ภาษาแห่งความกรุณา
อ่าน: 1117ในชั่วโมงของ ศาสนเสวนา ของเช้าวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ นอกจากอาจารย์เสาวนีย์ จิตต์หมวด จะมาแลกเปลี่ยนให้เกิดความเข้าใจ “อิสลาม” แล้ว ก็ยังมีอาจารย์นริศ มณีขาว มาแลกเปลี่ยนให้เกิดความเข้าใจวิถีของชาวคริสต์ที่ได้รับการบ่มเพาะเพื่อดำเนินชีวิตสู่สันติด้วย
อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนว่า ที่มาแลกเปลี่ยนก็เพื่อชวนให้ไตร่ตรองเพื่อสันติ ความหมายของไตร่ตรองก็คือ ตระหนักรู้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือ “บริบท” แล้วไตร่ตรองทางศาสนา อันหมายถึง คุณค่าทางจิตวิญญาณ แล้วมีการปฏิบัติซึ่งหมายรวมการปฏิบัติทั้งส่วนตัว กลุ่ม และเครือข่ายเชื่อมโยงกัน มีมุมมองปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่เสนอให้คนรุ่นใหม่ก้าวพ้น ทำความรู้จักว่า อำนาจ เงินตรา ผลประโยชน์ ความเชื่อ ความคิด ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิ เหล่านี้ เมื่อมีความขัดแย้ง ใจจะเอนไปบางด้าน การพร้อมเข้าใจอีกฝั่งก่อนแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ท้าทาย
สิ่งสำคัญในภาคปฏิบัติสันติวิธีที่อาจารย์ย้ำอยู่ตรงที่ “การพยายามทำ” การหาคำตอบ ไม่สำคัญค่ะ
อาจารย์ได้ให้หลักของการสื่อสารอย่างสันติวิธีให้ไว้ด้วย สิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารอย่างสันติวิธีอยู่ตรงที่มีพื้นฐานแห่งความกรุณารองรับอยู่ค่ะ ภาษาที่ใช้สนทนาจึงเรียกได้ว่าเป็น “ภาษาแห่งความกรุณา”
การฝึกใช้ภาษานี้จะช่วยให้เราตระหนักรู้ได้ชัดว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร สามารถทำให้เรารับผิดชอบต่อการกระทำของเราเอง และทำให้เราสานสัมพันธ์กับผู้อื่น เข้าใจตัวเองได้อย่างเต็มเปี่ยม
ภาษานี้มีองค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วนเมื่อลงมือฝึก ส่วนหนึ่งคือการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ อีกส่วนคือการฟังผู้อื่นด้วยความเข้าใจ
ฟังด้วยความเข้าใจนั้นหมายไปถึง ฟังจนเข้าใจและรับรู้ว่าเบื้องหลังทุกการกระทำของมนุษย์คือการตอบสนองความต้องการบางอย่าง
องค์ประกอบย่อยของทั้ง ๒ ส่วนหลักมี ๔ องค์ประกอบย่อยที่พึงฝึกฝนตัวเราเอง คือ
ฝึกแรก คือ ฝึกสังเกตแล้วสื่อสารคำพูดถึงสิ่งที่พบจากการสังเกตแบบบรรยายเป็นรูปธรรม เจาะจง และเป็นกลาง แยกแยะคำตัดสิน การประเมิน การตีความ การวิเคราะห์ และการเหมารวมโดยตัวเราเองที่ปะปนอยู่ออกไปแล้ว
ฝึกที่ ๒ คือ ฝึกจับความรู้สึกของตัวเองแล้วใช้คำ “แสดงความรู้สึกหรือภาวะอารมณ์จริงๆ” ที่เกิดขึ้นภายในของตัวเองบรรยายออกมา (ไม่ใช่การบรรยายความรู้สึกที่ตีความความรู้สึกของอีกฝ่าย)
ฝึกที่ ๓ คือ ฝึกรับรู้ความต้องการซึ่งซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่เราให้คุณค่าและมีความต้องการอย่างลึกซึ้งที่สุดในแต่ละวาระ ทำความเข้าใจและบรรยายออกมาเป็นความต้องการที่เข้าใจง่ายตรงความรู้สึกของตัวเอง ที่ไม่เจาะจงอ้างอิงใครหรือเจาะจงการกระทำใดโดยเฉพาะ
ฝึกที่ ๔ คือ ฝึกหยั่งความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอีกฝ่ายด้วยการใช้คำขอร้องบอกให้อีกฝ่ายรู้วิธีการที่เราเชื่อและคาดหวังว่าเมื่ออีกฝ่ายตอบสนอง ความต้องการของเราจะบรรลุผล โดยวิธีการที่บอกนั้นไม่ใช่คำสั่ง แต่เป็นคำขอร้องที่อีกฝ่ายสามารถทำได้จริงทันที และเป็นแง่บวก หัวใจของการฝึกข้อนี้คือ เราเต็มใจเปิดรับการปฏิเสธของอีกฝ่าย และยังพร้อมสำหรับการสนทนาต่อไปเพื่อหาหนทางให้ความต้องการของทุกฝ่ายบรรลุผล
การใช้ภาษาแห่งความกรุณานี้มีความสัมพันธ์ที่เน้นอยู่ ๒ มุม มุมหนึ่งคือ แสดงความและความต้องการของเราเอง อีกมุมหนึ่งคือเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่าย โดยมีเป้าหมายหลักรวมๆอยู่ที่การตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย เข้าใจทุกอย่างอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ และเกื้อกูลกันอย่างเต็มใจ
ลองฝึกตัวเองกันดูนะคะ
อีกท่านหนึ่งที่มาร่วมเสวนา คือ พระมหาหรรษา ท่านได้กรุณากระตุกให้คิดว่า ในสังคมตาบอดคลำช้างที่มีฝุ่นคลุ้งไปหมดทำให้ไม่รู้ขาดสัมมาทิฏฐิ ให้หันมาที่ตัวเองแล้วถาม ๓ ย. ก่อนลงท้ายด้วยคำพูดว่า ชาติเป็นที่รวมของคน ศาสนามีค่าเมื่อมีความสุข ศาสนามีค่าเมื่อนำมาปฏิบัติ
ขอบอกเล่ากันเรื่อง ๓ย. ไว้หน่อยค่ะ
ย.๑ คือ อย่าเห็นแก่ตัว (รักคนอื่น เห็นความจำเป็นด้วยต้องอยู่ร่วมกันเป็นสมานุภาพ)
ย.๒ คือ อย่ากลัวเสียหน้า (กลัวเสียเลือดเนื้อ เสียเพื่อนมนุษย์ เสียน้ำตา) อำนาจไม่ยั่งยืน อย่าถามว่า ทำไม ทำไม และทำไม แต่ให้ถามใหม่ว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เพราะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้
ย.๓ คือ หยุด (ช้าลง) ได้สติ หยุดมามองตัวเอง ย้อนอดีต เรียนรู้ แล้วทำปัจจุบันให้เหมาะควร หยุดใจ หยุดคิดทำร้าย หยุดพูดจาป้ายสี หยุดพาทีให้เกลียดชัง หยุดยั้งการเติมเชื้อไฟ หยุดเติมเงื่อนไขของความรุนแรง
อย่า คือ ขันติ หยุด คือ สติ
ศานติ คือ ยิ้ม ทำให้ฝุ่นสงบ
ความคิดเห็นสำหรับ "ภาษาแห่งความกรุณา"