สารภาพ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:48 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 1453

ในปี 2505 กรมการข้าว ได้ทำการส่งเสริมการผลิตข้าว โดยตั้งกองส่งเสริมและเผยแพร่ขึ้น มีฝ่ายต่างๆหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นคือฝ่ายปุ๋ย

ความจริงสารเคมีเข้ามาเมืองไทยนานมาแล้วประมาณปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลสั่งนำ DDT เข้ามาในเมืองไทยเพื่อทำการปราบปรามยุงตัวนำเชื้อโรคมาเลเลีย ซึ่งระบาดมาก ประชากรเจ็บป่วยล้มตายปีละมากๆ DDT จึงถูกสั่งเข้ามาแล้วนำไปพ่น ฉีดฆ่ายุงก้นปล่อง ซึ่งใช้มาหลายสิบปีต่อมา เจ้าสารเคมีตัวนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเห็บ เหา เลือด อีกด้วย ปัจจุบันเกือบไม่ได้ยินว่าที่ไหนมีตัวเลือดให้ปรากฏ

ย้อนไปปี 2503 ฝ่ายวิศวกรรมเกษตร กรมการข้าว สร้างควายเหล็กตัวแรกขึ้นมา เพื่อใช้แทนควาย ซึ่งสมัยนั้นเจตนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ราคาน้ำมันเบนซินในสมัยนั้นลิตรละ 1 บาทเท่านั้น เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมี สมันนั้นข้าวก็ใช้สูตร 16-20-0 เป็นปุ๋ยนำเข้า ใส่แปลงข้าวในอัตรา 20-30 กก.ต่อไร่

การผลิตข้าวในสมัยก่อนนั้นมีโรคที่เป็นกันมากคือ บั่ว หนอนกระทู้ รัฐบาลจึงสั่งสารเคมีเข้ามาเพื่อปราบโรคบั่ว สารเคมีสมัยนั้น เช่น ไทเม็ก โฟลิดอน E605 เอนดริน และ ฯลฯ กลิ่นเหม็นมาก ฉุนแรง สมัยนั้นไม่มีปุ๋ยน้ำหมัก ชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้แต่อย่างใด ภายหลังมาทราบว่าจีนและญี่ปุ่นรู้จักและใช้มานานถึง 700 ปีแล้ว

มาในปัจจุบันนี้ เราพบแล้วว่า สารเคมีเหล่านั้น ปุ๋ยเคมีเหล่านั้นมีส่วนสำคัญยิ่งในการทำลายระบบนิเวศแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืชมาก เจ้าแมลงที่ตั้งใจฆ่าก็พัฒนาตัว พัฒนาสายพันธ์ของมันไปมากขึ้นด้วยทำให้ทนทานต่อสารเคมีที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน

สมัยนี้มีทางเลือกใหม่ๆมากมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อสุขภาพที่ดี นี่เป็นความรู้สึกที่อยากจะบอกพวกเรา….

นี่คือความในใจที่อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยรับผิดชอบการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืชและกระบวนวิธีแบบเก่าๆ อันเป็นเทคโนโลยีและนโยบายของรัฐในอดีต ท่านมาตอกย้ำแนวทางที่เรียกว่าเกษตรทางเลือก…..

ขอบพระคุณพี่…เป็นอย่างสูง

คำสารภาพนี้มีคุณค่าแก่การเดินทางเป็นอย่างยิ่งครับ..


ทุนชุมชน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2009 เวลา 15:36 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 2629

(บทความนี้เป็นบทความที่บางทรายเขียนแล้วเวียนภายในโครงการฯ เป็นลำดับที่ 56 แล้ว เห็นว่าสามารถออกสู่สาธารณะได้ จึงเอามาลงในลานนี้ ท่านที่เข้ามาอ่านอย่าสงสัยว่าคำกล่าวหลายตอนนั้นเป็นการกล่าวกับเพื่อนร่วมงานที่มีอยู่ใน 4 จังหวัด ผมไม่อยากเสียเวลาปรับแก้สำนวนเพื่อสาธารณะจึงคงไว้เช่นนั้น การเอามาลงสาธารณะก็เพื่อ “เปิด” อาจจะมีท่านใดๆที่มีคำชี้แนะก็อยากได้ครับ ถือว่า Open KM)

—————

 

เมื่อวันก่อนมีโอกาสดูทีวีแวบๆรายการหนึ่ง เสียดายที่ไม่ได้ดูเต็มๆ รายการนี้พูดถึงทุนชีวิตทุนสังคม คือมีหน่วยงานหนึ่งที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงก้าวเข้ามาพัฒนาเครื่องมือสำรวจทุนชีวิตทุนสังคมนี้ในหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อพบสาระก็เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์…

 

ทุกท่านคงเดาเรื่องราวเหล่านี้ออกนะครับว่าแนวจะเป็นอย่างไร

 


 

รายการนี้พบว่า จากการสำรวจชุมชนพบคุณยายท่านหนึ่งอายุมากแล้ว จบการศึกษาแต่ ป 4 แต่มีความสามารถในบทกลอน และเรื่องราววรรณคดีไทยต่างๆ หน่วยงานจึงสนับสนุนให้คุณยายใช้ความสามารถที่มีอยู่โดยการเปิดเป็นห้องเรียนชุมชนง่ายๆ เอาเด็กๆในหมู่บ้านมานั่งตามศาลาวัด เอาเสื่อมาปู แล้วคุณยายก็มาเล่าวรรณคดีต่างๆ ทั้งแบบพรรณนา และบทกลอนต่างๆ

 

ภาพที่ปรากฏคือ

  • เด็กๆสนุกสนานมากด้วยอรรถรสการเล่าเรื่องของคุณยาย อิสระ ไม่ต้องอยู่ในห้องเรียน ไม่มีกฎระเบียบมาขีดขั้น มีแต่คุณยายที่สั่งสอนมารยาทในการฟังการเรียนแบบไม่เรียนเช่นนี้
  • คุณยายท่านนี้มีความสุขมาก มาก ที่ได้นำความสามารถพิเศษมาทำประโยชน์ให้แก่ลูกหลานในชุมชนของตนเอง วันเดือนปีไม่มีใครทำเช่นนี้ แต่วันนี้มีคนเปิดโลกแห่งการจัดการความรู้แบบนี้ให้ จึงเกิดพลังมหาศาลขึ้นแก่คุณยายท่านนี้
  • พ่อแม่เด็กก็ภูมิอกภูมิใจที่ลูกหลานได้นั่งกับคุณยาย ไม่ไปเล่นอะไรที่ไร้สาระ และพ่อแม่เด็กต่างก็เข้ามาอยู่รอบนอกคอยดูว่าจะสนับสนุนอะไรได้บ้างที่จะทำให้ห้องเรียนของคุณยายนี้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น เดาได้เลยว่าสารพัดการสนับสนุนจะออกมาจากพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นรวมไปถึงพระที่วัด ผู้ปกครองชุมชนต่างเข้ามาดู และต่างร่วมกันคิดถึงการสนับสนุนปรากฏการณ์ดีดีเช่นนี้

 


 

วิเคราะห์

  • เรายังไม่ได้มองชนบทในมุมมองเช่นนี้บ้าง อาจจะมองบ้างแต่ไม่ได้สร้างกิจกรรมที่ใช้ทุนในชุมชนที่มีอยู่สักเท่าไหร่ ใช้บ้างแต่น้อยไป และจำกัด
  • โครงการพัฒนาแบบของเราเป็นโครงการที่ออกแบบสำเร็จรูป มีหลักการ มีขอบเขตงาน มีกรอบกิจกรรม เราก็วนอยู่แต่ตรงนั้น เป็นโครงการปลายปิด มิใช่ปลายเปิด จะดัดแปลงทุนชุมชนมาใช้ได้บ้างก็แค่เล็กน้อย ไม่มีพลังสักเท่าไหร่
  • ความจริงทุนชีวิต ทุนชุมชนมีมากมายทุกแห่งทุกพื้นที่ เพียงแต่เรามองไม่เห็น หรือเห็นบ้างแต่ไม่ได้ออกแบบการสนับสนุนการแสดงพลัง อาจจะคิดแต่ไม่มีช่องที่จะทำเพราะโครงการปลายปิดดังกล่าว
  • โครงการไม่มี Unforeseen budget อย่างผมเคยแลกเปลี่ยนกันบ้างแล้ว ประสบการณ์เรื่องงบประมาณปลายเปิดแบบนี้ผมได้มาสมัยทำงานกับโครงการ NEWMASIP กับ EURO Consultant ที่เขากันงบประมาณจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอที่จะทำกิจกรรมที่ดีดี หลังจากที่ดำเนินการตามแผนงานปกติ แล้วไปพบสิ่งที่น่าทำ น่าสนับสนุนขึ้นในชุมชน ก็สามารถพิจารณาเสนอของบจำนวนนี้มาทำกิจกรรมได้ ในโครงการของเราก็เห็นกิจกรรมใหม่ๆที่น่าทำหลายประการแต่ทำไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในแผน และงบแบบ Unforeseen ก็ไม่มี
  • การพิจารณาสนับสนุน พัฒนาทุนชีวิต ทุนชุมชนนั้น ผมคิดว่าเป็นฐานที่สำคัญต่อการพึ่งตนเองในระดับหมู่บ้าน ชุมชน ในหลายๆสาขา เพียงแต่ว่าเราสามารถจะขุดค้นศักยภาพของชุมชนมาได้มากน้อยแค่ไหน
  • กิจกรรมเช่นข้างบนนั้นทุกคนได้หมด คุณยายได้ เด็กๆได้ พ่อแม่ของเด็กๆได้ หน่วยงานที่สนับสนุนได้ ที่สำคัญ ชุมชนได้

 

ผมฝันไปว่าในอนาคตโครงการของเราจะมีโครงสร้างแบบผสมผสานระหว่างการออกแบบเดิมกับแนวทางการทำงานแบบปลายเปิดแบบนี้บ้าง เพราะข้อเท็จจริงคือ การออกแบบโครงการนั้นไม่ครอบคลุมศักยภาพทั้งหมดของชุมชน ขณะที่ทำงานไปนั้นผู้ปฏิบัติเห็นศักยภาพชุมชนมากมายที่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้ครับ

 


ทุนชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2009 เวลา 15:33 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1397

ขออภัยครับที่ขึ้นมาทีเดียวมากกว่า 1 บันทึก คนบันทึกน่ะดียู้  แต่เครื่องมันไม่ดี  อิอิ


ทุนชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2009 เวลา 15:32 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1526

ขออภัยที่โผล่ออกมามากกว่า 1 บันทึก ไม่ทราบเป็นอะไร พอ Post เครื่องบอก Post ไม่ได้ ก็พยายามทำใหม่ กลายเป็น Post มากกว่า 1 บันทึก อิอิ


เห็บบิน…..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 มีนาคม 2009 เวลา 20:42 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 3632

อ่านบันทึก เรื่องทำไมวัวไม่บิน…ของเม้ง ก็นั่งขำอยู่คนเดียว

……………..

สองวันนี้ที่บ้านวุ่นวายกับ “เห็บ” น้องหมา คุ๊กกี้

เพราะสงสารเขาตั้งแต่เล็กก็เอามานอนในห้องทำงานผมโดยมีกรงอย่างดี เมื่อเขาโตขึ้นก็เปิดให้เดินเล่นในห้องทำงานและห้องครัวได้ แต่ไม่ให้ขึ้นไปห้องโถง เช้ามืดก็เอาเขาออกไป ค่ำมืดก็เอาเข้าบ้าน…
เขาก็นอนไม่รบกวนสิ่งของใดๆ

มาวันก่อนเด็กที่บ้านพบตัวเห็บไต่ข้างฝาบ้านในห้องครัว.. เลยมาตรวจดูกันใหญ่ วุ้ย ว้าย…ตาย…ตาย….
พบเห็บตัวเล็กๆซ่อนอยู่ใต้แผงวงจรไฟฟ้าบนฝาพนังห้องนับร้อยๆตัว ผู้หญิงกรี๊ดกราดกันใหญ่…
ตกใจ..และกลัวว่ามีที่ไหนอีก เลยหมอบๆคลานๆดูทุกมุมห้องครัว

เพราะเราไม่รู้จักวงจรชีวิตเห็บน้องหมาดีว่าเป็นอย่างไร
ตกกลางคืนผมไปหาอาจารย์กู(Google) ตาย..ตาย..ตาย…เจ้าเห็บหมานี่ร้ายจริงๆ…. เขาดูดเลือดน้องหมาแล้วออกจากน้องหมาไต่ฝาบ้านไปแอบในที่สูงๆแล้วออกไข่
ไข่จะมีจำนวน 1000-3000 ฟอง….!!!!! เมื่อออกเป็นตัวก็จะลงมาหาน้องหมาแล้วก็ฝังตัวดูดเลือดจนโต แล้วก็ลงจากตัวหมาไปแอบเช่นเคย และเขาอยู่โดยไม่ต้องดูดเลือดตั้ง 6-7 เดือน…!!

ความจริงเราอาบน้ำให้คุกกี้ทุกสามวัน เพราะขนเขายาวสวยนี่แหละจึงเป็นที่ซ่อนของเห็บอย่างดี
แม้จะอาบน้ำบ่อย ฉีดยากันด้วย แต่ก็ไม่พอ..
เราก็หาความรู้กันใหญ่ และปรึกษาสัตว์แพทย์ เราก็ได้วิธีการแก้ รักษาป้องกันมามากมาย…

เมื่อเย็นนี้ คนข้างกายเอารถ 4WD ไปธุระในเมือง ยังไม่ได้ไปไหนก็เอะอะ โวยวายดังลั่นมาว่า เร็วๆ…เห็บเต็มรถเลย…..?????

ผมก็วิ่งไปดู เธอก็ว่าเก็บเห็บเล็กๆได้ยี่สิบตัวแล้ว ผมมองไม่เห็นสักตัว เลยอาสาขับรถไปให้ เธอก็บ่นไปตลอดทางว่า เจ้าคุกกี้ทำพิษเราเสียแล้ว เห็บขึ้นบ้านไม่พอ ขึ้นรถอีก ตาย ตาย ตายแน่ๆ

ระหว่างทางผมลงไปทิ้งจดหมาย กลับมาที่รถเธอก็บอกว่า เห็บอะไรกระโดดได้ เห็นมันกระโดดเมื่อตะกี้.. .. หือ ผมงงๆ ขับไปสักพัก เธอก็บอกอีกว่า เห็นตัวหนึ่งบินได้….วุ้ย..เห็บที่ไหนบินได้ผมนึกในใจ…

ผมชักเอะใจว่าไม่ใช่เห็บแล้วหละ… เมื่อเธอลงรถไปทำภารกิจ ผมก็ลงมือเปิดเบาะโน่น ดูนี่ ตรวจสอบว่า น่าจะมีผลไม้ที่เรามักซื้อกลับบ้านหลงตกหล่นในรถแล้วเกิดเน่า จนมีแมลงเกิดขึ้น ซึ่งเคยเกิดขึ้น แต่ก็นึกในใจว่า หากผลไม้เน่าก็น่าจะได้กลิ่น แต่นี่ไม่ได้กลิ่นเลย..

พับเบาะรถด้านหลัง เปิดพรมปูรถ ผมเอามือล้วงไปใต้เบาะรถข้างซ้าย ไม่มีอะไร ล้วงไปข้างขวา เอ๊ะ..อะไร… ลากออกมา…..

นี่ไง นี่ไงพบแล้วเหตุของที่มาของ “เห็บบินได้” ของเธอ….

เป็นถุงเมล็ดถั่วแดงครับ ที่ซื้อมาจากเชียงรายสมัยเฮ 6 โน้น เราเอาออกจากรถไม่หมด แล้วมันขึ้นมอด… ตัวมอดคือแมลงชนิดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับเมล็ดพืชผัก แม้ข้าว ข้าวโพด และอื่นๆ…

เธอกลับมาจากภารกิจ ร้องจ๊ากกกก….
มิน่าหาถุงถั่วไม่เจอ..ตั้งแต่กลับมาจากเชียงรายแล้ว..

เธอบอก โล่งใจไปทีที่ไม่ใช่เห็บน้องหมามาขึ้นรถ…

ผมก็โล่งใจที่ไม่ได้เผชิญเรื่องใหญ่ที่จะไปพบไข่เห็บ 3000 ฟองในรถ

เฮ่อ…. เห็บบิน อิอิ..อิอิ..


บทที่ 11 การแสดงความเห็น

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 มีนาคม 2009 เวลา 16:03 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1804

การแสดงความเห็น ได้ย้ายบันทึกนี้ไปอยู่ที่ http://lanpanya.com/jogger1/archives/114#respond


เอ๊ะ…ของนายพล

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กุมภาพันธ 2009 เวลา 1:08 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5390

วันนี้พวกเราได้เข้าร่วมการสรุปบทเรียนการทำนาโดยใช้ปุ๋ยน้ำหมักของพี่น้องชาวไทบรูดงหลวง ทั้งนี้เป็นการพยายามแก้ปัญหาข้าวไม่พอกิน และการพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ประกอบการพึ่งตนเอง…

มันเกี่ยวอะไรกับชื่อบันทึก…หา. พลเป็นชื่อเกษตรกรไทบรู เป็นผู้ชายก็ใส่นายเข้าไป ก็เป็น นายพล ส่วน เอ๊ะนั้นคือเอ๊ะศาสตร์ ขอใช้ชื่อนี้ ก็คือการฉุกคิด การตั้งคำถาม การตั้งข้อสังเกต แล้วหาคำตอบต่อเรื่องนั้นๆ..

ในเวทีสรุปบทเรียนวันนี้(จะบันทึกทีหลัง) นายพลคนนี้เฝ้าเข้ามาใกล้ชิดผมแล้วในที่สุดก็มาเอ่ยปากว่า เมื่อเสร็จที่นี่แล้วอาจารย์ไปเยี่ยมผมที่บ้านสวนหน่อย อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ผมคิดว่าคนทำงานพัฒนานั้นต้องตอบรับเพราะนั่นหมายความว่าชาวบ้านเขามีอะไรสักอย่างจะคุยกับเรา จึงออกปากมาอย่างนั้น..


เมื่อเวทีสรุปบทเรียนเสร็จสิ้น เราก็เดินทางไปบ้านสวนของนายพล.. เมื่อเลี้ยวรถเข้าบ้านสวนทุกคนก็ร้อง จ๊ากกสสส์ เพราะเห็นหัวมันสำปะหลังที่วางอยู่บนรถสาลี่นั่นมันใหญ่โตอะไรปานนั้น..?? เราเข้าใจทันทีเลยว่านายพลชวนเรามาทำไม ทีมงานยิงคำถามจนนายพลตอบแทบไม่ทันว่าทำอย่างไรหัวมันถึงใหญ่เช่นนี้ พันธุ์อะไร อายุหัวมันเท่าไหร่ ทำกี่ไร่ ใส่ปุ๋ยอะไร….

นายพลบอกว่า ผมใช่ปุ๋ยชีวภาพครับ… หาาาาา ปุ๋ยชีวภาพ.. ความจริงเรามีความรู้มาก่อนแล้วว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพนั้นสามารถเพิ่มน้ำหนักและปริมาณหัวมันสำปะหลังได้มากถึงสองหรือสามเท่าจากปกติทั่วไป…

แล้วกระบวนการซักถามเป็นระบบก็ไหลหลั่งมาสรุปได้ว่า

· นายพลมีอาชีพเหมือนกับชาวบ้านทั่วไปคือปลูกข้าวเอาไว้กินแล้วก็ปลูกมันเอาไว้ขาย ภรรยาเป็นคนอำนาจเจริญ มีลูกสี่คน ที่นายังไม่ได้รับการแบ่งแยกมาจากพ่อแม่ แม้ว่านายพลจะมีอายุถึง 53 ปีแล้วก็ตาม


· วันหนึ่งไปกู้มัน(กู้มันคือเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง) สังเกตเห็นว่ามันต้นไหนที่มีลักษณะใหญ่โต หัวใหญ่โต เมื่อขุดดินลงไปจะพบร่องรอยของการเน่า สลายของหัวมันเดิมที่ตกค้างอยู่ นายพลคิดว่าน่าจะเป็นเพราะหัวมันเน่าสลายนี้เองที่กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้หัวมันใหม่เจริญเติบโตดีมากกว่าต้นมันอื่นๆที่ไม่มี

· จากข้อสังเกตนั้นจึงลองเอามันสำปะหลังที่เหลือๆอยู่หลังจากการเก็บขายเอามาหมักกับกากน้ำตาล โดยหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ หมักไว้ 1-3 เดือนก็คั้นเอาน้ำไปเก็บไว้..ในภาชนะใหม่เช่นถัง (ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดทั้งหมด)

· แล้วเอาไปผสมกับน้ำเอาไปราดลงโคนต้นมันสำปะหลัง และพ่นลงทางใบมันสำปะหลัง ทำจนมันสำปะหลัวมีอายุประมาณ 4 เดือน

· เมื่อได้อายุ 10-12 เดือน เก็บก็จะได้มันที่มีราก หรือหัวที่ใหญ่โตเช่นนั้น เฉลี่ยที่ใหญ่ที่สุดประมาณ ต้นละ 16 กิโลกรัม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 8-10 ตัน

· ทำมาสองปีแล้วแบบเงียบๆ เพื่อทดลองดู เมื่อได้ผลก็อยากเผยแพร่ให้เพื่อนเกษตรกรเอาไปใช้ แต่ยังไม่มีใครมาสอบถาม

· เมื่อปีที่แล้วนายพลลองเอาน้ำหมักชีวภาพนี้ไปใส่นาปี พบว่าได้ผลดีมาก ต้นข้าวใหญ่ ออกรวงดี ข้าวมีน้ำหนักและได้ปริมาณมากขึ้น…

· วันนี้นายพลสรุปแล้วว่า เขามั่นใจคุณภาพน้ำหมักชีวภาพสูตรของเขาว่าใช้ได้ผลจริง จึงต้องการขยายการผลิตน้ำหมัก และต้องการเอาไปใช้กับนาข้าวเป็นหลัก เพราะต้องการเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และต้องการเพิ่มผลผลิตข้าว และลดต้นทุนการผลิต…


· การใช้ปุ๋ยของนายพลมิใช่เฉพาะน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น เขามีวัว 5 ตัว ก็ได้ใช้มูลวัวทำปุ๋ย และที่ช่วยได้มากอีกคือ ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ที่มีในสวนนี้ เก็บรวบรวมมาใส่ในหลุมดังภาพเมื่อมากพอก็เอามูลวัวใส่ เอากากน้ำตาลใส่ลงไปคลุกให้เข้ากันดี รดน้ำให้เปียกแล้วเอาเศษผ้ามาคลุมปิดให้มิดชิด…. ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนขึ้นไปก็เอาไปใช้รองพื้นก่อนปลูกมันสำปะหลัง และช่วงทำนาก็เอาไปใส่นาด้วย

· ผลที่ได้ ดินดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้นจึงพอใจมากและจะเพิ่มการผลิตปุ๋ยหมักให้มากขึ้น

แม้ทั้งโลกนี้จะยอมรับกันว่าก้าวหน้าจากยุคดิจิตอลเข้าสู่ยุคนาโน แต่ก็เป็นโลกทุนที่ก้าวไปอย่างสุ่มเสี่ยง

แล้ววันหนึ่งเกษตรกรก็หันหลังให้กับปุ๋ยเคมีและสารเคมี มาใช้ความรู้พื้นฐานเดิมๆที่พัฒนาขึ้นมาในสภาพใหม่คือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก นายพล วงษ์กะโซ่ คืออีกตัวอย่างที่ชาวบ้านต่อสู่กับการอยู่รอดในสังคมด้วยการพึ่งตนเอง ยึดความพอเพียง และความเป็นคนที่มีเอ๊ะศาสตร์ ช่างสังเกต ทดลองทำ และดัดแปลงตามสภาพบนฐานเงื่อนไขของตนเอง

แล้วนายพลก็มีกำลังใจเพิ่มทวีคูณเมื่อ สิ่งที่เขาใช้วันเวลาเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้นปรากฏเป็นจริงขึ้นมา…

นายพล..คนดงหลวง


Empowerment ในโครงการพัฒนาชุมชน

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 เวลา 23:48 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 3361

เมื่อวันอาทิตย์ปลายเดือนที่แล้ว ที่ผมไม่ได้มาร่วมงานชาว blog ในกรุงเทพฯตามคำชวนของป้าจุ๋ม เพราะผมต้องเป็นคนขับรถให้คนข้างกายตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปร่วมสัมมนาเรื่อง Local Communities: the Forces of Global Change ที่โรงแรมวีวัน นครราชสีมา เนื่องในงานเกษียณอายุราชการของ ดร.ปรีชา อุยตระกูล ผอ.ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

เป็นการสัมมนาเล็กๆที่จัดเฉพาะคนวงในของ ดร.ปรีชาเท่านั้น ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจท้องถิ่น ปัญญาชนท้องถิ่น ต่างสาขาอาชีพ เพียง 25 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้มี ดร.ชัยอนันท์ สมุทรวาณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มาร่วมด้วย และมีโปรเฟสเซอร์ 3 ท่านจากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย คือ Dr. Paul Battersby, Dr.Kett Kennedy และ Dr.Douglas Hunt ทั้งสามท่านเป็นอาจารย์สอนของดร.ปรีชา สมัยที่ท่านเรียนอยู่ที่นั่น

เป็นการสัมมนาที่น่าสนใจมากครั้งหนึ่งที่ผมได้เข้าร่วม เก็บความคิดมาต่อยอดหลายประการ หลายเรื่องก็ตอกย้ำประสบการณ์แนวคิดของผมเองจากการทำงานชุมชนมานาน บางเรื่องก็เป็นเรื่องพอรู้คร่าวๆไม่ลึกซึ้ง บางเรื่องก็ได้รับข้อมูลที่ลึกซึ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า ชุมชนหรือท้องถิ่นนี่น่ะสามารถเป็นพลังที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนโลกได้..

สาระที่สำคัญคือ:

ความล้มเหลวของระบบทุนนิยมโลก: ปรากฏการณ์ต้มยำกุ้งมาจนถึงปรากฏการณ์แฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกานั้นตอกย้ำให้นักการเงินต้องทบทวนองค์ความรู้และการพัฒนาระบบธุรกิจทั้งหมดใหม่ แต่ระบบโลกาภิวัฒน์ก็ยังขับเคลื่อนไปแต่จะปรับตัวอย่างไรนั้นเราต้องติดตามอย่างเท่าทัน

ไม่ปฏิเสธระบบโลกาภิวัฒน์แต่ทำอย่างไรที่จะไม่เป็นเบี้ยให้เขาดึงดูดทรัพยากรไปแต่ตรงข้ามเราจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรต่อท้องถิ่น ในกรณีนี้พูดกันมากถึงเรื่อง พ่อค้ารายย่อยในท้องถิ่นกับ ห้างสรรพสินค้ารายยักษ์ใหญ่หลายยี่ห้อ ที่เราดูจะไม่สามารถต่อต้านเขาได้เพราะเงื่อนไขที่เราไปผูกไว้กับ ระบบการค้าโลกเสียแล้ว

ทุกคนยืนยันความมีอัตลักษณ์เอกลักษณ์ของระบบท้องถิ่น โลกได้หันกลับมาบริโภคเรื่องราวและความเป็นท้องถิ่นมากขึ้นและเป็นกลไกที่สำคัญของการไหลบ่าของการท่องเที่ยวที่ทำเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่เราจะเท่าทันและเป็นตัวของตัวเองอย่างไร เราจะปรับตัวให้ก่อเกิดประโยชน์ได้อย่างไร เช่น กรณี Homestay ท่านอาจารย์ชัยอนันท์ยกกรณีเมืองหลวงพระบางที่ท่านไปแนะนำไว้ตั้งแต่หลังปฏิวัติสำเร็จ แต่รัฐมนตรีของเขาสมัยนั้นไม่เข้าใจ ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นแบบเมืองที่ทันสมัยที่เมืองใหญ่ทั่วไปทำกัน ท่านอาจารย์ยกประโยคที่คุยกับท่านรัฐมนตรีว่า …ท่านปฏิวัติสำเร็จแล้วจะพัฒนาเมืองหลวงพระบางให้เจริญก้าวหน้าแล้วให้ประชาชนลาวกลายมาเป็นเพียงพนักงานตัวเล็กๆในโรงแรมใหญ่ๆเท่านั้นหรือ…ทำไมไม่คิดพัฒนาความเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆของตัวเองเล่า……ต่อมาเขาก็ย้อนกลับไปใช้แนวทางที่ได้เสนอไว้ จนได้รับเป็นมรดกโลกในปัจจุบัน

สาระที่ถูกใจผมและตรงกับประสบการณ์ของผมมากก็คือ ท่านอาจารย์ชัยอนันท์ทบทวนคำพูดของ Dr. Hunt ที่กล่าว่าเมื่อหลายสิบปีที่ได้พบกับ ดร.ชัยอนันท์ นั้น ได้ถกกันถึงแนวคิดของชัยอนันท์ที่ว่าต้องยกระดับท้องถิ่นโดยให้คำว่า Capacity Building ซึ่ง Dr. Hunt ได้นำแนวคิดนั้นไปขยายต่อและนำไปใช้ปฏิบัติจริงๆ… จนเกิดการส่งนักศึกษาปริญญาโทและเอกมาศึกษาท้องถิ่นของสังคมไทยและแลกเปลี่ยนความรู้กันมาตลอด… อ.ชัยอนันท์เล่าความเป็นมาของคำนี้ว่า สมัยก่อนนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ออกชนบท จมปลักอยู่กับวิชาการในมหาวิทยาลัยและมุ่งที่จะเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่ท่านเห็นตรงข้ามและออกตระเวนท้องถิ่น และใช้ศักยภาพของท่านเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นมากมาย และท่านเป็นคนแรกๆที่กล่าวว่าต้องกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น….

สาระตรงนี้ก็คือการที่ผู้อยู่ในสถานะที่พร้อมกว่าสมควรจะต้องไปยกระดับความรู้ต่างๆในท้องถิ่นให้เท่าทันกับสังคมใหญ่และทั้งโลก…..จะด้วยวิธีไหน อย่างไรก็แล้วแต่เงื่อนไข ในระดับชุมชนก็เช่นกัน การรู้เท่าทันก็คือการสร้างคนให้มีความเชื่อมั่น เมื่อมีความเชื่อมั่นก็กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง ด้วยกลุ่ม ด้วยชุมชน มิใช่ถูกสร้างค่านิยมอย่างไม่รู้ตัวให้เป็นผู้บริโภค และนั่นก็คือเหยื่อของระบบโลกาภิวัฒน์……

อภิปราย:

ประเด็นนี้มันแทงใจผมจริงๆ เราทำงานชุมชนกันมานาน และก็พูดเรื่องนี้มานานเช่นกัน แต่เมื่อลงมือทำกันจริงๆ เราจมลงไปสู่ปัญหารายวันที่เผชิญหน้ากับชาวบ้านที่มีสารพัดรอบตัวรอบบ้าน และที่สำคัญระบบโครงการได้วางงานไว้หมดสิ้นแล้วที่กิจกรรมต่างๆโดยมิได้เงยหัวขึ้นมาดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหญ่ และสังคมโลกแล้วหยิบเอาประเด็นเหล่านั้นไปเป็นหัวข้อทำ Capacity Building(CB) ให้แก่ผู้นำ เยาวชน สตรี และคนในชุมชนโดยรวม เราหยิบมาบ้างเหมือนกันแต่เบาบางมาก และเป็นชิ้นๆที่ไม่ปะติดปะต่อกัน และที่สำคัญไม่ต่อเนื่อง เราเคยจัดค่ายวิเคราะห์ชุมชน วิเคราะห์สังคมกัน 2 วัน 3 วัน แล้วก็ชื่นชมที่มีผู้นำหลายคนตื่นตัวขึ้นมา ที่เรียกหูตาสว่าง แต่เมื่อจบสิ้นก็จบ กลับกลายเป็นการใช้เวลาทั้งหมดไปกับกิจกรรมที่สร้างขึ้นมา แล้วเรื่องของภาพรวมก็จางหายไป

ผมทราบดีว่าชาวบ้านที่เกิดสำนึกในระหว่างทำค่ายวิเคราะห์ชุมชนนั้น เราดีใจ แต่สำนึกเกิดได้ก็หายไปได้ เมื่อเขากลับสู่ครอบครัวที่มีปัญหามากมายรออยู่…. เมื่อความไม่ต่อเนื่องใน CB ความเชื่อมั่นก็คลายตัว หรือสิ้นสุดลงได้ ความต่อเนื่องจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ

แม้ว่าเราอาจจะมีระบบเครือข่าย และมีการประชุมกันเป็นประจำ แต่สาระส่วนใหญ่จะลงไปที่กิจกรรมย่อย บางกิจกรรมทำได้ดีบ้างแล้ว เช่นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี แต่การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างถึงรากถึงโคนนั้นยังมีน้อยเกินไป การหยิบผลเสียและสร้างการเรียนรู้ที่สำคัญๆให้เกิดขึ้นนั้นยังน้อย การขยายตัวของกิจกรรมนี้จึงยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควรจะเป็น

สิ่งที่ต้องการเสนอ:

ทบทวนกิจกรรมการสร้าง CB ในแง่การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสังคม ของโลกทั้งเรื่องใหญ่ไกลตัวแต่กระทบชุมชนกับเรื่องใกล้ตัว

ที่สำคัญโครงการควรจะพิจารณาสร้างกิจกรรมเฉพาะเรื่อง CB ขึ้นมาอย่างจริงจังในการเรียนรู้ของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากใกล้ตัวไปสู่สิ่งไกลตัว จากสิ่งที่จับต้องได้จนถึงสิ่งที่เป็นระบบคิด และต้องทำอย่างต่อเนื่อง

เช่นทำกิจกรรมรายเดือนเป็นเวทีเรียนรู้ร่วมกัน อาจจะเรียกเวทีเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง สังคมและโลก หรือจะเรียกมหาวิทยาลัยชีวิตชุมชน ให้ผู้นำชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนซึ่งกันและกัน แล้วมีพี่เลี้ยงคอยป้อนข้อมูลต่างๆเติมให้ครบถ้วน กิจกรรมเหล่านี้อาจจะคู่ขนานไปกับกิจกรรมย่อยที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ทั้งนี้เพื่อขยายการรับรู้และการเกี่ยวข้องกันในสรรพสิ่งต่างๆที่มีในชุมชนกับสังคมภายนอกและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

การทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยตอกย้ำความรู้เท่าทัน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างสำนึกร่วมกัน และที่สำคัญอาจารย์ชัยอนันท์กล่าวย้ำว่า การสร้างให้คนรู้เท่าทันนี่คือการสร้าง Empowerment ซึ่งเป็นพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากตัวของเขาเอง เพื่อชุมชนของเขาเอง และสังคมโดยรวม นั่นเอง..


งานด่วน…

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2008 เวลา 22:36 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1646

ช่วงนี้ผมรู้สึกหนักอึ้งกับการการเขียนรายงานพิเศษเรื่อง 9 ปีผลผลิตโครงการ คฟป. ที่เจ้านายสั่งให้ผมทำ(คนเดียว) ขณะที่รับปากความรู้สึกข้างในก็ร้อง อี๊…. เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมานั่งสรุปงานที่ทำมาแล้วตั้ง 8 ปี 9 ปี เนื้อหาสาระมันมากมาย.. แต่ก็ต้องทำ มิใช่เพราะว่านายสั่ง นายก็เป็นน้องเรานั่นแหละ เป็นถึงเบอร์สองของ ส.ป.ก. ที่ท่านอัยการชาวเกาะยืนเคียงข้างแล้วถล่มนายทุนเสียยับคามือมานั่นแหละ

ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอก กลับตรงข้ามชอบ..เพราะการอ่านเอกสารเป็นตั้งๆแล้วมาสรุปนั้น เท่ากับเราทบทวนสาระทั้งหมดของโครงการทีเดียว เราก็จะรู้มากรู้กว้างครอบคลุมมากที่สุด นี่คือประโยชน์ของการทำงานชิ้นนี้ แต่เซ็งเพราะ การทำงานแบบนี้ต้องมีสมาธิมากๆ แต่บรรยากาศมันหลุดอยู่เรื่อยๆ เลยเซ็ง..

เมื่อวันก่อน เสียงเบอร์สอง ส.ป.ก.ทวงถามมาว่า …พี่บู๊ด..งานเสร็จหรือยังล่ะ..อิอิ ผมสะดุ้งโหยง..ยิ้มแหยๆ แล้วตอบไปว่า ยังไม่เสร็จครับ จวนแล้วครับขอเวลาอีกสักหน่อยเพื่อความสมบูรณ์… ผมว่าไปทั้งที่ขยับไปได้นิดเดียว…(บาป) โชคดีนะเนี่ยะที่เบอร์สองล้มหมอนนอนเสื่อในโรงพยาบาลเสียหลายวัน..

มาหามรุ่งหามค่ำ หมู หมา กา ไก่ ไม่ดูไม่แลมันหละ ลุยงานอย่างเดียว…แล้วงานก็สำเร็จเหลือการตรวจสอบและเอารูปลงไปใส่เท่านั้น แล้วก็ส่งให้เพื่อนร่วมงานช่วยกันดูอีกรอบหนึ่ง ก็เป็นอันสมบูรณ์ ดงหลวงดงหลางไม่ได้ไปดูไปแลเลย ปล่อยให้น้องนุ่งลุยไปเท่านั้น เธอทั้งหลายก็ดีใจหาย..เฮ่อ มีทีมงานดีดีก็สบายใจไปแปดอย่าง (เอ ทำไมต้องแปดอย่างก็ไม่รู้นะ…)

เลยถือโอกาสที่มีเวลาแว๊ป…เอาสาระบางส่วนมาเผยแพร่ใน ลานฅนฟื้นฟูแห่งนี้ นำร่องให้เพื่อนๆ น้องๆในโครงการได้อุ่นใจและคาดหวังว่าจะเอาอย่าง ลองขีดๆเขียนๆมาลงบ้างนะ (เฮ่อ บางทีผมว่า เข็นครกขึ้นภูเขาง่ายกว่าอีก อิอิ อิอิ..)

——————————————————————-

ความเป็นมา

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) โดยความช่วยเหลือด้านวิชาการจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น(ไจก้า) ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสานในเขตปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ศึกษาเผชิญกับปัญหาต่อไปนี้

· ขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภค

· ความอุดมสมบูรณ์ดินต่ำและบางแห่งมีการพังทลายสูง

· พื้นที่ปฏิรูปที่ดินที่ติดกับเขตอนุรักษ์ล่อแหลมต่อการแผ้วถางทำพื้นที่เกษตร

· รายได้ส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตร(ค่าจ้างแรงงาน) ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะทดถอย ทำให้ครัวเรือนเกษ๖รกรขาดรายได้

ด้วยเหตุนี้ ส.ป.ก. จึงจัดทำโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วยการทำการเกษตรผสมผสาน โดยเลือกพื้นที่ปฏิรูปที่ดินซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอต่างๆใน 4 จังหวัดรวมพื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่

การดำเนินงานโครงการ

· การเตรียมความพร้อมเกษตรกรเกี่ยวกับความเข้าใจโครงการ: ส.ป.ก.ได้เตรียมความพร้อมเกษตรกรใน 4 จังหวัด โดยชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ ผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ มีเกษตรกรมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการขอรับการสนับสนุนสระน้ำประจำไร่นา ความจุ 1,260 ลบ.ม. รวมทั้งสำรวจความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระชุมชน ถนนลูกรังสายหลัก สายซอย และถนนเข้าแปลงเกษตรกรรมด้วย

· เตรียมความพร้อมด้านแนวคิดแก่เกษตรกร: พื้นที่นำร่องที่จังหวัดมหาสารคามได้จัดทำการเตรียมความพร้อมเกษตรกรด้านแนวคิดโดยการ จัดศึกษาดูงาน เรียนรู้ประสบการณ์ของเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกร(ศูนย์อินแปง) การทำเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม วนเกษตร กิจกรรมธุรกิจชุมชน ในพื้นที่ต่างๆ มีความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิหมู่บ้าน ได้เข้าร่วมในกิจกรรมศึกษาชุมชนแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม จัดทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งใช้ผลวิเคราะห์จากการศึกษามากำหนดแนวทางการพัฒนาโดยเฉพาะเศรษฐกิจในครัวเรือน

· กรอบแนวคิดหลักในการพัฒนา: กรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาคือ ความยั่งยืน รูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม และ การมีส่วนร่วมของเกษตรกรผ่านกิจกรรมหลัก 5 ด้านคือ งานพัฒนาองค์กรเกษตรกร และเครือข่าย งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร งานพัฒนาการเกษตร งานฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ป่าชุมชน และอนุรักษ์ดินและน้ำ และงานตลาดชุมชน

· เป้าหมายโครงการ: จากสภาพปัญหาพื้นฐานของพื้นที่ที่มีความด้อยต่างดังกล่าว ส.ป.ก. เข้ามาจัดทำโครงการด้วย 5 กิจกรรมหลัก ด้วยกรอบหลักการมีส่วนร่วมของเกษตรกร การจัดรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมเพื่อให้ผลงานเป็นความยั่งยืนนั้น สาระสำคัญก็เพื่อ สร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป้าหมายให้มีคุณภาพดีขึ้น และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายให้ดีขึ้นนั่นเอง



Main: 0.51589608192444 sec
Sidebar: 0.19876194000244 sec