เจรจา…เจรจา…เจรจา…

โดย สาวตา เมื่อ 4 มิถุนายน 2010 เวลา 22:22 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1118

บทความต่อไปนี้เป็นคำกล่าวของอาจารย์ ศจ.ระพี สาคริก ที่ออกมาแลกเปลี่ยนมุมมองกับสังคมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองครั้งใหญ่กลางกรุง

“ขณะนี้บ้านเมืองต้องการ ความเป็นเหตุเป็นผลมาก เหตุอยู่ในใจคน ส่วนผลคือสิ่งที่ได้รับหรือเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ ดังนั้น ควรเปิดใจกันให้ว่างพร้อมรับฟังปัญหา และอย่าดื้อดึงซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของส่วนรวม จึงต้องละกิเลสถึงจะพูดกันได้ อย่าคิดแบบทางเดียว ต้องคิด 2 ทางคือต้องคำนึงถึงอกเขาอกเรา
อยากตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า ฝ่ายหนึ่งมีกฎหมาย มีกำลังพลอยู่ในมือ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมาโดยธรรมชาติ ทำให้น้ำหนักของทั้ง 2 ฝ่ายไม่เท่ากัน เมื่อขาดความสมดุลเช่นนี้ พอใครพูดอะไรมาก็มักถูกมองว่าไม่เป็นกลาง จริงๆ แล้วหากยึดหลักธรรมชาติแล้วจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

ที่พูดกันว่าให้มีคนกลางมาเจรจานั้น ไม่จำเป็นเลย ถ้าละกิเลสกันได้ และเปิดใจเข้าหากัน แต่ไม่ทำกันจึงต้องหาคนกลาง แต่หากยังเป็นอย่างนี้ถึงมีคนกลางก็ไม่สำเร็จ ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่มีคนกลางหรือไม่ เพราะตอนนี้ด้านหนึ่งมันเอียง ถ้ากลับคืนได้ก็ไม่ต้องมีคนกลาง การปฏิบัติให้หายเอียงคือ ต้องยึดหลักธรรมเป็นตัวตั้ง อย่ายึดว่าตัวกูของกู

ถ้าจิตใจคนมันไม่เป็นกลางแล้ว ก็มักมองคนอื่นไม่เป็นกลางเสมอไป จริงๆ แล้วการมีกฎหมาย หรือมีอำนาจ ถ้าไม่ยึดว่าเป็นเรื่องสำคัญ และให้คิดว่าเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นหรือเป็นสิ่งที่สร้างกันขึ้นมาซึ่งไม่สำคัญเท่ากับจิตใจ ก็จะละวางข้ออ้างต่างๆ นี้ได้ ถ้าเรากล้าหาญ กล้าเอาชนะใจตนเอง คนที่เคยตำหนิก็จะหันมานับถือ”

เมื่อย้อนไปอ่านบทความเรื่องนี้ของอาจารย์ ก็ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า ในชั่วโมงเรียนของ สสสส.๒ ได้ฟังการแบ่งปันเรื่องคนกลางมาเจรจาไว้อยู่บ้าง แล้วก็แวบว่าคำว่าเจรจามีอยู่หลายความหมายเหลือเกินที่ทำให้เข้าใจไปคนละทาง ๒ ทางอยู่ด้วย

วันนี้จึงขอนำคำเหล่านั้นรวบรวมไว้ซะหน่อย เพื่อไว้ใช้ทวนองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น คำ ๔ คำที่ผ่านตา ผ่านหูเข้ามาแล้วมีดังนี้

เจรจาไกล่เกลี่ย Mediation การเจรจาที่มีคนกลางเข้ามาช่วยคู่กรณีหาทางออกใหม่ เป็น ๑ ใน ๔ กระบวนการที่ใช้ในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก เป็นการเจรจาที่คนกลางช่วยให้คู่กรณีเปลี่ยนมุมมองเพื่อเปลี่ยนการเผชิญหน้าเป็นการร่วมกันเผชิญปัญหา มุ่งหาผลประโยชน์ร่วม

เจรจาต่อรอง Negotiation การเจรจาที่คู่กรณีเจรจากันเพื่อจะได้รับอะไรบางอย่างที่ปรารถนาและดีกว่าสิ่งที่จะได้รับโดยไม่เจรจา

เจรจาเกลี้ยกล่อม Persuation การเจรจาที่ชวนคู่เจรจาให้ตอบรับทางออกที่มีคำตอบอยู่แล้ว

เห็นความหมายแล้ว สรุปสั้นๆไว้ใช้งานอย่างนี้ได้เลย

“ไกล่เกลี่ย” ไม่ใช่ “ต่อรอง”

และ “ไกล่เกลี่ย” ไม่ใช่ “เกลี้ยกล่อม” ด้วย

“ผลประโยชน์ร่วม” อาจจะใช่หรือไม่ใช่ “จุดสนใจร่วม”

ทั้ง ๒ เรื่อง จะใช้เป็นจุดยืนของการเจรจาไก่เกลี่ยได้แค่ไหน อยู่ที่ว่าก่อนเจรจาได้ลงมือไล่เรียงค้นหามันก่อนแค่ไหน

อืม การนำเรื่องนี้มาสรุปไว้ใช้ฝึกฝนวิชาเจรจา ก็ช่วยให้ได้ย้อนรอบ ย้อนรอยกลับไปมองเรื่องราวที่ผันผ่าน แล้วก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างในเรื่องของเจตนาที่อยู่เบื้องหลังความคิดของคู่เจรจากรณีเผาบ้านเผาเมืองในมุมหนึ่งอยู่เหมือนกัน ยิ่งได้อ่านสิ่งที่อาจารย์ท่านพูดให้ฟังข้างบน ก็ยิ่งได้เห็นผลของการฟังแบบ “ได้ยิน” และผลของการใช้อารมณ์ในระหว่างการสื่อสารที่จะจะตาเลยแฮะ

พายุอารมณ์นี่น่ากลัวเนอะ

« « Prev : แยกคนออกจากปัญหา แยกจุดยืนออกจากคน

Next : ไม่สนความต่าง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.036586999893188 sec
Sidebar: 0.19173097610474 sec