อ่านเอง…แปลเอง…จะปรับได้เร็วกว่า
ขอบคุณน้องหนิงที่ช่วยยืนยันความคิดที่สะกิดใจมานานว่า เวลามีคำบางคำหลุดพูดด้วยภาษาของหมอพยาบาลที่ใช้กันคุ้นชิน จนลืมไปเลยว่าบางคนที่ฟังไม่รู้จักความหมายของมันหรอก นั้นเป็นเรื่องที่สะกิดปมได้ตรงแล้ว
บันทึกนี้จึงขอมาเล่าให้รู้จักความหมายและการใช้งานของคำเฉพาะคำนี้ค่ะ “ครีอะตินิน”
ท่านใดที่คุ้นๆและนึกไม่ออกว่าเคยพบกับมันที่ไหน ให้กลับย้อนดูผลตรวจเลือดประจำปีดู คำๆนี้มีปรากฎอยู่ทุกๆครั้งที่ได้ตรวจสุขภาพประจำปีเต็มชุด เป็นคำภาษาอังกฤษ “Creatinine” คือที่มา เวลาสั่งตรวจเลือดคำย่อคือ ” Cr “
ครีอะตินินเป็นผลผลิตในเส้นทางการนำกรดอะมิโน(ผลผลิตจากการย่อยโปรตีนไปใช้งาน)ไปแปลงเป็นสารอินทรีย์เพื่อใช้เป็นพลังงาน ในแต่ละวันที่มีสารอินทรีย์นี้เกิดขึ้น 2%ของมันจะเปลี่ยนไปเป็นครีอะตินิน เกิดแล้วก็ถูกขับออกทางไต เหลือไว้ในเลือดด้วยปริมาณคงที่ทุกวัน การขับทิ้งก็เป็นทางเดียว ไม่มีกลไกที่ร่างกายจะแยแสขอดูดมันกลับมาใช้ใหม่เลย
บันทึกของน้องหนิง ได้เล่าถึงตรงนี้เอาไว้ ” ตัวชี้วัดระดับโรคไต คือ โปรตีนในเลือดรั่วออกมาในปัสสาวะ (ไข่ขาว) “ ก่อนถึงครีอะตินินจึงขอเล่าเรื่องไข่ขาวในปัสสาวะซะก่อน
ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นที่หมอๆอย่างฉันนำไปใช้ค้นหาโรคของไตให้คนไข้ ไข่ขาวที่พูดอยู่นี้มีชื่อจริงว่า “แอลบูมิน” ค่ะ
คนเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไตอักเสบทั้งเฉียบพลันทันทีและเรื้อรัง เมื่อไรที่พบข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างนี้ในปัสสาวะ หมอพยาบาลต้องตื่นตัวแล้วค่ะว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับไต แต่เราไม่ได้ใช้ฟันธงเรื่องไตเสื่อม
เมื่อไรที่พบจะช่วยคนไข้เฝ้าระวังปัญหาและช่วยกันค้นหาทางถอยหนีปัญหาแล้วค่ะ
ในคนเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เจอหลักฐานอย่างนี้ ขืนยังไม่ถอย ไม่ปรับปรุงเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง รอพึ่งแต่ยา เมื่อไรก็เมื่อนั้น ได้เดินหน้าเข้าหาไตเสื่อมเร็วขึ้นแล้วละค่ะ
ใช้ให้ถูกกันนะคะ “ไข่ขาวรั่วในปัสสาวะใช้เป็นสัญญาณบอกถึงไตเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นแล้วเท่านั้นนะคะ”
คุณสมบัติที่มีค่าคงที่ในเลือดและไม่มีกลไกดูดคืนกลับมาไว้อีกในร่างกายอย่างแน่นอนของครีอะตินิน ทำุให้ตัวมันถูกเลือกเป็นมีดฟันธงเรื่องการกรองเลือดของไต
การนำค่าของมันมาใช้ดูครั้งเดียวแล้วพบว่าดี ไม่ช่วยเตือนภัยเรื่องการกรองเลือดของไตว่าเสื่อมอย่างไรสักเท่าไร การใช้ที่คุ้มค่าคือใช้ทำนายเรื่องไตเสื่อม วิธีใช้้คือเปรียบเทียบค่าเป็นระยะๆ แล้วแปลงผลต่างกลับไปสู่การบอกประสิทธิภาพในการกรองของไตที่เปลี่ยนแปลง
ถ้าหากพบว่า่เปรียบเทียบกันแล้วมีผลต่างเกิดขึ้น ค่าครั้งแรกที่เจอว่าสูงกว่าค่าเกณฑ์กลาง หรือมีการตรวจต่อๆกันมาอีก 3 เดือน แล้วพบค่าของครั้งหลังสูงกว่าค่าครั้งแรกที่ตรวจไว้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าคนๆนั้นกำลังก้าวเข้าไปหาการมีไตเสื่อมเข้าแล้ว บอกกันคร่าวๆก่อนเพื่อให้มีการปรับถอย รู้แล้วนอกจากปรับเพื่อถอยจากไตเสื่อมทันทีแล้ว ให้ตรวจต่อเืพื่อยืนยันให้เกิดความชัด จะได้บำบัดปัญหาของตนได้ถูกตรงประเด็น
ค่าคงที่สม่ำเสมอในเลือดของครีอะตินินเป็นข้อด้อยสำคัญที่ทำให้ใช้ตัวมันส่งสัญญาณได้ไม่ไวพอ ความช้านี้ยังผลให้เกิดความไม่แม่นยำเมื่อจะใช้บอกระดับความเสื่อมของไต (การเสื่อมของไตหมายถึงไตกรองเลือดได้ช้าลงทำให้เกิดของเสียคั่งในเลือด)
ครีอะตินินจะบอกแม่นยำขึ้นก็ต่อเมื่อได้รู้สัดส่วนของอัตราการกรองตัวมันทิ้งทั้งวัน(24 ชั่วโมง)เปรียบเทียบกับอัตราการกรองสารอินทรีย์ตัวอื่นทิ้งทั้งวัน การเปรียบเทียบนี้มีเรื่องยุ่งๆที่ต้องคำนวณทางคณิตศาสตร์จึงจะใช้ได้ จึงขอละ้ไปไม่นำมาบอกเล่ากัน
มาเตือนกันหน่อยว่าผลตรวจเลือดทุกค่าที่เคยมีเคยตรวจเป็นสมบัติล้ำค่าที่ควรสะสมไว้ใช้ประโยชน์ ควรคว้ามาเก็บไว้กับตัว ไม่ควรปล่อยผลให้อยู่แต่ในมือหมอ
ที่เตือนว่าไม่ควรปล่อยให้ผลอยู่แต่ในมือหมอเพราะว่า ณ เวลานี้ผลการตรวจสุขภาพประจำปียังถูกมองว่าเป็นผลตรวจเป็นครั้งๆไปทั้งหมอ พยาบาล และคนตรวจ เมื่อได้ผลและบอกผลกันแล้ว คนถูกตรวจรู้จากหมอว่าปกติแล้ว ผลเหล่านั้นก็โดนทิ้งไป แม้แต่คนในร.พ.ก็เป็นอย่างนั้น
ชวนให้คิดใหม่ ทำใหม่ อย่าให้ผลของการตรวจสุขภาพจบลงที่ได้ยินหมอๆแปลค่าบอกว่าปกติแล้วโอ….ถ้าโอ..อย่างนี้จะพาตัวถอยห่างโรคไม่ทันการณ์ค่ะ ต่อไปถ้าได้ตรวจเลือด ขอให้เก็บผลเลือดไว้นำมาแปลค่าเทียบกับการตรวจครั้งใหม่เพื่อหาตัวส่งสัญญาณเตือนนะคะ อย่าลืมๆ
ขอกลับไปที่การตรวจไข่ขาวในปัสสาวะอีกหน่อย นอกจากเป็นสัญญาณเตือนให้ค้นหาปัญหาของไต ความสำเร็จของการถอยหนีให้ห่างจากโรคของไต ได้ผล ไม่ได้ผล สม่ำเสมอ ลุ่มๆดอนๆ สามารถใช้ไข่ขาวในปัสสาวะบอกให้รู้ได้ค่ะ โดยมีวิธีตรวจที่วิเคราะห์ลึกถึงรายละเอียดปริมาณไข่ขาว ลึกไปถึงระดับนั้นเลยเชียว
แถบเคมีตรวจไข่ขาวที่ซื้อมาตรวจปัสสาวะดูเองได้นั้น บอกได้แค่มีหรือไม่มีไข่ขาวปนอยู่หรือไม่ ช่วยกรองข้อมูลได้้อย่างหยาบๆ่เท่านั้นเอง
ใช่เลยค่ะ ฉันกำลังจะบอกว่าตรวจด้วยแถบไม่เจอไข่ขาวไม่ได้แปลว่าไม่มีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ คนเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไตอักเสบเรื้อรังที่ตรวจเอง ไม่ยอมไปตรวจยืนยันต่อที่ร.พ. จำไว้ๆ จำไว้ให้แม่นเพื่อจะได้ไม่หลงประมาทว่าโรคดีแล้วค่ะ
ดูเหมือนพ่อครูยังกังวลอยู่เรื่องของไตและตับของพ่อครู แล้วยังไม่ได้เล่าเรื่องปริมาณน้ำที่คนไตเสื่อมควรดูแลตัวเอง เล่าต่อเอาไว้ที่นี่แหละนะ รู้แล้วนำไปใช้ต่อในการช่วยดู ช่วยแล ช่วยกำกับให้คนที่รักดูแลตัวเองได้ตรงกับเรื่องสำคัญกันนะคะ
เกณฑ์ที่ใช้ของคนไตเสื่อมที่ไม่ใคร่มีน้ำปัสสาวะหรือไม่มีปัสสาวะ อยู่ที่ปริมาตรต่อวันไม่เกิน 700 มล. หรือ เติมเท่าจำนวนน้ำที่ฉี่ทิ้งไปในแต่ละครั้ง
ส่วนคนที่ปัสสาวะยังเป็นไปได้ดี แต่ไตเสื่อมจนต้องจำกัดน้ำแล้ว ให้ดื่มน้ำไม่เกิน 1 ลิตรต่อวัน
สำหรับตัวพ่อครู จำนวนปริมาตรน้ำที่เคยแนะนำไว้ให้ดื่มโดยให้ใช้เกณฑ์ 30 เท่าของน้ำหนักตัวเป็นหลักยึดไว้นั้น ทั้งเรื่องของไตและตับ ไม่น่าห่วงเรื่องดื่มน้ำมากเกินไปแล้วทำใำห้ท้องบวมค่ะ
เรื่องที่ควรห่วงและควรปรับตัวทันที เพื่อไม่ให้บวมจากความจำเป็นต้องดื่มน้ำเพิ่ม คือ การกินเกลือ กินเค็ม
เรื่องเดิม+เค็ม ส่งผลตรงให้บวมได้ แล้วยังแถมต่อไปถึงไต และแถมต่อไปถึงหัวใจได้ค่ะ ถึงแม้ว่า่ ณ วันนี้ป้าหวานบอกว่าไตดี
อ้อ ลืมบอกไป เวลาที่หมอๆบอกว่า ค่าการทำงานของไตดี นั่นเขากำลังบอกถึงผลที่แปลจากค่าครีอะตินินค่ะ ส่วนใหญ่ที่แปลผลให้ก็ใช้ค่าการตรวจครั้งที่อยู่ตรงหน้าูนั้นๆ้ จะมีการแปลแบบเปรียบเทียบกับค่าที่เคยตรวจผ่านมาในบางครั้งบางคราวเท่านั้น
ถ้าอยากจะรู้ค่าเปรียบเทียบ อย่าลืมเอ่ยถามเองนะคะ
« « Prev : คนดื่ม-คนดู…มีส่วนให้การดื่มไม่กลายเป็นมากเกิน
Next : ยูเรียในเลือด…รู้จักกันไว้หน่อย…ใช้งานกับเรื่องไตเสื่อมด้วยนะ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อ่านเอง…แปลเอง…จะปรับได้เร็วกว่า"