ช่วยกันสร้างฝันให้เป็นจริง

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 16 สิงหาคม 2012 เวลา 7:31 ในหมวดหมู่ การศึกษา, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 22798

ผมโดดเข้าไปสู่แวดวงการศึกษาอย่างถลำลึกเสียแล้ว เริ่มจากการเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีภูเก็ตที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน ต่อมาพอลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีภูเก็ตก็ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีภูเก็ต ครั้นเป็นครบสองวาระก็มาเป็นประธานกรรมการสถานศึกษา

ในขณะที่รัฐบาลเริ่มปฏิรูปการศึกษา ผมก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานเขตพื้นที่การศึกษานำร่อง ๑ ใน ๕ ของประเทศ ต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และปัจจุบันมีการแยกสายมัธยมกับประถมออกจากกัน เขากำหนดให้เป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

ระหว่างเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีภูเก็ตก็เชิญคณาจารย์จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมาสอนเสริมให้กับนักเรียน ม.๖ ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยให้นักเรียนทั้งจังหวัดเข้าเรียนฟรีโดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตจัดสรรเงินให้ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ปีถัดมาเชิญนักเรียนไปถึงพังงาและกระบี่เรียนฟรีเช่นกัน คนในแวดวงการศึกษาจึงมองผมในรูปแบบต่างกัน ครูบางคนมองว่าผมทำความวุ่นวายให้เขาเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้พักผ่อนต้องมาคอยดูคอยช่วยเหลือนักเรียน ครูบางคนก็เสียรายได้จากการเป็นติวเตอร์ ครูส่วนใหญ่เขาก็ว่าดีค่หางอึ่ง…อิอิ

ช่วงปีเศษที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ต มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผมได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ เมื่อกระบวนการคัดเลือกครูสอนดีเสร็จสิ้นลง ผลปรากฎว่าจังหวัดภูเก็ตเป็น ๑ ใน ๑๐ จังหวัดทั่วประเทศที่มีกระบวนการคัดเลือกที่ดีเด่น มีส่วนร่วมและโปร่งใสได้รับรางวัลเป็นเงินมาบริหารจัดการเพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัดภูเก็ตเป็นเงินสามล้านบาท เท่านั้นยังไม่พอยังได้รับรางวัลจังหวัดที่มีการสื่อสารดีเด่นซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ ของประเทศอีกหนึ่งหมื่นบาท

คราวนี้แหละครับที่ทำให้ผมกลุ้ม ผมจะทำยังไงกับเงินสามล้านบาทดี ได้นำเสนอที่ประชุมไปว่าผมอยากตั้งสภาการศึกษาจังหวัด เพื่อระดมความคิดจากทุกภาคส่วนมาจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชน โดยมีความคิดว่าปัญหาผลผลิตทางการศึกษาไทยที่ไม่ค่อยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เด็กจบการศึกษาแล้วไม่เป็นคนดี คนเก่งอย่างที่สังคมคาดหวัง จบแล้วทำงานไม่เป็น ขาดความอดทน เด็กในจังหวัดภูเก็ตยังต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างรุนแรงเนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่แทนที่เด็กภูเก็ตจะเก่งภาษา สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลกได้ ก็กลับกลายเป็นว่าพูดเป็นแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็ยังอ่อน ในขณะที่แรงงานในภูเก็ตซึ่งเป็นชาวอาเซียนกำลังรุกกระหน่ำเข้ามาทำงานในภูเก็ตมากขึ้น เราจะทำอย่างไรกับการศึกษา ถ้าคนภูเก็ตไม่ลุกขึ้นมาจัดการศึกษากันเองให้ลูกหลานของเราเป็นเด็กที่เราต้องการ

แต่..การสร้างเด็กให้เป็นคนที่พึงประสงค์คงไม่ใช่เฉพาะคนภูเก็ตเท่านั้นที่จะคิดจะทำ แต่เราท่านทั้งหลายที่อยู่ในสังคมนี้ต่างมีหน้าที่ต้องช่วยกัน เพราะโมเดลของภูเก็ตก็จะมีประโยชน์กับเด็กและเยาวชนจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศด้วย ผมอยากขอความคิดเห็นจากทุกท่านที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ว่า
๑.เราจะจัดรูปแบบสภาการศึกษาจังหวัดอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ
๒.เราจะหาเงินจากที่ไหนมาบริหาร
๓.เราจะจัดทำหลักสูตรอย่างไรที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
๔.ครูสอนดีที่เราได้คัดเลือกมาควรมีส่วนร่วมทำอะไรบ้าง
๕.ท้องถิ่นควรจัดการศึกษาอย่างไร

ลองเบาะๆกันก่อนนะครับ เพราะผมจะนำความเห็นของทุกท่านเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ ๒๒ สิงหาคมนี้เพื่อนำเสนอแนวคิดในการก่อร่างสร้างตัวของสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เชิญญาติพี่น้องทั้งหลาย ลุยเลยครับ แฮ่…

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : จากปู่ถึงหลาน(๑๓)

Next : จากปู่ถึงหลาน(๑๔) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7554 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 7.2436511516571 sec
Sidebar: 0.10465693473816 sec