เฮ..หน้าบัลลังก์

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 6 กุมภาพันธ 2010 เวลา 7:30 ในหมวดหมู่ นักกฎหมายอย่างผม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 6198

การไปรับราชการต่างจังหวัดของข้าราชการมักจะเจอเรื่องสนุกสนานเกี่ยวกับภาษาเล่ากันมาเป็นทอดๆ อย่างเช่น หมอหนุ่มรูปหล่อซึ่งเป็นคนภาคใต้ไปรับราชการที่ภาคเหนือ วันหนึ่งมีคนไข้สาวหน้าตาดีไปรับการตรวจรักษา หมอก็ถามว่า “มาหาหมอเป็นอะไรเหรอ” คนไข้สาวมองหน้าหมอหนุ่มแล้วยิ้มอย่างมีไมตรีแล้วตอบว่า “คันหอค่ะ” (คันหอหมายถึงอาการคันที่ง่ามนิ้ว) หมอหนุ่มกำลังดูดโอเลี้ยงสำลักโฮเลี้ยงไอแค๊กๆ คนไข้สาวถามว่า “คุณหมอเป็นอะไรไปคะ” หมอหนุ่มตอบว่า “ผมคันคอ”…แคว๊กๆๆๆ

แต่เรื่องภาษาในทางกฎหมายสำคัญมากๆ บางครั้งภาษาท้องถิ่นทำเอาผู้พิพากษาที่ไม่เข้าใจทำให้สูญเสียความยุติธรรมโดยไม่รู้ตัว

สมัยก่อนนานมาแล้ว ที่ภูเก็ตมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องคดีอุฉกรรจ์เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่เล่าขานกันในหมู่อัยการและทนาย เหตุที่ศาลยกฟ้องเพราะประจักษ์พยานเห็นจำเลยแต่งกายไม่เหมือนกัน ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าสมัยก่อนการบันทึกปากคำพยาน ศาลจะบันทึกด้วยการเขียนด้วยลายมือศาลเอง ดังนั้นจะไม่มีใครรู้ว่าศาลบันทึกว่าอย่างไร จะรู้ก็ต่อเมื่อศาลอ่านให้ฟัง (ไม่เหมือนสมัยนี้ที่บันทึกลงเทป บางทีเราก็ได้ยินว่าศาลบันทึกว่าอย่างไร) ในบันทึกคำเบิกความประจักษ์พยานคนหนึ่งศาลบันทึกว่า “จำเลยสวมเสื้อขาว กางเกงสีดำ” ส่วนพยานอีกคนหนึ่งตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “จำเลยสวมเสื้อขาว ค้อดำ” ศาลซึ่งเป็นคนภาคกลางก็บันทึกว่า “จำเลยสวมเสื้อขาว คอดำ” อัยการโจทก์ก็ไม่ถามติงให้ชัดเจนว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ เมื่อคดีไปถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องเพราะประจักษ์พยานเบิกความไม่เหมือนกัน แต่เรื่องนี้มันมีเบื้องหลังครับ

ภาษาใต้ โดยเฉพาะภูเก็ตเขาเรียกกางเกงว่า “ค้อ” ถ้าบอกว่า “ค้อสั้น” ก็หมายถึงกางเกงขาสั้น ถ้า “ค้อดำ” ก็หมายถึงกางเกงสีดำนั่นเอง แต่เนื่องจากศาลไม่เข้าใจภาษาถิ่นจึงเกิดปัญหาในการวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าพยานคนหนึ่งว่าสวมเสื้อขาวล้วน ส่วนประจักษ์พยานอีกคนอ้างว่าสวมเสื้อขาวที่มีคอสีดำ จึงไม่น่าเชื่อว่าคนที่อ้างว่าเห็นจำเลยกระทำผิดนั้นจะเห็นเหตุการณ์จริง ไปโน่น….

ตอนผมเป็นทนายก็เจอเรื่องแปลกๆมาครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์เป็นคนท้องถิ่น พอให้พยานสาบานตัวเสร็จแล้วก็บอกกับพยานเป็นภาษาใต้ว่า “เดียวตนต๊อบศาลดังๆนะ” (ประเดี๋ยวคุณตอบ(คำถาม)ศาลดังๆนะ) พยานพยักหน้าหงึกๆ…

ศาลถามว่า “เอ๊า..พยานชื่ออะไร” และแล้วทั้งศาล อัยการและทนายก็ต้องตกใจเมื่อพยานเอาสองมือตบลงบนคอกพยาน “โครม โครม โครม”

ศาลร้องถามเสียงว่า “ทำบ้าอะไร” อิอิ

พยานตอบว่า ก็มัน(ชี้ไปที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์)บอกให้ตบศาลดังๆ ฮา…..

ภาษาท้องถิ่นภูเก็ตกับพังงามันคล้ายกันเพราะส่วนใหญ่เป็นลูกหลานจีนฮกเกี้ยน เวลาชาวบ้านไปศาลก็มักจะพูดภาษากลางไม่ได้ก็จะพูดภาษาท้องถิ่น ซึ่งภาษาท้องถิ่นภูเก็ตพังงา จะผสมระหว่างภาษาจีน อังกฤษและภาษาไทยภาคใต้ เช่น เวลาขับรถเปลี่ยนเกียร์เขาจะเรียก เชนเกียร์ (Change Gear) เดินให้ดีนะระวังตกจุ๊ยก้าว หมายถึงให้เดินระมัดระวังจะตกคูระบายน้ำ คำบางคำเป็นภาษาจีนแต่จะแตกต่างกับจีนทางภาคกลาง เช่น ร้านโชห่วย แต่ทางภูเก็ตพังงาเรียกร้าน จับโห่ย

ผู้พิพากษาที่มาจากภาคอื่นในยุคหลังๆ (หลังจากเกิดเหตุเสื้อขาวค้อดำมาแล้ว อิอิ) ก็มักจะกันเหนียวถามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ซึ่งมักจะเป็นคนท้องถิ่นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

มีคดีเรื่องหนึ่ง ผู้เสียหายที่ถูกปล้นเป็นร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ภาคกลางเรียกร้านโชห่วยนั่นแหละ พอผู้เสียหายมาเป็นพบยานเพื่อเบิกความศาลก็ถามว่าพยานมีอาชีพทำอะไร พยานก็ตอบว่า “ขายของจับโห่ย”

ศาลท่านก็งง เพื่อความเข้าใจก็เลยถามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่า “ขายของจับโห่ยเนี่ย มันเป็นยังไง” เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ก็วัยกลางคนเรียนหนังสือก็จบที่ภูเก็ตนั่นแหละ ไม่รู้ว่าของจับโห่ยกรุงเทพเรียกว่าอะไร แถมตัวเองก็พูดกลางไม่ถนัด แต่เมื่อศาลถามก็ต้องตอบ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ก็ตอบว่า

“อ๋อ…มันก็ขายของอีหล็อกฉ็อกแฉ็กนั่นแหละครับ” ฮา….แล้วศาลจะรู้ไหมเนี่ย…
(เพราะร้านโชห่วยมันก็ขายของสรรพเพเหระอย่างที่ภาษาบ้านผมเรียก “อีหล็อกฉ็อกแฉ็ก” จริงๆ)

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ฮา..หน้าบัลลังก์

Next : รอบรั้วข้างบ้าน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

668 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 7.3762910366058 sec
Sidebar: 0.98641300201416 sec