สำคัญที่มุมมอง

อ่าน: 1474

มาเห็นรถสามล้อถีบและรถลากที่เมืองนี้แล้วนึกถึงสภาพในเมืองใหญ่อย่างโกลกาตาและเดลี ดูเหมือนรถทั้ง ๒ ประเภทนี้จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เปิดทางเลือกไว้ให้ผู้คนระดับหนึ่งได้เลือกโลจิสติกส์ของตน

งานการและการผลิตที่ได้เห็นทำให้เห็นกันตรงหน้าประตูเข้าทัชมาฮาลด้วยระบบมือทำและทำด้วยแรงงานคน

เหล่านี้เห็นเรื่อยมาในทุกเมืองและให้ภาพสังคมอินเดียชัดเจน

ฉันว่าที่อินเดียพึ่งตัวเองได้ก็เพราะรักษาความเป็น ‘manual’ ไว้เหนียวแน่นอย่างนี้นี่เอง

เพิ่งรู้ว่าที่ไม่ใคร่เห็นรถลากและสามล้อถีบในเดลีเพราะผู้นำท้องถิ่นของเมืองเริ่มจัดระเบียบจราจรตามกระแสโลก ลุกขึ้นมาล้างบางสามล้อถีบและรถลากเพื่อลบภาพที่มองว่าทำให้เมืองดูไม่ศิวิไลซ์

อีกเมืองที่ผู้นำท้องถิ่นคิดอย่างนี้และทำอย่างนี้คือเมืองโกลกาตา เขาล้างบางด้วยการคุมกำเนิดจำนวนรถมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘  แต่ก็ไม่สำเร็จ  จากตัวเลขเป็นทางการว่าตามซอกซอยของโกลกาตาน่าจะมีรถลากทั้งสิ้น ๕,๙๓๗ คัน กลายเป็นมีรถลากผิดกฎหมายออกมาวิ่งอยู่นับหมื่นคันด้วย

สภาพการจราจรในอีกมุมหนึ่งของเมืองสีชมพู

รถลากมีจริงๆอยู่เท่าไรในโกลกาตาประเมินยาก เพราะส่วนใหญ่คนขับ คนลากไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เช่าช่วงกันเป็นกะ บางคันอาจมีคนลาก ๓-๔ คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นคนชนบทจากรัฐข้างเคียง กินนอนอยู่ข้างถนน มีรายได้ราว ๑๐๐-๑๕๐ บาทต่อวัน รายได้ขนาดนี้ดีกว่าในเมืองไทยซะอีก

งานวิจัยล่าสุดของ ActionAid India ประมาณว่าทั่วทั้งโกลกาตามีคนอาชีพลากรถราว ๑๘,๐๐๐ คน และทุกๆปีจะมีคนใหม่เข้ามาราว ๑,๘๐๐ คน

ทีแรกที่รัฐบาลท้องถิ่นพยายามล้างบางรถลาก ก็เริ่มด้วยการจัดโซนให้วิ่งได้จำกัดก่อน แล้วจึงห้ามวิ่งเด็ดขาด ลงมือครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ก็เจอการประท้วงครั้งใหญ่จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการจ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของรถลากที่ยอมส่งมอบรถลากให้กับทางการ ด้วยเงินราว ๘,๐๐๐ บาท แต่ก็ไม่มีใครยอมนำมาแลก

ความพยายามครั้งใหม่เพิ่งเกิดขึ้นอีกครั้งแล้วความขัดแย้งก็เกิดขึ้น และเรื่องนี้ถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกจุดก็จะเป็นอีกเรื่องที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐหากินกับคนจนได้มากขึ้น

บรรยากาศในเมืองเดียวกันยังต่างกันได้ขนาดนี้เลย แล้วจะไม่ให้อินเดียน่าสนใจได้ไง

สังคมคนลากรถเขาเข้มแข็งรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานกันได้เลยหละ ฝ่ายรัฐก็เลยต้องยับยั้งชั่งใจกับจังหวะการออกคำสั่งของตัวเองไม่ให้กลายเป็นหมันอีกหน ทางออกที่รัฐคิดได้คือ สั่งไปด้วยเตรียมจ่ายค่าชดเชยไปด้วย เช่น จำกัดเขตวิ่งให้แคบลงโดยแต่ละเขตจะให้วิ่งได้เพียงพันคันหรือเสนอค่าชดเชยให้ด้วยจำนวนเงิน ๑ แสนรูปี เป็นต้น ฟังแล้วแปลไม่ออกว่าเป็นทางออกใหม่ยังไง

ทางออกนี้ฝ่ายการเมืองมั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จ แต่คนลากรถกลับเห็นตรงข้าม “รถลากอยู่มาก่อนอินเดียประกาศเอกราชอีก คิดจะยกเลิกกันง่ายๆ เป็นไปไม่ได้หรอก” แล้วก็จริงอย่างที่เขาว่า เพราะเมื่อศาลสูงของเมืองสั่งห้ามจริงๆด้วยเหตุผลว่าสามล้อถีบเป็นอาชีพที่กดขี่ความเป็นคน เอื้อให้กลุ่มมาเฟียหากินจากแรงงานคนยากจนและทำให้การจราจรติดขัด บรรดาคนปั่นสามล้อก็ยกขบวนประท้วงจนแทบปิดตลาดกันเลย

เรื่องนี้องค์กรเอกชนและนักวางผังเมืองกลุ่มต่างๆก็ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐจึงมีนโยบายกำจัดรถสาธารณะที่ไม่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ปลอดควันพิษและเสียง ทั้งที่เป็นตัวสร้างงานและรายได้ให้กับแรงงานไร้ฝีมือและเป็นทางเลือกในการสัญจรของคนรายได้น้อย

ซ้านสุด สีฟ้าๆที่เห็น คือ ที่ทำงานของตำรวจจราจร หลากหลายบรรยากาศที่นำมาให้ดูมาจากหลากมุมของเมืองสีชมพู

เพิ่งรู้ว่าอินเดียเขามีหน่วยงานวิจัยด้านนโยบายการขนส่งมวลชนด้วยนะ หน่วยงานนี้เขาทำวิจัยไว้และพบว่า สามล้อถีบช่วยลดการสัญจรด้วยรถยนต์ในเมืองหลวงประมาณ ๑๐ ล้านเที่ยวต่อวัน และ ๑๐๐ ล้านเที่ยวต่อวันทั่วประเทศ ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันและควันพิษ ข้อมูลนี้แย้งรัฐบาลให้หน้าแตกกับเหตุผลที่ตัวเองบอกออกมา ที่ไปเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้เป็นมาเฟียก็เข้าใจผิด ฟังไม่ขึ้น ยิ่งทำให้รัฐหน้าแตกเข้าไปอีกที่ขาดข้อมูล ไม่เข้าใจปัญหาพื้นฐานของแรงงานที่อยู่ในอาชีพนี้แล้วตัดสินใจจนทำให้เกิดปัญหา

เขาว่าตอนนี้ปริมณฑลของเดลีมีรถสามล้อถีบขึ้นทะเบียนอยู่เกือบ ๙ หมื่นคัน  ความที่คนต้องการใช้งานรถสามล้อถีบสูงมากเป็นที่มาของการเกิดขบวนการปลอมแปลงทะเบียนและใบขับขี่ น่าจะมีรถสามล้อถีบไม่มีใบอนุญาตวิ่งอยู่ราว ๔-๖ แสนคันในเดลี ส่วนใหญ่อยู่ในระบบอู่ให้เช่าโดยเจ้าของอู่จะเป็นคนจัดการเรื่องใบอนุญาต การซ่อมบำรุง จ่ายค่าปรับเล็กๆ น้อยๆไปจนถึงส่งส่วยให้เจ้าหน้าที่  ค่าเช่ารถ ๒๕ บาทต่อวันเท่านั้นเอง เรื่องนี้ฟังแล้วคุ้นๆอีกแล้ว

ยามเช้าก็นั่งรอผู้โดยสารกันไปก่อน

ทั้งๆที่งานหนักและเหนื่อยแต่บรรดาสารถีรถลากไม่ได้รู้สึกต่ำต้อยไปด้วยเลย ความเห็นว่า “การทำงานหนักและสุจริตเป็นเรื่องเสียเกียรติตรงไหน ที่สำคัญเรามีลูกมีเมียต้องเลี้ยง และเราไม่ได้ปล้นหรือโกงใครกิน” ของพวกเขาเคาะกะโหลกดีนักแล

ขอบคุณบทเรียนจากคนลากรถบทนี้ที่สอนมุมมองของคนที่คิดต่างกันได้ใจจริงๆ แล้วยังสอนใจเรื่องภาวะผู้นำไม่เบาเหมือนกัน

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : น่าบุกเบิก

Next : จุดเกาะเกี่ยวกับไทยที่น่าสนใจ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.067089080810547 sec
Sidebar: 0.25715899467468 sec