ยูเรียในเลือด…รู้จักกันไว้หน่อย…ใช้งานกับเรื่องไตเสื่อมด้วยนะ

โดย สาวตา เมื่อ 20 ธันวาคม 2009 เวลา 15:05 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8901

เวลาได้ยินคำว่า “โรคไต” หรือได้ยินคำว่า “ไตไม่ดี” เชื่อว่าหลายคนใจวูบแล้วคิดเตลิดไปถึง “ไตวาย” กันเลยเชียว

นึกแล้วก็ผวา คิดมากคิดมายทุกข์ตรมอยู่นั่นแล้วก็มีทั้งๆที่โรคไตที่ได้ยินไม่ได้เกี่ยวกันเลยกับไตวายสักนิด

อย่าทำให้เกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นเลยนะคะ ก่อนที่ความผวาจะส่งผลให้ดิ้นรนไปหาทางแก้เองเพราะทุกข์ถึงไตวายไปก่อน  ขอแนะนำให้ฝึกเป็นคนปากเบาจู้จี้ถามหมอ-พยาบาลซะหน่อยง่ายที่สุดค่ะ ได้ข้อมูลมามากพอแล้วจึงไปเลือกทางแก้ปมให้ถูกตรงดีกว่าเยอะเลย

ก่อนเล่าไปถึงเรื่องอื่น ขอทำความเข้าใจภาษาหมออีกคำค่ะ “โรคไต”

เวลาที่บอกว่าใครเป็นโรคไตกันนั้น มุมมองของหมอ-พยาบาลอยู่ตรงแค่อยากสื่อว่า เวลานั้น คนๆนั้น กำลังมีโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณไต ยังไม่ได้บอกไปถึงความรุนแรงมากน้อยว่าแค่ไหนในความหมายของคำที่สื่อไปแต่อย่างใดค่ะ

โรคไตที่ต้องลงมือรักษาของผู้คนนั้นมีอยู่บานตะไทไปหมด ฟังคำว่า “โรคไต” ผ่านหู  ตั้งสติให้ดีๆก่อน  สติจะทำให้ฟังแล้วไม่เกิดความคิดเลยเถิดด้านลบให้มากความไปก่อน  สติจะทำให้ความชัดตรงของการฟังเกิดขึ้น ข้อมูลที่จะใช้เพื่อไปเลือกทางแก้ปมได้ครบขึ้นด้วย

ตามฟังตามถามให้กระจ่างเรื่องระดับความรุนแรงให้ชัดเพิ่มเติมซะบ้างถ้าคิดเลยเถิดไปถึงไตวายแล้ว จะดีกว่าเยอะเลย

คิดเอาเองสามารถก่อผลให้บานปลายเป็นลบจนบางทีก็แก้ไม่ทันมีตัวอย่างมาแล้ว เชื่อไหม เชื่อไหม

เวลาผวากับการคิดว่ามี “ไตเสื่อม”จากโรค ให้ป้อนคำถามไปตรงประเด็นเรื่องไตเสื่อมให้จะๆไปเลยนะคะ แล้วจะได้คำตอบที่ตรงชัดกลับมาให้ได้ตั้งหลักกับการเดินต่อในเรื่องการดูแลตัวเองที่อยากลงมือเอง

รู้จักครีอะตินินกันแล้ว มาฟังต่อวิธีใช้งานค่าของมันในมุมที่เกี่ยวกับไตเสื่อมกันหน่อยมั๊ยค่ะ

เล่าไว้ว่าให้ใช้ค่าของมันแบบเปรียบเทียบความก้าวหน้า ถอยหลัง เปรียบเทียบอัตราการกรองทิ้งกับอัตราการกรองตัวอื่นทิ้งจึงจะดี   การหาอัตราการกรองทิ้งของมันนั้นทำยาก ยากตรงที่ต้องใช้ปัสสาวะทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกจากร่างกายทั้งวันมาใช้ตรวจแทนเลือด ความไม่สะดวกของการเก็บกักมาให้ได้ตรวจครบโดยคนที่ขับทิ้งไปเป็นตัวเพิ่มระดับความยาก

ตรวจเลือดสะดวกกว่า จึงอนุโลมไปใช้้อัตราเปลี่ยนของค่าครีอะตินินในเลือดร่วมกับการเปรียบเทียบค่าของครีอะตินินกับสารอินทรีย์อีกตัวที่ตรวจได้จากเลือดมาประกอบกัน แล้วใช้ชี้แทนว่่าก้าวเข้าสู่ความเสื่อมของไตหรือถอยห่างหรือยัง

ส่วนใหญ่เวลาสั่งตรวจการทำงานของไต สารอินทรีย์ที่ถูกสั่งให้ตรวจอีกตัวนอกจากครีอะตินินก็คือ ยูเรียในเลือดที่มาจากโปรตีนในร่างกาย เรียกชื่อว่า “ยูเรียไนโตรเจนในเลือด” ชื่อเต็มๆในภาษาอังกฤษ เรียกกันว่า  “Blood Urea Nitrogen”  บียูเอ็น (BUN) คือชื่อเล่นที่ใช้เรียกกันบ่อยๆเวลาสั่งตรวจเลือดค่ะ

การเปรียบเทียบค่าเพื่อใช้งานชี้บอกปมปัญหาที่ไต จะดูว่าบียูเอ็น BUN เป็นกี่เท่าของครีอะตินิน ค่าสูงค่าต่ำมีความหมายที่สื่อถึงปมปัญหาที่ไตไม่เหมือนกัน

ระดับบียูเอ็นซึ่งอยู่ระหว่าง 10-20 เท่าของครีอะตินิน เป็นค่าที่ถือว่าไม่สูงไม่ต่ำและน่าจะไม่มีปมอะไรที่สื่อไปถึงปมปัญหาที่ต้องแก้ที่ไต

หรืออาจใช้ค่าอย่างนี้ก็ได้ เมื่อไรบียูเอ็นสูงเกิน 10 เท่าของครีอะตินิน ปัญหาสุขภาพนั้นน่าจะเกี่ยวกับไตเป็นหลัก เรื่องอื่นเป็นรอง ถ้าน้อยกว่า 10 เท่าละก็  เรื่องอื่นเป็นหลัก มีเรื่องเกี่ยวกับไตเป็นรองหรือไม่มีเลยก็ได้

ก่อนจะเชื่อว่าัเป็นโรคไตเมื่อพบบียูเอ็นสูงกว่าครีอะตินินมากๆ กลับไปดูจำนวนปัสสาวะก่อนนะคะ ถ้าจำนวนปัสสาวะมากและดีๆอยู่  ลบความเชื่อเรื่องเป็นโรคไตทิ้งไปซะก่อนค่ะ  มีเหตุอื่นทำให้บียูเอ็นสูงปรี๊ดได้ด้วยค่ะ เช่น อาหารที่กินเข้าไป ภาวะที่มีการสลายของโปรตีนในร่างกาย

น่าจะไม่เคยรู้มาก่อนว่า อาหารเนื้อสัตว์ที่กินเข้าไปนั่นแหละ ที่เป็นต้นแหล่งเพิ่มจำนวนของยูเรียไนโตรเจนในเลือด ความเข้มข้นของเจ้าสารอินทรีย์ตัวนี้คือตัวต้นเหตุที่ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นแอมโมเนียฉุนกึ๊ก  มันเป็นยูเรียที่ตับคนเป็นโรงงานผลิตขึ้นมาในระหว่างมีการย่อยโปรตีนไปใช้งาน

ยาบางอย่าง การขาดน้ำ เลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้จำนวนยูเรียไนโตรเจนสูงขึ้นได้ด้วยนะ

ใช้ดูแลไตไม่ให้ทำงานหนักไปกับการขับทิ้งยูเรียตัวนี้ได้โดยใช้ค่าที่สูงขึ้นมากๆของมันเป็นตัวสะกิดสะเกา ว่ากินโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากเกินไปแล้วเน้อ

ปกติคนเรานานๆจึงตรวจเลือด  จะรู้ได้ยังไงว่าทุกวันๆ ค่าของยูเรียไนโตรเจนมันสูง  เคล็ดลับที่ใช้ได้คือ….กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของปัสสาวะที่ปล่อยออกจากร่างกายตัวเองเมื่อทิ้งไว้ หรือกลิ่นของตัวหนอนน้อยๆที่ปล่อยหลุดจากก้นทุกๆวัน นั้นแล…หรือกลิ่นลมหวนที่แอบปล่อยทีเผลอก็คือกันใช้ได้เหมือนกัน….ใช้มันเป็นสัญญาณดูแลเรื่องหนักเนื้อสัตว์หรือโปรตีนมากไปแล้วได้ค่ะ

« « Prev : อ่านเอง…แปลเอง…จะปรับได้เร็วกว่า

Next : ระดับความเสื่อมของไต…แปลยังไง…รู้กันไว้หน่อยละกัน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 เวลา 17:01 (เย็น)

    ได้ข้อสังเกตดีๆมากมาย แคว๊กๆ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 เวลา 19:27 (เย็น)

    เพิ่มเติมไปแล้วว่า กลิ่นลมหวนที่ปล่อยจากก้นก็ใช้ได้คือกันนะคะพ่อครู

  • #3 นักการหนิง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 เวลา 21:38 (เย็น)

    วันไหน คุณสามีเธอกินเนื้อสัตว์เยอะ  ( เยอะของเขาคือเกินกว่า สองช้อนโต๊ะขึ้นไป  วันนั้น) ปัสสาวะก็จะฉุนมาก คือเธอมีค่า BUN  ที่สูงอยู่แล้วค่ะ  คือ 60 mg%   และมียูลิคในเลือดสูงแต่ยังไม่เป็นเก๊าฑ์ คือเป็นน้องหรือว่าที่ค่ะ

    ร่างกายคนเราจะขับโปรตีนส่วนเกินทั้งหมดออกจากร่างกายโดยไตเป็นตัวทำหน้าที่หลักค่ะ เพราะฉะนั้นหากเราทานเนื้อสัตว์เยอะ ในผู้ใหญ่ก็ประมาณ 1 กล่องไม้ขีดไฟ (ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าต่อมื้อหรือต่อวัน)  ต้องให้พี่หมอเจ๊ช่วยค่ะ  ไตต้องทำงานหนักเพื่อขับออก 

    ในกระบวนการย่อยเนื้อสัตว์จะเกิดยูเรียขึ้นค่ะ  และไตมีหน้าที่ขับยูลิคออก  นอกจากไตจะทำงานหนักแล้ว  กากอาหารทีี่เกิดจากเนื้อสัตว์จะใช้เวลาในการเดินทางออกจากร่างกายนานกว่าผักมาก  เท่ากับเรามีของเสียอยู่ในตัวมาก

    ที่นำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยได้ขออนุญาต เจ้าตัวแล้วค่ะ  เจ้าตัวเขายินดีที่จะให้ถ่ายทอดเพื่อเป็นวิทยาทาน หรือเครื่องเตือนใจคนหลายๆ คน  … เขาค่อนข้างปล่อยวางหลายๆ เรื่องได้

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 เวลา 22:58 (เย็น)

    น้องหนิงค่ะ คนไตเสื่อมมีเรื่องพิเศษๆในเรื่องกินอยู่มากมาย

    เรื่องเนื้อสัตว์ก็กินแตกต่างไปจากคนทั่วไป อีตรงที่ิหนุนให้กินมากกว่าที่แนะนำให้คนทั่วไปกินซะอีกค่ะน้อง (ในคนที่ฟอกไตอยู่)
    ให้กินเพื่อไม่ให้เกิดการภาวะขาดอาหารขึ้นในร่างกาย
    ภาวะขาดอาหารทำให้มีการสลายกล้ามเนื้อแล้วทำให้กรดคั่งเพิ่ม ของเสียเพิ่ม แล้วยังนำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้ด้วยค่ะน้อง
    ปริมาณเนื้อสัตว์ที่ต้องการทั้งวัน คือ 1.2 เท่าของน้ำหนักตัว (คิดหน่วยน้ำหนักของอาหารก็ต้องใช้เป็นกรัมค่ะ)

    แหล่งเนื้อสัตว์ ถ้าเป็น ปลา ไข่ขาวได้นี่แจ๋วที่สุด  หมู ไก่ก็ได้แต่ขอเป็นเนื้อไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง

    ช่วยลดความหนักของไตด้วยการดื่มน้ำเพิ่มไปช่วยให้ขับกรดยูริกทิ้งได้ง่ายๆนั่นแหละ  แต่ก็ต้องควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินด้วยหลักที่หมอบอกด้วยค่ะ

    ไม่ห้ามของทอด เพราะอะไรที่มีฟอสเฟตสูงเวลาไปทอดแล้วฟอสเฟตมันลดลง

    เรื่องของกากของเสียที่ค้างนานไม่ใช่เพราะเป็นกากเนื้อสัตว์หรอกนะน้อง แต่เกิดจากนิสัยของการไม่เคี้ยวอาหารแต่ละคำให้ละเอียดที่สุดต่างหากละน้องเอ๋ย

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 ธันวาคม 2009 เวลา 13:20 (เย็น)

    มาเติมข้อมูลเพิ่มว่า จำนวนเนื้อสัตว์ที่บอกไว้ข้างบนนั้น เป็นคำแนะนำสำหรับคนไตเสื่อมที่ได้รับการฟอกไตอยู่   ส่วนคนไตเสื่อมที่ไม่ได้ฟอกไต เนื้อสัตว์ที่ควรกินคือ 0.5 เท่าของน้ำหนักตัว (หน่วยเนื้อสัตว์จะเป็นกรัม)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.020219087600708 sec
Sidebar: 0.078507900238037 sec