ไปเป็นวิพุทธิยาจารย์ให้นิสิตจุฬาฯที่น่าน

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 เวลา 16:06 ในหมวดหมู่ การศึกษา, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 25173

เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ผมกับภรรยาและลูกสาวเดินทางด้วยเครื่องบินไปถึงเชียงใหม่ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เดินทางจากเชียงใหม่ไปน่านด้วยรถตู้ของโรงเรียนมงคลวิทยา ลำพูน นำโดยครูอึ่ง(ดวงพร เลาหกุล) ขับโดยครูอาราม ตามมาด้วยพี่หมอเจ๊ ซี่งเดินทางมาจากกระบี่ มารับผมกับครอบครัวแล้วจากนั้นเรารับน้องฝน แล้วไปลำปางรับครูแมวกับครูป้อม แล้วบึ่งไปน่าน

ถึงน่านแล้วเราไปสมทบกับครูหมอจอมป่วนจากพิษณุโลกซึ่งพาแม่นุกับน้องอ้าย มาด้วย ตามด้วยครูราณี และครูสุ กับเจอครูแฮนดี้ (อาจารย์พินิจ พันธ์ชื่น)ซึ่งเดินทางมาจากไชยาล่วงหน้า ๑ วัน แล้วจึงพากันเข้าไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตน่าน ซึ่งมีนิสิตสาขาวิชาบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ปี๒-๓ มาเรียนรู้อยู่ที่นี่ ซึ่งสาขาวิชานี้มี ศ.นสพ.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต เป็นผู้อำนวยการ ท่านและทีมงานมาต้อนรับพวกเราแนะนำตัวตั้งแต่ลูกน้องจนถึงผู้อำนวยการและเล่าให้พวกเราทราบความเป็นมาของวิทยาเขตที่นี่

ระหว่างที่พูดคุยกันในตอนเย็นวันนั้นครูบาสุทธินันท์ ครูใหญ่และครูเปลี่ยน มณียะ ก็เดินทางมาสมทบ คุยกันแจกของที่ระลึกกันแล้วท่านผู้อำนวยการก็เชิญพวกเราไปทานอาหารกัน อาหารทุกอย่างอร่อยมาก เนื่องจากเรายังไม่ได้เข้าที่พัก ทานข้าวเย็นกันเสร็จก็เข้าที่พักที่โรงแรมเทวราช เข้าห้องใครห้องมันแล้วก็มารวมตัวกันที่ห้องพักครูใหญ่ เพื่อมาตกลงกันว่าเราจะถ่ายทอดอะไรให้กับนิสิต ในที่สุดก็สรุปกันเป็นสามหัวข้อ

ผมรับผิดชอบหัวข้อ Learn how to learn in digital age ร่วมกับพระอาจารย์แฮนดี้และครูสุ แต่งานนี้ครูสุไม่ได้แหยมเลย อิอิ ผมพูดคนเดียวก็เกือบหมดเวลา ต่อด้วยครูแฮนดี้ก็เกลี้ยงแล้ว แฮ่…ไว้คราวหน้านะครูสุนะ

ผมพูดให้นิสิตตระหนักถึงเรื่องราวของการเรียนรู้ว่า เราสามารถเรียนรู้ได้ในทุกเรื่องเพราะสักวันหนึ่งมันจะเอามาใช้ประโยชน์ได้ นานมาแล้วผมไปคุมปั๊มน้ำมันและได้เห็นวิธีการที่คนรถปลอมปนน้ำมันและบอกให้พ่อทราบ ต่อมาอีก ๑๘ ปีผมเป็นอัยการได้รับมอบหมายให้ทำคดีปลอมปนน้ำมัน ขอบอกว่าสบายมากเพราะเราเคยเห็นวิธีการและวิธีตรวจสอบ การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันสามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะผ่านการอ่าน ดูโทรทัศน์ สื่ออินเทอร์เน็ตประเภทต่างๆ แต่การเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ผมได้นำเสนอภาพที่ผมไปเรียนรู้การวาดสีน้ำ การวาดสีน้ำมัน การถ่ายภาพ และอธิบายด้วยว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเอามาใช้กับการเกษตรได้ด้วยนะเธอ เช่น เธอปลูกผักขายจะเอาภาพผักงามๆน่ากินไปให้ลูกค้าดู ถ้าถ่ายไม่เป็นต้องไปจ้างเขาถ่าย ถ้าถ่ายภาพเป็นเราก็ลดรายจ่ายด้านนี้ได้ ผมเรียนรู้ถึงขนาดล้างฟิล์มเอง อัดรูปขาวดำเอง การเรียนรู้เหล่านี้เราสามารถเรียนรู้ได้ ผมเรียนรู้เรื่องการทำเว็บไซต์ เราสามารถเขียนเว็บไซต์ขายผักหรือผลิตผลทางการเกษตรได้ เป็นการเพิ่มการตลาดอีกช่องทางหนึ่ง

ที่ผมกั๊กไว้เพื่อให้นักศึกษาคิดเอง ก็ด้วยการแกล้งตั้งคำถามว่ามีใครปลูกผักกินเองบ้าง นิสิตต่างก็เงียบ ผมบอกปลูกกินเองด้วยนะเพราะผมเรียนรู้การทำเกษตรมาตั้งแต่ผมเรียนชั้นประถมมีวิชาเกษตรด้วย

ผมอยากให้นิสิตได้คิดว่าหากเราคิดจะกลับคืนถิ่นไปช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นหรือช่วยครอบครัวของเราในฐานะที่เป็นเกษตรกร เราเตรียมตัวและหัวใจลงไปคลุกกับความเป็นเกษตรกรหรือยัง เราสามารถลองเรียนรู้การใช้ชีวิตของเกษตรกรได้นี่ครับ ถ้าเราไม่รู้หัวใจเขาเราจะไปช่วยอะไรเขาละครับ ช่วยแล้วตรงกับที่เขาต้องการให้ช่วยหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่เคยเรียนรู้การปลูกผัก เราไม่เคยรู้เรื่องเกษตรประณีต เราจะรู้ไหมว่าเราจะลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อย่างไร เราเคยสังเกตไหมว่าพืชพันธุ์พื้นถิ่นของเรามีอะไร แต่ละต้นมันอยู่อย่างไร เราจะใช้พื้นที่ของเราให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มอย่างไร เราจะลดการใช้สารเคมีไม่ให้เกษตรกรเป็นหนี้ได้อย่างไร เราจะบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นิสิตอาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าตกลงแล้วเราเรียนบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรเพื่อจะเป็นผู้บริหารคอยสั่งงานให้คนอื่นทำแบบนักบริหารคนอื่นในสาขาวิชาอื่น หรือเราจะลงไปคลุกกับการเกษตรด้วยบริหารไปด้วย การเกษตรในอนาคตหาใช่วิชาชีพที่เป็นเบี้ยล่างคนอื่นไม่ เพราะคนเดี๋ยวนี้ไม่ยอมทำเรื่องเกษตรง่ายๆเพราะถือว่าหาซื้อเอาสะดวกกว่า ถามว่าเอาจอบเอาเสียมไปขุดไปสับดินมันน่าอายตรงไหน แล้วอัยการอย่างผมเป็นอัยการชั้นหก มีรายได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งสูงกว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด ทำไมหน้าด้านปลูกผักปลูกไม้ผลไม้ใบกินเองล่ะครับ ทำไมผมไม่อาย มันอยู่ที่วิธีคิดวิธีทำต่างหาก

ผมอยากเห็นนิสิตจุฬาชุดนี้ก่อนจบการศึกษา ได้รับมอบหมายโครงงานสัก ๑ เรื่องเพื่อจบการศึกษาอย่างเต็มภาคภูมิ ไหนๆก็เรียนการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรมาแล้ว ให้มหาวิทยาลัยจัดสรรที่ดินให้คนละ ๒-๓ ไร่ แล้วให้นิสิตทำโครงงานตามที่ตัวเองอยากทำหรือที่มันสอดคล้องกับท้องถิ่นของเราเอง หรือสำรวจตลาดในน่าน แล้วทำการเกษตรที่อยากทำเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ถ้าเลี้ยงสุกร จะเอาขี้สุกรมาทำอย่างไร เช่น ทำแก๊สชีวภาพ ทำปุ๋ยชีวภาพ น้ำล้างคอกสุกรเอาไปใช้ประโยชน์อะไร ทำให้เกิดผลผลิตอะไร หรือถ้าปลูกผัก ในพื้นที่เท่ากันจะปลูกอะไรได้สักกี่อย่าง เช่นปลูกชะอม ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ตะไคร้ สะระแหน่ ต้นหอม ขมิ้น ข่า ถั่วพู ฯลฯ

ผมเห็นว่าไม่มีนักบริหารคนไหนหรอกที่จะบริหารงานได้เยี่ยมยอดหากเขาไม่มีความรู้เรื่องที่เขากำลังบริหารอย่างแท้จริง นิสิตจุฬาชุดนี้ก็เช่นกันหากเราจะบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตร เราควรเรียนรู้การทำเกษตรด้วยหัวใจก่อน เมื่อการทำเกษตรเข้าไปอยู่ในหัวใจแล้ว ศักยภาพของความเป็นนิสิตจุฬาจะผลักพลังเฮ้ากวงของเราที่อยู่ภายในออกมาทำให้พวกเรากลายเป็นนักบริหารที่ดี…เชื่อผมไหม อิอิ.

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ผมหาญกล้าเสนอ “สภาการศึกษาจังหวัด”

Next : จากปู่ถึงหลาน(๑๕) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4256 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.5928201675415 sec
Sidebar: 0.10812902450562 sec