บทเรียนง่ายๆของคนที่อยากเป็นพ่อ

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 เวลา 4:30 ในหมวดหมู่ ครอบครัว, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 33604

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของน้องรักของผม โกไข่ (จุมพล ทองตัน) จึงขอนำเรื่องราวที่เขาเขียนถึงป๋าเมื่อปีที่ผ่านมาเอามาให้อ่านกัน ซึ่งเป็นบทความที่จุมพลเขียนแสดงความรู้สึกที่เขามีต่อป๋าในวาระที่ป๋ามีอายุครบ ๘๐ ปี…

เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ผมอายุ 25 ปี จบชั้นม.ศ.5 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ตั้งใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าตัวเองความสามารถไม่ถึง (ฮา..)

ผมยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ดี…วันที่ผมรู้ผลว่าเอ็นฯไม่ติด ป๋าเข้าไปธุระที่กรุงเทพฯพอดี แล้วก็แวะมาหาผมกับจี้อ้อยที่แฟลตแถวเอกมัย ผมแจ้งข่าวนี้กับป๋าด้วยอารมณ์อันขมขื่น เพราะกลัวว่าป๋าจะดุเอาว่า ทำไมถึงทำไม่ได้

“ไม่พรือ…อย่าเสียใจ…จุมก็ลองคิดดูใหม่ว่า จริงๆแล้วชอบอะไร แล้วก็ไปหาที่เรียนใหม่” ป๋าพูดง่าย..สั้น..กระชับ แต่แฝงด้วยความเข้าใจลูกอย่างหมดสิ้น ผมงงปนดีใจเพราะคิดไม่ถึงว่า คนเป็นพ่อจะเข้าใจอารมณ์ของลูกได้ง่ายและรวดเร็วถึงเพียงนี้

บทเรียนที่หนึ่ง
เมื่อลูกเข้ามาสารภาพในความผิดพลาดบางอย่างของชีวิต คนเป็นพ่ออย่าไปซ้ำเติมลูก เพราะนั่นแสดงว่าเขากล้าที่จะพูดความจริงกับเราและพร้อมยอมรับผิด พ่อจึงควรหาวิธีพูดเพื่อถนอมความรู้สึกในเบื้องต้น แล้วค่อยหาแนวทางชี้แนะให้เขาเดินต่อไป เพราะชีวิตเป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา

หลังจบจาก ว.ค.จันทรเกษม สาขาวิชาดนตรีศึกษา เอกเปียโนโทขลุ่ย ด้วยปริญญาเกียรตินิยม (คุยสักนิด อิอิ..)ผมยังคงทำงานหาประสบการณ์เล่นดนตรีกลางคืนตามสถานบันเทิงต่างๆ โดยที่ป๋าไม่เคยชวนให้ผมรีบกลับมาช่วยงานทางบ้านเลย (ป๋าพูดเสมอว่าบุคคลควรอยู่ในสถานที่อันสมควรตามอาชีพ)

ครั้งหนึ่งป๋ามาประชุมที่โรงแรมเซ็นทรัลลาดพร้าว ในขณะที่เพื่อนๆของป๋า พาลูกตัวเองมาร่วมประชุมด้วยเพื่อให้เรียนรู้และเตรียมสืบต่อกิจการ แต่ป๋ากลับชวนเพื่อนๆ มานั่งดูผมบรรเลงเปียโนที่ล๊อบบี้บาร์ แล้วคุยกับเพื่อนๆว่านี่ลูกผมๆ โดยที่ไม่เคยเดือดร้อนใจต่ออนาคตของกิจการเหมือนเพื่อนๆคนอื่นเลย พ่อค้าคนหนึ่งที่มีกิจการเล็กๆอยู่ในจังหวัดพังงา กลับมีความสุขที่ได้มาเห็นลูกชายนั่งบรรเลงเปียโน ในโรงแรมระดับห้าดาวกลางกรุงเทพมหานคร

บทเรียนที่สอง
เมื่อลูกได้ทำสิ่งที่ลูกรัก คนเป็นพ่อต้องแสดงความภาคภูมิใจในตัวลูกให้ลูกและสังคมได้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาได้เดินต่อไป เพราะเส้นทางชีวิตของคนเรา มีเรื่องที่ต้องการกำลังใจอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนในครอบครัว

ในสังคมของการเล่นดนตรีกลางคืน มีทั้งสุราและนารี และเป็นอาชีพเต้นกินรำกินที่ใครๆในยุคนั้นต่างไม่ให้เกียรติเท่าที่ควร ป๋ากลับบอกให้ผมได้ทำสิ่งที่ผมรักต่อไปเพื่อหาความเชี่ยวชาญ เพราะป๋าเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติตัวของป๋า จะเป็นตัวอย่างไม่ให้ผมออกนอกลู่นอกทางไปได้ แม้เราจะอยู่ห่างกันตั้งแปดร้อยกว่ากิโล

ผมไม่เคยกินเหล้าและดูดบุหรี่เลย (แต่ถ้าอากาศดี..อาจดื่มเบียร์เล็กน้อย แหะๆ) เพราะตลอดชีวิตของป๋า…ป๋าไม่เคยทำ
ผมไม่อยากมีกิ๊กเลย ทั้งๆที่ในแวดวงอาชีพของผมมีเรื่องของผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ก็เพราะป๋าไม่เคยมีกิ๊ก..ป๋ามีแต่กั๊ก คือกั๊กความรักไว้ให้มะเพียงคนเดียว (ฮา..) และผมเห็นแล้วว่า “รักเดียวใจเดียว” ที่ป๋าปฏิบัติกับมะ คือความสุขที่สุดของชีวิตอย่างหนึ่ง

บทเรียนที่สาม
การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อ คือการสอนลูกที่ดีที่สุด

ผมทำงานดนตรีอยู่ในกรุงเทพฯทั้งเล่นดนตรีแบ๊คอัพให้นักร้องดังๆในแกรมมี่ ส่งเพลงประกวดจนได้รางวัลมากมาย เป็นโปรดิวเซอร์ให้นักร้อง…ทั้งทำให้เขาดังและไม่ดังอีกเพียบ แต่ผมไม่เคยลืมบ้านเกิดเลย ทุกครั้งที่ผมกลับบ้าน ป๋า , ผมและโก้ฑูรจะคุยกันเรื่องบ้านเมืองของเราได้เป็นวันๆ ป๋าเคยบอกว่า ไม่ว่าเราจะสำเร็จในอาชีพอย่างไร วันหนึ่งเราต้องหาวิธีทำงานเพื่อบ้านเกิด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง และป๋าก็แสดงให้เราเห็นมาตลอดชีวิต นั่นคือการทำงานในอาชีพของตัวเองพร้อมๆกับการเป็นอาสาสมัครในหน่วยงานต่างๆของจังหวัด…อย่างเอาจริงเอาจัง

เมื่อได้มีโอกาสทำอัลบั้มเพลง “เพลินเพลงพังงา” , “เพลงภูเก็ต” , “โกไข่..ทะเลจีนใต้” “โกไข่กับนายสน”ชุดที่1และ2 ในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หากเพลงไหนผมแต่งเอง ผมจะสอดแทรกภาษาถิ่นลงไปในเพลงทุกเพลง จนทุกคนรู้จักผมจากเพลง สัญญาหน้าอ๊าม , หัวใจฉุดขุ่ย , ไม่พรือ , อย่าแขบ , หนุ่มโกปี้อ้อ , คนขาดหุ้น ฯลฯ

เดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ.2549 สโมสรโรตารี่ทุ่งคา ภาค3330 โรตารี่สากล ได้มอบรางวัล “ SERVICE Above Self ” (รางวัลบุคคลที่บริการในสาขาอาชีพดีเด่น) ให้กับผม เนื่องด้วยประเด็นการพยายามอนุรักษ์ภาษาถิ่นอันดามันผ่านบทเพลงอย่างจริงจัง

ปีพ.ศ.2550 ผมแต่งเพลง “อยู่อย่างยั่งยืน” ใส่ในอัลบั้ม “โกไข่กับนายสน” ชุดที่1(ในสังกัดจีเอ็มเอ็มแกรมมี่) ซึ่งเป็นเพลงภาษาถิ่นที่ผสมผสานกับภาษากลาง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความงามของปักษ์ใต้บ้านเรา จนผมได้รับรางวัล “เพชรในเพลง” จากคุณหญิงไขศรี แสงอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้น เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เป็นผู้จัดการประกวด วันนั้นป๋าลงทุนขึ้นเครื่องไปนั่งยินดีกับผมในโรงละครแห่งชาติด้วย…เรามีแต่รอยยิ้มให้กัน

บทเรียนที่สี่
เมื่อพ่อเห็นลูกประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ควรสอดแทรกแนวคิดเรื่องของสังคมเข้าไปในชีวิตของลูกสักเล็กน้อย ไม่ใช่ปล่อยให้เขาหาแต่เงิน เงิน เงิน โดยไม่ลืมหูลืมตา เพราะเรื่องราวในชีวิตของคนๆหนึ่ง มีองค์ประกอบอีกมากมายที่มีคุณค่ามากกว่าเงินหลายเท่าทวีคูณ

จากการทำงานเรื่องเพลงภาษาถิ่นอันดามันนี้เอง ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปแสดงหนังเรื่อง “มหาลัยเหมืองแร่” เพราะพี่เก้ง จิระ มะลิกุล (ผู้กำกับฯ) ชอบเพลง “ไม่พรือ” เป็นอย่างมาก เราได้นัดกินกาแฟกันที่ตึกแกรมมี่ ชั้น33 เพราะพี่เก้งชวนให้ผมเข้าไปทำดนตรีประกอบในหนังเรื่องนี้ จนเลยเถิดไปรับบทเป็น “โกต๋อง” (เจ้าของร้านกาแฟหน้าเลือดที่หลอกขายยาแดงคนดง) วันที่หนังเรื่องนี้ได้เข้าไปชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ซึ่งปีนั้นจัดเพื่อรำลึกเหตุการณ์สึนามิที่เขาหลัก ผมยังจำภาพจี้นวลได้เป็นอย่างดี เพราะจี้เป็นคนเดียวในครอบครัวเราที่กล้าเดินไปถ่ายรูปผมกับดาราคนโน้นคนนี้ (คงจะชื่นใจที่น้องได้เป็นดารา อิอิ) แต่วินาทีที่สำคัญกว่ามาถึง เมื่อ “สน เดอะสตาร์” ได้รับรางวัลดาราประกอบชายยอดเยี่ยม ภาพที่สนกำลังรับรางวัลด้วยสีหน้าที่ดีใจแบบสุดๆคือภาพที่จี้นวลถ่ายไว้ได้ (สนเอาภาพนี้ไปแขวนไว้ที่หัวนอนของแม่) วันที่จี้นวลอัดรูปนี้มาให้ สนแทบน้ำตาไหล สนบอกกับผมว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นภาพแบบนี้ แล้วพูดต่อว่า พี่น้องบ้านนี้น่ารักดีนะ ถ่ายให้โกไข่แล้วยังมาถ่ายให้ผมด้วย

ความน่ารักและความรักของพี่น้องเราทั้งห้าคนไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ สมัยเด็กๆหลังอาหารมื้อเย็น ป๋ามักเรียกลูกๆทั้งครอบครัวมานั่งล้อมวงร้องเพลง เล่นกีต้าร์ เคาะกล่องกระดาษกันด้วยความสนุกสนาน ถึงเวลามีของกินอะไรที่พิเศษ ป๋าก็สอนให้พี่แบ่งปันให้น้อง บางครั้งเหลือแล้วก็ให้แบ่งไปให้เพื่อนๆด้วย

ผมคงไม่ได้ทำอะไรต่อมิอะไรมากมายที่กรุงเทพฯ ถ้าไม่มีความรักจากโก้ฑูร พี่ชายคนเดียวที่เป็นที่ปรึกษาของผมในทุกๆเรื่องตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กจนเติบใหญ่ (รวมทั้งเรื่องไม่ยอมให้ผมเอาเพลง “สัญญาหน้าอ๊าม” ออกจากอัลบั้มเพลงภูเก็ตด้วย)

ผมได้ทำงานดนตรีที่ผมรักจนถึงที่สุด เพราะความน่ารักของจี้น้อยกับจี้อ้อยที่ได้เข้ามาช่วยป๋าผ่อนคลายเรื่องธุรกิจและการเงินในครอบครัว ทำให้ผมไม่ต้องกังวลเรื่องต้องกลับมาช่วยป๋าดูแลร้านจำเริญภัณฑ์ จนวันนี้จี้น้อยกับจี้อ้อยจัดการแปลงโฉมร้านจำเริญภัณฑ์กลายเป็นร้านน่ารัก ขายดิบขายดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งเป็นตัวตั้งตัวตีในการไปยกบ้านให้ป๋ากับมะอยู่ที่เขาช้าง..จนผมพลอยได้สบายกับเขาไปด้วย (แหะๆๆ)

บทเรียนที่ห้า
พ่อต้องสอนให้ลูกๆรักกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และเมื่อความรักในครอบครัวอุดมสมบูรณ์จะได้มีเวลาไปเผื่อแผ่ให้กับครอบครัวอื่นๆด้วย เมื่อหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุดอบอุ่นเช่นนี้ สังคมในลำดับต่อมาก็จะอบอุ่นและแข็งแรงตามไปโดยอัตโนมัติ

เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ป๋าอายุครบ 60 ปี ด้วยความรักที่ป๋ากับมะหล่อหลอมพวกเรามา พี่น้องทั้งห้าคน จึงออกแรงกันจัดงานให้ป๋าที่หอประชุมโรงเรียนสตรีพังงา ปีนี้ป๋าอายุครบ 80 ปี แสงเทียนแห่งความรักความอบอุ่น จึงถูกจุดขึ้นอีกครั้งที่บ้านเขาช้าง

บทเรียนสุดท้าย
คนเป็นพ่อคน แม้จะมีภารกิจมากมาย ต้องไม่ลืมกตัญญูกตเวทีต่อพ่อของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะที่เรามีวันนี้ได้ ก็เพราะพ่อ (และแม่) ได้วางแนวทางให้เราเดินมาตลอดนั่นเอง

ปี 2552นี้ ผมอายุครบ 45 ปี…ป๋าอายุครบ 80ปี แสดงว่าตอนป๋าอายุ 35 ปี ป๋ากับมะตัดสินใจให้ผมเกิดมาชมโลกใบนี้ (ฮิฮิ) ชมไม่ชมเปล่า อย่าให้เสียชาติเกิด ผมเลยแต่งเพลงร้องเพลงกล่อมโลกซะงั้น
ขอให้ป๋าจำเริญ (ชื่อป๋า..ไม่ใช่คำอวยพร ฮา..) แข็งแรงและอยู่เป็นมิ่งขวัญของลูกๆเพื่อจะได้เป็นพ่อดีเด่นของสังคมอย่างนี้ตลอดไป (ไม่ต้องรอรางวัลจากสถาบันไหน..พวกเราชิงประกาศเสียก่อน…ไชโย ไชโย ไชโย)

หมายเหตุ : เขียนไปก็ขำตัวเองไป เพราะในชีวิต..ยังไม่เคยได้เป็นพ่อให้ใครเลยสักคน (ว้า! แย่จัง…อิอิ)

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ป๋า…ผู้ชายต้นแบบ

Next : กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของผู้ชายที่ชื่อ “จำเริญ ทองตัน” » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

10253 ความคิดเห็น