พระจันทร์สีรุ้ง๓

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 23 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:09 ในหมวดหมู่ กฎหมายในละคร, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5479

ผมชักจนแต้มจริงๆสำหรับละครเรื่องนี้ เพราะข้อกฎหมายในละครมักจะซ้ำซากวนเวียนเล่าแล้วเล่าอีกก็เวียนหัว อิอิ ดีแล้วที่ละครกำลังจะจบในวันที่ผมเขียนบันทึกนี้เพราะผมจะจบบันทึกได้โดยไม่รู้สึกผิด ฮ่าๆ

ผมดูละครเรื่องนี้แล้วนึกถึงการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพราะการที่อารักษ์รับเอาตะวันมาเลี้ยงดูให้การศึกษา โดยข้อกฎหมายแล้วไม่ได้หมายความว่าอารักษ์ได้อำนาจปกครองตะวันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคนที่จะมีอำนาจปกครองที่แท้จริงคืออรดี แม่ของตะวันที่เกิดตะวันมาต่างหาก เพราะแม้อรดีจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับใคร แต่อรดีซึ่งเป็นผู้คลอดบุตรเป็น “มารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย” ของตะวัน จึงมีอำนาจเต็มในการปกครองบุตร ความประพฤติเสื่อมเสียของอรดีก็ไม่ได้ทำให้อำนาจปกครองบุตรของอรดีหมดไปโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีผู้ร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของอรดีก่อน

ถามว่าในเรื่องนี้ หากจะทำให้อารักษ์มีอำนาจปกครองตะวันให้ถูกต้องตามกฎหมายทำอย่างไร คำตอบก็คือ ต้องให้อารักษ์ไปขอจดทะเบียนรับตะวันเป็นบุตรบุญธรรมครับ เพราะหากดูตามหลักเกณฑ์แล้วอารักษ์เป็นนางโชว์ที่แก่แล้ว อายุก็น่าจะเกินยี่สิบห้าปี และแน่นอนว่าต้องแก่กว่าตะวันมากกว่าสิบห้าปี ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๙๘/๑๙ ที่บัญญัติว่า

“บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี”

มันจะเกิดคำถามต่อมาว่าแล้วจะทำอย่างไร คำตอบก็คือเมื่อตะวันอายุไม่ถึงสิบห้าปีตะวันไม่ต้องให้ความยินยอม แต่ต้องให้พ่อแม่ตะวันยินยอมครับ แต่ในเรื่องนี้ พ่อก็ไม่รู้ว่าเป็นใครเพราะอรดีเป็นหญิงบริการ(เป็นหมอนวด)ไม่รู้พลั้งเผลอยังไงจึงท้องขึ้นมา งั้นก็ขอความยินยอมจากอรดี แล้วจะขอยังไงละครับในเมื่ออรดีพยายามเอาตะวันไปทิ้ง และตะวันตกน้ำ อรดีก็เลยถือโอกาสหนีไปและไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ อ้าว…แล้วจะทำยังไงละทีนี้ ไม่เป็นไรครับทุกปัญหามีทางแก้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๙๘/๒๑ กำหนดว่า

“การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง
ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมตามวรรคหนึ่งก็ได้”

เห็นไหมครับทางแก้ก็คือไปยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลยินยอมแทนครับ หรือหากทำไม่เป็นก็ขอเชิญไปพบพนักงานอัยการในท้องที่ที่ท่านอยู่ให้เขาจัดการให้ก็ได้ครับ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายชั้นพนักงานอัยการแต่ต้องไปจ่ายค่าใช้จ่ายชั้นศาลเป็นค่าธรรมเนียม ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ ค่าส่งหมาย เอาเองนะครับ บางสำนักงานก็ขอให้ท่านวางเงินค่าใช้จ่ายเขาจะออกใบรับให้ เหลือเท่าไหร่เขาก็คืนครับ บางสำนักงานเขาก็ตัดปัญหาเดี๋ยวเกิดการเข้าใจผิดว่าอัยการรับเงิน เขาก็จะดำเนินการเรื่องเอกสารและการดำเนินการชั้นศาลให้ แต่ให้ท่านไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆที่ศาลเอาเอง ครับ นี่เป็นบริการประชาชนของพวกเราครับ
อารักษ์อยากจะได้ตะวันเป็นลูกบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามข้างต้นนี่แหละครับ และเมื่อเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถ้าอารักษ์ตายไปตะวันก็มีสิทธิได้รับมรดกของอารักษ์ครับ แต่ถ้าตะวันตายอารักษ์ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของตะวัน แต่อรดีเป็นคนได้รับครับ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๘/๒๙ บอกว่า

“การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น”

ถามว่าเป็นธรรมไหม มันเป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่ถ้าตะวันจะยกทรัพย์สินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนที่ตนมีให้กับอารักษ์ ตะวันก็สามารถทำได้โดยการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้อารักษ์ครับ ถ้าไม่ทำพินัยกรรมไว้และตะวันตายก่อนที่จะมีครอบครัว มรดกของตะวันที่มีก็ต้องตกได้แก่ทายาทซึ่งได้แก่ทายาทลำดับที่สองคือบิดามารดา ส่วนบิดานั้นตัดไปได้เลยเพราะไม่ปรากฏว่าใครเป็นบิดา เหลือแต่อรดีซึ่งเป็นมารดาผู้คลอดตะวัน ดังนั้น อรดีจึงได้รับไปเต็มๆครับ

เป็นไงครับ ละครกำลังจะจบลงแล้ว ท่านได้ประโยชน์อะไรจากละครเรื่องนี้กันบ้าง

สิ่งที่ผมเป็นห่วงสำหรับละครเรื่องนี้ ก็คือ กลัวเด็กที่ดูละครเรื่องนี้เข้าใจว่าแม่ของเขาเองอาจทำตัวเป็นเหมือนอรดีแม่ของตะวันในละคร ที่ไม่เคยรักลูกจริงแต่แสดงให้ลูกเห็นว่ารัก หรือให้บุคคลภายนอกเห็นว่าตนรักลูกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากลูก เพื่อหน้าตาของตัวเอง ถ้าเด็กคิดอย่างนี้จริงๆละก็..ผมว่าเวรกรรมอนาคตของชาติ เฮ้อ…ดังนั้น ใครที่ดูละครเรื่องนี้กับเด็กช่วยอธิบายให้เขาฟังด้วยนะครับ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ..ฮี่ๆ

ละครเรื่องนี้ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด การแสดงออกถึงความรักที่พ่อคนหนึ่งมีต่อลูกแม้จะไม่ใช่ลูกจริงๆก็ตาม แต่ความรักของคนที่เลี้ยงเด็กมากับมือไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใดๆกับชีวิตก็ตามก็ยังทนุถนอมลูกที่ตัวเองเลี้ยงมาได้อย่างเยี่ยมยอด นี่ต่างหากที่ผู้จัดละคร/ผู้เขียนบท พยายามจะสื่อออกมา แต่อย่างที่บอกข้างต้น ผู้ปกครองที่ดูละครเรื่องนี้กับเด็ก ครูที่ดูละครและรู้ว่าลูกศิษย์ลูกหาตัวน้อยๆของท่านดูละครเรื่องนี้ น่าจะหยิบเอาละครเรื่องนี้มาพูดคุยกันให้เขาคิดวิเคราะห์ความถูกผิด ชี้แนะสิ่งถูกต้องให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คงจะดีกว่าผู้ใหญ่อย่างเรามานั่งบ่นว่าเรื่องราวละครไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ว่าใคร ว่าตัวเอง..อิอิ

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : พระจันทร์สีรุ้ง๒

Next : พระจันทร์สีรุ้ง๔ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

308 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.5463950634003 sec
Sidebar: 0.048744916915894 sec