อัยการกับยุติธรรมทางเลือก๒

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2627

ผมตั้งใจว่าจะขึ้นบันทึกต่อไปในทันที แต่ก็ต้องมาเตรียมตัวทำ presentation เพื่อรายงานผลปฏิบัติราชการของสำนักงานคดีแรงงานเขต ๘ เสนอต่อ อัยการสูงสุดและคณะผู้ตรวจราชการในวันที่ ๒๖-๒๘ พ.ค.นี้ ทำเสร็จแล้วก็เลยมาขึ้นบันทึกนี้แหละครับ

คราวที่แล้วเล่าให้ฟังถึงแนวคิดของอัยการในการที่จะพัฒนาระบบการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งเป็นการคิดในระบบยุติธรรมทางเลือกในการชะลอการฟ้อง เพื่อไม่ให้คดีขึ้นสู่ศาลมากเป็นที่รกโรงรกศาล แต่ว่าก็ว่าเหอะ อัยการก็ถูกกระแนะกระแหนว่าอยากได้อำนาจ(อีกแล้ว) เหมือนกับตอนที่อัยการพยายามเสนอแนวคิดในการสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินคดี โดยเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนแบบอัยการสากล ก็ถูกครหาด้วยเรื่องอยากได้อำนาจนี่แหละ หันซ้ายก็ถูกตำรวจอัด หันขวาก็เจอศาลอัด อิอิ

ความจริงอัยการก็มีนักวิชาการมากพอสมควร แต่บทความที่เขียนมักไม่ค่อยถูกเผยแพร่ไปสู่แวดวงภายนอก จะมีบ้างก็มีจำนวนไม่มาก ผมอ่านบทความของนักวิชาการอัยการ ไม่ว่าจะเป็นท่านอนุชาติ คงมาลัย รองอัยการสูงสุด ท่านกุลพล พลวัน อัยการอาวุโส หรือของท่านปลัดกระทรวงยุติธรรมสมัยที่ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นอัยการ ท่านวิชช์ จีระแพทย์ และอีกหลายๆท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการคิดเพื่อชาวบ้าน แต่มักจะเขียนแล้วอ่านกันเอง ผู้คนจึงไม่ค่อยทราบความคิดของอัยการ ผมจึงพยายามนำเสนอแนวคิดของท่านเหล่านี้มาสู่บันทึกเพื่อให้ท่านที่เข้ามาอ่านได้รับประโยชน์และทราบแนวคิดดังกล่าว

กระบวนการยุติธรรมทางเลือก หาใช่มีแต่เรื่องชะลอการฟ้องเท่านั้นไม่ แต่ยังมีเรื่องของการเปรียบเทียบหรือ การสั่งไม่ฟ้องกรณี “ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหรือจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงแห่งชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้ทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาก่อน..” ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๔๗ ข้อ ๗๘

เพราะเราเห็นกันว่ากระบวนการยุติธรรมทางเลือกนั้นจะเกิดผลดีหลายประการ เช่น

-ทำให้คดีที่ศาลต้องพิจารณาพิพากษาลดปริมาณลง ลดความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมชั้นศาล

-ลดค่าใช้จ่ายและการเสียเวลาขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ ผู้เสียหาย พยาน

-ทำให้ผู้กระทำผิดคดีที่ไม่ร้ายแรงต้องถูกศาลพิพากษาลงโทษอันทำให้เสียประวัติมีมลทินติดตัวไปจนตายและเกิดปัญหาระยะยาวในการปรับตัวเข้ากับสังคมภายหลังการพ้นโทษ

-สร้างความสมานฉันท์ในสังคมมากยิ่งขึ้นเพราะผู้กระทำผิดและผู้เสียหายรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องอาทิ พ่อ-แม่ บุตร ภรรยา ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยสันติวิธีและพึงพอใจสามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุขเป็นประโยชน์แก่การปกครองประเทศ (กุลพล พลวัน : อัยการกับกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในประเทศไทย)

จึงทำให้องค์กรอัยการอยากจะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ว่าไปแล้ว วิสัยทัศน์ของอัยการไทยที่มุ่งมั่นจะพัฒนาให้ก้าวเทียมอัยการสากลนั้น เรามีนักวิชาการที่พยายามศึกษาเปรียบเทียบกับองค์กรอัยการในนานาประเทศเพื่อแก้ไขปรับปรุงองค์กรของเราให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ผมขอนำผลงานของท่าน ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์,ชาติ ชัยเดชสุริยะ และณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ ที่รวบรวมไว้ในหนังสือ “ประมวลจริยธรรมและมาตรฐานการปฏิบัติงานของอัยการในนานาประเทศ” มาเล่าสู่กันฟังย่อๆดังนี้ครับ

สหประชาชาติได้ประกาศ “แนวทางว่าด้วยบทบาทของอัยการ”โดยให้ตัวอย่างกระบวนการยุติธรรมทางเลือกโดยอัยการเช่น

-การยุติคดีโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข

-การใช้มาตรการอื่นแทนการดำเนินคดีอาญาโดยความเคารพต่อสิทธิของผู้เสียหายและผู้ต้องหาตามกฎหมาย

-คดีเยาวชนต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงธรรมชาติและความร้ายแรงของความคิดการคุ้มครองสังคม บุคลิกภาพและประวัติของเยาวชนนั้น ซึ่งอัยการอาจใช้ทางเลือกอื่นตามที่กฎหมายกำหนด (ของอัยการไทยเราใช้มาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีศาลเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.๒๕๓๔ โดยผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นผู้เสนอใช้มาตรการนี้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งจะมีกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัว มีพ่อแม่เด็ก นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานสอบสวน ผู้อำนวยการสถานพินิจ ผู้นำชุมชน พนักงานอัยการ พิจารณาถึงสิ่งที่เด็กกระทำ และพิจารณาว่าเขาสำนึกในการกระทำความผิดหรือไม่ และเขาคิดว่าเขาจะแก้ปัญหาของเขาอย่างไร เช่น ในขณะที่ผมเป็นอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัว ผมให้ความสนใจเรื่องนี้มากมักเข้าประชุมด้วยตนเอง พูดคุยกับเด็กและพ่อแม่เด็ก ให้โอกาสเด็กในการเสนอความคิดในการแก้ไขพฤติกรรมของตน เช่น ขับรถประมาท ขับรถด้วยความเร็วสูง หากเด็กเสนอขอไปทำความสะอาดวัดมักจะไม่ผ่านการพิจารณา แต่หากเสนอไปทำงานร่วมกับมูลนิธิที่ช่วยเหลือชาวบ้านกรณีมีเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับอุบัติเหตุ เพื่อให้เขาเห็นความเดือดร้อนวุ่นวายของผู้คนในสังคม ให้เห็นคนเป็นพ่อแม่ทุกข์ใจอย่างไรเมื่อลูกหลานประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเมื่อถามไปทางสถานพินิจฯก็ได้รับคำตอบว่าเด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งกรณีเหล่านี้หากพนักงานอัยการเห็นชอบก็จะสั่งไม่ฟ้อง คดีก็ถึงที่สุดไป ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลครับ)

นี่เพิ่งเริ่มของสหประชาชาติผมก็เล่าเสียยาวเฟื้อยแล้ว เรามาเล่าต่อกันตอนหน้าดีไหมครับ….

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : อัยการกับยุติธรรมทางเลือก๑

Next : นำเสนอผลการปฏิบัติราชการ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 เวลา 23:08

    มาลงชื่อว่าอ่านสองตอนจบแล้ว โดยตอนแรกอ่านละเอียด ตอนนี้อ่านผ่านๆ…

    วันก่อนเพื่อนที่เคยเรียนช่างก่อสร้างด้วยกันมาเยี่ยม เค้าปรารภว่า เมื่อก่อนพวกเรารู้แต่เรื่องก่อสร้าง รู้จักแต่อุเทนถวาย อันที่จริงเรื่องราวและอาชีพในโลกนี้มีมากมาย… โลกแห่งอัยการก็นับว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่อาตมาเกือบจะไม่รู้เรื่องเลย เพราะชีวิตนี้ไม่เคยเข้าไปภายในศาล จะมีบ้างก็แค่เพียงเดินผ่านสนามด้านนอกเป็นบางครั้งเท่านั้น…

    สรุปว่า ท่านอัยการเล่ามาน่าสนใจสำหรับอาตมา (และคนอื่นๆ ที่สนใจ)

    เจริญพร

  • #2 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 เวลา 6:42

    นมัสการหลวงพี่ครับ
    อัยการควรทำตัวให้เป็นที่พึ่งของประชาชนในความเป็นธรรมไม่น้อยกว่าศาล ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นที่พึ่งต้นทาง(ตำรวจ) หรือตรงกลางทาง(อัยการ)หรือเป็นที่พึ่งสุดท้ายแบบศาล เพราะหากตุลาการเกิดไม่เป็นธรรมขึ้นมาจริงๆ ชาวบ้านจะไปหาความเป็นธรรมจากที่ไหนอีก ที่สำคัญคือคนในกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความเป็นธรรมแก่สังคมไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ให้สังคมมีความเชื่อถือ จบตรงไหนก็ตรงนั้นไม่ต้องไปแสวงหาความเป็นธรรมต่อ นั่นแหละจึงจะถือว่าได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้วครับ
    เมื่อวานเจ้าหน้าที่สถาบันพระปกเกล้าโทร.มาบอกเลื่อนการประชุม จาก ๒๘-๓๐ พ.ค. เลื่อนไป ๑๑-๑๓ มิ.ย.แล้วครับ หากมีโอกาสไปกราบนมัสการหลวงพี่ก็คงจะเป็นช่วงนั้นแหละครับ

  • #3 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 เวลา 11:34

    ป้าหวานขอเล่าเรื่องที่คล้ายกันเรื่องหนึ่งค่ะ  เป็นเรื่องจริง ที่ป้าหวานประสบมา

    มีน้องคนหนึ่ง เป็นหญิง อายุ ประมาณ 40 ปี เป็นโรคลมชักมาแต่เด็ก ไม่หายขาด จึงยังเป็นอยู่ในบางเวลา
    และ บางเวลาจะเป็นมึนงง  เหมือนเลื่อนลอย แต่โดยทั่วไปปกติดี ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกวัน  เรื่องมีอยู่ว่า
    เธอไปซื้อของที่ห้างที่มีสาขาทั่วประเทศ ห้างหนึ่ง  โดยไปคนเดียว ในตัวมีเงิน ประมาณ 2000 บาท ใส่
    สร้อยทองและตุ้มหูทอง  แต่เธอไม่ได้กลับบ้าน  จนเกือบ 5 โมงเย็น จึงได้โทร เข้าบ้านว่า อยู่ที่โรงพัก
    แล้วติดต่อมาหาป้าหวาน จึงต้องไปโรงพักแบบไม่เคยไป แล้วพบว่า เธอถูกขังอยู่ในห้องขัง  สอบถามได้ความว่า ถูกแจ้งข้อหาขโมยทรัพย์สินของห้าง  ซึ่งตัวเธอพยายามชี้แจงว่าไม่ได้ขโมย แต่ไม่รู้ และพยายามจะจ่ายเงินตั้งแต่อยู่ที่ห้างแล้ว แต่ทางห้างไม่ยอมรับ จะจับเธอส่งตำรวจอย่างเดียว  ของนั้นคือ กระเป๋าถือ และเสื้อ รวมมูลค่า ประมาณ ไม่เกิน 500 บาท ป้าหวานพบ ร้อยเวร  ร้อยเวรบอกว่า ผู้ต้องหาพูดไม่รู้เรื่อง เอานามสกุลของท่านไปเป็นนามสกุลของตัวเอง ป้าหวานจึงอธิบายว่า เธอไม่สมบูรณ์ และตกใจมาก ด้วยความเป็นห่วงชื่อเสียงวงศ์ตระกูลทำให้คิดสั้นๆว่าโกหกได้ตามประสาของเธอ และขอไกล่เกลี่ย จะเสียค่าปรับก็ยอม
    แต่ร้อยเวรบอกไม่ได้ ให้ติดต่อผู้แจ้งความ ผู้แจ้งความก็ไม่ชัดเจนว่าใคร เป็นตัวแทนบริษัท บอกไม่มีอำนาจ  สุดท้ายใกล้ค่ำ บอกว่าทำอะไรไม่ได้ เธอต้องนอนในห้องขังโรงพักคืนนั้น  เช้ามา ป้าหวานไปติดต่อ บอกว่าติดวันหยุดราชการ เธอต้องถูกส่งไปฝากขังที่เรือนจำ สรุปต้องไปหาหลักฐานมาก่อนว่าไม่สมบูรณ์  ขอใบรับรองแพทย์ แม่ของเธอแก่แล้ว จะเป็นอย่างไร ป้าหวานเขียนคำร้องชี้แจงพร้อมส่งเอกสารด้วยตัวเอง ร้อยเวรบอกให้ไปติดต่อศาลากลาง วิ่งไปมา สุดท้ายจึงให้ไปติดต่อท่านอัยการ ทั้งหมดนี้ กินเวลาหลายวัน เธอคนนั้นถูกฝากขังในเรือนจำ  สุดท้ายเอาแม่มา  ป้าหวานไปด้วยไปคุยกับท่านอัยการ ท่านเห็นใจ  สุดท้ายได้ปล่อยตัวออกมาค่ะ ของกลางก็เอาคืนไป รู้สึกว่าท่านไม่ได้ให้เสียค่าอะไรเลย ขอกราบขอบพระคุณท่านอีกครั้งค่ะ

  • #4 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:49

    สวัสดีครับป้าหวาน
    ขอบคุณที่มาช่วยเติมเต็ม
    ผมเองก็เคยสั่งกรณีแบบนี้แต่ผู้เสียหายเป็นชาวต่างชาติ แฟนเสียชีวิตจากสึนามิ แล้วเธอก็ป้ำๆเป๋อๆ ไปเดินห้างแล้วซื้อของแบบนี้แหละครับ สถานฑูตประสานงานมากับมีเพื่อนของผู้ต้องหามาประสานงาน มีใบรับรองแพทย์มาแสดง กับมีหลักฐานว่าเขาจะต้องเดินทางกลับต่างประเทศเพราะมีอาการเจ็บป่วยทางจิต ผมพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าเป็นจริงตามที่อ้าง ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ในที่สุดสถานฑูตและเพื่อนผู้ต้องหาทำหนังสือชมเชยถึงอัยการสูงสุดว่าสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมและไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว ทำให้ความรู้สึกต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เขาเคยได้ยินได้ฟังมา
    สิ่งที่ป้าหวานเขียนมานี้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่แสดงว่าอัยการยุคใหม่มีความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
    ขอบคุณอีกครั้งที่เข้าใจอัยการครับ

  • #5 Uggs Outlet Online ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 ตุลาคม 2014 เวลา 10:25

    Its like you read my mind! You seem to know so much about this, like you wrote the book in it or something. I think that you could do with some pics to drive the message home a bit, but other than that, this is wonderful blog. A great read. I will definitely be back.
    Cheap Ugg Slippers
    Coach Outlets
    Coach Premium Outlet
    Cheap Uggs Boots


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.54880118370056 sec
Sidebar: 0.2857608795166 sec