เมื่อฝนมาหลังแผ่นดินไหว

อ่าน: 1353

เมื่อกลางวันผันผ่าน คืนของวันที่มีการเตือนภัยแผ่นดินไหวมีฝนตกหนักอยู่ระยะหนึ่งแถวบ้าน คืนนั้นก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นตามมา รุ่งเช้าก็ไม่มีฝนตลอดวันในพื้นที่ตลาด แม้ว่าฟ้าที่ไกลออกไปจะเห็นเมฆฝนมืดครึ้ม  จนตกเย็นของอีกวันต่อมา จึงมีเรื่องราวให้ผู้ใหญ่ต้องทำงานกันยามดึก…..น้ำท่วมตลาดเก่า มีน้ำไหลบ่าจากเขามาเร็วและแรง

วอร์รูมของฝ่ายปกครองถูกตั้งขึ้นอย่างรีบด่วน โชคดีที่ประสบการณ์น้ำท่วมคราวก่อนยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านตรงนั้น เมื่อน้ำในคลองไหลบ่ามาจึงตื่นตัวอพยพตัวเองได้ทัน คราวนี้ความเสียหายเกี่ยวกับตัวคนไม่พบว่ามี ความเสียหายเกี่ยวกับสิ่งของมีน้อยกว่าน้อย

หลังน้ำที่บ่ามาลดความเร็วความแรง วันนี้ก็ได้เห็นว่า มาตรการที่ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ฝ่ายปกครองดำเนินการไว้ แก้อะไรได้แล้ว และแก้อะไรไม่ได้

มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้ได้บทสะท้อนเตือนจากเหตุการณ์นี้ เป็นเรื่องชวนให้ทบทวนจุดที่ตั้งของหน่วยบริการที่กำลังดำเนินไปตามนโยบายของหน่วยเหนือ ที่ให้พัฒนาหน่วยบริการที่ทำงานคล้ายๆคลินิกบริการของหน่วยราชการในเขตเมือง ที่มีบริการทั้งในรูปแบบของสถานีอนามัยเดิมและกึ่งคลินิคแพทย์ผสมผสานกันขึ้นใหม่เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่

หน่วยบริการที่เป็นเป้าอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม คราวก่อนก็มีงานให้อพยพอุปกรณ์สิ่งของกันจ้าละหวั่น ได้ลองความไวของการขนย้ายกันมารอบหนึ่งแล้ว ครั้งนั้นทีมงานที่นี่มีแต่ส่วนของเทศบาล  วันนี้เปลี่ยนไปอีกหน่อย มีทีมงานจากโรงพยาบาลมาเสริมทัพทำงานด้วยสัปดาห์ละวัน

ที่ตั้งเป็นที่ราบต่ำ อาคารทรงสูงแบบสถานีอนามัยทำให้ครั้งก่อนรอดจากระดับน้ำได้ รอยท่วมสูงสุดอยู่ตรงชานพักบันไดขึ้นชั้นสอง

เหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นให้ภาพที่เข้าใจเรื่องน้ำท่วมจากทะเลมากขึ้น เขตเมืองที่มีร่องน้ำติดต่อกับทะเลที่เข้าถึงตัวเมืองได้ตรงๆหากเกิดเหตุน้ำท่วมก็ยังมีเรื่องอีกเยอะเลยให้เตรียมพร้อม

ที่ตั้งของหน่วยเทศบาลอยู่ทิศตรงข้ามกับพื้นที่ติดต่อกับทะเล ปากแม่น้ำที่น้ำไหลลงทะเล ที่ตั้งโรงพยาบาลอยู่ระหว่างกลางระหว่าง 2 พื้นที่นี้  หากธรรมชาติไม่ปราณี เกิดเหตุของแผ่นดินไหวขึ้นอีกให้เสียหาย พร้อมน้ำท่วมใหญ่ในทุกๆที่ทั้งจากทะเลและภูเขา วิดิโอช่วยเติมมุมให้เห็นว่ามีเหตุถึง 5 เด้งที่จะเจอ

เด้งหนึ่ง-น้ำท่วมริมฝั่งทะเล เด้งสอง-น้ำท่วมเอ่อริมคลอง ริมแม่น้ำที่รับน้ำจากภูเขาผันออกสู่ทะเล  เด้งสาม-ดินถล่ม พื้นดินยุบจากพื้นล่างเป็นหินปูน ทีมงานส่วนใหญ่พอไปได้กับการรับมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นใช้ ความพร้อมซ้อมมือกันมาแล้วหลายรอบ ความไวรับมือน่าพอใจแล้ว

เด้งสี่-น้ำท่วมเขตเทศบาลเมือง วันนี้โรงพยาบาลมีศูนย์บริการอยู่ 1 แห่งในตลาด มีเจ้าหน้าที่ให้บริการอยู่กว่า 30 ชีวิตทุกวันราชการ ที่ตั้งศูนย์อยู่ใกล้เขื่อนหน้าเมืองไม่ถึงกิโลเมตร เกิดน้ำท่วม ตึกถล่มเพราะแรงน้ำอย่างที่เกิดในญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องใหญ่ วันนี้ยังไม่มีแผนรองรับการขนย้ายฉุกเฉินกันเลย ภาพ 3 ภาพข้างล่างเป็นอะไรที่ยังไม่มีข้อมูลอยู่ในมือเลย วันนี้จึงได้แต่ภาวนาให้ธรรมชาติปราณีไปพร้อมกับหาทางออกเตรียมความพร้อมรับภาวะฉุกเฉินในตลาดแห่งนี้ไปด้วย

ภาพแรก สื่อให้หาคำตอบเรื่องน้ำท่วมเขื่อน หากเกิดขึ้นที่นี่จะเป็นลักษณะนี้หรืออย่างไร ความแรง ความลึกที่ล้ำเข้ามาเป็นแค่ไหน

ภาพที่ 2 น้ำท่วมที่เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าน้ำบ่าแรงและเร็ว แรงน้ำทำลายบ้านเรือนชั้นเดียวพังทะลาย ตึกสูงยังตั้งอยู่ต่อไปได้ สื่อให้หาคำตอบว่าวันนี้คนอยู่บ้านชั้นเดียวเตรียมความพร้อมให้ตัวเองแล้วอย่างไร

ภาพที่ 3 สื่อให้ค้นหาความเสี่ยงจากการเกิดไฟไหม้ซ้ำซ้อนในระหว่างที่ความเสียหายเกิดขึ้น ครั้งก่อนเกิดบนเกาะไม่มีเรื่องของไฟไหม้ คราวนี้หากเกิดแถบในตลาด ก็ควรหาพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดไฟไหม้อยู่เหมือนกัน

แล้วก็มาถึงเด้งสุดท้าย-”คลื่นคน” ที่สามารถทำให้ผู้คนบาดเจ็บจากความแตกตื่นหนีตาย “ความห่วงใยต่อกัน” ที่สามารถเกิดทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตได้   ในช่วงที่อพยพคนจากริมฝั่งหลังการเตือนภัยมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งเกิดขึ้นแต่ไม่มีคนบาดเจ็บทางกาย บาดเจ็บทางอารมณ์นั้นมีบ้างงงงง ……นี่ก็เป็นอีกงานหรือเปล่า การจัดการให้คน “มีสติ” ????

ภาพคลื่นคนและคลื่นน้ำ

หลังเกิดเหตุการณ์ 1 สัปดาห์ สาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลตำบล ซึ่งวันนี้มีภารกิจเป็นทั้งสถานีอนามัยผนวกกับการบริการกึ่งคลินิกแพทย์ หัวหน้าพขร.ของรพ. และหน่วยงานของฉันมานั่งคุยกัน ใช้เหตุการณ์ 5 เด้ง ถอดบทเรียนประสบการณ์ด้วยกัน

ได้ข้อสรุปความพร้อมและความไม่พร้อมให้พัฒนากันต่อ พบว่าหลายเรื่องราวต้องอาศัยพึ่งพาหน่วยงานอื่นๆ บางแง่มุมก็ต้องการชาวบ้าน จิตอาสาช่วยเหลือ ด้วยเป็นเรื่องเกินกำลังของเราชาวสาธารณสุข

เหล่านี้คือเรื่องความพร้อมที่จะเกิดก็ต่อเมื่อภาคอื่นๆลงมือ : เรือสำหรับอพยพคน-ขนของในพื้นที่น้ำขัง รถยนต์สำหรับอพยพคน-ขนของในพื้นที่แห้ง แหล่งอาหาร น้ำดื่มสำหรับเหยื่อของเหตุการณ์ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ในศูนย์อพยพ หรือที่ติดอยู่ที่บ้าน ระบบจราจรที่คล่องตัวเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายคนเจ็บที่ต้องการมืออาชีพช่วยดูแลการบาดเจ็บได้เร็ว การอพยพที่เป็นระเบียบไม่วุ่นวายให้เกิดการปะทะกันทางอารมณ์และเกิดเหยื่อบาดเจ็บเพิ่มจากอารมณ์คน

มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับสาธารณสุข คือ ช่องทางสื่อสารที่เร็วกว่าใช้มือถือ อินเตอร์เน็ต ที่ใช้ได้ทั้งในยามที่มีและไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ ความพร้อมทำงานในสถานการณ์ที่ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้

อุปกรณ์สื่อสารที่สามารถใช้แบตเตอรี่แห้งเป็นแหล่งให้พลังงานได้ อุปกรณ์ช่วยเหลือการบาดเจ็บของระยางค์ร่างกาย อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้สอย สำหรับการแพทย์ เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าสู่พื้นที่ ความพร้อมของห้องผ่าตัดสนามหากเคลื่อนย้ายคนป่วยไปพื้นที่จังหวัดอื่นไม่ได้ ความพร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอาการหนักทางอากาศ ที่ตั้งของรพ.สนามที่เหมาะสม เหล่านี้คือความพร้อมสำคัญ

การคุยกันทำให้ได้งานมาทำเพิ่มอีกเยอะเลย ทั้งการประสานงาน การหาแหล่งสนับสนุนให้พร้อมสำหรับแต่ละโรงพยาบาลตำบล ที่ต้องการให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อเลยขีดความสามารถของเราที่จะรับมือ

อืม เรื่องเหล่านี้ถ้ามารู้เมื่อเกิดภัยธรรมชาติระดับใหญ่ๆขึ้นจริงที่นี่แล้ว มีแต่เละกับเละเนอะ

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ตและ youtube ที่เติมความรู้ให้

« « Prev : ย้อนรอยเรียนรู้ความเร็วของพลังแผ่นดินไหว

Next : แรงสั่นบอกความเสียหายยังไง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เมื่อฝนมาหลังแผ่นดินไหว"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.039402008056641 sec
Sidebar: 0.10575914382935 sec