อย่าหวังว่าจะมีสีเดียว

โดย สาวตา เมื่อ 12 กรกฏาคม 2010 เวลา 1:46 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1274

การเรียนรู้เรื่องของอัตลักษณ์ในหลายๆชั่วโมงของหลักสูตรนั้นมีเรื่องมุมมองที่ถอดบทเรียนจากผู้รู้มาเล่าสู่กันฟังหลายคน เรื่องราวที่นำมาเล่าในบันทึกนี้ มีรองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแบ่งปันเพิ่มความรู้ที่ถอดเรื่องราวจากต่างประเทศมาเล่าให้นักเรียนโข่ง ๔ส.๒ ฟังในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ค่ะ

เริ่มต้นอาจารย์ก็เกริ่นว่า อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเท่าไรกับประเด็นเรียนรู้อัตลักษณ์กับปัญหาความขัดแย้งและการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างในมุมของการเมืองการปกครอง เหตุผลก็คือประเทศเหล่านี้มีความเป็นเอกภาพมากไป ประเทศที่น่าสนใจเรียนรู้คือยุโรปอื่นๆ เช่น อิตาลี เยอรมัน

อาจารย์ทวนให้ฟังว่าอัตลักษณ์ระดับต้นเป็นปัจเจกบุคคล ระดับ ๒ เป็นภาพกลุ่ม สังคมใดไม่มีสมาคม สังคมนั้นไม่มีอัตลักษณ์

มีคำถามที่อาจารย์ชวนให้ลองตอบ ท่านลองตอบไปด้วยนะคะ คำถามนั้นมีว่า ระหว่างเราควรจ่ายเงินกลุ่ม กับกลุ่มจ่ายเงินเรา อย่างไหนดีกว่า  ซึ่งอาจารย์ขยายคำตอบว่า เมื่อให้กลุ่มจ่าย ระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้น อัตลักษณ์ส่วนรวมมีปัญหา  ท่านเห็นภาพอย่างไรบ้างกับคำตอบนี้

ในเรื่องของ “ชาติ” อาจารย์บอกว่ามี ๒ ความหมาย หนึ่งคือ ชาติทางวัฒนธรรม มีมานานแล้ว คือ ไท ไตย มีมานาน มีความหลากหลายอย่างยิ่ง  ชาติพันธุ์เป็นฐานคิด ศาสนามีมากมาย มีความหลากหลาย  ชาติทางวัฒนธรรมมีอารยธรรมต่างกัน มีอารยธรรมสูงต่ำ ต่ำ-ดูถูกกันและักัน ดูเป็นสัตว์ ดูว่าต่ำกว่าตัวเองเสมอ

อีกหนึ่งคือ ชาติทางการเมือง เพิ่งเกิดมาไม่นาน คือ ไทย มุ่งความเหมือนกันหมด เป็นหนึ่งเดียว จีน อเมริกัน อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งเดียว ไทย เป็นหนึ่งเดียว ฐานคิดคือความเป็นชาติ ถ้าความคิดเป็นเผด็จการ ก็เป็นเผด็จการชาติ ถ้าความคิดเป็นประชาธิปไตยก็เป็นชาติประชาธิปไตย

ชั่วโมงนี้มีคำใหม่เกี่ยวกับความขัดแย้งที่อาจารย์เอ่ยขึ้นมาเป็นคนแรก คำๆนั้นคือ “Cleavage”   อาจารย์กล่าวว่าคำๆนี้มีเป็นเรื่องของคนสมัยใหม่ ความขัดแย้งมีอยู่แล้ว แต่ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ทำให้ความแตกแยกบานปลาย ความแตกแยกในที่นี่ความหมายคือรอยปริ

แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างในต่างประเทศมาให้ดู ยกตัวอย่างการแยกเพศมาให้เห็นเพื่อจะบอกว่า “อย่าหวังว่าสังคมจะมีสีเดียว”

หลากหลายกลุ่มสี ไม่ได้มีแต่ในเมืองไทยประเทศเดียวหรอก

ในเรื่องเพศนั้นอาจารย์ยกมาบอกว่ามี ๕ เพศ เข้าไปแล้ว อย่าเพิ่งงงเลยค่ะ ลองมาไล่ด้วยกันดูหน่อยนะคะ น่านะ นะ นะ

ไล่แล้วได้อย่างนี้ค่ะ : ชาย หญิง ชาย-หญิง หญิง-ชาย เพศที่ ๓ เกย์  เชื่อกันหรือยังว่าเพศมีมากกว่า ๓ เพศแล้ว

มุมมองต่อสังคมสมัยใหม่ อาจารย์ชี้ว่าเป็นสังคมของนิกาย การสร้างนิกายง่าย อย่างเช่น ขอให้รวย สร้างแมวคล้องคอให้ก็รับแล้ว ได้กลุ่มแล้ว  สังคมสมัยใหม่เป็นสังคมเสรีนิยมต้องเข้าใจ ต้องปล่อยเขาไป ท่านฟังแล้วคิดยังไง

อาจารย์ให้ข้อคิดว่าคนที่ดูแลสังคมได้ดีที่สุดคือคอมมิวนิสต์ ดูแลแบบห่วงใย  คนเสรีนิยมดูแลแบบทิ้งขว้าง ไม่ห่วงใย ตัวใครตัวมัน

แล้วเล่าเรื่องออสเตรียให้ฟังว่ามีภูมิหลังมากมายมหาศาลที่มีความขัดแย้ง แล้วจะอยู่กันยังไง มีเรื่องต้องคุยกัน ๖ เรื่อง ถ้าจะอยู่ทางการเมืองก็คุยกันใหม่ ที่เล่าก็เพื่อชวนให้เห็นว่าสังคมใหม่เป็นสังคมแตกแยก บ้านเมืองแบบไหน ชาติอย่างไร รัฐบาลแบบไหน พรรคการเมืองแบบไหน เลือกตั้ง ระบบบริหาร ทั้งหมดที่เกิดในเมืองไทย เป็นเรื่องปัญหาพื้นฐาน

อาจารย์เล่าต่อเรื่องรูปแบบรัฐว่ารัฐเดี่ยวรวมศูนย์ไว้ส่วนกลาง สหพันธรัฐต่างคนต่างอยู่แล้วมีรัฐบาลกลางอยู่ สหพันธรัฐในอเมริกามี ๓ รูปแบบย่อย ใหม่ๆใกล้เคียงสหพันธรัฐมากที่สุด รัฐบาลกลางไม่ทำงานในระดับท้องถิ่นเลย อยู่ที่คิด รัฐบาลกลางเลวหรือดี ถ้าดีก็ให้จัด(dual)  ต่อมาเปลี่ยนเป็นร่วมทำด้วยกัน (Co-operate)แล้วเดี๋ยวนี้รัฐบาลกลางทำเองหมด (Centralized) มี  Home-land security เช็คตามละเอียดถึงบ้าน รูปแบบของรัฐเปลี่ยนได้ไม่คงตัว

อาจารย์ตั้งคำถามว่า “รัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยวดีไหม”  แล้วให้มุมมองว่า รูปแบบเดี๋ยวนี้ decentralized สำหรับไทยน่าจะเป็น confederal state

อาจารย์มีความเห็นว่ารูปแบบรัฐเป็นอำนาจทางการเมืองจะเบาหรือยุ่งยากขึ้นกับรูปแบบรัฐ

เรื่องไกลตัว เรื่องซับซ้อน เรื่องคลุมเครือ ไม่มีผู้รู้มาทำให้เห็น ชี้ให้มอง บางอย่างก็มองไม่เห็น

ในความเห็นของอาจารย์ ชาติทางการเมือง คือคำว่า “ไท มี ย ยักษ์____ไทย”  คำนี้มีมาแต่สมัยสุโขทัย  ผู้ดี ไพร่ สุนัข เป็นชาติทางวัฒนธรรม ไม่มี dog action

ฟังเรื่องเหล่านี้แล้วก็เห็นภาพของความรู้สึกสะสมเลยค่ะ  ประเทศเปลี่ยนชื่อเป็น “ไทย” ไม่นาน แล้วไปบังคับคนให้เป็นไทย ใครพูดภาษาถิ่นน่าอายมากต้องพูดกลาง ชาติแบบนี้เป็นลักษณะเอาออก (exclusive) และ ดึงมา (inclusive)   คนจีนชอบไทย คนในดอย คนภาคใต้ ขมขื่นกับความเป็นไทย  สมัยก่อนเรียนภาษาจีน แปลว่าไม่รักชาติ เดี๋ยวนี้เรียนภาษาจีนเพื่อให้พูดได้ รักชาติ

อาจารย์เล่าต่อว่า การมีเสรีนิยมมากจะพูดได้หลายภาษา nation เกี่ยวข้องกับพลวัตรของประชากรในแต่ละประเทศ

แล้วอาจารย์ก็ทิ้งโจทย์นี้ไว้ให้คิด “ต้องการรัฐบาลยังไง ประชาธิปไตยหรือไม่เอา รัฐบาลแห่งเดียว หรือมีที่ท้องถิ่นด้วย government มี(s) หรือเปล่า รัฐศาสตร์มองมี (s)”

พร้อมทิ้งท้ายว่า คนไทยชอบคิดว่าระบบประธานาธิบดีดีกว่ารัฐสภา อยากเห็นผู้นำเข้มแข็งเด็ดขาด

บรรยากาศการเรียนดูเข้มข้นมั๊ยค่ะ

สำหรับความเห็นของอาจารย์ สังคมขัดแย้ง ระบบรัฐสภาดีกว่า ยุบสภาบ่อยได้ ยืดหยุ่นสูงกว่า ไม่ชอบนายกก็เปลี่ยนได้  สังคมเอกภาพสูง ระบบประธานาธิบดีดีกว่า สังคมเอกภาพ ยุบสภาไม่ได้ เกลียดแค่ไหนก็ต้องทน เพราะว่าระบบกำหนดเวลาไว้ชัดเจน

อาจารย์มีความเห็นด้วยว่า คนไทยส่วนมากไม่ชอบระบบรัฐสภา เพราะว่าไม่ชอบประชุม ชอบให้คนอื่นจูง ฟังแล้วชวนสะอึกดีมั๊ยค่ะ

อาจารย์ชี้ว่า สังคมแตกแยก (ศาสนา ชนชั้น ฐานะ) ระบบ party ดีกว่า เทียบมาตรฐานได้กับของอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน

แล้วก็ชวนให้มองและตอบคำถามระบบเลือกตั้งเอาไง พร้อมยกตัวอย่างต่างประเทศมาให้เรียนรู้

อังกฤษ - simple majority ชนะนิดเดียวชนะเลย ทนได้นาน

ฝรั่งเศส - absolute

เยอรมัน - proportional

พร้อมให้ความเห็นว่า สังคมแตกมาก สัดส่วนดีกว่า ไทยผสม simple ๔๐๐ สัดส่วน ๘๐  อาจารย์แลกเปลี่ยนว่า ระบบสัดส่วนไม่กลัวคนชนะ ห่วงคนแพ้ เพราะว่าคนแพ้ไปพูดนอกห้อง

เรื่องของระบบราชการ อาจารย์ชี้ว่าระบบราชการที่ดีต้องหลากหลาย ผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนกันทุกจังหวัดไม่ดีอยู่แล้ว bottom up ดี คุยกันเยอะๆ+direct democracy (เจ้าของประชุมตัดสินใจกันเองเหมือนนิติบุคคลอาคารชุด) มี good governance power sharing ……(จดไม่ทัน…อิอิ)

direct democracy ปีหนึ่งมีการคุยกัน โหวตตามสัดส่วนพื้นที่ การประชุมแบบนิติบุคคลอาคารชุดในเมืองไทยไม่ work เพราะว่าไม่ชอบประชุม จะทำให้ work อย่างไรคือเรื่องใหญ่

อาจารย์เห็นว่า digital democaracy ดีตรงที่กดโหวตได้เลย

อาจารย์พูดเรื่องการกลับไปเหมือนเดิมของสังคมไทยว่าเป็นเรื่อง”ฝัน” ในความเห็นของอาจารย์ สังคมที่แตกแยกแตกต่างนับวันแต่จะเพิ่มขึ้น

๓ เรื่องต่อไปนี้เป็นเหตุ แก้แล้วอาจช่วยได้มั๊ง เรื่องเหล่านี้ก็มี การมีประชาธิปไตยแบบ power sharing  การกระจายอำนาจ และ สัดส่วนประกันสิทธิพื้นฐาน

อาจารย์เอ่ยถึงเรื่อง referandom ว่าเป็นเรื่องดีถ้าทำบ่อยๆ  สวิสเซอร์แลนด์ทำบ่อย ขึ้นภาษียังทำเลย ผลอย่างไรว่าตามนั้นดี

ก่อนจบเมื่ออาจารย์ชวนมองเรื่องการช่วยสร้างประเทศต้องมีภาระ ด้วยการชวนคิดเรื่องการเลือกตั้ง การหย่อนบัตรต้องสร้างภาระ อำนวยความสะดวกไม่โอเคเพื่อให้มีภาระ จะโหวตไม่โหวตต้องไปขอใช้สิทธิกับกกต. เพื่อให้เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ มุมนี้ช่วยให้ฉันเข้าใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้งมากขึ้นแฮะ

อาจารย์แลกเปลี่ยนจบลงที่การเล่าถึงการมีองค์กรตรวจสอบอำนาจเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่มีความขัดแย้ง แล้วถามให้คิดว่าองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เป็น lineman ไม่ให้เสียงหายไป เป็นคนคุมกฏที่ชอบด้วยกฏหมายหรือเปล่า ก่อนเฉลยว่าลักษณะอย่างนี้เป็น consensus democracy หรือ power sharing democracy

« « Prev : อัตลักษณ์คือตัวตน?

Next : สร้างได้ก็เปลี่ยนได้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "อย่าหวังว่าจะมีสีเดียว"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.034847021102905 sec
Sidebar: 0.10445404052734 sec