ปลูกป่า ทำนา ประมง และปลูกผัก ชีวภาพ 100% (make money from thin air)
รายได้ไร่ละ 300,000 ต่อปี ไม่น่าหนีไปไหน
วิธีการคือท้องนาพื้นที่ 1 งาน กว้าง 20×20 ม. ให้ ขุดคูน้ำลึกรอบคันนาด้านในกว้างสัก 1 ม. ลึก 1 ม. แล้วเอาดินไปถมทำคันนาให้กว้าง 1.5 ม. สูงจากระดับท้องนาสัก 0.6 ม. . (ตามปริมาณดินที่ขุดได้)
หลักการคือ บนคันนาเราจะปลูกไม้ยืนต้น ในคูน้ำเลี้ยงปลา ในนาปลูกข้าวและผัก โดยมีคูน้ำเป็นแหล่งชลประทานไปในตัว
ที่ดินตรงกลางนั้นให้แบ่งเป็น 3 ส่วนเท่าๆกัน หน้ากว้างประมาณ 4 8 4 ระหว่างรอยต่อของ 4 กับ 8 ให้ขุดคูน้ำทลุถึงคูรอบนอก ..ทำเช่นนี้เพื่อการชลประทานในการรดน้ำผักภายหลังการทำนา
ปรากฏว่าพื้นที่ 1 งานตอนนี้เป็นคันนา คูน้ำ ไปเสียประมาณ 30% เห็นจะได้ แต่อย่าตกใจ นี่แหละที่จะทำให้เราสบาย เหนื่อยน้อยลง 3 เท่าแต่กำไรมากขึ้น 100 เท่า (ปรสิทธิผลเพิ่ม 300 เท่า)
พอเริ่มเข้าหน้าฝน พค. มิย. น้ำฝนเริ่มตก และไหลลงคูโดยรอบ เก็บสะสมน้ำไว้เรื่อยๆ ปลาย กค. น้ำจะเต็มคูและเริ่มนองเข้านา เราจะปลูกข้าวที่ปลายกค. อาจจะล่าไปหน่อยแต่ไม่น่าเป็นไร ดีเสียอีก ช่วงนั้นเมล็ดวัชพืช งอกหมดแล้วก็สบายขึ้นอักโขในการจัดการวัชพืช (เม็ดหญ้าส่วนใหญ่งอกก่อนและระหว่างเดือนมิย…ที่มา..กรมวิชาการเกษตร)
ช่วง พค. มิย. กค. เราปลูกอะไรนำร่องได้มากหลาย เช่น ถั่วต่างๆ ข้าวโพดฝักอ่อน ผักอื่นๆ โดยน้ำที่ขังอยู่ในคูก็เอามาช่วยรดได้ในยามที่ฝนทิ้งช่วง ถั่วน่าจะดีเพราะช่วยบำรุงดิน แต่ผักก็เย้ายวน เพราะรายได้ดี (และนั่นคือเหตุผลทำไมขุดคูขวาง…ก็เพื่อที่จะเอาแพลอยน้ำไปสูบน้ำฉีดรดได้ทั่วนาภายใน 20 นาที ผมออกแบบแพยนต์นี้ไว้แล้ว มันง่ายมาก และลงทุนน้อยมาก ทำเป็นบูมแผ่ออกสองข้าง รดน้ำได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็วมาก ประหยัดน้ำด้วย ถ้าฝนทิ้งช่วงก็เอาไปรดให้นาข้าวได้ด้วย)
พอน้ำเริ่มขังในคูมากเราก็คั่นคอก ทดน้ำเข้าไปในคอก เพื่ออภิบาลลูกปลาไว้ล่วงหน้าสัก 2 เดือนกว่าน้ำจะมามาก ให้กินอาหารทั้งธรรมชาติและอาหารเสริม ซึ่งในช่วงนี้ปลายังเล็ก ราคาอาหารไม่มากนัก
บนคันนาเราปลูกพืชยืนต้นที่ชอบแวดล้อมแบบนี้ คือมีน้ำแฉะขังรอบๆ ปีละ 8 เดือน ที่นึกออกตอนนี้มีสองคือ ตะกูและไผ่ การปลูกตะกูที่ไม่ค่อยสำเร็จกันนั้นเป็นเพราะหารู้ไม่ว่ามันชอบอยู่ริมน้ำ ถ้าไม่เช่นนั้นจะโตช้า ถ้าอยู่ริมน้ำจะเร็วแบบเหลือเชื่อ ไผ่หลายสกุลก็ชอบริมน้ำ ตอนนี้ผมค่อนข้างจะโน้มมาทางไผ่ เพราะมันมีผลพลอยได้ที่ใบมันร่วงหล่นลงสู่น้ำ
และนี่คือเหตุผลทำไมมาขุดคูไว้ริมนาแบบนี้ ก็เพื่อให้มันรับล่มจากต้นไม้ และได้รับใบไม้ที่ร่วงหล่นนี่แหละ ร่มจะช่วยทำให้น้ำเย็น ปลาที่เลี้ยงไว้ในคูจะไม่ร้อนเกินไป คูน้ำนี้จะเป็นทั้งแหล่งชลประทานและบ่อเลี้ยงปลาไปในตัว
พอน้ำท่วมนา (ปลาย กค. ) ปลาก็โตพอที่จะปล่อยได้แล้ว ให้หากินกันเอาเอง จากไรน้ำ ที่เกิดจากใบไผ่หล่นลงไปเน่าเปื่อยในน้ำ แล้วสร้างจุลินทรีย์ และไรน้ำพืชขึ้นมาเป็นอาหารให้ปลา (นี่ยังเดาอยู่นะ ต้องทดลองและหรือวิจัยต่อ ว่าสร้างจุลินทรีย์ได้ไหม หรือเผลอๆ ใบไผ่อาจเป็นพิษด้วยซ้ำ แต่เชื่อว่ามีทางใช้ประโยชน์แน่ๆจากใบไม้ริมน้ำ)
นอกจากนี้จะเสริมด้วยสาหร่ายทีปลาชอบกิน เช่น สาหร่ายหางกระรอก พุงชะโด ข้าวเหนียว ซึ่งเรื่องนี้พอมีพื้นฐานอยู่แล้วว่าเป็นไปได้ แต่ต้องทำวิจัยเสริมว่า สาหร่ายอะไรดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายที่ตรึงในโตรเจนและฟอสเฟตจากอึสัตว์น้ำอีกด้วย(วิจัยในกุ้ง แต่ปลาก็น่าจะเหมือนกันนะ) นี่มันวิเศษจริงๆ สาหร่ายกินอึปลา ปลากินสาหร่าย (making money from thin air is not impossible anymore)
ปลาที่เลี้ยงเป็นปลากินพืชเท่านั้น เช่น ปลาจีน ปลาตะเพียนทั้งหลาย ซ่ง ลิ่น สลิด กระดี่ แรด นิล หมอตาล (ไอ้เพียนนี่ต้องระวังหน่อย โดดสูงมาก ชอบโดดไปงับกินรวงข้าว …ลูกสาวชาวนาเตือนเราไว้นานแล้ว)
การทำนาก็ทำไปตามปกติ เริ่มปลายกค. ถึงต้นสิงหาด้วยซ้ำ เพราะน้ำมันจะยังไม่ท่วมนา หรือถ้าจะให้เร็วขึ้นก็ทำคันในรอบในขนาดเล็กเพื่อกักน้ำก็ได้ แบบนี้ก็จะทำนาได้ตามปกติ น้ำที่มากเกินไป ก็ไขออกไปลงคูรอบๆ ให้หมด หรือทำเป็นฝายน้ำล้นไปเลย ..อ้อ..อย่าลืมการทำแบบหยอดหล่นด้วยนะ ..และเกี่ยวแบบหวีสางที่ไม่ต้องนวด จากนั้นตากแห้งแบบเตียงพรุ่น..ซึ่งผมได้คิดไว้ให้หมดแล้ว ตากแห้งนั้นทดลองได้ผลแล้วด้วย
ถ้ำทำคันนาด้านในด้วย เราจะมีประตูเปิดให้ปลาพวกนี้ไปว่ายเล่นในนาข้าวด้วย มีวัชพืชออกมามันกินหมดไม่เหลือ ก็ไม่ต้องฉีดยาฆ่าหญ้า
อ้อ..ลืมไป เพิ่งจะได้แนะนำพระเอก ในซีนนี้ คือ เขียดน้อย เช่น เขียดขาคำ และ ที่เล็กกว่า เพื่อให้ไต่ไปตามใบข้าวไปกินเพลี้ย อีกทั้งแมงปอเข็มก็น่ากินเพลี้ยให้เราได้ด้วย พวกแมงใหญ่ ก็ไม่ยาก เลี้ยงปลาเสือพ่นน้ำไว้สักฝูง รับรองว่าเล่นสงกรานต์กันสนุก ส่วนกบใหญ่ ที่แรกก็อยากเลี้ยง แต่กลัวมันไปกินปลาเสียหมด หอยขม ก็ปล่อยลงนาได้ เอาไม้ผุไปลอยไว้ ให้มันเกาะ ขายได้เงิน แถมมันช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศด้วยเพราะย่อยสลายของเน่าให้กลายเป็นปุ๋ยให้นา
การเลี้ยงปลาควรเลี้ยงแบบสางขาย คือ ตอนแรกตัวเล็กๆ ให้เลี้ยงแน่นๆ แล้วสางขายเป็นระยะเมื่อมันโตขึ้น จะมีรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่อง อาหารปลาก็ไม่ต้องซื้อเพราะมีให้เหลือเฟือ เผลอๆ สาหร่ายที่ปลูกไว้จะโตไวเกินปลาเสียอีก ก็สางสาหร่ายเอามาทำอะไรได้มาก เช่น เลี้ยงหมู ไก่ ทำปุ๋ยสดหมัก (ปลาจีนนั้นว่ากันว่ามันกินอาหาร 3 เท่าน้ำหนักตัว ตปท. ใช้มันในการกำจัดวัชพืชน้ำ)
อ้อ..ทิศทางการวางนาอาจต้องคำนึง ให้แนวคันนาที่ปลูกไผ่อยู่ในแนวออกตก ส่วนแนวเหนือใต้อาจปลูกไม้พุ่มเศรษฐกิจแทน เช่น พริก ทั้งนี้เพื่อจะไม่ถูกบังแดด เพราะสาหร่ายชอบแดด ถ้าแดดน้อยจะโตไม่ดี อาจไม่พอให้ปลากิน
พอเกี่ยวข้าวเสร็จก็ปลูกผักต่อได้เลย เพราะพื้นนายังมีความชื้นอยู่มาก ถ้าต้องการน้ำ ก็น้ำในคูนั่นไง เพราะตอนนั้นจับปลาขายไปครึ่งหนึ่งแล้ว น้ำมีพอเอามารดแปลงผัก แถมเป็นน้ำปุ๋ยอุดมด้วยแอมโมเนียและฟอสเฟตจากอึปลาด้วย ผักงามดี มีกำไรมาก กว่าน้ำจะหมดคูก็คงต้นกพ. คูนามีอยู่แล้วก็ทำเป็นเทือกแฉะๆ กางปิดด้วยสแลนท์ก็ปลูกผักน้ำแฉะแดดรำไรราคาแพงได้ง่ายๆ เช่น วอเตอร์เครสท์ ที่ตัดแล้วแตกใหม่อย่างรวดเร็ว ปลูกได้สามชุดสบายๆ
ช่วงปลูกผักนี้สามารถปล่อยเขียดใหญ่ เช่น เขียดอีโม่ที่เพาะเลี้ยงไว้ร่วมกับปลาใหญ่ได้แล้ว (เพราะมันกินปลาไม่ได้แล้ว) เขียดอีโม่มันจะกินแมลงใหญ่ ส่วนเขียดขาคำและอื่นๆ จะกินแมลงเล็กจนถึงเพลี้ย ผักของเราก็ปลอกสารพิษ แถมได้อึเขียดที่กินแมลงมาเป็นปุ่ย อีกทั้งเขียดพวกนี้ขายได้ แพงเสียด้วย
ส่วนปลานั้นถ้าเลี้ยงหนาแน่นเกินไป จะมีปัญหาเรื่องน้ำเสียจากอึของมันเอง ซึ่งสาหร่ายช่วยบำบัดแบบ รีไซเคิลไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือถ้าจำเป็นก็ต้องแทรกแซง ซึ่งสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ไม่ยาก ลองคิดดู อย่าให้บอกทั้งหมด เดี๋ยวหมดสนุก
นานี้ไม่ต้องฉีดยาใดๆ ไม่ว่าเคมีหรือชีวะ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย (มาจากอึปลา) ไม่ต้องทำหญ้า (ปลาตอดกินหมดแล้วเอาไปอึเป็นปุ๋ย) ส่วนปลาก็ไม่ต้องให้อาหารกินอาหารธรรมชาติจากไรน้ำที่หล่นมาจากใบไม้ และจากสาหร่าย ผักที่ปลูกก็เช่นกันไม่ต้องฉีด ไม่ต้องใส่ปุ๋ย (กินบุญเก่าจากน้ำปลา)
รายได้มาจาก ข้าวชีวภาพ ผักชีวภาพ(อาจมากกว่าข้าวซึ่งเป็นพืชหลัก 10 เท่า) พืชก่อนฤดูเช่นถั่ว (อาจได้พอๆกับพืชหลัก) ปลา (อาจมากกว่าข้าว 5 เท่า) หอย หน่อไม้ ลำไม้ไผ่
คิดให้ดีนี่มันกลั่นเงินจากดินน้ำลมไฟธรรมชาติแท้ๆ เลย
ดิน น้ำ ไฟ(แสงอาทิตย์) ลม(อากาศ) ไม่ได้มาจาก thin air ดังที่ล้อไว้
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔)