แก่นคนไทย
อ่าน: 1010เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ พวกเรา ๔ส๒ ได้มีโอกาสเรียนรู้จากพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ ในเวทีอภิปรายมีผู้รู้ทางศาสนาอิสลามเป็นผู้ร่วมอภิปรายอยู่ด้วยอีก ๒ ท่าน
อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องอัตลักษณ์ไว้ว่า ศาสนาไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ผลประโยชน์ส่วนตัวมักไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เว้นแต่มีกลุ่มผลประโยชน์เกิดขึ้น มีสัญญลักษณ์กลุ่มแล้วเกิดรักษาผลประโยชน์ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้
การรวมกลุ่มทำให้เกิดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางการเมือง เป็นเรื่องผลประโยชน์ ทำให้เกิดความขัดแย้ง
อธิบายแล้วอาจารย์ก็กล่าวคำว่า “พอกันที ในการใช้ศาสนาสร้างสงคราม” ที่กล่าวคำนี้อาจารย์มีคำอธิบายต่อว่า การเอาวัฒนธรรมศาสนาสร้างกลุ่มเป็นอคติ ชอบ (ฉันทาคติ) ชัง (โมหาคติ) ชังแล้วก็เกิดความกลัว (ภยาคติ) ไม่เข้าใจ (โมหาคติ)
การอภิปรายของอาจารย์ทำให้ฉันได้รู้จักศัพท์ใหม่ๆที่อาชีพอย่างฉันไม่คุ้นเคยอีกแล้ว ที่ได้ยินก็มีคำว่า
การผสมกลมกลืน (Assimilation) ทางวัฒนธรรมหรือการเมือง
Thaification ไทยาภิวัฒน์ ดูเหมือนอาจารย์คล้ายจะบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อปรับให้เข้ากับเวลานะคะ ฉันเข้าใจอย่างนี้จากเรื่องราวที่เล่าประกอบของอาจารย์ค่ะ อาจารย์ยกตัวอย่างว่าไทยาภิวัฒน์เริ่มสมัยรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนจากประเทศราชเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชเพื่อป้องกันเอกราช
Islamization อิสลามาภิวัฒน์ ตัวอย่างที่ยกมาประกอบก็เป็นการเรียนภาษาจีนได้ของมุสลิม
Globalization โลกาภิวัฒน์ ตัวอย่างที่ยกมาประกอบก็เป็นเรื่องของการใช้ห้างเป็นโบสถ์
วิภัชวาท การมอง ๓๖๐ องศา
เอกังสวาท มองมุมเดียว
อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมมีจุดหลอมละลาย ลองทำความเข้าใจตัวอย่างเรื่องราวที่อาจารย์ยกมาดูนะคะ
เรื่องหนึ่งที่ยกมาเล่าก็เป็นเรื่อง การถือสัญชาติเป็นการทำให้เป็นพวกเดียวกัน ที่อเมริกาทำได้ เพราะว่าแยกรัฐออกจากศาสนา
ในเรื่องศาสนาอาจารย์ยกเรื่องอินเดียมาเล่าให้ฟัง อาจารย์ชี้ประเด็นเรื่องพุทธไม่ครอบงำ แล้วเล่าเรื่องศาสนาพุทธในอินเดียที่ไม่มีการกำหนด ให้อิสระ (อยู่ที่ใจ) และ ฮินดูในอินเดียที่กำหนดวรรณะ (บังคับวิถีชีวิต) แล้วต่อด้วยการเล่าถึงโอวาทปาติโมกข์ ธรรมนูญในการเผยแพร่ศาสนาพุทธ ซึ่งมีหลักอยู่ที่
“ไม่ทำร้ายใคร ไม่ว่าร้ายใคร ให้ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมศาสนาอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ยืมของใช้กันได้ ให้ทำความดีต่อชาวพุทธ ญาติมิตร และชาวโลก (อัตกะ ๓) “
แล้วอาจารย์ก็เล่าต่อเรื่อง แก่นคนไทย ๓ อย่าง ได้แก่ รักอิสระ (love of dependence) ทำให้ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น , ความปราศจากวิหิงสา (Tolerance) ไม่เบียดเบียนกัน ทนต่อความต่างได้ , ความฉลาดในการประสานประโยชน์ (Power of Assimilation) ฮั้วเก่ง
ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นคุณธรรมและอัตลักษณ์ไทยที่อาจารย์ไม่ได้พูดขึ้นเอง หากแต่เป็นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสไว้
อาจารย์ได้เล่าถึง ปฏิญญายูเนสโก ( Principles of Tolerance) ให้ฟังด้วยว่าเป็นปฏิญญาว่าด้วยหลักขันติธรรม
ปฏิญญานี้เอ่ยถึงการเคารพและยอมรับนับถือวัฒนธรรมของโลกที่หลากหลาย วิถีการแสดงออกและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปแตกต่างก็รับได้ ( Tolerance is respect , acceptance and application)
ในเรื่องของวิภัชวาทที่อาจารย์ขยายความให้เข้าใจ เป็นการมองหลายมุม มองแยกแยะ คนมีนาม รูป จิตใจ ให้มองความคิดหลายมุม ไม่มองสุดโด่ง ไม่มองมุมเดียว ตัวอย่างเรื่องตาบอดคลำช้างเป็นเรื่องราวที่ดีในการทำความเข้าใจเรื่องนี้
อาจารย์ได้ยกคำสอนของท่านพุทธทาส “มองแต่แง่ดีเถิด” มาขยายความว่า ท่านตั้งใจให้แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง แล้วยกตัวอย่างความเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมือนกันของ ยักษ์ มาร ลิง ค่าง แต่มีความต่างที่อาหาร ยักษ์ มาร กินสัตว์ ลิง ค่าง กินพืช
อีกตัวอย่างที่ยกมาคือเรื่อง นิ้วมือทั้ง ๕ ที่ทะเลาะกันเพื่อแย่งความเป็นใหญ่ ใช้อัตลักษณ์ของตัวเองมาทะเลาะกัน
เรื่องอื่นๆที่อาจารย์แลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของการชวนมองค่ะ มีมุมมองชวนคิดเรื่องทำเพื่อใครและคำถามที่ท้าทายความเข้าใจของพวกเราที่ขอนำมาเล่าเพื่อแบ่งปัน บางคำถามก็ยังไม่มีคำตอบ เผื่อใครจะนำไปค้นหาคำตอบมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องที่อาจารย์ชวนมองและคำถามจากเพื่อนๆที่ชวนอาจารย์ทั้งหมดอภิปรายนะคะ
ทำเพื่อใคร : ยึดอัตตาตัวเอง (อัตตาธิปไตย) win-lose , ปล่อยให้ครอบงำ (โลกาธิปไตย) lose-win , หลักการเป็นที่ตั้ง มองส่วนรวม (ธรรมาธิปไตย , ประชาธิปไตย) win-win , ต่างฝ่ายต่างถูกทำลาย (อนาธิปไตย) lose - lose
คิดอย่างไรกับศีลอด อดกลางวัน กินกลางคืน : ในทางพุทธคือ วิกาลโภชนา เพื่อให้เลี้ยงง่าย อาหารเพียงพอ ลดกิเลส ลดสะสม ลองหิวดูบ้างจะได้เกิดเมตตากรุณา มีประเด็นให้คิดเมื่อมาถึงโลกาภิวัฒน์ร้องขอกินมาม่าหมูสับ , มุสลิมถือศีลอด เพื่อให้เข้าใจคนอด รู้จักเมตตาคนไม่มีกิน
ช่วยวิจารณ์ด้วยที่ความขัดแย้งจนเกิดความรุนแรง มีวัดมาเกี่ยวด้วย
พระกับการเมือง คำสอน สอนหรือเปล่า : การปฏิบัติเป็นความเชื่อที่สะสม การเชื่อส่วนตัวเป็นอิสระ พุทธมีหลายนิกาย เลือกสังฆราชเป็นผู้ปกครอง
เหตุการณ์พลีชีพของมุสลิมมีคำอธิบายอย่างไร : อิสลามมี ๗๓ subset มี subset เดียวที่ไปสวรรค์ได้
สุหนี่ ชีอะ วานาบี ต่างกันในเรื่องการยอมรับผู้ปกครอง ส่งผลต่อสังคมอย่างไร เหตุผลของการเลือกนับถือส่วนตัวเป็นอย่างไร
การอภิปรายจบลงที่เรื่องศาสนากับการเมือง เมื่อการเมืองคือการจัดสรรอำนาจ อิสลาม พุทธ ก็ควรมี minimal requirement for acception
« « Prev : เกิดปัญหาเพราะไม่เข้าใจกันและกัน
ความคิดเห็นสำหรับ "แก่นคนไทย"