมาจากป่าแล้วต่างก็เผชิญการอดข้าวบริโภคครั้งใหญ่ ไม่กี่ปีต่อมาการขยายพื้นที่ปลูกข้าวก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการมีพืชไร่ชนิดใหม่เข้ามานั่นคือ มันสำปะหลัง….เพียงสามสี่ปี พืชมหัศจรรย์ชนิดนี้ก็ขยายเต็มพื้นที่ดงหลวง ในที่ที่ไม่ได้ทำนาลุ่ม ปัจจุบันก็เริ่มเอามันสำปะหลังลงไปปลูกในนาข้าวบ้างแล้ว..

    ก็ธรรมดานี่นา..ที่ไหนๆก็ปลูกมันสำปะหลัง ทั่วอีสาน ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการที่ข้าวไม่พอกินเลย หรือจะเป็นเพราะพื้นที่ปลูกมันไปแย่งพื้นที่ปลูกข้าวไร่..? ก็มีบ้าง แต่ไม่ได้แทนที่ทั้งหมด..เพราะเรารู้มาแต่ไหนแต่ไรว่า ข้าวคือพืชหลักที่ชาวบ้านเอาไว้ก่อน อย่างอื่นเป็นเรื่องมาทีหลัง…

  2. ในพื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีเงื่อนไขที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าเอง ในรูปของค่าน้ำที่ใช้นั้น เราแนะนำพืชที่ปลูกแล้วขายได้เพื่อมีรายได้และนำมาแบ่งจ่ายเป็นค่าน้ำซึ่งก็คือค่ากระแสไฟฟ้านั่นเอง ปีแรกๆ ขนาดพื้นที่และชนิดพืชที่ปลูกก็มากพอสมควร แต่ก็ไม่มากพอตามที่เราคาดหวัง ตรงข้ามในปีต่อๆมาพื้นที่กลับทรงตัวและลดลง นั่นหมายถึงว่า เกษตรกรไม่ค่อยรับกระบวนการผลิตพืชแบบพึ่งพิงตลาด ตรงข้ามในพื้นที่เดียวกันนั้นยามฤดูฝนเกษตรกรจะปลูกข้าวในที่ลุ่มทั้งหมด ในที่ดอนจะปลูกข้าวไร่ และมันสำปะหลัง ยางพาราเริ่มมีบ้างและพืชเศรษฐกิจที่เราสนับสนุน

    ยามช่วงทำนาหลังปักดำแล้วเกิดฝนทิ้งช่วง เกษตรกรก็จะร้องขอให้เปิดน้ำ เพื่อเอาเข้าแปลงนาเพื่อรักษาชีวิตต้นข้าว การเอาน้ำใส่ข้าวนั้นต้องใช้ปริมาณที่มาก ซึ่งเกษตรกรต้องจ่ายค่าใช้น้ำมาก โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามิได้ออกแบบมาเพื่อใช้น้ำทำนาข้าว แต่ออกแบบมาเพื่อให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย เท่าที่พืชต้องการเท่านั้น การประหยัดน้ำก็คือประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำ เป็นการรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุด ขนาดนั้นยังบ่นว่าเสียค่าน้ำไปกับพืชเศรษฐกิจมาก อยากให้พิจารณาลดอัตราต่อหน่วยของการใช้น้ำน้ำลงมาอีก แต่แปลกก็คือ ทีค่าน้ำเพื่อนาข้าวนั้นเกษตรกรจ่ายมากหลายเท่าตัว โดยไม่บ่น และจ่ายครบหมดไม่มีใครเบี้ยวเลยแม้แต่คนเดียว..!!

  3. เราเองก็รู้ว่าเมื่อชาวบ้านขาดแคลนข้าวในช่วงสถานการณ์ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก” นั้น การขึ้นป่าขึ้นภูก็มีความถี่สูง และการรบกวนทรัพยากรธรรมชาติก็มากขึ้นด้วย เพื่อเอาผลผลิตจากป่าไปแลกข้าว แต่ปัจจุบันการทำเช่นนี้ลดลงมากแล้ว ซึ่งมิได้หมายความว่าข้าวมีบริโภคเพียงพอ มิใช่ ที่ลดเพราะเกษตรกรมีความ “ของป่าหายากมากขึ้น” “รู้สึกอายมากขึ้น”

    ผมตั้งคำถามนี้แก่นรินทร์ที่ว่า หากครอบครัวข้าวไม่พอกินแล้ว ทำอย่างไร ก็อย่างที่กล่าวไปหลายครั้งแล้ว แต่คำตอบที่มาสร้างความเอ๊ะใจแก่ผมมากก็คือคำตอบของที่ว่า “การผลิตข้าวแต่ละปีนั้น ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปีนั้น ผลผลิตที่ออกมาครอบครัวใครก็รู้แล้วว่า ปีนี้จะขาดแคลนข้าวกินหรือไม่ หากขาด ขาดโดยประมาณเท่าไหร่ จะคิดคร่าวๆได้ จากนี้ก็จะคิดอ่านวางแผนในสมองว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรตั้งแต่ต้นปี ใครจะลงไปทำงานกรุงเทพฯไหม.. ใครจะไปรับจ้างในเมืองไหม และจะปลูกมันสำปะหลังสักกี่ไร่ กี่แปลง เมื่อไหร่ เพื่อให้การเก็บเกี่ยวแล้วขายมันสำปะหลังตรง หรือก่อนการขาดแคลนข้าวจริงๆ…. ก็เอาเงินจากการขายมันสำปะหลังนั่นแหละมาซื้อข้าว”…!!??

    เรานึกไม่ถึงจริงๆ..ว่าชาวบ้านจะแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินด้วยการปลูกมันสำปะหลัง.อย่างมีแบบแผน…


    ดังนั้น

  • มันสำปะหลังคือพืชไร่ที่เกษตรกรจะต้องปลูกเพื่อรายได้ประจำปี
  • “มันสำปะหลังคือหลักประกันการมีข้าวกิน” กรณีดงหลวง

นี่คือการถอดรหัส….จากการพุดคุยกับชาวบ้าน จากการใช้เอ๊ะศาสตร์เข้ามากระตุกต่อมคิด

ดังนั้นการคิดการแก้ปัญหาลดอัตราการขาดแคลนข้าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์รายครัวเรือนมิใช่ภาพรวมทั้งหมดของชุมชนเพราะแต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

การสอบถามชาวบ้านจึงต้องถามละเอียดมากกว่าปกติ เช่น หากไปถามว่า ปีนี้ข้าวพอกินไหม ชาวบ้านอาจตอบว่า “มีพอกิน” แต่เบื้องหลังคือ “ไม่พอกิน” แต่ที่ตอบว่าพอกิน เพราะได้ขายมันสำปะหลังไปแล้วและไปซื้อข้าวมาตุนไว้บนบ้านให้มีเพียงพอกินครบตลอดปีแล้ว…

ผู้ถามอาจเข้าใจไปเลยว่า ครอบครัวนี้ไม่ได้ขาดแคลนข้าว หากสรุปเช่นนี้ก็จะพลาดข้อเท็จจริง หากใครไม่สัมผัสชุมชนมุมลึกแล้วก็จะเข้าใจผิดได้ง่ายมาก ตีโจทย์ไม่แตก ความผิดพลาดในการทำงานก็เกิดขึ้นได้…..


(วงจรหยาบๆเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนข้าวและแนวทางการแก้ไขของชาวบ้าน)

ประเด็นต่อเนื่องก็คือ

  • มีกี่ครัวเรือนที่ข้าวไม่พอกินในรายละเอียดของแต่ละครอบครัวในทุกเดือนตลอดปี..
  • มีกี่ครัวเรือนที่แก้ปัญหาในวิธีต่างๆ
  • มีกี่ครัวเรือนที่ใช้วิธีปลูกมันสำปะหลังเป็นหลักประกัน
  • ฯลฯ

แล้วทั้งหมดนี้ ทางออกคืออะไร..!!

เรากำหนดการจัดทำ “Community Dialogue” ในเรื่องนี้ขึ้นแล้วภายในเดือนนี้ แล้วมาดูกันว่า ความคิดเห็นชาวบ้านนั้น คิดอ่านอย่างไรบ้าง..


นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๒

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:11 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2267

บทเรียนจากงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่สูบน้ำห้วยบางทราย: โครงการได้สร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้พี่น้องบ้านพังแดง เป็นระบบที่ทันสมัยมากมีอาคารติดตั้งเครื่องสูบน้ำสองเครื่อง ระบบควบคุมการปิดเปิดน้ำ แผงวงจรไฟฟ้า มีถังเก็บน้ำขนาดใหญ่มีท่อส่งน้ำฝังดินไปโผล่ที่แปลงที่ดินแต่ละแปลงพร้อมทั้งติดตั้งมิเตอร์จดปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อนำมาคำนวณค่ากระแสไฟฟ้าพร้อม ในด้านการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเราได้ไปประชุมชี้แจงโครงการพร้อมทั้งทำแบบสอบถามพี่น้องเกษตรกรหลายต่อหลายครั้ง มีการประชุมฝึกอบรมเพื่อก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำหลายต่อหลายหนแม้กระทั่งยามกลางค่ำกลางคืน นอกจากนั้นในระยะแรกเรายังรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ แล้วค่อยๆถ่ายภาระให้กับผู้ใช้น้ำทีละน้อยในปีถัดๆไป การก่อสร้างโครงการ ประสบความสำเร็จพอสมควร มีปัญหาอุปสรรคบ้างเช่นการออกแบบหัวกะโหลกสำหรับดูดน้ำเข้าอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นน้ำทำให้ดินโคลนทับถมหนาเกือบสองเมตรทำให้ต้องขุดลอกกันทุกปี ถึงฤดูน้ำหลากก็หวาดเสียวกับการที่น้ำจะท่วมเครื่องสูบน้ำเกือบทุกปี ส่วนการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำก็ได้ผลคุ้มค่ากับการที่พวกเราหมั่นไปประชุมกับคณะกรรมการแม้ยามกลางค่ำกลางคืน

แต่งานที่หนักหนาสาหัสที่สุดเห็นจะเป็นงานด้านการส่งเสริมการเพาะปลูกภายใต้ระบบชลประทาน อันเป็นความรับ ผิดชอบหลักของข้าพเจ้าเอง การที่จะทำให้พี่น้องที่คุ้นเคยกับการปลูกมันสำปะหลังทิ้งไว้แล้วเข้าไปหาอยู่หากินแบบผ่อนคลายในป่าที่อยู่รอบๆหมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนอย่างทันทีทันใดมาปลูกพืชแบบเกษตรประณีตนั้น ทีมงานของเราทุกคนต้องทุ่มเทกันอย่างมาก เราทำตั้งแต่การเสาะหาแหล่งรับซื้อผลผลิต จัดงานวันผู้รับซื้อผลผลิตพบเกษตรกร ทำแปลงเพาะปลูกพืชไปพร้อมๆกับพี่น้องทั้งการปลูกมะเขือเทศ ถั่วฝักยาวผลิตเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ซึ่งงานทำแปลงปลูกพืชนี้ไม่ได้มีงบประมาณจากโครงการแต่อย่างใด ต้องควักกระเป๋าตนเอง น้องๆผู้ช่วยงาน แม้กระทั่งพนักงานขับรถก็มาช่วยลงแรงโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม เมื่อขายผลผลิตได้ก็แบ่งปันกันเพียงคนละเล็กละน้อย เพราะแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรมือใหม่อย่างพวกเรามักจะได้ผลแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ที่พวกเราได้รับแน่ๆได้แก่ประสบการณ์ และเรา “ได้ใจ”จากพี่น้องชาวพังแดง นี่เป็นบทเรียนที่พวกเราผ่านการทดสอบ

นิเวศวัฒนธรรม นำการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม : เราได้พบทางออกในการพัฒนาในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชาวโส้ นั่นคือการทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น “เครือข่ายอินแปง” ซึ่งเป็นตัวแทนของมูลนิธิหมู่บ้านที่เข้ามาร่วมรับงานในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร นอกจากนั้นเรายังเข้าไปศึกษาวิถีชาวโส้อย่างแท้จริง โดยการทดลองไปจัดเวทีชุมชนที่บ้านโพนไฮ ใช้เวลาจัดเวทีหลายครั้งหลายหนในเวลาสามทุ่มถึงราวๆเที่ยงคืน ทำให้ได้ภาพของชุมชนชัดเจนว่าพี่น้องได้ผ่านการหล่อหลอมมาอย่างไร ทั้งจากขนบประเพณีประจำเผ่า และจากเหตุการณ์การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ในส่วนตัวแล้ว ผมยังได้ศึกษาขนบประเพณีของชาวโส้ จากการร่วมในประเพณีต่างๆ จากการพูดคุยกับเจ้าจ้ำ กับผู้อาวุโส รวมถึงการหัดเรียนรู้ภาษาโส้จนถึงขั้นชาวบ้านบอกว่า “นินทาหัวหน้าเปลี่ยนไม่ได้แล้ว” “กวยดังภาษาโส้ เขาฟังภาษาเราออก” ทั้งนี้เพราะก่อนเข้ามาทำงานในดงหลวงเคยมีคนบอกไว้ว่า “ถ้าจะทำงานกับชาวโส้ได้คุณต้องเป็นเจ้าจ้ำของเขาให้ได้ก่อน” ซึ่งถึงแม้ผมยังเป็นเจ้าจ้ำไม่ได้ แต่ก็มีคนพูดหยอกอยู่เสมอว่าเป็น “หัวหน้าเผ่า”

เราทำงานร่วมกับอินแปงในการส่งเสริมการเกษตรแบบ “พออยู่พอกิน” “ยกป่าภูพานมาไว้ในสวน” “ปลูกทุกอย่างที่กิน” มาเผยแพร่มีการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพ แล้วจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหมู่ผู้นำเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้ปุ๋ยดังกล่าวจนในที่สุดเราได้ปุ๋ยสูตรต่างๆมาหลายสูตร และเรามีเกษตรกรที่ทำนาแบบปลอดสารเคมีหลายร้อยแปลง แล้วเรายังได้ผลักดันให้พี่น้องได้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลูกและการขยายพันธุ์ผักหวานป่า ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชั้นเซียนของพี่น้องชาวโส้ดงหลวง ผมกล้ายืนยันว่าการตอนกิ่งผักหวานป่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่ที่ดงหลวง และยังพบอีกว่าคุณป้าวัยใกล้หกสิบแม่บ้านของพ่อลุงแสน ปีหนึ่งๆตอนกิ่งผักหวานป่าได้มากกว่าสามีท่านเสียอีก แต่กว่าจะโน้มน้าวให้มีการเปิดเผยองค์ความรู้เรื่องผักหวานป่านี่ก็ต้อง “ซื้อใจ”กันหลายขั้นตอนเฉพาะตัวผมเองต้องไปคลุกคลีกับพ่อๆ ต้องนั่งกระบะท้ายรถปิกอัพกับพ่อๆข้ามจังหวัดไปนอนตามบ้านปราชญ์ผักหวานป่าที่สกลนครสองสามคืนเพื่อสังเคราะห์และสร้างเครือข่ายผักหวานป่า

ในด้านแหล่งเงินทุนเราที่ปรึกษา และอินแปง ได้พยายามหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกมาให้พี่น้องได้ทำกิจกรรม เพราะงบประมาณจากโครงการนั้นโดยปกติต้องเบิกผ่านระบบราชการซึ่งบางอย่างมักจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้อง อินแปงได้ของบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมาให้พี่น้องช่วยกันบริหาร และใช้สอยในกิจกรรมวนเกษตร เกษตรปลอดสารเคมี ป่าหัวไร่ปลายนา และป่าชุมชน ซึ่งนับว่าได้ช่วยเกื้อกูลงานพัฒนาของเราอยู่ไม่น้อย ในส่วนของที่ปรึกษาก็ไปช่วยพี่น้องขอรับงบประมาณจากหน่วยงานอื่น เช่นวิสาหกิจชุมชนจากสำนักงานเกษตรอำเภอ มาช่วยกลุ่มแม่บ้านพัฒนาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ พร้อมทั้งช่วยในการด้านการปรับปรุงคุณภาพ และการตลาดโดยการประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมด้านนี้

เราได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการจัดกระบวนการเพื่อให้เกิดตลาดชุมชนขึ้น โดยเล็งเห็นประโยชน์ที่หาตลาดให้พี่น้องที่ปลูกผักแบบปลอดสารกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ชาวบ้านได้ซื้อพืชผักที่ปลอดสารเคมี และให้เงินหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งผลที่เราพบนอกเหนือจากนี้เรายังได้เห็น โอกาสที่ผู้เฒ่าจะเก็บผักตามรั้วสามสี่มัดมานั่งขายหาเงินไปซื้อหมากซื้อพลู เห็นเด็กน้อยมาหัดขายของ เห็นการปฏิสัมพันธ์ในชุมชนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีการแจกการแถม มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างแม่ค้า และหากไปแวะเยี่ยมตลาดชุมชนคราวใดเราจะได้ซื้อขนม และอาหารพื้นบ้านอร่อยๆมากินได้อย่างที่ไม่ต้องกลัวสารพิษ

อินแปง และสำนักงานที่ปรึกษายังได้เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรแต่ละหมู่บ้านเป็นเครือข่ายระดับตำบล และในสี่ตำบลเชื่อมเป็นเครือข่ายระดับอำเภอ ชื่อว่า “เครือข่ายไทบรูดงหลวง” ซึ่งเรายังพาไปเชื่อมกับเครืออินแปง ที่เป็นข่ายใหญ่มีสมาชิกครอบคลุมสี่จังหวัด การมีเครือข่ายประชาชนเช่นนี้ช่วยให้เกิดการเกื้อกูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพึ่งพาตนเอง นับว่าสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน ในส่วนของเครือข่ายไทบรูดงหลวงแล้ว เรามีการจัดเวทีในระดับตำบลทุกเดือนโดยผู้นำจัดกันเอง ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ “เดินได้เองแล้ว” พวกเราได้ชวนพี่น้องจัดงาน “วันไทบรู” ขึ้นปีละหนึ่งครั้ง

ทั้งหมดนี้สามารถถอดบทเรียนได้ว่ายัง มีรูปแบบการทำงานพัฒนาอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำงานได้ การร่วมมือไม่แบ่งเขาแยกเราช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น และท้ายที่สุดแนวทางการทำงานต้องสอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น ให้ชุมชนช่วยคิดเพื่อชุมชนของเขาเอง

หมายเหตุ บันทึกนี้เปลี่ยนเป็นผู้เขียนผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงในบันทึกลานฅนฟื้นฟูนี้ครับ


นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๑

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:46 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 6437

เกริ่นนำ: โครงการ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน”(คฟป.) ได้ดำเนินงานที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว เมื่อมองย้อนคืนกลับไปตั้งแต่เริ่มโครงการ สามารถถอดบทเรียนได้หลายบท หลายแง่มุม ดังนี้

แนะนำลักษณะของโครงการโดยสังเขปดังนี้ คฟป. มีเป้าหมายหลักที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการ และรูปแบบการใช้ที่ดิน ให้มีลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน เช่น ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างกลุ่มองค์กรชาวบ้านให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลักษณะของงานประกอบด้วย สามภาคส่วนหลักๆคือกลุ่มงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาถนน และแหล่งน้ำ กลุ่มงานพัฒนาการเกษตร คือ การส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน และกลุ่มงานพัฒนาองค์กรชุมชน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรเกษตรกรให้สามารถประสานกันเป็นเครือข่ายประชาชน ต่อมาภายหลังได้มีการเพิ่มงานในด้านตลาดชุมชนขึ้นอีกด้านหนึ่ง ในแต่ละกลุ่มงานมีกิจกรรมย่อยๆมากมาย ตามความสนใจของเกษตรกรและจากผลการวิเคราะห์ชุมชน

เจ้าของงานได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ส่วนเจ้าของเงิน(กู้) ได้แก่ JABIC (Japan Bank for International Cooperation) เจ้าหนี้รายใหญ่ของเรานี่เอง ซึ่งมีเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินต้องมีที่ปรึกษาไปช่วยดูแล งานก็เลยมาเข้ามือที่ปรึกษาเราด้วยประการฉะนี้

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัทจากประเทศเจ้าของเงิน และจากเจ้าของบ้านรวม ๔ บริษัท ทำสัญญากับเจ้าของงานในนามบริษัทร่วมค้า นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีผู้ร่วมงานในส่วนของเอ็นจีโอ ได้แก่ มูลนิธิหมู่บ้านซึ่งชักนำให้โครงการฯได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายอินแปง และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกในเวลาต่อมา แน่นอนที่ต้องมีฝ่ายข้าราชการจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาทำงานร่วมด้วย ในระยะต่อมาเรายังมีทีมงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช่วยทำงานอีกหน่วยงานหนึ่ง

พื้นที่และการบริหารองค์กร : พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขต ส.ป.ก. ของจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร การบริหารงานในส่วนของที่ปรึกษา ในระยะเริ่มโครงการ การทำงานจะได้รับการวางกรอบจากสำนักงานที่ปรึกษาส่วนกลางซึ่งประกอบ ด้วยผู้เชี่ยวชาญมากๆทั้งจากญี่ปุ่นและคนบ้านเราเอง ในแต่ละจังหวัดมีสำนักงานที่ปรึกษาซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร ด้านเกษตร และด้านวิศวกรรมอยู่ประจำ เพื่อคอยทำงานในส่วนรายละเอียด แต่การจัดองค์กรรูปแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล เพราะคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ย่อมรู้สภาพจริงได้ดีกว่าผู้ที่วางแผนอยู่ที่ส่วนกลาง จึงมีการปรับองค์กรของที่ปรึกษาให้เหมาะสม ตัวผมเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเกษตรประจำจังหวัดมุกดาหาร ดังนั้นบทเรียนที่จะถอดออกมานำเสนอในต่อไปนี้ จะมาจากประสบประการณ์ที่ได้พบเจอในพื้นที่ทำงานจังหวัดมุกดาหารเป็นหลัก

พื้นที่ทำงาน พื้นเพของเกษตรกร : พื้นที่ทำงานของผมตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน สภาพพื้นที่มีที่ราบแคบๆริมลำน้ำห้วยบางทรายใช้เป็นที่นา และที่อยู่อาศัย พี่น้องชาวบ้านมีเชื้อสาย “โส้ หรือ กระโส้ หรือ ข่าโซ่” ที่ยังรักษาขนบประเพณีประจำเผ่าไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาษาพูดประจำเผ่าซึ่งอยู่ในตระกูลภาษามอญ-ขแมร์ ชาวโส้เรียกตัวเองว่า “กวย” แปลว่าคน พี่น้องชาวโส้ก็คือเผ่าเดียวกับชายกูยที่มีช้างเลี้ยงมากๆที่สุรินทร์นั่นเอง วิถีชีวิตของพี่น้องที่ดงหลวงยังคงพึ่งพิงป่าเป็นอย่างมาก ปัญหาข้าวไม่พอกินยังพบปรากฏอยู่ทั่วไป เนื่องจากพื้นที่ทำนามีน้อย พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวไร่ก็ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯ พี่น้องที่ขาดข้าวต้องหาเก็บของป่าเช่นหน่อไม้ ยอดหวาย นก หนู กระรอก บ่าง นำไปขอแลกเอาข้าวมากิน พี่น้องชาวโส้ดงหลวงเคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมือง เคยทิ้งหมู่บ้านให้ร้างหนีเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในป่าหลายปีก่อนที่จะกลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง มีผู้นำชุมชนหลายร้อยคนที่เคยไปศึกษาด้านการเมือง การทหาร การแพทย์จากเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เรื่องอุดมการณ์แนวคิดจึงกว้างไกลกว่าชาวบ้านทั่วไปอยู่มาก

แรกๆก็ทำงานดุ่มๆไปตามแผน : โจทย์ที่ได้รับเมื่อแรกเริ่มเดิมที สำหรับงานหลักๆด้านพัฒนาการเกษตรตามที่วางแผนไว้ในระยะวางโครงการ ได้แก่การขุดสระเก็บน้ำในไร่นา แล้วไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักกาด ผักชี ผักนานาชนิดอยู่ที่ขอบสระ แต่ผลการทำงานสำหรับในพื้นที่มุกดาหารแล้วถือว่าประสบผลสำเร็จน้อยถึงน้อยที่สุด เพราะ

  • มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการ คือสมัครขอรับสระประจำไร่นาจำนวนน้อยมากไม่ถึงสามร้อยสระ(จากที่ตั้งเป้าไว้ ๑,๒๐๐ สระ อันนี้ก็ไม่ทราบว่าท่านใดเป็นผู้ตั้งเป้าและใช้เกณฑ์ใดมาตั้ง) พี่น้องชาวบ้านได้บอกเหตุ ผล ที่ไม่ยอมให้ขุดสระเนื่องจากพี่น้องมีพื้นที่นาเพียงแปลงเล็กๆ ไม่อยากเสียที่นาไปกับการขุดสระ พี่น้องอยากได้บ่อบาดาลมากกว่า
  • เกษตรกรที่ได้รับสระไม่ได้ปลูกผักบริเวณขอบสระตามแผนที่ได้วาดฝันกันไว้ ทั้งนี้พี่น้องได้บอกถึงสาเหตุที่ไม่ปลูกผักว่า “อยากปลูกผักอยู่แต่ดินขอบสระคุณภาพไม่ดีช่างขุดไม่ได้เอาหน้าดินมาใส่ข้างบนคืนให้” “พี่น้องไม่ได้ต้องการขุดสระไว้ปลูกผักแต่จะเอาน้ำไว้ทำนา” “ผักสามารถหาเก็บได้ตามป่าตามธรรมชาติมากมาย” “ปลูกแล้ววัวควายที่เขายังเลี้ยงกันแบบปล่อยทุ่งก็มากัดกินมาเหยียบย่ำ” ถอดบทเรียนได้ว่าในระบบนิเวศน์เชิงเทือกเขาภูพานที่ชาวบ้านมีที่ดินขนาดเล็ก มีอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ การขุดสระประจำไร่นาแล้วให้ปลูกผักกินนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากเกษตรกร

บทเรียนอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถนน : พลาดไปเพียงคำเดียว สาเหตุมาจากมีงานก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านสายหนึ่งที่ทางโครงการได้เปิดประมูลไปแล้ว และกำลังจะเริ่มการก่อสร้าง ประจวบกับว่าเส้นทางดังกล่าวได้รับงบประมาณจากโครงการ“พิเศษ” ซึ่งจะสร้างถนนให้ใหญ่กว่าพร้อมทั้งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำให้ด้วย เมื่อเกิดการแย่งงานกันระหว่างผู้รับเหมาสองเจ้าขึ้นมาพี่น้องชาวบ้านก็ต้องเลือกอยู่ข้างที่มาสร้างของที่ดีกว่าให้แน่นอน เรื่องนี้งานเข้าตัวผมอย่างไม่นึกว่าจะพาตัวเองเข้าไปพัวพันด้วย เรื่องของเรื่องคือเผอิญเป็นคนรับโทรศัพท์จากท่านสมาชิกอบต.ประจำหมู่บ้าน ว่าพี่น้องจะรวมตัวประท้วงขับไล่ผู้รับเหมาของส.ป.ก.ไม่ให้สร้างถนน ความจริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนักพัฒนาการเกษตรอย่างผมที่จะไปรับรู้ แต่ในเมื่อต้องดูแลสำนักงานที่ปรึกษาแทนผู้จัดการฯ ก็พูดคุยสอบถามให้ได้ความ พร้อมทั้งรับปากว่าจะประสานฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ไปพบท่านภายในวันนี้ และสุดท้ายก็หลุดคำพูดออกไปว่า “ขอให้พี่น้องใจเย็นๆนะครับ ให้หน่วยงานเขาเจรจากันเอง ให้ผู้รับเหมาเขาหาข้อตกลงกันก่อน หากเราออกหน้าประท้วงกันอาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ปรากฏว่าคำ “เครื่องมือ”ของผมกลายเป็นประเด็นขึ้นมากลบกระแสต่อต้านส.ป.ก.ไปเสีย เมื่อนักการเมืองประจำหมู่บ้านหยิบยกเอาคำพูดของผมไปแปลงเป็นว่า “อาจารย์เปลี่ยนหาว่าพวกเราตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น” พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นแกนนำในการต่อต้าน “อาจารย์เปลี่ยน” จะพากันไป “ฟ้องหมิ่นประมาท” ช่วงนั้นผมต้องใช้ “ความสงบสยบกระแส” ปล่อยให้ผู้จัดการสนง.ที่ปรึกษาผู้มีความเป็นเลิศในการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ออกหน้าไปเจรจายุติปัญหาเรื่องการสร้างถนน ผ่านการช่วยเจรจาของท่านผู้จัดการ และการรับรองของกลุ่มผู้นำเครือข่ายไทบรู ปัญหาทั้งมวลก็แก้ไขได้ลุล่วง พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านก็กลับมาต้อนรับขับสู้ผมเหมือนเก่า (ในขณะท่านผู้นำเหตุการณ์ในครั้งนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วสอบตก) เรื่องนี้ถอดบทเรียนได้ว่า คำพูดเพียงคำเดียวอาจเป็นเรื่องได้หากถึงคราวเคราะห์

หมายเหตุ บันทึกนี้เปลี่ยนเป็นผู้เขียน ผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงในบันทึก “ลานฅนฟื้นฟู” นี้ครับ


ขอข้าวหน่อยครับ..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:07 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2484

นรินทร์ เชื้อคำฮด เป็นลูกหลานชนเผ่ากะโซ่ ดงหลวง เขามีพี่น้องท้องเดียวกันถึง 13 คน ซื่อ คบง่าย ทำนาทำไร่เหมือนพี่น้องเพื่อนบ้าน จบการศึกษาแค่ ป. 4 เป็นอดีตทหารเกณฑ์ฝ่ายพลาธิการ ประจำที่จังหวัดนครปฐม เมื่อปลดประจำการก็กลับมาบ้าน สร้างเนื้อตัวด้วยวิถีกะโซ่ ก็คือทำนาทำไร่


เนื่องจากบ้านพังแดงตั้งอยู่ระหว่างภูเขาทั้งสี่ด้าน มีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน อดีตก็เป็นชุมชนค่อนข้างปิด เพราะมีรถเข้าออกเพียงวันละเที่ยว และไม่แน่นอน เนื่องจากถนนยังไม่ได้ลาดยาง ทำเลลักษณะเช่นนี้จึงเป็นที่หมายปองของ พคท. ที่เข้ามายึดพื้นที่เป็นเขตปลดปล่อยในหลายหมู่บ้าน

กรรมการกลาง พคท.มาประจำที่นี่ พท.พโยม หรือสหายคำตัน บิดาของอดีตท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ ก็เข้าป่าที่นี่ นักการเมืองที่เห็นหน้าในจอทีวีบางคนก็เข้าป่าที่นี่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนก็เข้าป่าที่นี่ ชาวบ้านกะโซ่เกือบทั้งหมดยกกันหนีภัยเข้าป่ากันเต็มยอดเขารอบทิศทาง สภาพเป็นบ้านแตกสาแหรกขาด


เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ความสงบ ทุกคนลงมา กลับบ้านเกิด แต่ก็มาเผชิญความลำบากยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับมานับหนึ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ชุมชนกันใหม่หมด วัว ควายหายไปหมดสิ้น เครื่องมือทำนาทำไร่ก็ไม่มีต้องสะสม สร้างกันใหม่ เผชิญปัญหาข้าวไม่พอกินเพราะไม่มีเก็บกักไว้ ราชการก็ไม่สามารถแบกรับภาระได้ ปล่อยให้ กะโซ่กลับใจเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เผชิญกับความอดอยากอย่างรุนแรงนับแต่นั้นมา

ทุกครอบครัวต้องออกไปเอาของป่าไปแลกข้าว นรินทร์เล่าให้ฟังว่า…ตอนนั้นผมยังเล็กแค่ 4-5 ขวบ แต่เป็นความจำที่ฝังแน่น ไม่ลืม มันติดหูติดตาผมมาตลอด ครอบครัวเราต้องตระเวนไปขอข้าวกิน ผมเลือกไปที่ อ.กุดบาก ซึ่งเป็นจุดที่ไกลที่สุด แต่ที่นั่นอุดมสมบูรณ์กว่า เพื่อนบ้านย้ายกันไปที่อื่นๆเช่น อ.นาแก จ.สกลนคร แต่ก่อนขึ้นกับ จ.นครพนม บางสายไปที่ อ.นาคู หรือ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บางสายก็ไปที่ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

เอาอะไรไปแลกล่ะ นรินทร์ ผมถาม.. อาจารย์..ผมพูดตรงๆว่า ผมไม่มีอะไรไปแลกเลยครับ.. นรินทร์น้ำตาซึมออกมา แต่อดกลั้นไว้… ผมใช้สองมือครับ ผมใช้สองมือไหว้ ขอความเมตตา สงสาร ขอข้าวตรงๆครับ เสียงนรินทร์สั่นนิดหน่อย.. ข้าวเปลือกก็เอา ข้าวสารก็เอา บางบ้านก็ไม่มีให้ ผมก็เข้าใจ เพราะเขาก็ยากจน หลายบ้านก็ใจดี บางบ้านใจประเสริฐแท้ เขาให้พักอาศัยด้วย ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเดินทางต่อไปบ้านอื่น

ส่วนใหญ่พวกเราพักตามศาลาวัดกัน ก็ได้อาศัยข้าวก้นบาตรพระยามเช้าด้วย

มีอันตรายต่างๆไหม..ผมถามนรินทร์ เขาตอบว่า..มีครับ เพื่อนบ้านที่ไปส่วนใหญ่จะเป็นสาวจำนวนสามถึงสี่คนที่เพิ่งแต่งงาน ต่างก็มีลูกแล้วหนึ่งคน สองคน หน้าตายังผ่องใส นอกจากนี้ก็มีเด็กเล็กๆอย่างผม และมีผู้ชายสักสองคน ก็มักจะถูกนักเลงหมู่บ้านที่เราไปพักพยายามมาก่อกวนผู้หญิงของเรา บางครั้ง ผู้ชายไม่ได้นอนเลยทั้งคืน คอยอยู่ยามเฝ้า.. การมีเด็กเล็กๆไปอย่างผมนั้น ก็ให้ดูน่าสงสาร (เหมือนปัจจุบันเลย..) การไปขอข้าวแต่ละครั้งใช้เวลาสองคืนสามวัน ได้ข้าวเปลือกประมาณสอง สาม กระสอบ แล้วก็ขอเงินนั่งรถกลับดงหลวง เมื่อหมดข้าวก็ไปอีก แต่จะไม่ซ้ำหมู่บ้านกัน..

ความอยากอาย(สำนวนอีสาน) ทำให้ในระยะเวลาต่อมาพยายามบุกเบิกป่าเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ปลูกข้าวไร่ พันธุ์พื้นบ้านชื่ออีดำอีแดง เมล็ดโต สั้น กลมใหญ่ เวลานึ่งใช้เวลานาน และเหนียวติดมือ เนื่องจากดินบนภูเขาสมบูรณ์มาก ข้าวอีดำอีแดงงามมาก กอใหญ่ พวกเราจึงไปขอข้าวกินลดลง แต่การปลูกข้าวไร่บนภูนั้นขึ้นกับธรรมชาติ บางปีฝนแล้งก็ไม่ได้ผล การตระเวนไปแลกข้าว ขอข้าวก็ยังมีอยู่

หลายปีต่อมาพวกเราบุกเบิกพื้นที่รอบๆหมู่บ้านที่ค่อนข้างราบมากขึ้น เพื่อใช้ปลูกข้าว บ้านเมืองพัฒนาไป เทคโนโลยี่ใหม่ๆเริ่มเข้ามาคือรถไถนายี่ห้อฟอร์ด มาจากอุทัยธานี รับจ้างไถ บุกเบิกที่นาที่ไร่ใหม่

พวกเราออกจากป่ามาได้ 4-5 ปี มันสำปะหลังก็เริ่มเข้ามา และใช้เวลาอีกสัก 4-5 ปี ก็เต็มพื้นที่บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆด้วย เพราะปลูกง่าย สมัยนั้นอาคารบ้านเรือนทั้งหมดเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ หลังย่อมๆ มุงด้วยใบไม้ ไม่มีเรือนไม้อย่างดีแบบปัจจุบัน เพราะพวกเราไม่มีเครื่องมือและไม่มีประสบการณ์ เมื่อชุมชนเริ่มเปิด เทคโนโลยี่ต่างๆก็เข้ามา ขายมันสำปะหลังได้สามปีก็สามารถปลูกบ้านด้วยไม้จริงหลังใหญ่ได้แล้ว

แม้ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ชุมชนเราตั้งอยู่ในหุบเขา มีพื้นที่จำกัด ขยายออกไปก็ไม่ได้เพราะเป็นเขตป่าสงวน ชีวิตเราจึงปลูกข้าวกับมันสำปะหลัง เพราะครอบครัวพวกเราไม่ได้คุมกำเนิดประชากรก็เพิ่มขึ้น การขาดแคลนข้าวกินก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ที่กำลังมาถึงนี่แหละ บางปีมีครอบครัวที่ไม่มีข้าวกินมากถึงร้อยละ 70

นรินทร์บอกว่า มีอยู่สองสามทางที่ชาวบ้านแก้ไขคือ ปลูกมันสำปะหลังเพื่อขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน หรือส่งลูกไปทำงานในเมืองส่งเงินมาซื้อข้าว และหนทางสุดท้ายคือ หาของป่าไปแลกข้าวหรือไปขอข้าวตรงๆ..


นรินทร์เล่าให้ฟังประสบการณ์ฝังลึกอีกเรื่องหนึ่งคือ มีอยู่ปีหนึ่งเราไม่มีข้าวกินเลย นรินทร์ยังเด็ก หิวข้าวมาก ก็ร้องให้ พี่ชายไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปขุดหัวมันสำปะหลัง จำได้ว่าเป็นพันธุ์ระยอง 3 เอามาต้มกิน…

นรินทร์เป็นกะโซ่ไม่กี่คนที่ดิ้นรนหนีความทุกข์ยากจนพอลืมตาอ้าปากได้ เงินที่เขาเก็บออมไว้นำมาลงทุนเปิดสถานที่ขายน้ำมันเล็กๆในชุมชนบ้านพังแดง กิจการของเขาไปได้ดี กำลังขยายกิจการไปขายปัจจัยการผลิตการเกษตรอื่นๆอีก…


นรินทร์ดิ้นหลุดบ่วงนี้ไปแล้วจะไปพบบ่วงอื่นอย่างไรอีก..?

เพื่อนบ้านอีกจำนวนไม่น้อย ยังวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมๆ…?

“งานพัฒนาชนบทเป็นงานที่ยาก คิดง่าย แต่ทำยาก” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ


ฟ้าใสขึ้น..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:01 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1802

 


 

เมื่อวันก่อนผมได้รับโทรศัพท์จากพี่ใหญ่ ผู้ร่วมงานแต่อยู่คนละจังหวัดบอกว่า มีข่าวดีมาบอก “มีคำสั่งย้ายเบอร์หนึ่งแล้ว กลับไปหน่วยงานเดิมที่ก่อนจะมาอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นกรมเล็กๆไม่มีงบประมาณมาก เงียบๆ…” พวกเราดีใจโทรแจ้งกันจ้าละหวั่น…ฯลฯ

ปรากฏการณ์นี้ใครต่อใครฟังดูแล้วก็คงทั้งงง และเดาเรื่องราวออก…

  • เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง
  • เป็นคนบ้าอำนาจ คำก็จะย้าย สองคำก็จะย้าย หากลูกน้องระดับจังหวัดพูดไม่ถูกใจ
  • รวบอำนาจไว้ที่คนเดียว
  • จัดงานใหญ่ๆ ถลุงงบฯ จ้างนักข่าวมาประชาสัมพันธ์ตัวเอง
  • พูดจาไม่มีใครรู้เรื่อง แม้ลูกน้องที่ตัวเองโปรโมทขึ้นมาก็สรุปไม่ได้ว่านายต้องการอะไร..ฯ
  • ไปจังหวัดไหนต้องเอาผู้ว่าฯมารับ มาร่วมงานด้วย..
  • ใช้ระบบสั่งการ เอาความคิดตัวเอง ไม่สนใจความคิดแตกต่างและดีกว่า
  • ถลุงงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง
    จนเกษตรกรหัวเราะใส่ จัดงานแบบเนรมิต พอเลิกงานทุกอย่างก็หายไปในพริบตา
  • ไม่เคยศึกษามาก่อนว่าเดิมงานชิ้นนั้นมีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร มาถึงก็จะเอาอย่างนี้
  • แนวคิดวกวน จับหลักจับเกณฑ์ไม่ได้ และแนวคิดดูก้าวหน้า แต่ล้าหลัง
  • เคยแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่นๆว่าถึงเวลาที่คนนี้จะย้ายแล้วนะ หากมากรมนี้จะคิดไง เพื่อนข้าราชการส่ายหัวยกมือท่วมศีรษะ อย่ามาเลยเจ้าประคูณณณณ กรมแตกแน่แน่…เห็นสรรพคุณแล้ว
  • ก่อนที่ข่าวนี้จะออกมา หัวหน้าส่วนราชการที่มุกดาหารที่ผมนั่งทำงานด้วย ชิงลาออกไปก่อนแล้ว นี่ก็แผลเต็มตัว

ข่าวนี้ ดี แผ่นดินที่หน่วยงานผมทำงานด้วยสูงขึ้นเยอะ

อุ้ยเอ๋ย…ที่ไหนๆก็มีอุปสรรค ปัญหาของระบบ เอาเป็นว่า เรามาทำงานบนความไม่พร้อมของระบบ แบบที่พ่อครูบากล่าวไง..

 

หวังว่าเบอร์หนึ่งใหม่คงไม่หนักไปกว่าเดิมนะครับ….อิอิ


วันพระกับยุ้งข้าว

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:18 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5187

วันพระ……

คนเมืองทำอะไร

ทำอะไรก็ได้ที่ใจอยากจะทำ

หรือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า วันพระนั้นคือวันไหน

……………..

เพราะวิถีเมืองรัดรุมเราจนหลงลืม…


วันพระ….

ชนบทแห่งนี้ ที่ยุ้งข้าวหลังเล็กๆนี้

คือที่บรรจุข้าวของเราที่เราใช้ชีวิตทั้งชีวิตหามาก็เพื่อชีวิตนั่นแหละ

เราเคารพแม่โพสพ เราเคารพข้าวทุกเมล็ด เราเคารพจิตวิญญาณ เราเคารพธรรมชาติ

เราเคารพคุณค่าข้าวที่ให้ชีวิต


เราขอมอบใบไม้นี้แทนดอกไม้ ธูปเทียน เคารพ แด่ข้าว คุณค่าของข้าวผู้ให้ชีวิตแก่พวกเรา

———————-

หมายเหตุ ทุกวันพระพี่น้องดงหลวงจะเอาดอกไม้ไปแสดงความคารวะ ต่อแม่โพสพที่ยุ้งข้าวเพื่อระลึกถึงคุณของข้าว.


ต้นหมี่..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 0:05 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 23278

เมื่อสัปดาห์ก่อนโครงการจัดงานวัน Field day แก่ผู้นำเกษตรกร ต.ดงหลวง ซึ่งเราพยายามให้บทบาทแก่ผู้นำได้เอาผลงานของตนเองมาเสนอในลักษณะเล่าสู่กันฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยนกัน

ระหว่างนั้น ผู้นำเครือข่ายไทบรู ได้ขึ้นมาแนะนำกิจกรรมของเครือข่ายที่สนับสนุนให้ปลูกต้นไม้ และหันมาพึ่งพาตนเองกันให้มากๆ โดยลดรายจ่ายด้านต่างๆ อะไรที่ทำขึ้นเองได้ก็ทำ ไม่ต้องไปซื้อ แล้วผู้นำท่านนี้ก็นำตัวอย่างพืช และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มออกมาแนะนำให้สมาชิกได้ทราบและให้กลับไปทำใช้เอง…..

มีสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากคือ ผู้นำท่านนั้นแนะนำต้นไม้พื้นบ้านต้นหนึ่งคือ “ต้นหมี่” ซึ่งสามารถนำไปทำสบู่ ยาสระผม และเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย เมื่อเสร็จงาน ผมไปสอบถามผู้นำท่านนั้นว่ามีตัวอย่างให้ผมดูไหม ท่านก็จูงมือผมไปดูต้นหมี่ หลังจากนั้นผมก็มาค้นข้อมูลคุณประโยชน์มากมายของพืชป่าต้นนี้ ดังนี้


ข้อมูลเบื้องต้น: เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 5-15 เมตร ชอบขึ้นบริเวณดินร่วนปนทราย ตามไร่ นา ป่า โคก เปลือกมีกลิ่นหอม ใบ เป็นใบเดี่ยว ผล เป็นผลเดี่ยว ผลสดรูปทรงกลม ออกเป็นพวง พวงละ 3-7 ผล ผลดิบสีเขียวจุดขาวมันวาว ผลสุกมีสีม่วงเข้มออกดำ เมล็ด เมล็ดสดรูปทรงกลม เนื้อเมล็ดแน่น สีขาวนวล หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด ต้นหมี่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีทางธรรมชาติได้ 2 วิธี คือ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการงอกเป็นต้นกล้าจากรากของต้นเดิมที่แผ่ขยายออกไป


การใช้ประโยชน์ ส่วนต่าง ๆ ของต้นหมี่มีสรรพคุณทางยา คือ ราก นำมาใช้ตำทาแก้ ฝี หนอง ต้มกินแก้ท้องอืด แก้ท้องร่วง เป็นส่วนผสมยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง บางหมู่บ้านนำรากตากให้แห้ง แล้วดองกับเหล้าขาว แก้โรคเลือด เช่น ระดูมาไม่ปกติ ลมพิษ เป็นต้น เปลือก นำมาใช้ฝนทาแก้ฝี ผิวในของเปลือกสดอมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ต้มอาบแก้ผดผื่น แก้ท้องอืด ใบ ใบสดใช้ฆ่าเหา ใช้ขยี้ทารักษาแผล กลากเกลื้อน แก้พิษแมงมุม แก้ท้องร่วง ท้องอืด นอกจากนั้นก็ใช้ ลำต้นใช้สร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำฟืน ทำเขียง ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำด้ามมีด จอบ เสียม ขวาน ทำยุ้งใส่ข้าว และปลูกให้ร่มเงา เปลือกใช้ย้อมผ้า ย้อมแหให้ติดสี ผงเปลือกทำธูปจุดไล่แมลง ยางของต้นหมี่ ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนา และทนทาน ใช้ดักแมลงตัวเล็กๆ ใช้ใบสดสระผม ใช้ตำผสมกับผลทำหัวเชื้อชีวภาพ ใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว ใช้รองฝาปิดปากไหปลาร้ากันหนอน ดอก ของต้นหมี่สามารถนำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย ผลสุก ใช้บีบหรือตำทาแก้โรคผิวหนัง หรือนำมาสระผมก็ได้


ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เด่นชัดที่สุด คือ ใช้ใบสดสระผม และใช้ส่วนต่าง ๆ ตามสรรพคุณทางยา
ด้านประเพณี ใช้ใบห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ ด้านความเชื่อ มีการขูดเปลือกขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลใช้เหน็บบั้นเอว จะทำให้หายจากอาการจุกเสียด เชื่อว่าคนท้องสระผมด้วยใบหมี่ผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่าย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของต้นหมี่ คือ แชมพู ครีมนวด และสบู่เหลวล้างมือ..


ต้นหมี่กับวัฒนธรรมล้านนา….เทศกาลงานสงกรานต์

อุ๊ยแสงดาเล่าว่า “สมัยก่อน จะต้มใบหมี่ในหม้อดินก้นทรงกลม หรือเรียกว่า หม้อสาว จุน้ำสิบถึงยี่สิบลิตร เมื่อต้มแล้ว นำไปสระผมได้หลายๆ คน ขณะที่ต้มกลิ่นอายจากหม้อช่วยผสมให้น้ำเดือดช่วยให้กลิ่นใบหมี่อยู่ได้นาน เพราะความหนาแน่นของหม้อดินจะอมความร้อนได้นานนั้นเอง “

แม่อุ๊ยสอนว่า “ใบแก่ดีกว่าใบอ่อน เพราะกลิ่นหอมมากกว่า..เพียงเอาใบมาทุบแล้วแช่น้ำไว้นานๆ ก็จะมีกลิ่นหอมได้เช่นกันนำมาต้มไฟอ่อนพอน้ำเดือด กลิ่นหอมจะถูกความร้อนละลายออกมาทีละน้อยๆ ไม่ระเหยไปกับน้ำโดยไม่จำเป็น..”


จำนวน ใบที่นำมาต้ม ส่วนมากจะใช้ห้าใบขึ้นไป ปีใหม่เมืองเหนือหรือสงกรานต์ ผู้คนนิยมนำใบหมี่มาสระผมจนถือเป็นเคล็ดกันว่าปีหนึ่งขอให้ได้สระผมด้วยน้ำ ต้มใบหมี่ปีละหนึ่งครั้ง ในวันปีใหม่ ก็จะมีโชคคุ้มได้ทั้งปี

ว่าแต่ว่าสาวเหนือทั้งหลาย อุ้ยสร้อย อึ่งอ๊อบ ครูอึ่ง น้องเบิร์ด เคยสระผมด้วยหมี่หรือยังล่ะ หากเคยละก็เอาผมมาให้พ่อครู จอมป่วน อาเหลียง หอมหน่อยนะ อิอิ

(ข้อมูลจาก http://www.udif.or.th/paritusapril%2051/aal.html)


ลายเซ็น

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 พฤษภาคม 2009 เวลา 13:20 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5012

หากท่านเข้าไปดงหลวง เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้าน ท่านจะต้องฉงน เพราะมีแต่นามสกุล เชื้อคำฮด ที่ตำบลพังแดง วงศ์กะโซ่และโซ่เมืองแซะที่ ตำบลดงหลวงอาจเรียกว่าร้อยละ 99 มีเพียง 2-3 นามสกุลนี้เท่านั้น

เมื่อเราเข้าไปทำงานใหม่ๆเราก็ ฉงน และสับสน เพราะพบบ่อยที่ไทโซ่มีชื่อและนามสกุลเหมือนกัน ลองเดาซิครับว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะแยกบุคคลนั้นได้ถูกต้องว่าหมายถึงคนนี้ คนนั้น.. คำตอบคือเราใช้สิ่งที่แตกต่างกันแน่นอนคือบ้านเลขที่ เพราะคงไม่มีใครที่ชื่อเหมือนกันและนามสกุลเหมือนกันอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่ เป็นชนเผ่าที่มีภาษาเป็นของตนเอง อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่รัชการที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานหลายแห่ง โดยเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตที่สูง เพราะวิถีเขานั้นพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากภูเขา โดยกายภาพแล้วการตั้งถิ่นฐานนี้อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ อันเป็นเหตุให้ได้รับสวัสดิการของรัฐน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ

ยิ่งสมัยที่เมืองไทยเรามีการขัดแย้งกันทางความเห็นการปกครอง พื้นที่ดงหลวงอยู่ในเขตปลดปล่อย เป็นเวลายาวนาน การศึกษาก็ยิ่งห่างไกลออกไป หลังปี 2527 โดยประมาณ เขาทั้งหลายก็ลงมาจากภูเขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายของประเทศไทย

ปัจจุบันการทำงานพัฒนาภายใต้กึ่งระบบราชการนั้นยังจำเป็นต้องอิงระบบ แม้ว่าจะขัดต่อวิถีทางการพัฒนาคนในหลายๆด้านก็ตาม เพราะโครงการนี้มีที่มาจากระบบราชการนั้นเอง


ทุกครั้งที่เรามีการประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ ที่ต้องอาศัยงบประมาณราชการก็ต้องมีหลักฐานลายเซ็นผู้เข้าร่วม อย่างน้อยที่สุดก็เท่ากับจำนวนที่ระบุไว้ในแผนงานที่เสนอของบประมาณนั้นๆ

ที่ดงหลวงเราต้องเตรียม Stamping Ink ทุกครั้งเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรผู้ที่ไม่สามารถลงนามชื่อตัวเองได้ทำการปั้มลายนิ้วหัวแม่มือแทน


ปรากฏการณ์นี้สะท้อนหลายแง่มุม คนที่คลุกคลีกับวิถีไทยโซ่ฐานรากย่อมเห็น และทราบดีว่า

  • ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มีน้อยกว่าท้องถิ่นอื่นๆส่งผลให้โลกทัศน์ของเขายังสืบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมเดิมๆของเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนชีวิตที่เป็นไปอย่างช้าๆ
  • ระบบการสื่อสารที่เข้าสู่ชุมชนที่ทันสมัยแต่เต็มไปด้วยการกระตุ้นค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาคือปัญหาใหม่
  • งานพัฒนาชุมชนยังไม่ได้เข้าไปจักกระบวนการปรับตัวที่เหมาะสม แต่นำเสนอชิ้นส่วนที่เขาต้องหักดิบการเปลี่ยนแปลงซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนมาก
  • นโยบายของรัฐที่ใช้ศูนย์กลางอำนาจเป็นคำสั่งออกแบบงานพัฒนาชุมชนนั้นก็ยังซ้ำซาก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
  • ฯลฯ

บางทีเราก็นึกไม่ออกว่าเทคโนโลยีนาโน กับการพยายามลงนามเข้าร่วมการเรียนรู้ภายใต้ระเบียบของรัฐของชาวบ้านแบบดงหลวงนี้ ระยะห่างขององค์ความรู้นี้จะก่อผลกระทบในการเคลื่อนตัวของสังคมมากน้อยแค่ไหน



Main: 0.16264295578003 sec
Sidebar: 0.030164957046509 sec