เฮฮาศาสตร์(ห้วยขาแข้ง)๕

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 17 ธันวาคม 2013 เวลา 18:08 ในหมวดหมู่ เฮสิบห้วยขาแข้ง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 69277

เราถึงแก่งลานนกยูงสุดชายแดนนครสวรรค์ จุดแรกที่เราไปคือเราจะเข้าห้องน้ำ ฮา…พอเข้าห้องน้ำเราก็เห็นนิทรรศการที่ทำแบบง่ายๆธรรมชาติใช้ไม่ไผ่เป็นโครง คือเรื่องราวของโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดูข้อมูลความสูญเสียแล้วสะท้อนใจเหลือเกิน ดูตัวอย่างครับ เนื้อไม้และความเพิ่มทุนรายปีของเนื้อไม้ เสียพื้นที่ ๑๑,๘๒๕ ไร่ คิดเป็นเงิน ๔๘๒,๗๕๖,๘๐๗ บาท/ปี ดินสูญเสีย ๑,๘๐๐ บาท/ไร่/ปี สูญเสีย ๒๑,๒๘๕,๐๐๐ บาท/ปี ฝนจะตกน้อยลง สูญเสีย ๖๓,๘๕๕,๐๐๐ บาท/ปี เป็นต้น(ยังมีความเสียหายมากกว่านี้) เมื่อรวมๆแต่ละด้านจะเสียหาย ๑,๗๘๕,๑๙๖,๙๒๗.๕๐ บาท/ปี

ดูนิทรรศการแล้ว ผมแว่บไปถ่ายรูปแก่งลานนกยูง ช่วงนี้พวกเราก็เตรียมตัวแยกย้ายไปขึ้นมออีหืด ได้เวลาล่ำลากัน แล้วผม อาจารย์ปอ ดร.ฝน ก็เดินทางกลับ มาส่ง ดร.ฝนที่คิวรถ บ.ข.ส. ระหว่างน้องฝนยังช่วยจัดการกับหัวไหล่ติดของผม ค่อยยังชั่วขณะเขียนบันทึกนี้แขนยกได้สูงกว่าเดิม คงดีขึ้นเรื่อยๆ ขอบใจนะน้อง อิอิ

ผมไปร่วมงานคราวนี้ ไปสูดออกซิเจนเต็มๆจากป่า มันสดชื่นเหลือเกิน ตื่นเช้าขึ้นมาอากาศเย็นสบายไม่ต้องเปิดแอร์ ได้ฟังเสียงธรรมชาติ ได้ดูพระอาทิตย์ขึ้น ได้ถ่ายรูปป่า ละมั่ง กวาง ธรรมชาติรอบๆข้าง ได้คลายความคิดถึงชาวเฮ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้รู้จักชาว ส.ป.ก. ชาวอุทยานแห่งชาติ เรามีความสุขเพราะเรารักในสิ่งเดียวกัน

พวกเรารักป่ารักธรรมชาติ เราไปเติมไฟแห่งการอนุรักษ์เมื่อไปคารวะอนุสาวรีย์คุณสืบ นาคะเสถียร ได้ไปดูบ้านพักที่คุณสืบเคยอยู่ก่อนลาจากโลกนี้ไป

ผมทำการบ้านให้ ส.ป.ก. จึงขอมองแบบคนสนใจการศึกษาและประสบการณ์ในการออกไปคลุกคลีบรรยายกฎหมายกับชาวบ้านว่า ถ้าเราจะให้เขาสนใจเรื่องอะไร คนที่ไปบอกไปพูดกับเขาต้องสนใจในเรื่องนั้น ถ้าเราจะให้คนรักป่ารู้จักคุณค่าของป่าต้องให้เขาได้เรียนรู้เรื่องป่าและธรรมชาติ

ครูจะต้องรักป่าก่อนจึงจะปลูกฝังความรักป่ารักธรรมชาติให้กับลูกศิษย์ตัวน้อยได้

ผมเชื่อว่าแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ป่าหรือแหล่งธรรมชาติ อาจจะเป็นป่าชายเลน ป่าเต็งรัง ฯลฯ สิ่งที่เห็นจากป่า ความสบายจากป่า การเปรียบเทียบความเย็นของป่ากับความร้อนของเมือง ให้เด็กๆได้รับรู้ ให้เขาได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่า
วิชาเหล่านี้ต้องปลูกฝังในความคิดของเด็กให้ได้เหมือนกับคนในวัยพวกเราซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกอยู่กับป่าเขาลำเนาไพรและได้เห็นความสบายระหว่างป่ากับในเมือง คนใต้อยู่กับธรรมชาติแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจหากรู้ว่าคนใต้มีวัฒนธรรมการทำสวน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ข้าราชการ พ่อค้า ฯลฯ เขาก็จะสร้างสวนของเขาสักสวนหนึ่ง สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ เพื่อใช้เวลาว่างเข้าสวนอยู่กับป่าอย่างมีความสุข

คงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งขาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่จะต้องเชื่อมการเรียนรู้เรื่องป่ากับกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่ ส.ป.ก.เป็นผู้บริหารจัดการที่ดินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับป่าเพราะพื้นที่ ส.ป.ก.มันจะเป็นป่าเสื่อมโทรม จะให้เกษตรกรใช้พื้นที่ให้เต็มศักยภาพอย่างไรโดยที่ไม่ต้องไปขยายพื้นที่เข้าไปในป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส.ป.ก.ก็ควรจะต้องไปสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมรู้สึกว่าเมื่อ ส.ป.ก.แจก ส.ป.ก.๔-๐๑ ให้กับชาวบ้านไปแล้ว เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.เหมือนจะหมดหน้าที่ ใครจะทำอะไรในพื้นที่ก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่แนะนำเชิงวิชาการให้ชาวบ้านหรือว่าเพราะเป็นหน้าที่ของเกษตร ผมไม่แน่ใจ หากไม่ใช่ก็ขออภัย

ผมเชื่อว่าคนเรามักคิดเข้าหาตัว อ้างความยากจนแล้วบุกป่าเข้าไปเรื่อยข้ออ้างก็คือที่ดินทำกินไม่พอ ผมเคยเห็นเกษตรกรที่ภูเก็ตเข่าที่สามไร่ ปลูกผักปลูกหญ้าวันๆหนึ่งแทบไม่มีเวลาพัก แถมยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ใครต่อใครแวะเวียนมาเรียนรู้ ปลูกถั่วพู ๒๐ กอ ทำรายได้ สี่หมื่นบาทด้วยเทคนิคส่วนตัว เอาเชือกฟางไปผูกยอดถั่วพูแล้วดึงให้ถั่วพูไต่กระจายจากกอเดิม ฝักถั่วพูก็ใหญ่ เราเอาวิชาเหล่านี้ไปให้เขาเรียนรู้ดีไหม วิชาปลูกพืชให้ได้เงินโดยไม่ต้องใช้พื้นที่มาก

นอกจากนี้ภาคการเมืองก็เอาใจประชาชนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งต่อไปเอาที่ดินให้ประชาชนและแอบแฝงเอาผลประโยชน์เอาพรรคพวกไปถือครองแทนก็มี นานเข้าป่าสมบูรณ์รอบข้างก็กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมให้เราต้องแก้ปัญหากันไม่จบสิ้น คนเลยไม่คิดอนุรักษ์เพราะอนุรักษ์แล้วไม่ได้เป็นของตัว บุกรุกถือครองนานๆเดี๋ยวก็ได้

ภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละแห่งล้วนเป็นของดี เช่นการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าปลูกพืชเป็นชั้นๆ พืชที่ใช้เนื้อไม้ พืชกินผล พืชกินยอด พืชกินหัว ผลไม้ ผัก แม้มีที่ดินไม่มากก็สามารถลดรายจ่ายสร้างรายได้ แม้เรื่องการเกษตรมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้วก็ตาม แต่ ส.ป.ก.ทำงานเชิงรุกได้ ผมยังชอบใจเมื่อเดินเข้าไปใน ส.ป.ก.เห็นมีการปลูกผักอยู่รอบๆ เพราะสมัยผมเป็นอัยการจังหวัดก็ให้ลุงยามแกปลูกผักสวนครับ ลูกน้องก็ได้กินผักราคาถูก ปลอดสารพิษ ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

สมัยผมรับราชการอยู่ที่ตะกั่วป่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์กับเจ้าหน้าที่ช่วยกันปกป้องปะการังเพราะถูกชาวบ้านกับพวกทำประมงที่ไม่รับผิดชอบใช้วิธีระเบิดปลา ทำให้ปะการังเสียหายเป็นจำนวนมาก อัยการก็บรรยายฟ้องเรื่องการระเบิดปลาไปตามฟอร์ม ศาลก็ลงโทษจำเลยปรับและรอการลงโทษบ้าง หัวหน้าอุทยานฯออกอุบายชวนศาล ชวนอัยการไปเที่ยว ดำน้ำดูปะการัง ให้ไปนอนที่อุทยานสามวันสองคืน วันแรกให้เราดำน้ำดูปลาสวยงาม ปะการังสวยงาม พออีกวันพาพวกเราไปดำดูปะการังที่หักทำลายจากแรงระเบิด พวกเรากลับไปด้วยความรู้สึกเสียดายปะการังแหล่งทำมาหากินของสัตว์ทะเล เวลามีคดีระเบิดปลาเราก็บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ปะการังซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการดำรงอยู่ ทำให้สัตว์ทะเลได้รับผลกระทบ กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเป็นแหล่งอาหารได้ใหม่ก็ต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนาน กระทบกับระบบนิเวศน์ในท้องทะเล ขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ศาลก็รับลูกลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ ทำให้การระเบิดปลาน้อยลง

ตอนผมเป็นอัยการจังหวัดภูเก็ต ช่วงนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ประสานงานกับอัยการสูงสุดจับมือกันเผยแพร่การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินฯผ่านงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาขน(สคช.) ผมทำแผ่นพับแนะนำเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหา ปรากฏว่าเข้าตากรรมการ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา(ชื่อสมัยนั้น)ให้งบประมาณสนับสนุนพิมพ์แจกทั่วประเทศ

หันมามองงาน ส.ป.ก.หากร่วมงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดทำโครงการร่วมกันในการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายของ ส.ป.ก. และแนะนำการใช้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่เห็นๆ ส.ป.ก.ได้อัยการเป็นพวก ได้งานของส.ป.ก.ผ่านอัยการช่วยไปบรรยายกฎหมายให้ ได้หลายต่อเห็นไหมครับ หรือในช่วงที่อัยการเขาอบรมกัน ประสานงานกับฝ่ายฝึกอบรมผ่านอัยการสูงสุดก็ได้ขอเอาเรื่อง ส.ป.ก.ไปเล่าสู่ให้อัยการรับทราบขอให้อัยการเป็นพวกช่วยกันปกป้องที่ดิน ส.ป.ก.ด้วยอีกทางหนึ่งยังได้เลยครับ เรียกว่าได้หลายต่อ หรือหากจะพาอัยการไปดูพื้นที่จริง เช่น พื้นที่ Buffer Zone ให้เห็นป่าของจริง ให้เห็นการทำแนวป้องกัน ให้ได้เห็นสัตว์ป่า ให้เขาเกิดความรู้สึกว่าทุกฝ่ายมีหน้าที่ช่วยกันปกป้องป่า ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น

ผมยังซึมซับความรู้สึกสบายจากป่าห้วยขาแข้ง อากาศของอ่างเก็บน้ำทับเสลา แก่งลานนกยูง รู้สึกเป็นสุขที่ได้เห็นสัตว์ป่าใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และรู้สึกขอบคุณสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่จัดกิจกรรมดีๆ ขอบคุณเจ้าหน้าทีอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง สักวันหนึ่งผมจะกลับไปเยี่ยมและจะเป็นอีกแรงที่จะช่วยต่อต้านการสร้างเขื่อนที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สรรพสัตว์และมนุษย์…ผมสัญญา.

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : เฮฮาศาสตร์(ห้วยขาแข้ง)๔

Next : จากปู่ถึงหลาน(๑๙) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

19132 ความคิดเห็น